Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis









หลังจากที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่ง สตช.ที่ 855/2548 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้สื่อมวลชนไม่สามารถเผยแพร่ภาพของผู้ต้องหาได้อีกต่อไป


 


เมื่อเหตุการณ์ซ้อมผู้ต้องหาบนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวอุบัติขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (2548) ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคมเกี่ยวกับความเหมาะสมและความพอดีของคำสั่งทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของสื่อขึ้นอีกครั้ง


 


และแม้ว่าคำถามที่เกิดขึ้นในวันนั้นอาจจะเลือนหาย หรือจบลงแล้วในความรู้สึกของใครหลายคน แต่คำสั่งของ สตช. ฉบับนี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่สื่อมวลชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจะต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต


 


"ประชาไท" จึงได้ขอความกรุณาจาก สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ต่างประเทศ วุฒิสภา และนักวิชาการประจำสภาเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (ฟอรั่ม เอเชีย) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับความเหมาะสมของคำสั่งจาก สตช. ทั้งในแง่กฎหมาย  สิทธิมนุษยชน ตลอดจนสิ่งที่ยังขาดหายในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งทางประชาไทเห็นว่าประเด็นการแลกเปลี่ยนความเห็นในวันนั้น น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่รักความยุติธรรม


 


0 0 0


 


คิดอย่างไรกับกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกคำสั่ง สตช.ที่ 855/2548 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวต่างๆ ของตำรวจ ส่งผลให้สื่อมวลชนไม่สามารถเผยแพร่ภาพของผู้ต้องหาได้


ประเด็นจริงๆ คงต้องเข้าใจหลักการที่รัฐธรรมนูญไทยกับหลักกฎหมายสากลยึดเป็น คือถือว่าบุคคลจะไม่เป็นคนร้ายจนกว่าจะพิสูจน์ได้ โดยเฉพาะในคดีอาญา แต่เท่าที่ผ่านมา มีความคาบเกี่ยวกันกับความพยายามของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะแถลงข่าวเพื่อบอกว่า คดีมีความคืบหน้า และเป็นการประเมินความสามารถในการทำงาน สองตัวนี้ ทำไปทำมาทำให้ผู้ต้องสงสัย พอถูกนำมาแถลงข่าวก็กลายเป็นการพิพากษาไปล่วงหน้า มันเป็นการตัดสินจากทางสังคมไปแล้ว ทั้งๆ ในเวลาต่อมาในหลายกรณี กลายเป็นสำนวนของตำรวจอ่อน คดีไม่มีมูล สิ่งเหล่านี้จึงขัดกับทั้งหลักกฎหมายไทยและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ


 


เพราะฉะนั้นการที่ตำรวจลุกขึ้นมาแก้ไขในส่วนนี้ จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควร การออกคำสั่งตรงนี้ ทำให้หลักการของตำรวจสอดคล้องกับหลักกฎหมายไทยและหลักการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังดีต่อภาพพจน์ของตัวตำรวจเองด้วย


 


แต่ในทางปฏิบัตินั้น หากจำเป็นจะต้องแถลงข่าวเพื่อหวังผลในคดีสำคัญจริงๆ เพื่อจะบอกว่าตำรวจมีความคืบหน้า ก็สามารถทำได้ โดยผ่านการกลั่นกรองพิจารณาอย่างรอบคอบ ในคำสั่งชิ้นนี้ไม่ได้ห้าม แต่ให้ผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาพิจารณา เป็นการกลั่นกรองตรวจสอบในระบบพอสมควร ไม่ใช่ว่าจับได้แล้วยังไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นชิ้นเป็นอันก็จับมานั่งแถลงข่าวแล้วบอกเลยว่า ไอ้นี่มันผิดแน่ๆ คำสั่งดังกล่าวจึงยังเปิดช่องทางให้ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลยในทุกกรณี


 


อย่างนี้ก็ไม่มีโอกาสเห็นตัวผู้ต้องสงสัยเลย ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นเกินไปหรือไม่ ในขณะที่ภาพลักษณ์ตำรวจไทยยังไม่ค่อยดีนักในเรื่องการสอบสวนผู้ต้องสงสัย


ในอดีตมีการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว มีช่างภาพทั้งสื่อโทรทัศน์ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์มาถ่ายภาพ ทำให้เราเห็นสภาพของผู้ต้องหาว่ายับเยินแค่ไหน บางทีเราก็สันนิษฐานไปก่อนว่า มันมีปัญหาในการจับกุม หรือในช่วงการสอบสวนว่า มีการทำร้ายอะไรหรือไม่ ก็ช่วยให้สังคมลดความคลางแคลงใจไปได้


 


คำสั่งตัวนี้อาจจะลดโอกาสที่ให้สังคมตรวจสอบได้ แต่เพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้ ทางตำรวจจะต้องยกมาตรฐานในการปฏิบัติงานโดยเร็ว ด้วยการยินยอมให้ทนายความหรือคนสนิทโดยกฎหมายก็คือสมาชิกครอบครัวเข้าไปรับฟังการสอบสวนได้ ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็บอกว่า ทนายต้องเข้าไป แต่บางทีไม่ให้เข้าไป พอจับมาได้ก็อัดเสียก่อนแล้วค่อยให้ทนายมาหลังรับสารภาพ


 


ต้องยกมาตรฐานตัวนี้ อาจจะมีคำสั่งอื่นของตำรวจตามมา ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ เพราะกฎหมายมีอยู่แล้วในวิธีพิจารณาความอาญา แต่ออกระเบียบมาว่า นับแต่นี้ในทางปฏิบัติทุกครั้งที่มีการจับกุมและดำเนินคดี ต้องให้ทนายความเข้ามาร่วมในการรับฟังการสอบสวนโดยทันที จุดนี้จะลดความแคลงใจได้ อย่างน้อยก็มีบุคคลที่ 3 และเป็นกลางมาเป็นพยานอยู่ด้วย เป็นหลักประกันว่า ผู้ต้องหาไม่ถูกกระทำการโดยไม่ชอบ และทนายความก็สามารถมาแถลงข่าวได้


 


ในส่วนที่เอาเด็กมาใส่หมวกไอ้โม่งมาแถลงข่าว เราคงเห็นร่วมกันว่า มันไม่เหมาะ ไม่ได้เรื่องที่สุด อีกเรื่องที่ตอนนี้น่าพูดที่สุดก็คือ การเอาผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบการรับสารภาพ ในหลักการสากล ในกระบวนการยุติธรรมไทยบอกว่า มันไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกคนค่อนข้างสูง ประจวบกับวิธีการแถลงข่าวของตำรวจเป็นวิธีการที่มีปัญหา คือถ้าทำให้เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นกระทำจริงๆ ชาวบ้านซึ่งมีความสะเทือนใจอยู่แล้ว เมื่อนำไปทำแผนประกอบคำสารภาพ ชาวบ้านก็จะซ้อม รุมประชาทัณฑ์ บางทีเจ็บหนัก บางทีถึงตาย การทำแผนจึงไม่จำเป็น เว้นแต่กรณีที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องรัดกุมระมัดระวังกว่านี้


 


การทำแผนมันสะท้อนปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ กระบวนการยุติธรรมไทยให้ความสำคัญกับคำรับสารภาพของผู้ต้องหามากกว่าหลักฐานในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ เท่าที่ผ่านมา การเอาผู้ต้องหามาแถลงข่าวแล้วให้พูดอะไร มันดูมีน้ำหนักมากกว่าที่จะพิสูจน์ความผิดของเขา มีหลายกรณีที่ผู้ต้องหาถึงชั้นศาลแล้วพูดว่า ที่พูดเพราะถูกขู่ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ถูกบีบบังคับหรือถูกซ้อม ศาลก็ยกฟ้องไป


 


เพราะฉะนั้น คำสั่งนี้ถ้าจะมีอานิสงส์ตามมา ก็คืออาจจะทำให้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์มีน้ำหนักมากขึ้น เพราะต่อไปนี้ไม่สามารถเอาผู้ต้องหานั่งแถลงข่าวแล้วชี้ให้สังคมเห็นว่าคนนั้นกลายเป็นคนผิดได้ กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ที่เข้ามา เมื่อบวกกับระบบที่ให้ทนายเข้ามามีส่วนรับรู้และให้คำปรึกษาที่ดี คำรับสารภาพที่จะได้มา ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น เป็นคำรับสารภาพจริงๆ กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์จะช่วยให้นำตัวคนผิดจริงๆ มาลงโทษได้ ไม่ใช่แพะ ที่ผ่านมาเราจับแพะไปไม่รู้เท่าไหร่


 


มันไม่ยุติธรรมกับคนไม่ผิดแล้วต้องมารับโทษโดยถูกพิจารณาจากสังคม เพราะฉะนั้นตัวคำสั่งนี้ในตัวของมันเองต้องมีมาตรการอื่นมารองรับประกอบด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และให้กระบวนการยุติธรรมของบ้านเรามันมีมาตรฐานที่แท้จริงและอำนวยความยุติธรรมได้จริงๆ ไม่ใช่จับเพื่อแสดงผลงาน


 


ฉะนั้น ในความเป็นจริง การพบทนายควรจะเป็นหลักการสำคัญที่ควรจะออกมาก่อนหรือควบคู่ไปกับคำสั่งนี้


ควรจะควบคู่กัน เรื่องที่พูดทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ การพบทนายก็อยู่ในวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายโบราณที่มีอยู่มาตั้งนานแล้ว และสิทธิ์ในการพบทนายมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ววิธีพิจารณาความอาญาก็บอกว่า ห้ามทรมานผู้ต้องหา เรื่องนิติวิทยาศาสตร์เราก็พูดกันมาตลอด แต่มันไม่มีการปฏิบัติ


 


เพราะฉะนั้นพอพูดเรื่องนี้ขึ้นมา ในทางหนึ่งก็ว่าดีที่ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมกระตือรือล้นออกมาวิจารณ์คำสั่งอันนี้ และน่าจะพูดประกอบด้วยว่า จากข้อจำกัดซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งอันนี้ ทางฝ่ายตำรวจน่าจะสร้างหลักประกันยืนยันในความโปร่งใส ความยุติธรรมในกระบวนการจับกุม การสืบสวนสอบสวนว่า สิ่งที่จะต้องตามมาคือ ทนาย และนิติวิทยาศาสตร์


 


เรื่องการห้ามการสื่อด้วยภาพ อาจจะเป็นเพราะตัวสื่อเองหรือไม่ที่อาจจะถ่ายภาพเกินไป?


นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง เราต้องยอมรับว่า ตลาดผู้บริโภคสื่อในบ้านเรา ภาพในเชิงคาบลูกคาบดอก หวือหวา หวาดเสียวมากๆ มันขายได้ หลายครั้งมันมากไปก็กลายเป็นสิ่งที่สังคมบางส่วนตอบโต้กลับมา กลายเป็นแรงกดดันทางการเมือง ทำให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งในลักษณะที่ว่า ในเมื่อคนไม่เห็นชอบกันมาก ก็ห้ามไปทั้งหมดเลย แทนที่จะพิจารณาเป็นกรณีไป


 


แต่ขณะที่ทนาย หรือนิติวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้ามามีบทบาทหลักในการสอบสวนร่วมกับตำรวจ การห้ามถ่ายภาพไปก่อนจะเป็นช่องว่างที่ทำให้การตรวจสอบทางสังคมโดยสื่อหายไปหรือไม่


เห็นกรณีตัวอย่างมาแล้ว เช่นที่เนชั่นไปถ่ายภาพการซ้อมผู้ต้องหามาได้อย่างนี้ เราก็รู้ว่ามันเป็นปัญหา ทางฝ่ายสื่อในเมื่อถ่ายภาพไม่ได้ คงต้องทำงานลำบากมากขึ้น บทบาทของสื่อในเชิงการช่วยตรวจสอบสวัสดิภาพของประชาชน วิธีการปฏิบัติที่ตำรวจกระทำต่อผู้ต้องหาลดลง อันนี้จะเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะยืนยันความโปร่งใสในการทำงานได้มากน้อยแค่ไหน


 


จะสามารถยืนยันความโปร่งใสได้ก็จะต้องเขียนออกมาเลย ให้มีทนายเข้าร่วมการสอบสวนโดยทันที และนำมาใช้ปฏิบัติโดยทันที เรื่องสภาพร่างกายของผู้ต้องหา ต้องให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ ญาติจะต้องไม่ถูกข่มขู่คุกคาม ถ้าพบว่าผู้ต้องหาถูกกระทำโดยไม่ชอบเขาจะได้ไปฟ้อง ร้องเรียนกันไป


 


คิดว่าในเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาจจะเข้าใจ แต่ในระดับล่างหรือการปฏิบัติจริงคงเป็นปัญหา


เห็นด้วย ตรงนี้อาจเป็นปัญหา ตาม สน.ต่างๆ ยังไม่มีผลปฏิบัติทันทีในเรื่องทนาย ช่องว่างนี้ คือจุดที่น่าเป็นห่วง และถ้าพิจารณาจากหลักความเป็นจริงที่ทำๆ กันมา น่าเป็นห่วงแน่ๆ


 


เคยพบว่าภาพที่ผ่านทางสื่อมีผลที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือไม่


มี ในประเทศอื่นก็มี เช่น สภาพร่างกายของผู้ต้องหา เห็นว่าถูกซ้อมมากๆ การที่มีช่างภาพอยู่ในที่เกิดเหตุ หรือหลังจากการที่จับกุมแล้ว ทำให้เห็นว่ามีการทุบตีผู้ต้องหา


 


หรืออย่างบ้านเรา ก็มีที่ช่างภาพไปอยู่ตรงนั้นโดยบังเอิญ เลยเห็นว่า หลังจากที่จับแล้วก็กระทืบกันน่วมเลย


 


ถ้าจำได้อีกกรณีก็คือ โจ ด่านช้าง ที่จับได้ เอาเข้าไปในบ้านแล้วจัดการ ก็เป็นกรณีที่นำไปสู่การสอบสวนตามมาในทางอื่น


 


ในกรณีที่เป็นข่าวก็มี เช่น การเอาผู้ต้องหาจุ่มไปในน้ำแล้วตาย ในกรุงเทพเมื่อไม่นานมานี้เอง อีกกรณีที่เป็นข้อสงสัยคือการเอาเชือกผูกรองเท้ามาผูกคอตัวเองตายพร้อมกัน 3 คน ก็เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความสงสัยแก่สังคม พอสังคมสงสัย ก็มีการสอบสวนตามมา


 


ส่วนประโยชน์จากการอนุญาตให้ทนายเข้าพบผู้ตองหาได้ คือ กรณีที่คุณสมชาย นีละไพจิตร ทำก่อนโดนอุ้มไป ในกรณีผู้ต้องหา 5 คนโดนซ้อมยับ นำไปสู่การเปิดโปงเรื่องไม่ชอบมาพากลมากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงนั้นเป็นประโยชน์


แม้ตัวทนายจะต้องกลายเป็นเหยื่อเองในที่สุด


 


แต่อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่า  ถ้าเปิดโอกาสให้คนทำงานตามระบบโดยที่ไม่ขัดขวาง ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้


 


แต่บางทีตามความเข้าใจหรือตามภาพลักษณ์ของตำรวจไทย วัฒนธรรมแบบนี้กับตำรวจดูเหมือนจะฝังรากไปแล้ว


ใช่ แต่คงต้องแก้และขุดให้ออก ดังนั้นถ้าบอกว่า มันเป็นวัฒนธรรม แต่เป็นวัฒนธรรมที่เลว ก็ไม่ควรจะเก็บไว้ แต่ตอนนี้ถามว่า ผมห่วงหรือไม่ที่มีคำสั่งนี้ออกมา ก็ต้องบอกว่าห่วง เพราะมันเกิดช่องว่างขึ้นแน่ๆ  ในการปฏิบัติงาน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะยอมให้ทนายสามารถทำงานได้ทันที ระหว่างปัจจุบันไปยังจุดนั้นมันยังเป็นช่องว่างที่น่าเป็นห่วง


 


ดังนั้นตอนนี้จึงยังไม่สมควรมีคำสั่งนี้ออกมา?


ก่อนการบังคับใช้ ควรมีการสร้างหลักประกันให้คนไว้ใจออกมาให้เห็นเสียก่อน ไม่ใช่ประกาศโดยยังไม่มีการรับประกันความปลอดภัยในสวัสดิภาพของผู้ต้องหา


 


ในสถานการณ์ปกติยังมีปัญหา ยิ่งไปพูดในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะว่าคุมตัวได้โดยไม่ต้องมีทนายเลย และประวัติในภาคใต้ยิ่งหนักไปอีก เพราะผู้ต้องหาโดนซ้อมเกือบทุกราย


 


โดยหลักการนี่ดีทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการบังคับใช้ มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า save guard หรือมาตรการรักษาความปลอดภัย มาตรการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งน่าเป็นห่วง


 


ในกรณีอย่างนี้ นานาประเทศเขาทำกันอย่างไร


ในต่างประเทศไม่มีการแถลงข่าว ยกเว้นกรณีที่มันเป็นเทคนิคในเชิงสอบสวน เช่น การแถลงข่าวเพื่อจะตีชิ่งไปหาคนร้ายที่เหลืออยู่ หรือว่าพบแรงกดดันทางเมือง อย่างเช่น กรณีที่มีการฆ่ายกบ้านแล้วคนในชุมชนอยากให้จับตัวได้เร็วๆ เขาก็จะมีการแถลงข่าวว่าจับได้แล้ว แต่ไม่มีผู้ต้องหา มีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลคดี อัยการที่ดูแลคดีมาแถลงว่า จับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้ว เชื่อว่าแรงจูงใจมาจาก 1 2 3 4 ส่วนความคืบหน้าจะแถลงข่าวเป็นระยะ


 


เพราะฉะนั้นการแถลงข่าวโดยหวังผลทางรูปคดี หรือการกระทำแบบนี้สามารถทำต่อไปได้ ซึ่งประกาศฉบับนี้มันไม่ได้ห้าม เพียงแต่ว่าไม่ใช่เอาคนที่จับได้มาแถลงเลย คือจะต้องให้ผู้บังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น อย่างสารวัตร หรือว่าหัวหน้ากอง หัวหน้างาน หรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปเป็นผู้แถลงข่าว


 


เป็นเพราะว่าในสังคมของเขามีระบบกฎหมายทำให้เขาเชื่อถือได้ แต่ว่าในสังคมแบบบ้านเราคนจะไม่เชื่อหากเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาแถลงข่าวเอง?


ปัจจัยอย่างนั้นมันมีอยู่ แน่นอนว่าถ้าเกิดตำรวจมาแถลงข่าว คนก็ต้องสงสัยว่าจับใครได้ จับได้อย่างไร ต้องเป็นข้อกังขาแน่ๆ อย่างในเมืองนอกคนก็แคลงใจตำรวจ อย่างว่านะ ตำรวจก็คือตำรวจ แต่ว่าในต่างประเทศ หากสิ่งที่ตำรวจออกมาแถลงข่าวมันมีข้อขัดแย้ง และทนายเห็นว่าลูกความของเขาถูกปฏิบัติโดยมิชอบ เขาก็สามารถแถลงข่าวโต้ได้


 


ยิ่งย้อนกลับไปทางภาคใต้ยิ่งน่าเป็นห่วง?


ใช่ น่าเป็นห่วงมาก เพราะแม้แต่ทนายก็เข้าถึงตัวผู้ต้องหาไม่ได้เลย โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ถูกจับตาม พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินในกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2548)


จริงๆ กรณีของภาคใต้ มีการเรียกร้องสูงมากในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ แต่มันกลายเป็นประเด็นที่เกิดช้าที่สุด ทั้งที่ควรจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสำคัญอันดับหนึ่ง แม้แต่ตัวบุคคลที่อยู่ในองค์กรทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างคุณหญิงหมอ (พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์) ก็บ่นมาตลอด


 


ขนาดพื้นที่ที่อ่อนไหวขนาดนั้นยังไม่นำมาใช้ แล้วเราจะหวังอะไรได้กับพื้นที่ทั่วไป?


พื้นที่ทั่วไปน่าจะง่ายกว่า แต่ก็ไม่รู้นะ เพราะที่ผ่านมาทางสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ก็บ่นมาตลอดว่า ได้รับความร่วมมือน้อย ได้รับแจ้งช้า พอไปถึงหลักฐานมันก็เปอะเปื้อนไปหมดแล้ว


 


ทั้งๆ ที่เราอยากให้เป็นไปตามหลักสากล?


ที่จริงสิ่งที่อยู่บนกระดาษของบ้านเรามันเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เหลือแต่ความสมัครใจทางการเมือง และความสมัครใจของเจ้าหน้าที่ ในทางปฏิบัติ มันยังไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่กฎหมายบ้านเราไม่ได้ล้าหลังกว่าใคร แต่วิธีการปฏิบัติมันยังช้า


 


เพราะเจ้าหน้าที่ตามไม่ทัน?


โทษแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ ต้องโทษสื่อมวลชนด้วย เพราะในขณะที่ สื่ออยากจะได้ข่าวแล้วเน้นในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่บางทีก็ลืมสิทธิของคนที่ต้องไปปรากฏอยู่ในข่าว ว่าเขาเป็นคน แล้วเขาก็มีสิทธิที่จะได้รับความถูกต้อง ครอบครัว หรือคนที่อยู่รอบตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องก็มักถูกพาดพิงไปด้วย


 


การเสนอข่าวแบบที่พิพากษาล่วงหน้านี่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะข่าวที่ตราหน้าไปเลยว่า ไอ้โจร ไอ้โฉด ไอ้หื่น ยิ่งไอ้หื่นนี่บ่อยมาก บอกไอ้หื่น แต่กลายเป็นจับผิดตัว อย่างกรณีเชอรี่ แอน นี่เห็นได้ชัด ผู้ต้องหาต้องตายในคุกเลย


 


แล้วอย่างนี้ต้องมีมาตรการอะไรสำหรับสื่อ?


จริงๆ ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ก็มีแนวทางอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าแต่ละสำนักพิมพ์ต้องไปคุยกับผู้สื่อข่าวในสำนักตัวเองว่าจะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์กำหนดไว้ เพราะมันเป็นหลักในการพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของสื่อ


 


การที่สื่อทำหน้าที่เปิดเผยความจริงก็เป็นสิ่งที่ดี แล้วสื่อไทยก็ไม่ค่อยยอมแพ้เท่าไหร่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เพียงแต่ว่าความขยัน ความมุ่งมั่นต้องควบคู่กันไปกับจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพ


 


อย่างกรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าวซ้อมผู้ต้องหา ถ้าไม่มีอะไรมากระทบการทำงานของสื่อเองอย่างการประกาศห้ามเผยแพร่ภาพผู้ต้องหาครั้งนี้ก็คงไม่มีภาพอย่างนั้นหลุดออกมา?


มันเป็นสัญชาติญาณของคนทั่วไป ถ้าเรื่องไม่ถึงตัวก็ไม่ดิ้น แล้วบรรยากาศสื่อบ้านเราก็เครียดกันอยู่ ถ้ามันไม่ตึงอย่างนี้ก็คงไม่มีใครฮึดสู้กันขึ้นมา


 


เพราะฉะนั้นเราจะหาที่ตรงกลางได้ไหม? เพราะกรณีนี้ ทำให้เราเห็นว่าตำรวจเองก็มีวัฒนธรรมอย่างนี้อยู่ สื่อเองก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่บนฐานของตัวบทกฎหมาย ถ้าหากสื่อผิดจริงก็ฟ้องกันไป?


 


ตัวผู้ต้องหา หรือคนรอบตัวเขาสามารถฟ้องสื่อได้ ฟ้องละเมิดได้ ฟ้องเรียกค่าเสียหายว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้ แล้วอย่างบ้านเรานี่อำนวยความสะดวกถึงขั้นฟ้องขั้นอาญาได้ด้วย อย่างความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งจริงๆ ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดอาญา เอาแค่ว่าเป็นความผิดแพ่งก็น่าจะพอแล้ว


 


อีกเรื่องหนึ่งที่ลืมพูด ก็คือ ห้องขังและห้องสืบสวนสอบสวนในบ้านเราควรจะทำตามหลายๆ ประเทศที่เขาเจริญแล้ว คือให้มีการบันทึกเทป บันทึกภาพขั้นตอนการสอบสวนไว้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า ไม่มีการกระทำผิดใดๆ ต่อผู้ต้องหา แต่จริงๆ ฝรั่งก็ทำ คือหยุดภาพแล้วก็ซ้อม แล้วค่อยสอบใหม่ แต่ว่าอย่างน้อยก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยได้อีกทาง แม้ไม่สมบูรณ์ที่สุด


 


อย่างกรณีของต่างประเทศมีกรณีที่ผู้ต้องหาฟ้องร้องสื่อเยอะไหม?


เรื่องจำนวนคงระบุไม่ได้ แต่ก็มี ในยุโรป อเมริกามีเรื่อยๆ เนื่องจากว่าเขาไม่นำผู้ต้องหามาแถลงข่าว ทำให้สื่อต้องไปสืบเสาะว่าผู้ต้องหาชื่ออะไร มาจากไหน บางทีก็ไปสืบเอาข้อมูลจากญาติ ญาติเขาก็ฟ้องกลับได้ หรือวิธีการเสนอข่าวแบบที่ชี้นำไปก่อน ญาติเขาก็ฟ้อง แล้วก็เป็นหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์กันไป


 


สื่อก็ได้รับความคุ้มครองว่า มีสิทธิในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ ถ้าพิสูจน์ได้ถึงความบริสุทธิ์ใจ ว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะก็ไม่เป็นไร อย่างกรณีหลายกรณีที่ศาลเพิ่งตัดสินกันไปเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างเรื่องหมิ่นประมาท ที่นักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกค่าเสียหายเยอะแยะ ศาลบอกว่าเนื่องจากสื่อทำหน้าที่โดยบริสุทธิ์ใจ ก็ยกฟ้อง


 


จะดีกว่าไหมที่จะให้กฎหมายมาตรวจสอบสื่อ แทนที่จะห้ามเผยแพร่ไปเลย ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมตำรวจยังมีเรื่องที่น่าสงสัยมากมาย?


อย่างที่บอกว่าคำสั่งนี้ดี แต่มันเกิดขึ้นมาโดดๆ อย่างนี้มันน่าห่วง เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ ต้องปฏิรูปสื่อด้วย ปฏิรูปการทำงานของตำรวจด้วย ตำรวจทำคนเดียวไม่พอ ต้องคุยกับสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ สมาคมผู้สื่อข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย คุยกับสภาทนายความ คุยกับกระทรวงยุติธรรม แล้วยกมันทั้งแผง คือระเบียบนี่จะยกคู่ไปกับแนวทางของสมาคมผู้สื่อข่าว หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นวงคุยของแต่ละฝ่าย ทางฝ่ายยุติธรรมก็มีอีกวงหนึ่ง ทางฝ่ายสภาทนายความก็มีอีกวงหนึ่ง แล้วเอาแต่ละวงมาคุยกัน เพื่อให้ประกาศฉบับนี้มีผลในทางปฏิบัติอย่างที่เป็นบวกต่อสังคมโดยรวม ก่อนที่จะมีการบังคับใช้


 


แต่ตอนนี้ทางตำรวจเองก็ตัดตอนไปแล้วว่าอย่ามาขอให้แก้ ไม่แก้ เขายืนยันว่ามันดี ซึ่งเราก็ไม่เถียงว่ามันดีมันดีจริง แต่ว่าถ้าเกิดจะให้บังคับใช้ ก็ต้องมาเป็นขบวน จะมาแต่ตำรวจโดดๆ ไม่ได้


 


เหมือนระบบราชการก็ชินกับคำสั่ง เลยไม่ได้คิดว่าจะทำงานร่วมกันได้ยังไง


วิธีการทำงานของระบบราชการ คือ มีนโยบายออกมา ก็เซ็น แล้วปล่อยออกมาเลย โดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อม ตอนนี้เป็นเรื่องที่ต้องเคลียร์ แต่ละฝ่ายต้องกวาดบ้านตัวเองให้สะอาด ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องคุยกัน ต้องยืนยันว่า ประกาศฉบับนี้ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ ปกป้องสิทธิของประชาชนซึ่งตกเป็นผู้ต้องหา ต้องยืนยันว่า ประกาศออกมาแล้วสิทธิของคนต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่ประกาศออกมาแล้วสร้างโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิมากขึ้น โดยที่คนไม่มีโอกาสรับรู้ด้วยซ้ำ


 


แต่ในประกาศมีอยู่ข้อหนึ่งระบุว่า ห้ามพนักงานให้สัมภาษณ์ในเรื่องที่จะมีผลทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อระบบราชการ?


จุดนี้เป็นจุดที่น่าเป็นห่วงมาก ว่ามันแปลว่าอะไร มันอาจตีความไปได้ว่า หากมีการทำร้ายผู้ต้องหา หรือเรื่องอะไรที่พูดแล้วราชการเสื่อมเสียเขาก็จะไม่พูด เพราะฉะนั้นมันจึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการ check and balance ตรวจสอบและถ่วงดุลเกิดขึ้นกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจุดนี้คงไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะออกมาพูดให้ตัวเองเสื่อมเสีย ประโยคนี้จึงน่าเป็นห่วง


 


แล้วอย่างกรณีห้ามนำสื่อมวลชนเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุที่กำลังมีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่


เขาไม่ได้นำเราไป แต่เราไปเองได้ อย่างอันนี้เขาไม่ได้ห้ามเรา อย่างคดีใหญ่ๆ ปกติตำรวจจะบอกกับนักข่าวที่อยู่บน สน. ให้ไปด้วยกัน อย่างที่เคยดูเรื่องฆ่าตัดตอน นักข่าวก็นั่งหลังกระบะรถตำรวจไป แล้วก็ดูเขาไล่ยิง อย่างนั้นมันไม่เหมาะ ตัวนักข่าวเอง เวลาไปอย่างนั้นก็เดือดร้อนได้


 


แต่ถ้านักข่าวไปเอง อาจจะถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่


อันนี้มันอยู่ที่ว่า เราเข้าไปแล้วไปอยู่ตรงจุดไหน ขอบเขตแค่ไหนที่ถือว่าทำหน้าที่โดยถูกต้อง หรือว่ารายงานข่าวแค่ไหนถึงจะเหมาะสม อันนี้เป็นเรื่องที่ในทางปฏิบัติจะต้องคุยกัน แต่ในหลักการกว้างๆ เชื่อว่านักข่าวยังทำหน้าที่ได้อยู่


 


หลายคนเป็นห่วงว่าการห้ามเผยแพร่ภาพผู้ต้องหา อาจทำให้เกิดการจับแพะมากขึ้น  หรือบางครั้งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจประพฤติตนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศฉบับนี้อาจส่งผลให้มีการปกป้องพวกพ้องได้ง่ายขึ้น หรือเปล่า?


มันก็ต้องมีการตรวจสอบ อย่างตำรวจเองก็ควรจะมีการตรวจสอบกันเอง และจริงๆ แล้ว จเรตำรวจควรทำหน้าที่นี้ อย่างเมืองนอกสำนักงานจเรตำรวจนี่สำคัญมาก เพราะต้องตรวจสอบว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ แต่บ้านเราจเรตำรวจยังต้องเข้าไปดูแลเรื่องทุจริตลำไย


 


แล้วองค์กรอิสระต่างๆ อย่างองค์กรสิทธิมนุษยชน ก็น่าจะทำหน้าที่มากกว่านี้ และมีอำนาจมากกว่านี้ อย่างที่ผ่านมากรรมาธิการทั้งของ สว. สส. ก็ได้รับคำร้องเรื่องนี้เยอะ


 


มีคนเสนออีกมุมหนึ่งว่า ประกาศนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ระวังตัวหากมีการซ้อมผู้ต้องหา แล้วสิ่งเหล่านี้จะไปปรากฏอยู่ในชั้นศาลเอง


ก็ขออย่าให้ถึงขนาดนั้นเลย เพราะกว่าจะถึงชั้นศาลคงช้ำในตายไปแล้ว อย่างไรก็ตามควรจะต้องมีการตรวจสอบว่าหลังมีประกาศฉบับนี้แล้ว ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นหรือไม่


 


มีอีกประเด็นหนึ่ง คือบางคนเขามองว่า ถ้าเป็นความผิดซึ่งหน้า แล้วรู้อยู่ว่าผู้ต้องหาคนนี้กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นควรแล้วหรือที่จะไปปกป้องเขาด้วยการใช้คำว่าสิทธิมนุษยชน


ถ้าพูดแบบหลักการกว้างๆ คือ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนดี หรือคนร้าย การที่ให้การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาก็เพื่อรับประกันว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อคนที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นคนร้าย เพราะหากเขาเป็นคนบริสุทธิ์ แต่เขาถูกปฏิบัติแตกต่างไป เชื่อว่านั่นจะเป็นผลร้ายมากกว่า










 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net