Skip to main content
sharethis



เชียงใหม่ ณ วันนี้ ได้ถูกมิติทางการเมืองเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เมืองกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยตัวเร่งผ่านนโยบาย ในฐานะที่เชียงใหม่เป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี


 


เชียงใหม่ถูกกำหนดด้วยเงื่อนเวลาในระยะ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ว่าจะก้าวสู่การเป็นมหานครอย่างเต็มรูปแบบ "ดัชนีความเชื่อมั่น" ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำมาซึ่งโครงการมากมายที่อาจจะเรียกว่าเป็น "เมกกะโปรเจ็กต์" มูลค่านับแสนล้านบาท ที่เริ่มทยอยถมทับเมืองเชียงใหม่บ้างแล้ว


 


อภิมหาโปรเจ็กต์เหล่านั้นมีโครงการอะไรบ้าง และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นที่ "พลเมืองเหนือ" ได้รวบรวมมานำเสนอ


 


น่าสนใจและน่าติดตามว่าในช่วงระยะ 5 ปีนี้ โครงการขนาดใหญ่ที่จะมาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งในส่วนของภาครัฐ มีมูลค่านับแสนล้านบาท 20 โครงการแรก ได้แก่


 


1.โครงการศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 1,450 ล้านบาท พื้นที่ระยะแรก 173,300 ตารางเมตร  ครม. อนุมัติแล้ว สำหรับโครงการนี้จัดเป็นอีกโครงการที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของพื้นที่ตั้งโครงการที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเหมือนลมเพลมพัด แต่ล่าสุด ครม.ก็อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพื้นที่จุดเดิมคือย่านหนองฮ่อหลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เช่นเดิม คาดว่าจะเสร็จในปลายปี 2551


 


2.โครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณหลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 314.25 ล้านบาท โดยจะมีการก่อสร้างอาคารขนส่งขนาดใหญ่ 2 อาคาร คาดว่าจะเสร็จในปี 2549 3.โครงการก่อสร้างศูนย์ส่งเสริมการพัฒนา และกระจายสินค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 130 ล้านบาท เพื่อนำพัฒนาโครงการในเบื้องต้นแล้ว และจะก่อสร้างเสร็จในปี 2551 4.โครงการจัดตั้ง Science Park ในบริเวณตำบลแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มูลค่าโครงการ 7,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 400 ไร่ โดยจะมีการก่อสร้างกลุ่มอาคารใหญ่ 4 อาคาร รวมพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร


 


5.โครงการ IT Knowledge Park ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย กรอบวงเงิน 362 ล้านบาท 6.โครงการจัดตั้งสถาบัน ICT ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 464.3 ล้านบาท 7.โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเขตเศรษฐกิจล้านนา รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 19.25 ล้านบาท 8.โครงการจัดตั้งศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรมโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 60.23 ล้านบาท 9.โครงการสร้างแนวโน้มแฟชั่นรูปสินค้าหัตถกรรม "ล้านนาสไตล์" โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 34.8 ล้านบาท 10.โครงการเชียงใหม่เมืองแห่งการแสดงสินค้าหัตถกรรม โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 46.1 ล้านบาท


 


11.โครงการศูนย์กลางไม้ตัดต่อ ไม้ประดับ พืชเกษตร ที่วิทยาเขตแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  300 ล้านบาท 12.โครงการสวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ใช้พื้นที่ 819 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ขณะนี้โครงการเสร็จสมบูรณ์และพร้อมเปิดให้บริการเข้าชมแล้ว


 


13.โครงการ E - province มูลค่าลงทุน 570 ล้านบาท 14.โครงการพัฒนาและขุดลอกแม่น้ำปิง เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำและป้องกันน้ำท่วม 15.โครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำแม่ข่า มีวงเงินดำเนินโครงการ 32 ล้านบาท 16.โครงการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำแม่สา 17.โครงการการพัฒนาเมือง (Green and Clean) ภายใน 2 ปี ใช้งบประมาณ 9,100,000 บาท


 


18.โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ มีแผนงาน 3 ระยะ โดยแผนระยะสั้น มีจำนวน 73 โครงการ งบประมาณ 510 ล้านบาท, แผนระยะปานกลาง มีจำนวน 19 โครงการ งบประมาณ 586 ล้านบาท และแผนระยะยาว 5 โครงการ รวมงบประมาณ 8,032 ล้านบาท 19.โครงการสร้างสวนสาธารณะบริเวณโรงแรมรถไฟเก่า มีพื้นที่จอดรถ อาคารสำนักงาน อาคารเอนกประสงค์ สระว่ายน้ำ พื้นที่นันทนาการ พื้นที่ 60 ไร่ งบประมาณ 99 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 20.โครงการการลงทุนของ บริษัท ซีวายซี ของ สป.จีน ที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานยาสูบที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสร้างบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มูลค่า 17,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 21.โครงการเชียงใหม่เวิลด์บนผืนป่าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย เขตแม่เหียะ งบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท


 


เจาะโครงการกระทรวงคมนาคม


1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่สู่ความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ปีงบประมาณ 2546 - 2549 อนุมัติงบประมาณแล้ว 2,129 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชียงใหม่ - เชียงราย ระยะทาง 153 กิโลเมตรค่าก่อสร้าง 48,000 ล้านบาท (อยู่ระหว่างการศึกษา) 3.โครงการทางหลวงพิเศษ ลำปาง - ลำพูน - เชียงใหม่ ระยะทาง 99 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 32,000 ล้านบาท (อยู่ระหว่างการศึกษา)


 


4.โครงการปรับปรุงถนนสายเชียงใหม่ - สันกำแพง  โดยแบ่งเป็นงบประมาณของกรมทางหลวง 250 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 32.9 ล้านบาท ,การประปาส่วนภูมิภาค 45 ล้านบาท,  ทศท. คอร์ปอเรชั่น 25.5 ล้านบาท ทั้งนี้งานทั้งหมดจะรวมอยู่ในสัญญาก่อสร้างทางสัญญาเดียวโดยกรมทางหลวง รวมทั้งสิ้น 365,301,107.81 บาท


 


5.การพัฒนาระบบรถไฟชานเมือง (Commuter Train) เชื่อมโยงจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน คาดว่างบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท 6.โครงการจัดตั้งสถานีขนส่งตู้สินค้าโดยรถไฟ (Container Yard) เพื่อขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ไปยังท่าเรือ หรือจังหวัดต่างๆ  งบลงทุน 601,827,000 บาท 7.โครงการสร้างทางหลวงท้องถิ่น (Local Road) เชื่อมเชียงใหม่ - ลำพูน เรียบรางรถไฟ  โครงการถนนเลียบทางรถไฟสายเชียงใหม่ - ลำพูน (Local Road) ล่าสุดได้ทำการออกแบบแล้ว โดยปรับลดวงเงินเหลือ 297 ล้านบาท และบรรจุไว้ในแผนของกรมโยธาธิการฯ ดำเนินการในปี 2547 - 2549 แล้ว


 


8.โครงการก่อสร้างถนนเชียงใหม่ - สารภี - ลำพูน (สายใหม่) รูปแบบ Park Way ระยะทาง 22 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 1,100 ล้านบาท 9.โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 108 ช่วงอมก๋อย - แม่สะเรียง - แม่ฮ่องสอน และทางหลวงหมายเลข 105 จากตาก - แม่ฮ่องสอน 10.โครงการปรับปรุงถนนสาย 108 ช่วงอำเภอจอมทอง - ฮอด ระยะทาง 30 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 600 ล้านบาท


 


11.โครงการก่อสร้างถนนจากจังหวัดเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน ผ่านอำเภอสะเมิง - วันจันทร์ จะร่นระยะทางได้ 80 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2547 (มีแนวคิดที่จะสร้างโครงการอุโมงค์เชื่อมจังหวัดเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอนในเส้นทางนี้ด้วย) 12.โครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองบริเวณทางหลวงหมายเลข 106 เขตกิ่งอำเภอดอยหล่อ มาบรรจบทางหลวงหมายเลข 108 ในเขตจังหวัดลำพูน จะช่วยลดการเดินทางจากแม่ฮ่องสอน - กรุงเทพฯ 80 กิโลเมตร 13.โครงการถนนวงแหวนด้านตะวันตก ตอนหางดง - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลข 121 ขนาด 4 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 332 ล้านบาท


 


14.โครงการทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับ 107 (สี่แยกข่วงสิงห์) มูลค่าโครงการ 243,287,721 บาท งบประมาณปี 2545 - 2547 15.โครงการทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับ 118 (สี่แยกศาลเด็ก) มูลค่าโครงการ 268,823,714 บาท งบประมาณปี 2545 - 2547 สำหรับโครงการทางลอดสี่แยกข่วงสิงห์และสี่แยกศาลเด็ก เป็นอีกโครงการที่ยืดเยื้อและล่าช้า เนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงาน โดยอ้างว่าต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มสูงมากจากภาวะราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ทำให้กรมทางหลวงต้องใช้วิธีเข้ามาดำเนินการเองต่อจากผู้รับเหมา 16.โครงการทางลอดจุดตัดสาย 11 กับ 1001 ค่าก่อสร้าง 300 ล้านบาท


 


17.โครงการทางลอดที่จุดตัดสาย 11 กับสาย 1006 ค่าก่อสร้าง 380 ล้านบาท ซึ่งโครงการทางลอดสาย 1001 กับ 1006 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและเริ่มเปิดใช้งานแล้วในขณะนี้ 18.โครงการสร้างถนนสาย 107 อำเภอแม่ริม -แม่แตง ระยะทาง 22 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 500 ล้านบาท 19.โครงการพัฒนาถนนสาย 1006 เชียงใหม่ - สันกำแพง ระยะทาง 12 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 300 ล้านบาท 20.โครงการรถรางจากศูนย์ราชการ -ศาลากลางเชียงใหม่  - แม่เหียะ - อำเภอหางดง (อยู่ระหว่างการศึกษา)


 


21.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 121 กับ 1001 งบประมาณ 150 ล้านบาท 22.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 121 กับ 118 งบประมาณ 150 ล้านบาท 23.โครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 108 - งานมหกรรมพืชสวนโลก จะเสร็จปี 2549 24.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับ 121 (ทางเข้าวันพืชสวนโลก) งบประมาณ 150 ล้านบาท 25.โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เสร็จสิ้นปี 2547


 


26.โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ทางหลวงหมายเลข 107  (ทางเลี่ยงเมืองอำเภอเชียงดาว) เสร็จสิ้นปี 2547 27.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 107 ตอน อำเภอแม่แตง ถึงศูนย์ฝึกลูกช้าง กำลังอยู่ระหว่างการของบประมาณ ปี 2548 เพื่อขยายเป็น 4 ช่องทางจราจร 28.โครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง และหางดง ช่วงที่ 1 และ 2อยู่ระหว่างการเสนอแผนและของบประมาณ คาดว่าจะเสร็จปี 2548 มูลค่า 84 ล้านบาท 29.โครงการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างการเสนอแผนและของบประมาณ จะเสร็จสิ้นปี 2550


 


นอกจากนี้ยังมีโครงการของเทศบาลนครเชียงใหม่อีกจำนวน 800 ล้านบาท


 


1.โครงสร้างพื้นฐานขยายถนน สะพาน ทางเท้า ทางแยก 194 ล้านบาท  2.ปรับภูมิทัศน์เมือง ตกแต่งสวนสาธารณะเพิ่มพื้นที่สีเขียว 104 ล้านบาท 3.ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เพิ่มไฟส่องแสงสองฝากฝั่งแม่น้ำปิง โบราณสถาน ไฟสัญญาณจราจร เส้นทางจักรยาน และสะพานลอยเดินข้าม 96 ล้านบาท 4.ส่งเสริมการพักอาศัยของนักท่องเที่ยวระยะยาว จัดรถปลอดมลพิษ และระบบสารสนเทศ 16 ล้านบาท


 


5.ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนเส้นทางหลัก 19 สาย 72 ล้านบาท 6.ปรับปรุงผิว จราจรถนนรอบคูเมืองด้านในและด้านนอก 20 ล้านบาท 7.ปรับปรุงผิวจราจรถนนห้วยแก้ว 8.6 ล้านบาท 8.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเมือง สภาพลำเหมืองสาธารณะ และจัดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพ อากาศ 52 ล้านบาท 9.ก่อสร้างอุทยานสวนไม้ธรรมชาติในเมืองและสวนสุขภาพบ้านเด่น 110 ล้านบาท 10.ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมเขตเทศบาล 100 ล้านบาท


 


จะเห็นได้ว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลจริง ๆ และเชื่อว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าเชียงใหม่จะมีการขยายตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างฉุดไม่อยู่ และเมื่อจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคสิ่งสำคัญที่ชาวเชียงใหม่จะต้องตระหนักและคำนึงถึงประเด็นทั้งด้านบวกและด้านลบ ได้แก่ 1.การจัดลำดับความสำคัญและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดและส่วนร่วม 2.การศึกษาผลกระทบของแต่ละโครงการอย่างรอบด้าน 3.การตรวจสอบปัญหาการซ้ำซ้อนของงบประมาณ 4.การคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำและมีช่องว่างการพัฒนาสูงขึ้นระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด หรือภูมิภาคต่อภูมิภาค อันจะสร้างความแตกต่างของการกระจายรายได้


 


และเป็นไปได้มากว่าเชียงใหม่จะเกิดภาวะ "เมืองโตเดี่ยว" และกระจุกตัวของปัญหาที่ซ้ำรอยเมืองหลวงของประเทศ และวันนั้นเชียงใหม่คงจะ "เปลี่ยนไป"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net