Skip to main content
sharethis

 


ในอีก 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 ของเด็กไทยจะเป็นโรคอ้วน จากผลสำรวจระดับประเทศ 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 5 ปี มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ไม่เว้นแม้แต่เด็กในโรงเรียนอนุบาลที่มีตัวเลขเปอร์เซ็นต์ตามมาติดๆ ขณะที่เด็กในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ร้อยละ 12 อ้วนแล้วเมื่อมีอายุเพียงแค่ 2 ปี


 


ข้อเท็จจริงบนบรรทัดข้างต้น คงไม่จำเป็นต้องอาศัยหมอดูฟันธงที่ไหน ถึงความน่าตื่นตระหนกของปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโรคอ้วน ที่ลุกลามลงไปถึงทุกช่วงวัยและช่วงชั้นสังคม จนอาจกลายเป็นอาวุธของระบบบริโภคนิยมที่ทรงพลานุภาพกว่าเครื่องมือประหัตประหารทางยุทธสงคราม


 


ในช่วง 2 - 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มิใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องรับมือกับปัญหาภาวะโภชนาการล้นเกินในเด็ก หากสถานการณ์ด้านสุขภาพในหลายประเทศทั่วโลกต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาเด็กอ้วน ซึ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าในอดีต 2 ถึง 3 เท่าตัว


 


ขณะที่รัฐบาลพูดถึงความกินดีอยู่ดีจากความเจริญรุดหน้าทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องของการพัฒนาคุณภาพประชากรโดยเฉพาะมิติทางสุขภาพ กลับดูจะผกผันเป็นคนละด้าน


 


แม้หลายฝ่ายจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาจากวัฒนธรรมการบริโภคที่บิดเบี้ยว แต่จนถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่มีมาตรการการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รอบตัวเด็กที่พอกพูนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


 


วันนี้ โรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก


 


อ้วน : พันธุกรรมจำแลงหรือวิถีบริโภคล้นเกิน?


แม้จะมีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่า โรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากปัญหาทางด้านพันธุกรรม หรือมีต้นเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ล้นเกินกันแน่


 


หากภายใต้ระบบปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่โรคอ้วนในเด็กอุบัติสูงมากขึ้นในห้วงเวลาอันสั้น น่าจะเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิถีชีวิตผู้คนในสังคม ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่มีอยู่แล้ว กลายเป็นโรคชัดเจนมากขึ้น และเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุน้อยลงด้วย  


 


ยิ่งการเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพ และขัดขวางการมีกิจกรรมทางกายของเด็ก รวมไปถึงความขาดแคลนพื้นที่ทางสังคม ทั้งสถานที่ในการออกกำลัง และทำกิจกรรมในด้านอื่นๆ นอกจากการกิน - ดื่ม - ช็อป ล้วนแล้วแต่เป็นตัวการที่ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับกับการใช้จ่ายพลังงานออกไป อันนำมาสู่ปัญหาของความอ้วนในบั้นปลาย


 


โรคอ้วนนั้นเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพหลายระบบในวัยเด็ก เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจ โรคกระดูกและข้อเสื่อม โรคเบาหวาน  และโรคอื่นๆ รวมทั้งปัญหาทางด้านจิตใจและสังคม รวมทั้งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในภายภาคหน้า เด็กอ้วนจะมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงอ้วนถึงร้อยละ 30 - 80


 


ความเสี่ยงจากข้อมูลดังกล่าว อาจทำให้สภาพัฒน์ฯ ต้องประมาณการตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกันใหม่ เพราะเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาประชากรที่ไม่ได้คุณภาพ เจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคเสื่อมเรื้อรังอื่นๆ


 


การต้องประสบกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่พุ่งสูงขึ้น ย่อมจะกัดกร่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อันหมายไปถึงฐานะความมั่นคงของชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


 


โรงเรียนอันตรายทำเด็กอ้วน!


8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ 8 เดือนต่อปี คือปริมาณเวลาที่เด็กโดยส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน


 


สภาพสังคมสมัยใหม่ที่ผลักเด็กออกจากอ้อมอกของครอบครัวเร็วขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปัจจัยเงื่อนไขที่ทำให้โรงเรียนต้องก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการดูแลเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น


 


ทุกวันนี้เด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เด็กทุกคนกินอาหารมื้อเที่ยงที่โรงเรียน และเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องกินอาหารมื้อเช้าที่โรงเรียนด้วย เนื่องเพราะความรีบเร่งของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป


 


นอกเหนือจากเรื่องวิชาความรู้ เด็กยังได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ อีกมากมายในเชิงสังคมและการดำรงชีวิต ทั้งทางตรงในหลักสูตรและทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวบุคคล สถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ จากกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้ โรงเรียนจึงมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นคนที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ปัญญา และจริยธรรม รวมทั้งพฤติกรรมด้านต่างๆ ที่จะปลูกฝังเป็นนิสัยของเด็กต่อไปในอนาคต


 


เมื่อโรงเรียนมีความสำคัญต่อการก่อรูปนิสัยการกินและการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก มากขนาดนี้ แล้วในปัจจุบันมีอะไรบ้างที่แวดล้อมรอบตัวเด็กอยู่ภายในโรงเรียน?


 


จากการสำรวจโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศจำนวน 342 โรง ผลวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า ร้อยละ 3 ของโรงเรียนไม่มีน้ำดื่มให้เด็กดื่มฟรี


 


จริงอยู่ว่ายังมีโรงเรียนอีกจำนวน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายนี้ หากเพียงแค่เงื่อนงำของน้ำดื่มที่หายไป ก็น่าจะทำให้เราได้ตระหนักถึงภัยเงียบบางประการที่กำลังคืบคลานเข้าสู่สถานศึกษา โดยไร้ซึ่งมาตรการป้องกัน


 


เพราะน้ำดื่มมิใช่เพียงบริการขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนจะต้องจัดไว้ให้กับเด็ก และเอาเข้าจริงๆ แล้ว น้ำดื่มในโรงเรียนก็ไม่ได้หายไปเปล่าๆ โดยไร้ร่องรอย 


 


ถึงแม้การมีน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบขายในโรงเรียน จะเป็นเหมือนฉันทานุมัติทางอ้อมว่าโรงเรียนเห็นชอบกับการบริโภคสิ่งเหล่านี้ หากข้อมูลที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ เครื่องดื่มที่โรงเรียนอนุญาตให้ขายแก่นักเรียนนั้น ร้อยละ 12 มีบริษัทน้ำอัดลมประมูลขายผูกขาดเพียงเจ้าเดียว (เฉพาะในกรุงเทพฯและจังหวัดทางภาคอีสาน) และประมาณร้อยละ 50 ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตขนมและน้ำอัดลมในการจัดกิจกรรมของโรงเรียนอีกด้วย


 


ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมสะท้อนได้ดีถึงอำนาจของตลาดอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่รุกเร้าเข้ามาใกล้ทุกขณะ ซึ่งเราต่างก็ตระหนักกันดีว่าพลังของมันจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอันไร้ขีดจำกัดได้อย่างน่าหวาดหวั่นเพียงใด


           


เรียนรู้บทเรียนจากต่างประเทศ


แน่นอนว่าการจะดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กอ้วนซึ่งมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันทั้งระบบ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมุมมองในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน


 


ประสบการณ์จากต่างประเทศพบว่า มาตรการโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมภาวะโภชนาการเกินในเด็กนั้นต้องครอบคลุมทั้งด้านอาหารและโภชนาการ ด้านการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย และการปรับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ประสานกับความร่วมมือกับครอบครัวของเด็กและชุมชนเพื่อให้มีความต่อเนื่อง


 


ตัวอย่างในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดมาตรฐานเมนูอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน บางรัฐประกาศเป็นนโยบายให้โรงเรียนปลอดจากน้ำอัดลมเพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยใช้มาตรการเชิงนโยบายด้านทุนสนับสนุนให้กับโรงเรียน บางโรงเรียนได้ร่วมกับชุมชนในการจัดสภาพแวดล้อมโรงเรียนให้เหมาะสมที่เด็กสามารถจะเดินทางมาโรงเรียนด้วยการเดินหรือขี่จักรยาน และเปิดให้โรงเรียนเป็นสถานที่ให้เด็กและผู้คนในชุมชนใช้ออกกำลังกายนอกเวลาเรียน 


 


ส่วนในประเทศไทย ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นประสานงานและดำเนินงานในลักษณะที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล จำเป็นต้องมีความสนับสนุนร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน ชุมชน รวมไปถึงในนโยบายระดับกระทรวง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net