Skip to main content
sharethis


ประชาไท - คนจนภูเก็ตตั้งเครือข่ายสู้ปัญหาไล่ที่ เผย 10 กว่าชุมชนถูกฟ้องบุกรุก อีก 20 ชุมชน กำลังถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัย - ที่ทำกิน ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหา ส่อเค้าเผชิญหน้ารุนแรง อนุกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ รับลูก เตรียมนำปัญหาเสนอวุฒิสภา

 


เมื่อเวลา 09.00 . วันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 ที่โรงแรมถาวรแกรนด์พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มูลนิธิชุมชนไทได้จัดสัมนาเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ซึ่งมีชุมชนต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตอยู่ในเครือข่าย 15 ชุมชน มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน


 


นายโอภาส เจริญพจน์ อนุกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ วุฒิสภา กล่าวต่อที่สัมมนาว่า ปัญหาใหญ่ของประชาชนจังหวัดภูเก็ต คือ ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การจัดการสัมนาครั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้และมีแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองอย่างเป็นระบบ โดยกลุ่มองค์กรจากภายนอกมีหน้าที่เพียงแค่คอยแนะแนวทางให้ จากนั้น จะนำเสนอปัญหาทั้งหมดต่อวุฒิสภา เพื่อแก้ไขต่อไป


 


นางบุญช่วย สนสัมฤทธิ์ กรรมการกลุ่มปลากะตักพัฒนา กล่าวต่อที่สัมมนาว่า ชุมชนปลากะตักมีทั้งหมด 46 ครัวเรือน ซึ่งได้เช่าที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด หัชนานิเวศน์ มา 10 กว่าปี ทำอาชีพต้มปลากะตักตากแห้งขาย ที่อาศัยอยู่ปัจจุบัน ไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องต่อพ่วงมาจากชุมชนข้างเคียง จึงจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่อื่น ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ทุกวัน เมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ชาวบ้านต้องไปกู้เงินมาซ่อมแซมบ้าน และเครื่องมือประกอบอาชีพ ยังไม่ทันได้ชำระหนี้  ห้างหุ้นส่วนจำกัด หัชนานิเวศน์ กลับแจ้งยกเลิกสัญญาเช่าและให้รื้อบ้านออกภายใน 15 วัน ทั้งที่ยังไม่หมดระยะเวลาการเช่า พร้อมทั้งตัดน้ำตัดไฟและปิดทางเข้าออก โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสั่งให้หยุดทำปลากะตัก เนื่องจากส่งกลิ่นเหม็นรบกวนทั้งยังทำให้ชุมชนสกปรก


 


"กลุ่มชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้รับความช่วยเหลือในระดับหนึ่ง คือ กรมที่ดินได้เข้าไปตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หัชนานิเวศน์ ครอบครองอยู่ ปรากฏว่าที่ที่ชาวบ้านเช่าอยู่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ไม่ใช่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด หัชนานิเวศน์ ทางจังหวัดจึงอนุญาตให้ชาวบ้านอยู่อาศัยชั่วคราว บนเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ โดยทางจังหวัดรับว่าจะจัดสรรที่ดินให้ในภายหลังประมาณ 50 ไร่" นางบุญช่วย กล่าว


 


นางปรีดา คงเเป้น เลขานุการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวต่อที่สัมมนาว่า ใกล้ครบรอบ 1 ปี สึนามิ แล้ว ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และที่แก้ไขแล้วแต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดิน ซึ่งชาวบ้านผู้ประสบภัยทุกคนต้องช่วยกัน


 


จากนั้น ทางเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ได้ร่วมกันกำหนดแผนการทำงาน โดยที่ประชุมกำหนดให้แต่ละชุมชนส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการเครือข่ายฃชุมชนละ 3 คน โดยเครือข่ายจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำ ไฟ, ปัญหาที่ดิน, ปัญหาถนน - ท่อระบายน้ำ, ร่วมกันปรับปรุงสิ่งแวดล้อม, ตั้งกลุ่มออมทรัพย์, จัดฝึกอบรมอาชีพ และดำเนินการขอทะเบียนบ้านถาวร โดยจะเร่งจัดทำข้อมูลชุมชนเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2548 และกำหนดนัดประชุมรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละชุมชน ในวันที่ 9 ธันวาคม 2548


 


นายโอภาส ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จังหวัดภูเก็ตปัญหาถูกไล่ที่ประมาณ 20 ชุมชน ถูกฟ้องร้องบุกรุกที่ดิน 10 กว่าชุมชน โดยปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชนปลากะตัก กำลังจะกลายเป็นปัญหาที่อาจจะเกิดความรุนแรง ถ้าหากว่าทางจังหวัดไม่รีบแก้ไขปัญหา เพราะว่าชาวบ้านไม่ได้ทำงานมากว่า 4 เดือน และยังถูกกดดันจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด หัชนานิเวศน์ ไม่ให้ผ่านทางเข้าออกที่ชาวบ้านเคยใช้เป็นประจำ และยังนำรั้วเหล็กมาขวางกั้นทางเข้าออกใหม่ที่ชาวบ้านกำลังช่วยกันนำดินมาถมเป็นถนน ซึ่งทำให้เกิดการปะทะขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชนกับกลุ่มชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน" นายโอภาส กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net