เขื่อนในเงื้อมมือ กฟผ.: นิยามความฝันร้าย นิยายของความสูญเสีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ





 


 

อะไรจะเกิดขึ้น! ถ้าหากในที่สุดศาลปกครองสูงสุด ตัดสินไม่เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแปลงสภาพ กฟผ. ทั้ง 2 ฉบับ คือพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน)พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 ตามที่องค์กรเพื่อผู้บริโภคและพวกยื่นฟ้องไว้ คำตอบที่ได้คือ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) จะเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จ

 

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ศาลยังมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นของ บจม.กฟผ.ไว้ชั่วคราว ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนกว่าจะมีคำตัดสิน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญของการตั้งคำถามและหาคำตอบทั้งของฝ่ายรัฐบาลและประชาชน

 

คำถามหนึ่งถูกหยิบยกขึ้นมา นั่นคือ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั้ง 21 แห่ง ที่เคยอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งแต่เดิมเป็นของรัฐนั้น ถ้าหาก บจม.กฟผ.กระจายหุ้นแล้วจะตกอยู่ในมือใคร? คำตอบที่ได้จากกระทรวงการคลังคือ ให้กรมธนารักษ์ดูแล และให้ บจม.กฟผ.ผูกขาดการเช่าต่อไป

 

แต่เมื่อพบว่าอัตราค่าเช่าเขื่อนทั้งหมดต่อปีตกเพียง 314 ล้านบาท จึงมีคำถามต่อไปว่า ค่าเช่าอัตราต่ำขนาดนี้เหมาะสมแล้วหรือ? เมื่อเบื้องหลังเขื่อนแต่ละเขื่อนล้วนมีตำนานอันยิ่งใหญ่และสูญเสียมากกว่าแค่งบประมาณแผ่นดิน

 

ประชาชนถูกปล้นเขื่อน

แรกเริ่มเดิมทีเขื่อนถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลไทย โดยมีเจ้าหนี้รายใหญ่เป็นธนาคารโลก ซึ่งการสร้างเขื่อนแต่ละเขื่อนมักจะอ้างถึงการพัฒนาประเทศเป็นหลัก และโฆษณาชวนเชื่อในทุกครั้งว่า ไม่มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแม้แต่น้อย ส่วนการเวนคืนที่ดินและอพยพโยกย้ายชาวบ้านได้อ้างถึงการใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการวางสายส่งไฟฟ้า

 

วันนั้นทุกอย่างจะอย่างไรเสียก็คือทรัพย์สินของแผ่นดิน คนไทยต่างสยบยอมต่อรัฐบาล แต่วันนี้เขื่อนทั้ง 21 เขื่อนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเดิมอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ กำลังจะถูกแทนที่ด้วยสัญญาเช่าโดยเอกชน เมื่อบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ผ่านการแปรรูปและกำลังจ่อเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

 

ทั้งนี้ สินทรัพย์ของ กฟผ.ที่สามารถล่อใจนักลงทุนมีอยู่ 3 อย่าง นั่นคือ โรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง และเขื่อน,อ่างเก็บน้ำ แต่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำนั้นได้ถูกตัดจากการแปลงสภาพไปแล้ว เนื่องจากถูกคัดค้านอย่างหนัก เมื่อมิถุนายน 2548 กฟผ.จึงโอนกรรมสิทธิ์เขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของรัฐตามเดิม ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และ กฟผ.จะทำสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์เพื่อใช้งานต่อไป

 

หากพิจารณาตัวเลขสินทรัพย์ถาวรของ กฟผ.ก่อนแปลงสภาพจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ระบุว่าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีมูลค่าถึง 22,082.6 ล้านบาท มูลค่าของโรงไฟฟ้า 146,175.9 ล้านบาท ที่ดิน 5,802.5 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ถาวรหลักทั้งหมด อาทิ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง เครื่องจักร ระบบส่งไฟฟ้า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ระบบสื่อสาร ฯลฯ มียอดรวมสุทธิ 280,084.1 ล้านบาท

 

กรมธนารักษ์ ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการให้เช่าที่ดินแก่ กฟผ.ว่า เนื่องจาก กฟผ.ได้โอนทรัพย์สินที่เป็นที่ราชพัสดุประมาณ 27,000 ไร่ให้กรมธนารักษ์แล้ว ดังนั้น กฟผ.จึงต้องทำการเช่าพื้นที่ดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจากการพิจารณาราคาเช่าที่ดินยืนยันว่า การคิดค่าเช่าที่ดินจะอิงจากฐานรายได้ผลประกอบการร้อยละ 2.5 โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนราคาค่าเช่า อีกทั้ง กฟผ.ก็ยังเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งรัฐบาลถือหุ้นร้อยละ75 หากคิดค่าเช่าสูงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของ กฟผ.และกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่คิดกับประชาชน ขณะที่ข้อมูลจากหนังสือสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2548 ระบุว่าในปี 2548 กฟผ.ใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้าเพียง 5% เท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม การเช่าเขื่อนแบบผูกขาดของ กฟผ.นั้น ม.ล.อภิมงคล โสณกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวว่า เขื่อนนั้นได้มาด้วยอำนาจของรัฐหรือได้จากการเวนคืนการรอนสิทธิหากนำไปสู่การเช่าของบริษัทที่มีเอกชนเป็นผู้ถือหุ้นนั้นจะต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งค่าเช่าเขื่อนที่กรมธนารักษ์ตั้งไว้ที่ 9,444 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี และสามารถต่อได้อีก 30 ปีนั้นก็ถือเป็นมูลค่าที่ถูกมาก เพราะค่าเช่าเฉลี่ยตกเพียงปีละ 314 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถ้าคิดคำนวณแต่ละเขื่อนจะตกเพียงปีละ 14.9 ล้านบาทต่อเขื่อน

 

พรรคประชาธิปัตย์ได้คำนวณในเบื้องต้นพบว่า ในปี 2547 กฟผ.มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังน้ำไปทั้งสิ้น 5,222 ล้านหน่วย เป็นรายได้ 8,694.34 ล้านบาท โดยมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 45 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 2,350 ล้านบาท และจะมีกำไรประมาณ 6,344.34 ล้านบาท ดังนั้นทำให้เกิดส่วนต่างเป็นกำไรของ กฟผ.เป็นจำนวนถึง 6,029.54 ล้านบาทภายในปีเดียว (หลังหักลบกับค่าเช่า) ที่เป็นผลงอกเงยจากการใช้เขื่อนในประเทศ

 

ถ้าเรื่องต้องดำเนินมาถึงขั้นนี้จริงๆ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากและพวกเขาได้เรียกร้องมาตลอดหลายสิบปียังคาราคาซังและถูกละเลยมาโดยตลอด เท่ากับว่าพวกเขากำลังถูกลอยแพ และกำลังปลาสนาพร้อมกับเงินค่าเช่าผูกขาดเพียงไม่กี่บาท ซึ่งเทียบไม่ได้กับการก่อรากและการลงทุนมหาศาล ที่สะสมยอดขาดทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้น

 

นิยายชีวิตยังไม่ทันเริ่มเรื่อง แต่จะให้จบลงห้วนๆ สั้นๆ อย่างนี้หรือ?

 

"เขื่อน" วาทกรรมสร้างชาติ ปิดปากคนจน

ก่อนที่จะปรากฏสันเขื่อนและการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณอ่างเก็บน้ำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จนเหมือนกับว่าไม่เคยมีสิ่งใดสูญเสียไปก่อนหน้านี้เลยนั้น ถูกภาคประชาชนเปิดโปงให้เห็นถึงผลกระทบและต้นทุนที่สูญเสียอย่างกว้างใหญ่ไพศาล กระนั้นเขื่อนก็ยังคงเกิดขึ้น ในฐานะวาทกรรมของการพัฒนา

 

สมาคมที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก International Commission on Large Dam (ICOLD) ตั้งขึ้นในปี 1928 ได้สร้างทัศนะเกี่ยวกับการพัฒนาที่ว่า "คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่" ทั้งยัง "ต้องยอมสูญเสียสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนา"ดังคำกล่าวของ โลเว ในการประชุมโดยในการประชุมพิเศษประจำปีที่กรุงมาดริดในปี ค.ศ.1973 ว่า "แม้ว่าเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมป่าแต่น้ำท่วมตามธรรมชาติก็ไม่แตกต่างกัน และความเสียหายจากการที่ผู้คนและสัตว์ต้องเสียชีวิตก็มากกว่า ถ้าหากเขื่อนทำให้สูญเสียที่ดินบ้าง แต่จะได้พื้นที่ชลประทานมากกว่าเยอะ ถ้าหากเขื่อนทำลายหมู่บ้านบ้าง แต่จะนำความเจริญมั่งคั่งสำหรับชุมชนที่ใหญ่กว่าและยังพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกด้วย"

 

วาทกรรมข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างเขื่อน คือการฝังกลบชีวิตและจิตวิญญาณอย่างเลือดเย็น และกลายเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความสูญเสีย เนื่องจากเขื่อนละเลยการพูดถึง "สิทธิชุมชน" นั่นเอง

 

ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเขื่อนกับสิทธิชุมชน เมื่อ 27-28 สิงหาคม 2547 ว่า "ไม่ว่าการสร้างเขื่อนจะมาจากเหตุผลใด ทั้งแง่ประโยชน์ทางด้านชลประทานหรือกระแสไฟฟ้า หากจุดเน้นหนักกลับอยู่ที่นโยบายของการระดม ทรัพยากรธรรมชาติเข้าอุ้มชูระบบอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและวิกฤติการณ์ นอกเหนือไปจากต้องอพยพโยกย้ายผู้คน สร้างผลกระทบในระบบสิ่งแวดล้อมแล้ว เขื่อนกลับสร้าง สภาวะแปลกแยกภายในระบบสังคมและการเมือง แบ่งแยกภาคสังคมชนบทและสังคมเมืองออกจากกันอย่างเด่นชัด ดังนั้นเขื่อนจึงไม่ถือเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างหากเป็นส่วนสะท้อนวิธีคิดเชิงนโยบายที่มีความโน้มเอียงของระบบการพัฒนาที่ฉ้อฉล"

 

สำหรับในประเทศไทย เขื่อนภูมิพลถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรมชลประทานต้องกู้เงินจากธนาคารโลกเป็นเงินรวมทั้งสิ้นถึง 83.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก จึงกล่าวได้ว่า การสร้างเขื่อนภูมิพลคือการเข้าสู่ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนในประเทศไทยอย่างแท้จริง

 

กรมชลประทานถือเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุด นอกจากนี้ยังมีบทบาทหลักในการวางระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย ซึ่งในช่วงแรกนั้นประเทศต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อเดินรถไฟเป็นหลัก ก่อนที่รัฐบาลจะก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขึ้นในปี 2512

 

ในระยะต่อมานโยบายการสร้างเขื่อนของรัฐได้ถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นหลังปี 2434 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำมากขึ้น

 

ในงานวิทยานิพนธ์ของไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ หัวข้อ "นิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย: กรณีศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น" ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กันยายน 2543 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนจอมปลอมไว้ว่า

 

"การสร้างเขื่อนในระยะหลังเป็นการเปลี่ยนข้ออ้างเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการสร้างเขื่อนต่อไป ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิกฤติสิ่งแวดล้อม เพราะในความเป็นจริง โครงการเขื่อนและโครงการผันน้ำที่เสนอใหม่นั้นมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าแทบทุกโครงการ"

 

ส่วนสาเหตุที่มีการเปลี่ยนเหตุผลในการสร้างเขื่อนนั้น ไชยณรงค์ ระบุว่า ยังเกี่ยวข้องกับกระแสสังคมที่มีการต่อต้านการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ด้วย ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนตั้งแต่เขื่อนน้ำโจน ต่อเนื่องมายังเขื่อนแก่งกรุงและเขื่อนปากมูล

 

สอดคล้องกับ หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่เล่าว่า เขื่อนที่สร้างขึ้นหลักๆ ก็เพื่อผลิตไฟฟ้าและยังพ่วงวัตถุประสงค์อื่นคือการชลประทานเอาไว้ด้วย เพื่อให้เขื่อนถูกสร้างขึ้นมาอย่างชอบธรรม แต่ปรากฏว่าเมื่อมีเขื่อนแล้วบางเขื่อนไม่ได้มีการดำเนินการด้านชลประทานเลย ทั้งๆ ที่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อชลประทานไว้แล้ว

 

หาญณรงค์ อธิบายว่า เขื่อนในระยะเริ่มแรกมีการเวนคืนที่ดินเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบอกว่าไฟฟ้าเป็นนโยบายของรัฐ เป็นกิจการของรัฐ การลงทุนก็ต้องกู้เงินมาสร้างเขื่อนซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเงินภาษีแล้วก็ค้ำโดยประชาชน มีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาใช้กับกิจการส่วนรวมเนื่องจากเขื่อนมีวัตถุประสงค์เดิมเพื่อสาธารณะแม้จะคิดเอากำไรสูงสุดไว้ด้วยก็ตาม

 

การสร้างเขื่อนแต่ละเขื่อนได้ตกแต่งเรื่องราวให้ดูสวยงามฉาบไว้เบื้องหน้า แต่ใครเล่าจะรู้ว่าความจริงเบื้องหลังมันบาดลึกและฝังรอยแผลเป็นเกินเยียวยาไว้มากมายขนาดไหน

 

นิทานของสายน้ำ นิยามของการต่อสู้

"เขื่อนทุกเขื่อน ไม่มีสักเขื่อนเดียวที่ไม่สูญเสีย เขื่อนทำให้สูญเสียที่ดิน ต้องอพยพ กระทบทั้งวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำ มีอยู่ทุกเขื่อน เช่น เขื่อนสิรินธรที่ย้ายอำเภอท่าปลาทั้งอำเภอ เขื่อนศรีนครินทร์ก็ย้ายอำเภอศรีสวัสดิ์เกือบทั้งหมด เขื่อนเขาแหลมต้องย้ายชุมชนใหญ่ที่สุดก็คืออำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี" หาญณรงค์ ยังเล่าต่อไป

 

ทั้งนี้ข้อมูลการอพยพและพื้นที่น้ำท่วมนั้น หาญณรงค์ ยังบอกอีกว่า เขื่อนสิริกิติ์ ต้องอพยพประมาณ 2,000 ครอบครัวไปอยู่ในที่ห่างไกล ที่ว่าการอำเภอก็โดนย้ายไปด้วย ตอนนี้เป็นโสเภณีมา 3 รุ่นแล้ว พวกเขาถูกโยกย้ายลูกหลานออกจากเขื่อนไกลออกไป 40 กิโลเมตร ไปอยู่ในที่ที่ทำมาหากินไม่ได้ คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น และยังมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมอีกประมาณ17,800-20,000 ไร่ เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 500 เมกะวัตต์ จึงแทบไม่คุ้มกับสิ่งที่สูญเสียไปเลย เมื่อเทียบกับระบบนิเวศทั้งหมดต้องเปลี่ยนไป โดยทุกอย่างถูกควบคุมจากประตูน้ำและเวลาการผลิตไฟฟ้า ทั้งอาชีพประมงผลกระทบจากการอพยพ พื้นที่ที่จมอยู่ใต้น้ำอีกนับไม่ถ้วน

 

จากงานวิจัยของไชยณรงค์ ได้ระบุข้อมูลความสูญเสียที่พ้องกัน ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศ อ่างเก็บน้ำได้ท่วมแม่น้ำปิงที่มีแก่งธรรมชาติกว่า 50 แก่ง และน้ำจากเขื่อนยังท่วมที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ เช่น ทุ่งพานทองในเขต อ.ดอยเต่า และต้องอพยพชาวบ้านกว่า 3,000 ครอบครัว 39 ชุมชน ที่ตั้งกระจายสองฝั่งแม่น้ำปิงตั้งแต่ อ.ฮอด ไปจนถึง ต.บ้านนา อ.สามเงา

 

การสร้างเขื่อนยังทำให้เวียงสร้อยซึ่งเป็นเมืองหลวงของลัวะและเป็นแหล่งการศึกษาทางพระพุทธศาสนา  เป็นแหล่งการศึกษาทางพระพุทธศาสนาของล้านนาต้องจมอยู่ใต้น้ำ มีหลักฐานปรากฏในบันทึกของ ป.มาลาทอง อดีตกำนันตำบลบ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก  ได้กล่าวถึงการต่อต้านการอพยพของชาวบ้าน ต.บ้านนา ความว่า

 

"ปี 2503 ชาวบ้านนาถูกสั่งให้อพยพลงมาอยู่ในที่จัดสรรที่กรมชลประทานเขาจัดให้การอพยพครั้งนี้ยากลำบากมาก เพราะราษฎรไม่ยินยอมหรือไม่คิดอพยพ เพราะที่อยู่อาศัยนั้นมีพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เดือดร้อนแต่ประการใด เมื่อรัฐบาลเขาต้องการความเจริญของประเทศชาติแล้ว พวกบ้านนาก็อยู่ไม่ได้ เพราะเขื่อนสร้างเสร็จน้ำจะท่วม จำเป็นต้นอพยพลงมาอยู่ในที่จัดสรรที่อยู่เวลาปัจจุบันนี้ บ้านนาเดิมนั้นก็กลายเป็นทะเลสาปต่อไป... พวกที่ไม่ยอมลงก็ถอยร่นขึ้นไปอยู่ในที่ราบสูงขึ้นไปอีก ก็มีอีกหลายร้อยคน"

 

"กรณีเขื่อนอุบลรัตน์ ชาวบ้านที่ถูกอพยพกลุ่มหนึ่งจำนวนหลายร้อยคนได้อพยพโดยเดินทางด้วยเกวียนข้ามแม่น้ำเหืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานไกลถึงในประเทศลาว ในบางครั้งผู้ที่ถูกอพยพจากเขื่อนทางภาคอีสานถึงกับเดินด้วยเท้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในภาคเหนือ" คำบอกเล่าของชาวบ้านที่ปรากฏในงานวิจัยของไชยณรงค์ สะท้อนให้เห็นถึงเขื่อนที่กำลังเล่นตลกกับชะตาชีวิตคนนับร้อยนับพันที่ต้องอพยพโยกย้ายไปในที่ที่แสนห่างไกล

 

การสร้างเขื่อนทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องทุกข์ยาก แต่เนื่องจากยุคสมัยก่อนเป็นยุคเผด็จการทหาร ทำให้การต่อสู้ของชาวบ้านมักถูกอำนาจรัฐกดเอาไว้ แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ต้องการให้สร้างเขื่อน แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้ พ.ร.บ.การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เข้าจัดการกับชาวบ้าน ด้วยการกล่าวหาว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์นั่นเอง

 

งานวิจัยยังระบุอีกว่า การต่อสู้ของชาวบ้านต้องเผชิญกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจด้วยความรุนแรง ผู้นำชาวบ้านส่วนใหญ่ ถ้าไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีก็จะถูกลอบสังหาร โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2517 ถึงเดือนสิงหาคม 2519 มีผู้นำชาวบ้านถึง 35 คนถูกลอบสังหาร

 

ในระยะหลังจะพบว่ามีชาวบ้านหลายพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านเขื่อน ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล เขื่อนสายบุรี เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่ลามาหลวง เขื่อนแม่ละเมา เขื่อนแม่กก ฯลฯ ต่อมาชาวบ้านก็เริ่มก่อตัวเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในประเทศไทย ในปี 2537 และในปลายปี 2538 ได้ก่อตั้งเป็น "สมัชชาคนจน" ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้านที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่สำคัญ

 

ในเวทีเขื่อนโลก สมัชชาคนจนได้นำเสนอแนวคิดการยกเลิกเขื่อน ซึ่งผลการศึกษาที่มีอยู่มากมายได้ชี้ให้เห็นตรงกันว่า เขื่อนปากมูลได้ทำลายระบบนิเวศซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ คือระบบนิเวศแบบแก่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านคนหาปลากว่า 6,000 ครัวเรือน ใน 65 หมู่บ้าน เขื่อนปิดกั้นปากแม่น้ำทำให้ไม่มีปลาจากน้ำโขงอพยพขึ้นมาเลี้ยงชีวิตที่พึ่งพาลำน้ำ ส่วนไฟฟ้าและผลประโยชน์อื่นที่ได้จากเขื่อนก็น้อยนิดไม่คุ้มกัน ไม่ว่าจะเปรียบเทียบอย่างไร

 

นอกจากนี้ ทางสมัชชาคนจนยังได้นำเสนอการใช้ความรู้ท้องถิ่น ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยนำเสนองานวิจัยไทบ้านปากมูน ซึ่งชาวบ้านปากมูนผู้รู้เรื่องปลาและแม่น้ำ ศึกษาการฟื้นคืนของแม่น้ำมูนและชุมชนในช่วงการทดลองเปิดเขื่อนเมื่อปี 2545-2546 ซึ่งพบว่าช่วงเปิดเขื่อนดังกล่าวมีพันธุ์ปลาธรรมชาติอพยพขึ้นมาจากแม่น้ำโขงสู่แม่มูนถึง 129 ชนิด และการอพยพของปลากินเวลาเกือบตลอดทั้งปี ส่งผลให้ชุมชนปากมูนได้กลับมาจับปลากันอีกครั้ง วิถีชีวิตชุมชนหาปลาก็ได้ฟื้นคืนมาเมื่อสายน้ำได้ไหลอย่างอิสระ

 

จนถึงวันนี้เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอีกมากต่อมาก แม้จะอยู่ในการดูแลของรัฐบาลที่ทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชนก็ตาม กล่าวอีกอย่างก็คือ ต้นทุนการสร้างเขื่อนของรัฐบาลในฐานะเจ้าของรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ยังเบี้ยว หรือไม่ยอมจ่ายอีกมาก แต่หากวันข้างหน้าเขื่อนจะเปลี่ยนไปอยู่ในมือของนายทุนกลุ่มหนึ่ง (บริษัทมหาชนชื่อ กฟผ.) แล้ว เราจะอธิบายการที่ชาวบ้านผู้ทุกข์ยากถูกกระทำเช่นนี้เยี่ยงไรนอกจาก ถูก "ปล้น" โดยรัฐเพื่อไปแจกจ่ายนายทุน

 

สายน้ำมิไหลย้อน กับนิยายชีวิตไม่รู้จบ

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ไปกว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งถ้ากรมธนารักษ์เก็บภาษีจากการทำไร่นาจะได้เงินปีละกว่า 314  ล้านบาทซึ่งเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่ได้รับจากการเช่าเขื่อนของบริษัท กฟผ. (มหาชน) เสียอีก

 

"เขื่อนขนาดใหญ่แต่ละเขื่อนต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ไม่น้อยกว่า 25,000 คน ส่วนไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนทั่วประเทศประมาณ 2,500 เมกะวัตต์เท่านั้น คิดแล้วไม่ถึง 10% ของไฟฟ้าฟ้าที่ใช้ในประเทศ สำหรับข้ออ้างว่าไฟฟ้าพลังน้ำช่วยลดต้นทุนการผลิต จึงไม่ใช่ความจริง เพราะการคิดเช่นนั้นเท่ากับขาดความรับผิดชอบและไม่คำนึงถึงชีวิตและวิถีชีวิตที่ต้องสูญเสีย ซึ่งไม่สามารถนำไปเทียบกับน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหินได้ เพราะมันคนละมิติกัน" หาญณรงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

 

ยิ่งไปกว่านั้น เพียรพร ดีเทศน์ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่า เขื่อนได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและที่ดินทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ปิดกั้นวงจรการอพยพของปลา ปลาน้ำจืดกว่า 1 ใน 3 ต้องสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ เขื่อนยังทำลายการไหลของสายน้ำ และการลดผลกระทบเหล่านี้ประสบความสำเร็จน้อยมาก

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอ่างเก็บน้ำปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะจากเขื่อนในแถบเส้นศูนย์สูตร เขื่อนบางแห่งปล่อยก๊าซดังกล่าวมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซที่มีขนาดเท่ากันเสียอีก

 

"เราถูกทำให้เชื่อว่าเขื่อนผลิตไฟฟ้าในราคาถูก และพึ่งพิงได้ ค่าผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนอาจมีราคาต่ำกว่าถ่านหินและน้ำมัน แต่ต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนนั้นแพงมหาศาล และงบการก่อสร้างจริงมักบานปลาย คณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่า เฉลี่ยแล้วเขื่อนใช้งบประมาณก่อสร้างจริงสูงกว่าที่วางแผนไว้ประมาณ 56% และก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่าที่อ้างไว้" เพียรพร ชี้แจง

 

...........

เมื่อการช่วงชิงระหว่าง กฟผ. และประชาชนในอดีต มิอาจฝังไว้ใต้เขื่อนได้นิรันดร์ การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อทวงสิทธิจึงเป็นหนทางเดียวที่ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเขื่อนที่ถมทับชีวิตของผู้คนซึ่งถูกบังคับให้เสียสละเพื่อรัฐ กำลังจะถูกเปลี่ยนมือไปให้เอกชน จึงเป็นความความเจ็บช้ำอีกระลอก ฝันร้ายในอดีตและยังตกค้างในปัจจุบันก็จะถูกทำให้กลายเป็นนิยายอันไม่รู้จบ

 

การทรยศครั้งใหญ่นี้ มันเป็นความอัปยศเกินกว่าที่จะยอมรับได้ หรือว่าไม่จริง?


   

 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท