Skip to main content
sharethis


 



การประชุมของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (TDRI) ประจำปี 2548 ที่จบลงไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มุ่งประเด็นไปสู่การสร้าง "สังคมสมานฉันท์" ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ ที่เน้นไปทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ เพราะกรณีดังกล่าวได้กระตุ้นให้สังคมฉุกคิดถึงปัญหาที่มาจากความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น

 


การวิจัยที่เสนอในที่ประชุมทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ได้เป็นเรื่องจำกัดเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้เพียงพื้นที่เดียว แต่มีอยู่ในทุกระดับ หรือในทุกพื้นที่ และหากขาดการจัดการที่ดี หรือจัดการด้วยความไม่เข้าใจ ความขัดแย้งในทุกระดับทุกพื้นที่นั้น ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงเหมือนใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้เช่นกัน


 


การประชุมในปีนี้ได้แบ่งการรายงานผลการวิจัยเพื่อนำไปสู่ "สังคมสมานฉันท์" ไว้ 5 ประเด็นคือ ความสมานฉันท์บนความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ความสมานฉันท์ภายใต้ความเหลื่อมล้ำในสังคม การดูแลปัญหาความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การประสานความขัดแย้งในด้านแรงงานไทย และระบบค่านิยมของคนไทยกับการสร้างสังคมสมานฉันท์


 


ทั้งนี้ ในแต่ละประเด็นมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ และมีประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้แก่สังคมอย่างยิ่ง "ประชาไท" จึงจะนำข้อมูลจากการรายงานการวิจัยของ TDRI ในปีนี้มาเสนอเป็นระยะๆ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสมานฉันท์ ก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะบานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ มากกว่าที่เป็นอยู่


 


ส่วนในเบื้องต้นนี้ "ประชาไท" จะขอนำการอภิปรายสรุปการประชุม มานำเสนอเป็นอันดับแรก เพื่อให้เห็นภาพรวมของการวิจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้


                      


0 0 0


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์   


คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


จากการประชุมครั้งนี้ พอจะเห็นปัญหา 3 ประการ ประการแรกคืออะไรบางอย่างกำลังหายไป ประการที่สองจะทำให้สิ่งที่หายไปนี้กลับมาได้อย่างไร และประการสุดท้ายคือทำไมการสมานฉันท์จึงทำได้ยาก


 


สิ่งที่หายไปก็คือ ประวัติศาสตร์หายไป วัฒนธรรมของผู้คนหายไป สิทธิของเขาหายไป สิ่งที่หายไปนี้พูดโดยรวมก็คือ เขารู้สึกว่า เสียงของเขาหายไป


 


ปัญหาที่สองก็คือจะทำให้เสียงกลับคืนมาได้อย่างไร อย่างในรัฐสภาจะเห็นว่า ใช้ภาษาพูดกันภาษาเดียว ทั้งๆ ภาษาที่คนในสังคมพูดมีหลายภาษา เหตุผลที่ภาษาอื่นหายไป เป็นมุมมองที่สำคัญ เพราะภาษาอื่นถูกมองว่าไม่มีความสำคัญหรือขาดอำนาจที่จะพูด การไม่มีเสียงเป็นสิ่งสำคัญ เวลาเราพูดถึงประชาพิจารณ์นั้นมันเป็นเทคนิคหนึ่ง แต่ประชาพิจารณ์นั้นขาดความเข้าใจ และคนที่อยู่ในพื้นที่ยังรู้สึกว่าเสียงของเขาหายไป และจะทำอย่างไรให้คืนมา


 


พูดอย่างง่ายที่สุดคือ ต้องมองเห็นคนเป็นคน ต้องเห็นว่าคนทั้งหลายที่มาประกอบกันเป็นชาติหรือประเทศไม่ว่าจะเป็นรากหญ้าหรือต้นไม้ใหญ่ก็มีความสำคัญทั้งหมด


 


ประการสุดท้ายคือ ทำไมสมานฉันท์จึงทำได้ยาก ยิ่งในปัจจุบันยิ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น เพราะสมานฉันท์ถูกบดบังด้วยความรุนแรง เวลาเราพูดถึงรัฐมันมีสองหน้า มีทั้งหน้าตำรวจและหน้าทหาร ยิ่งในสภาพที่มีความรุนแรง เส้นแบ่งระหว่างคนดี คนไม่ดี เส้นแบ่งระหว่างคนไทยหรือไม่ใช่คนไทย เส้นแบ่งระหว่างการมีหรือไม่มีศีลธรรมที่ชัดเจน บางทีมันอาจจะมีอำนาจที่ทำให้มองเห็นเป็นศัตรูกันมากขึ้น จนมองไม่เห็นคนอื่นๆ ในครอบครัวเดียวกัน


 


ดังนั้นการสมานฉันท์จึงจำเป็น เพราะความรุนแรงทำให้เกิดผลทำให้เราไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เราไม่เห็นผลที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ และที่สำคัญคือความรุนแรงทำลายทางเลือกอื่นซึ่งสมานฉันท์พยายามทำให้เกิด


 


0 0 0


ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์


ผู้ช่วยผู้อำนวยการ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม


 


ในมุมทรัพยากร การที่จะไปสู่สังคมสมานฉันท์ได้ เราต้องเปลี่ยนมุมมองด้านทรัพยากร ถ้ายังมองทรัพยากรในแนวปัจจุบัน เชื่อว่าถึงมีทรัพยากรเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้องมองว่าตอนนี้เป็นปัญหาด้านองค์ความรู้ ต้องมองทรัพยากรเป็นความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม เพราะถ้ามองลักษณะนี้ การใช้ทรัพยากรจะมีความระมัดระวังมากขึ้น


 


ประเด็นต่อมาคือเรื่องของความจริงเกี่ยวกับทรัพยากร กับนโยบายการพัฒนาไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง


 


ยกตัวอย่างปัญหาน้ำในภาคตะวันออก ขณะนี้สรุปได้ตรงกันว่า น้ำที่มีอยู่ในตอนนี้ก็ไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว ควรต้องลดกำลังผลิตลงด้วย แต่กลับยังเชิญชวนให้มีการลงทุนเพิ่ม หมายความว่ารัฐบาลไม่บอกความจริงกับประชาชนหรือนักลงทุน


 


รัฐคาดหวังกับการลงทุนและความเจริญเติบโตสูงมาก แต่ถ้าเราไม่มองความจริง สิ่งที่เราลงทุนในวันนี้อาจจะยุติในวันพรุ่งนี้ ไม่มีใครปฏิเสธอุตสาหกรรม ไม่มีใครปฏิเสธทุน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี


 


นอกจากนี้ต้องสนใจการเมืองท้องถิ่น กรณีที่พี่น้องชาวสุพรรณ ชาวเชียงใหม่ ที่ยาตราลงมากรุงเทพฯ ชัดเจนว่าบางกรณีมีกลไกที่ทำให้ชาวบ้านได้รวมตัวกัน เป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นองค์กรเล็ก กลไกเล็กๆ นี้ถ้ากระจายอยู่ทั่วไปก็น่าจะมีประโยชน์ ดังนั้นความสมานฉันท์ที่เรามีอยู่เดิมนี้ ถ้าเราสร้างได้ มันก็จะขยับขยายไปตามกลไกและหน้าที่


 


แต่สิ่งที่กังวลหรือกรณีที่กังวลตอนนี้คือ ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการร่วม ตรงนี้องค์กรภาคประชาชนสู้มา 15 ปี เพื่อเรียกร้องการดูแลรักษาป่าของประชาชน แต่ร่างดังกล่าวกลับเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญ ในส่วนการตั้งพื้นที่อนุรักษ์พิเศษที่ปิดกั้นสิทธิชุมชนซึ่งเป็นผู้รักษาป่ามานมนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของเขา


 


มูลเหตุดังกล่าวมาจากการมีกลุ่มที่คอยจินตนาการว่า ชาวบ้านทำลายป่าตลอดเวลา หากมีกระบวนการอย่างนี้ต่อไปจะมีเหตุการณ์ไม่ต่างกับที่เกิดในภาคใต้ คือชาวบ้านไม่รู้ แต่ถูกกระทำ กฎหมายนี้น่าจะเป็นกฎหมายฉบับแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย และได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการบริหารจัดการทรัพยากร


 


สุดท้าย การที่จะสร้างสมานฉันท์ได้ต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น กรณีของปลากระชังที่จังหวัดปราจีนบุรี ชาวบ้านเคยมีเรื่องขัดแย้งกันด้วยการปล่อยน้ำทำให้ปลากระชังตายเพราะรับน้ำสกปรก แต่ถ้าไม่ปล่อย เกษตรกรอื่นๆ ก็ทำการเกษตรไม่ได้ เพราะอยู่ปลายน้ำไม่มีน้ำ จนมีการร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยราชการก็เดือดร้อนไปด้วย เพราะถูกพาดพิงตามหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมได้ผสมโรงปล่อยน้ำเสียลงมาอีก หลายๆ ฝ่ายจึงเดือดร้อนทั่วกันกันหมด


 


ชาวบ้านจึงมานั่งคุยกันเพื่อหาสาเหตุ จนทำให้ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่พบปัญหาน้ำเสียเหมือนก่อนหน้านี้ ชาวบ้านพบว่า น้ำเสียนั้นจะอยู่ส่วนก้นและมีน้ำเสียจากโรงงานคอยสมทบ น้ำจึงมีมลภาวะ หลังการพูดคุยเห็นปัญหาร่วมกัน จึงทำไม้กั้นส่วนตะกอนที่สกปรกไว้ และจัดตั้งชาวบ้านร่วมกันเฝ้าระวังตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ปล่อยน้ำเสียผสมโรงลงมาได้อีก


 


เรื่องเหล่านี้ก็สมานฉันท์กันได้โดยไม่ทะเลาะกัน และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ลำบากในการแก้ปัญหา เรื่องเล็กๆแบบนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ถ้ามีความพยายาม มีความตั้งใจ และทุกฝ่ายร่วมกันทำ


 


 


0 0 0


 


นายไสว พราหมณี


ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา


 


ต่อไปข้างหน้าความขัดแย้งจะมีมากขึ้น ทุกคนแก่งแย่งที่ดินทำกิน แย่งน้ำกัน และจะเกิดความรุนแรงตามมา ดังนั้นต้องทำให้สมานฉันท์เป็นวาระแห่งชาติ ต้องเอาเรื่องชุมชนมาพูดกัน เช่น คนที่รับผิดชอบของ TDRI กรณีกลไกของรัฐ กลไกของสังคม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพราะการแก้ปัญหาตรงนี้รัฐต้องเข้าใจและรู้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นแล้วใน 3 จังหวัดภาคใต้ เรื่องนี้ต้องนับหนึ่งกันใหม่ TDRI ควรรับเรื่องนี้เพื่อเป็นเจ้าภาพในการเสนอรัฐบาลให้เป็นเรื่องเป็นราว


 


ถ้าเรามาพูดกันแบบนี้ พอถึงเวลาเลือกตั้งก็แพ้เขาทุกที เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องใหญ่เพราะว่าเราเลือกใครไป เขาก็จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ


 


0 0 0


 


นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศม์


เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


ในฐานที่เป็นหมอ ก็จะมองไปที่การป้องกันสถานการณ์ เข้าใจว่า ถ้าเราจะเริ่มจากการสร้าง และอยากจะสร้างค่านิยมสมานฉันท์ เราก็ต้องเชื่อมเรื่องค่านิยมไปสู่นโยบายสาธารณะเพื่อเป็นการสร้างกลไก ความเชื่อมั่นนี้จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาความขัดแย้งเฉพาะหน้า แล้วจะวางรากฐานต่อไปได้


 


การสร้างค่านิยมต้องเริ่มอย่างที่ระบบ ไม่ใช่เริ่มที่ปัจเจก เพราะตรงนั้นไม่ช่วยแก้ปัญหาและยังมีความรุนแรงต่อไปได้


 


ประเด็นต่อมา ต้องคิดถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน ต้องผลักดันการพัฒนาวัฒนธรรมให้เป็นเป้าและเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ต้องประสานกันระหว่างคำว่า ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจพอเพียง กับการกระจายอำนาจ  สังคมไทยยึดตัวเลขการพัฒนาแบบส่งออกเป็นหลัก แต่การจัดการระบบไม่ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรพอเพียง ไม่ได้เป็นชุมชนเข้มแข็ง มีประชาคมหรือมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน


 


0 0 0


 


ดร.ฉลองภพ  สุสังกร์กาญจน์


ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)


 


ชาวบ้านมักบอกว่า นักวิชาการใช้ศัพท์พูดไม่รู้เรื่อง นักวิชาการก็ต้องปรับตัวตรงนี้ การสื่อสารกับวัยรุ่นก็เช่นกัน เพราะเขาก็มีศัพท์แปลกๆ ที่เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่เขาเข้าใจกัน


 


การประชุมในครั้งนี้ หลายคนพูดถึงการขยายผล คิดว่าเราต้องร่วมมือกันทั้งจากกลุ่มที่ร่วมจัด เช่น นักวิชาการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชน  รวมทั้งหน่วยงานที่ไม่ได้ร่วมจัดแต่มีบทบาทสูง เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การจัดการร่วมจากความหลากหลายนี้จะเป็นโอกาสแห่งความเรียนรู้อย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ดีที่วิชาการจะได้สื่อกับสังคมได้รู้เรื่อง การมีนิสิตนักศึกษาสนใจก็เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสาร


 


0 0 0


 


นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์


ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)


 


เรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยความแตกต่างที่มีในทุกพื้นที่มาทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์และมีพลัง เป็นกุญแจที่ฝากใครไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกันทำอย่างมีส่วนร่วม ถ้าเอาการเรียนรู้เป็นที่ตั้ง จะแปรความแตกต่างนั้นเป็นความสร้างสรรค์ได้


 


 


(โปรดติดตามซีรีย์ "สู่สังคมสมานฉันท์" จากแฟ้มวิจัย TDRI)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net