Skip to main content
sharethis


วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2005 16:41น. 

วัสยศ งามขำ : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


จับศัพท์ "ภาษามลายู" ทำ "ดิกชั่นเนอรี่" แปลความเป็นไทย ศธ.ฯ  ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและศาสนาอิสลาม ค้นคว้าก่อนพิมพ์แจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้ามาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่เว้นแม้แต่ รมต. ยัน สื่อมวลชน เหตุเพราะสื่อความหมายผิดพลาดก่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำซ้อน ด้านทหารไม่น้อยหน้าออกคู่มือประจำตัว ขึ้น "แบล็กลิสต์" คำที่ไม่ควรหลุดจากปากสู่ชาวบ้าน พร้อมแนะ "คำที่ควรพูด" เพื่อลดความแตกแยกในพื้นที่


 


คำศัพท์ภาษามลายูประมาณ 200 คำ กำลังถูกรวบรวมเพื่อบันทึกจัดทำเป็นพจนานุกรมภาษามลายู-ไทย ขนาดย่อม เพื่อแจกจ่ายให้กับข้าราชการและผู้ที่เกี่ยว ข้องกับพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส โดยขณะนี้คณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมคำศัพท์ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ความหมายโดยใช้ โรงแรมหาดใหญ่รามา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นฐานในการระดมความคิดเห็นประมาณ 5 วัน ก่อนที่จะผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ และพิมพ์ออกแจกจ่ายก่อนสิ้นปีนี้


 


นายประดิษฐ์ ระสิตานนท์ ผู้อำนวยการ สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12 กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานประมาณ 15 คน อาทิ ตัวแทนคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ครูสอนศาสนา และนักเขียนภาษามลายู กำลังอยู่ระหว่างการระดมคำศัพท์ภาษามลายูที่สำคัญ  เพื่อนำมาบรรจุลงในพจนานุกรมภาษามลายู-ไทยขนาดย่อม ซึ่งจะบรรจุศัพท์เฉพาะคำศัพท์ที่สำคัญและใช่บ่อยๆ เบื้องต้นคาดว่าจะมีประมาณ 200 คำ จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์หาความหมายที่แท้จริง และนำมากำหนดรูปแบบการเขียนให้เป็นภาษาไทยที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการ


 


นายประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า เหตุผลและหลักการที่ต้องมีการรวบรวมคำศัพท์พร้อมคำอธิบายไว้ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่และผู้ใหญ่หลายคนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ใช้คำพูด เพื่อสื่อสารไปยังชาวบ้านอย่างไม่ถูกต้อง ผลที่เกิดมาคือ มีแนวร่วมของผู้ก่อเหตุมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เช่น ผู้ต้องหาวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่เจ้าหน้าที่ไปแถลงข่าวว่าเป็นนักเรียน ปอเนาะ อย่างนี้ก็ทำให้โรงเรียนปอเนาะเสียหาย และเด็กปอเนาะเองก็เกลียดชังรัฐมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าโดนใส่ร้าย เป็นต้น ด้าน นายรุ่ง แก้วแดง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา


ธิการ จึงกำชับให้ตนเร่งรวบรวมคำศัพท์ขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่


 


"ผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรี ที่เข้ามาในพื้นที่หลายคนเวลาพูดกับชาวบ้านหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใช้ศัพท์มลายู ไม่ถูกต้อง ผมเข้าใจว่าท่านทั้งหลายมีเจตนาดี แต่เมื่อใช้คำสื่อความหมายผิด คนในพื้นที่ก็มองภาพกลับไปในแง่ลบว่าไม่รู้จริงแล้วมาพูด ต่อไปนี้หากได้ศึกษาภาษามลายูก่อนที่จะพูด ก็จะใช้คำได้เหมาะสมมากกว่านี้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใหญ่ เพราะการพูดหรือให้สัมภาษณ์แต่ละครั้ง ต้องยอมรับว่ามันเป็นผลทางจิตวิทยาด้วย" นายประดิษฐ์ กล่าว


 


นายประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า การรวบรวมคำศัพท์นั้นจะให้มีประมาณไม่เกิน 200 คำ จะไม่ให้มีมากไปกว่านี้เพราะจะบรรจุคำศัพท์ที่ใช้กันหลากหลายเท่านั้น เพราะหากมีมากกว่านี้อาจจะสับสนมากขึ้น และที่สำคัญเป็นการบรรจุศัพท์ที่ใช้เพื่อการสื่อสารเท่านั้น แต่หากคนที่ต้อง การรู้มากขึ้นก็สามารถที่จะค้นคว้าศึกษาต่อในรายละเอียดนอกเหนือจากนี้ เมื่อได้คำมาครบถ้วนแล้วคณะทำงานก็จะต้องถกเถียงกันถึงความหมาย รวมไปถึงการเขียนและสะกดคำตามหลักภาษาไทยต่างๆให้ถูกต้อง เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางภาษาต่อไป


 


สำหรับขั้นตอนตอนต่อไปหลังจากได้ความหมาย และภาษาเขียนแล้ว นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ต้องนำมาประชุมร่วมกันอีกครั้งตามหมวดหมู่ของคำ ก่อนที่จะนำมาเรียงตามตัวอักษร และส่งไปให้คณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัดตรวจสอบครั้งสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นและจัดพิมพ์ได้ไม่เกินปลายปีนี้ โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะแจกจ่ายคือ ข้าราชการทุกสังกัดในพื้นที่ ครู ตำรวจ ทหาร บุคคลทั่วไปที่จะเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรี รวมถึงสื่อมวลชน ด้วย เพราะพบว่าในหนังสือพิมพ์ หรือข่าวโทรทัศน์วิทยุ มีการเขียนและอ่านผิดจำนวนมาก


 


นายประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนท้ายของเล่มพจนานุกรมนั้นจะจัดพิมพ์ข้อที่ควรปฏิบัติระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมที่ควรปฏิบัติต่อกัน ซึ่งเขียนโดยจุฬาราชมนตรีคนก่อน จำนวน 23 ข้อลงไปด้วย และหากมีเวลาเพียงพอจะมีการจัดทำ คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมุสลิมไว้ในเล่นเดียวกันด้วย เช่น ถามว่า เมื่อเข้าไปในมัสยิดควรปฏิบัติตัวอย่างไร และก็มีการอธิบายคำตอบไว้ให้ เช่นนี้เป็นต้น เพื่อชาวพุทธจะได้เข้าใจมุสลิมได้ดียิ่งขึ้น


 


ด้าน นายแวยูโซ๊ะ สามะอารี ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี หนึ่งในคณะ กรรมการรวบรวมคำศัพท์ บอกว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่มาอยู่ในพื้นที่จะได้สื่อสารได้ถูกต้อง และตรงกันทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามคณะทำงานอาจจะประสบปัญหาในเรื่องของการเขียนให้เป็นภาษาไทย เพราะยากที่จะเขียนเป็นตัวอักษรไทยให้ตรงกับการอ่านออกเสียงเป็นภาษามลายู จึงต้องใช้หนังสืออ้างอิงจำนวนมาก ทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ ภาษายาวี และภาษาอาหรับ จึงต้องใช้เวลาในการจัดทำสักระยะ ส่วนการค้นหาความหมายของคำนั้นบางคำต้องค้นคว้านาน เพื่อให้รู้ว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่


 


ทหารทำคู่มือ ศัพท์สมานฉันท์


 


ขณะที่ กระทรวงศึกษาธิการ กำลังรวบรวมคำศัพท์ภาษามลายู เพื่อใช้สื่อความ หมายให้ถูกต้องนั้น ในส่วนของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส. จชต.) ก็ได้ขึ้น "บัญชีดำ" คำและวลี ที่ทหารและตำรวจในพื้นที่ไม่ควรพูดเพื่อการสื่อสาร โดย พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.สสส.จชต. กล่าวว่า ได้จัดทำคู่มือการประชาสัมพันธ์แจกจ่ายให้กับทหารตำรวจในพื้นที่ เพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าวและประชาชน กรณีมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น โดยในคู่มือนี้ได้บรรจุคำประมาณ 20 คำที่เจ้าหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะพูด และคำที่ควรจะพูดไว้ เพื่อให้คำพูดดูนุ่มนวลมากขึ้น และขณะนี้กำลังรวบรวมคำเพิ่มเติมคาดว่าจะพิมพ์ออกแจกจ่ายเพื่อเติมอีกครั้งในเร็วๆ นี้


 


สำหรับคำที่ทหารห้ามพูดและควรพูด เช่น ปฏิบัติการจิตวิทยา ให้พูดว่า เสริมสร้างความเข้าใจ , ชาวไทยพุทธ-ชาวไทยมุสลิม ให้พูดว่า พี่น้องประชาชน , เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ให้พูดว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมือง , แกนนำ ให้พูดว่า ผู้นำประชาชน , โจมตี ให้พูดว่า ลอบยิง , อำเภอของผม ให้พูดว่า อำเภอของพี่น้องประชาชน , สอย ฮ. ทบ. หรือ ยิงเครื่องบิน ให้พูดว่า พยายามยิงรบกวนอากาศยาน , ยิงราษฎร ให้พูดว่า พยายามทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net