Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท—29 พ.ย. 2548  ผลวิจัยชี้ เด็กไทยเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากขึ้น เครือข่ายวิจัยสุขภาพเสนอโรงเรียนสร้างมาตรการ ป้องกันปัญหาบานปลาย


 


เครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเวทีนโยบายสาธารณะโดยระดมความเห็นจากครูกว่า 200 คนทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเสนอมาตรการ 4 ด้านป้องกันภาวะโภชนาการเกินในเด็ก ได้แก่ มาตรการลดหรืองดจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียนและจัดหาน้ำเปล่าสะอาดให้กับเด็ก มาตรการลดหรืองดจำหน่ายขนมกรุบกรอบในโรงเรียน มาตรการจัดการอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในโรงเรียน และมาตรการเพิ่มกิจกรรมทางแก่เด็ก


 


ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกัน 5 ปีพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เด็กในโรงเรียนอนุบาลมีภาวะโภชนาการเกินร้อยละ 10.2 - 20.7 และเด็กกรุงเทพฯ อายุเพียง 2 ปี อยู่ในภาวะอ้วนถึง 12 เปอร์เซ็นต์ โดยผลการวิจัยระบุด้วยว่า หากไม่แก้ไขและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังคงเดิม อีก 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 ของเด็กปฐมวัยไทยจะเป็นโรคอ้วน


 


และจากการสำรวจโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศ 342 โรง โดยเครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2548 พบว่า ร้อยละ 3 ของโรงเรียนในปัจจุบัน ไม่มีน้ำดื่มให้เด็กดื่มฟรี และมีโรงเรียน 3 ใน 4 แจ้งว่ามีมาตรการห้ามขายน้ำอัดลม แต่ร้อยละ 15 ยังมีน้ำอัดลมขายในโรงเรียนโดย 1 ใน 4 ของจำนวนนี้ โรงเรียนทำการขายเอง


 


ในจำนวนโรงเรียนที่ทำการสำรวจ ร้อยละ 12 ให้บริษัทน้ำอัดลมประมูลขายผูกขาดเจ้าเดียวในโรงเรียน และประมาณร้อยละ 50 รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตขนมและน้ำอัดลมในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน ร้อยละ 8 มีโฆษณาน้ำอัดลม และร้อยละ 3 มีโฆษณาขนมกรุบกรอบในโรงเรียน


 


ทั้งนี้ โรคอ้วนเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพหลายระบบในวัยเด็ก รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจและสังคม ข้อมูลจากต่างประเทศระบุว่า ในยุโรป โรคอ้วนกำลังแซงหน้าบุหรี่ในฐานะตัวการของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ในอเมริกา ค่ารักษาพยาบาลของโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วนในเด็กอายุ 6 - 17 ปี เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 35 ล้านเหรียญในปี 1997 - 1981 เป็น 127 ล้านเหรียญในปี 1997 - 1999 โดยมีคำเตือนจากการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับโรคอ้วนปีที่แล้วว่า หากไม่รีบแก้ไข ปัญหาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วนอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหยุดชะงักได้


 


รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ หัวหน้าชุดโครงการภาวะโภชนาการเกินในเด็ก กล่าวว่า การที่โรคอ้วนในเด็กอุบัติสูงขึ้นมากในเวลาอันสั้น มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันที่ตามใจอย่างไม่มีขอบเขตในการกิน การใช้ชีวิตที่ไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย และปัจจัยแวดล้อมโดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่แข่งขันกันโฆษณาและทำการตลาดอย่างดุเดือด กระตุ้นการบริโภคน้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำหวานขนมและอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงอย่างไม่มีขีดจำกัด


 


"โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญมากต่อเด็กรองจากครอบครัว สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนจึงมีอิทธิพลสูงในการก่อรูปนิสัยการกินและการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก ซึ่งส่งผลต่อการเกิดภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วนในที่สุด ตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญกับการสอนวิชาความรู้ที่ใส่เข้าไปในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เบียดบังกิจกรรมที่จะได้เคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ชั่วโมงพละศึกษาลดน้อยลงเป็นอย่างมาก" 


 


รศ.พญ. ลัดดากล่าวและเสริมว่า แม้ว่าในชั่วโมงสุขศึกษา จะมีสอนให้เด็กได้รู้จักรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ แต่อาหารที่จัดให้กับเด็กในมื้อกลางวันของโรงเรียนกลับมีผักหรือผลไม้น้อยมาก และในขณะที่มีการรณรงค์ให้เด็กลดบริโภคหวาน แต่อาหารว่างของโรงเรียนเป็นขนมหวานหรือไม่มีน้ำเปล่าให้ดื่มมีแต่น้ำหวาน น้ำอัดลม กระทั่งการยอมให้มีโฆษณาขนมหรือไอศกรีม หรือน้ำอัดลมในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมกับเด็กว่าโรงเรียนเห็นชอบกับการบริโภคสิ่งเหล่านี้


 


เวทีนโยบายสาธารณะฯ ได้เน้นไปที่การลดเครื่องดื่มน้ำอัดลมและน้ำหวาน, เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้, ลดขนมและอาหารว่างที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง, สนับสนุนอาหารกลางวันที่ได้มาตรฐานทางโภชนาการ และสร้างทางเลือกอาหารสุขภาพในโรงเรียน, เพิ่มโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายในโรงเรียน, จัดให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ปราศจากโฆษณาอาหาร ขนมและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์, โรงเรียนต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัท ห้ามมีเครื่องขายอัตโนมัติ (Vending machine) ในโรงเรียนระดับอนุบาลและประถม, เฝ้าระวังภาวะโภชนาการของนักเรียน รวมทั้งการร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และมุ่งเน้นให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา


 


ทั้งนี้ นางเพียงใจ วิศรุตรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ได้แสดงความเห็นในการสัมมนาว่า แม้โรงเรียนจะได้พยายามสร้างมาตรการเพื่อป้องกันภาวะโภชนาการเกินของเด็ก แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ เมื่อเด็กเดินออกจากโรงเรียนก็จะพบว่า หน้าโรงเรียนมรการขายอาหารประเภทขนมกรุบกรอบ หรือเมื่อกลับบ้านเด็กก็จะเผชิญกับปัญหาภาวะโภชนาการเกินอีก ดังนั้น ทางโรงเรียนจะต้องสื่อสารมาตรการดังกล่าวกับผู้ปกครองและชุมชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net