Skip to main content
sharethis


ในเวทีสัมมนาสิ่งแวดล้อมประจำปี 2548 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการพูดถึงผลกระทบของ "โลภาภิวัตน์" ต่อสิ่งแวดล้อม คำอภิปรายของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสร็จ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากร น่าจะถือได้ว่า เป็นบทเรียนพื้นฐานในการทำความรู้จัก ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ พร้อมกันนั้นเขายังเสนอวิธีเซย์ฮัลโหลกับมันด้วย

 


0 0 0


 


พวกเราพูดกันมากถึง "โลกาภิวัตน์" อันที่จริง ด้านหลังของมันจริงๆ ก็คือ โลกาภิวัตน์ของทุนและทุนนิยม ท่านดูขณะนี้ที่ทั้งโลกอยู่ภายใต้กระแสของทุนและทุนนิยม จากที่เคยมีกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านประเทศจีน ต่อต้านสหภาพโซเวียต แต่ทุกวันนี้ ทุกคนหันหน้าไปหาประเทศจีน คนที่เคยต่อต้านประเทศจีนอย่างหัวชนฝา วันนี้ก็แทบจะกราบเท้าประเทศจีน อะไรจะปานนั้น


 


ผมไปเมืองจีนมา เห็นความกระหายเงินของคนจีนแล้วน่ากลัวจริงๆ กระแสทุนเข้าไปครอบงำความรู้สึกนึกคิดคนจีน มันคนละเรื่องกันเลยกับประเทศจีนที่ผมเคยไปเมื่อปี 2520 เป็นตัวอย่างที่บอกว่ายุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ของทุน ยุคโลกาภิวัตน์ของเงิน ยุคของความหิวกระหาย


 


ทีนี้เราพูดยุคทุนนิยม อยากจะสร้างความเข้าใจพื้นฐานว่า ทุนนิยมนั้นมีลักษณะพื้นฐาน 4 ประการใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของด้านบวกและด้านลบของเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง


 


ประการแรก ทุนนิยมเป็นระบบที่ทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตเป็นของปัจเจกบุคคลเท่านั้น อะไรที่เป็นของส่วนรวม มันจะต้องพยายามทำให้เป็นของเอกชนให้หมด ยกตัวอย่าง  กฟผ.ก็จะต้องเป็นของเอกชน


 


ประการที่สอง ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน จะใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพย์สินนั้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ไม่มีหรอกที่เรามีรถยนต์แล้วบอกว่าเรามีไว้เพื่อบริการสาธารณะ ไม่มีเลยครับ ไม่มีที่เราจะมีบริษัทแห่งหนึ่งแล้วบอกว่าเราทำเพื่อประเทศชาติ ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้โจมตีโดยความรู้สึกของผมเอง แต่นี่คือความคิดของ อดัม สมิธ (Adam Smith)ผู้วางรากฐานระบบเศรษฐกิจนี้


 


ดังนั้นฝ่ายทุนนิยมทั้งหลายเขาถึงบอกว่าทุนนิยมขับเคลื่อนด้วยแรงผลักดันของผลประโยชน์ส่วนตน เขาบอกว่าผลประโยชน์ส่วนตนตรงนั้นมันทำให้คนดิ้นรนไขว่คว้า การที่คนไขว่คว้าหาประโยชน์นำมาซึ่งการคิดค้นพัฒนาความรู้เทคโนโลยี ความรู้และเทคโนโลยีจึงกลายเป็นผลพลอยได้ของสังคม


 


อุปมาว่านกเวลาจะขี้ลงมาบนต้นไม้ ขี้ของนกมีประโยชน์ต่อต้นหญ้าเล็กๆ ใต้ต้นไม้ แต่การที่นกมันขี้ลงมานั้นมันไม่ให้ตั้งใจจะใส่ปุ๋ยให้ต้นหญ้า มันขี้เพราะมันปวดท้อง นี่คือลักษณะของทุนนิยม


 


ประการที่สาม การแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองในระบบทุนนิยมนั้น จะกระทำผ่านกลไกตลาดคือกลไกราคา ดังนั้น เมื่อเรายึดติดกับกลไกราคาบางครั้งเราคิดถึงกำไรมากกว่าชีวิตมนุษย์


 


ยกตัวอย่างว่า ในแอฟริกา จะมีคนตายเป็นล้านๆ ต่อปีเนื่องจากอดอาหาร แต่ในซีกหนึ่งของโลกเราจะมีการเผาแอปเปิ้ลบ้าง เอาหมูไปทิ้งทะเลบ้าง เอาวัวไปฝังดิน ฆ่าควายทิ้งเป็นอาหารหมาบ้าง  ทำไมเหรอครับ ทำไมไม่เอาส่วนนี้ไปแจกจ่ายผู้อดอาหารในแอฟริกา


 


เขาบอกว่าถ้านำไปแจกจ่ายซัพพลายด์ (Supply) ไม่ลด เมื่อซัพพลายด์ไม่ลดราคาไม่เพิ่ม ถ้าราคาไม่เพิ่มกำไรไม่มี เพราะฉะนั้นฝังดินซะ ลดซัพพลายด์ ลดอุปทาน เพื่อราคาเพิ่มขึ้นจะได้มีกำไร


 


ดังนั้น กำไรจึงยิ่งใหญ่กว่าชีวิตมนุษย์ มันมีมาแล้วตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ของทุนนิยม


 


ประการสุดท้าย ทุกอย่างเป็นสินค้า ใครจะคิดว่าน้ำจะเป็นสินค้าสำคัญ ชีวิตผมตอนเด็กๆ จะกินที่ไหนก็ได้ ณ วันนี้ขวดหนึ่งแพงกว่าน้ำมันแล้ว ทุกอย่างเป็นสินค้าได้  เราอยู่ในประเทศมรสุม ผมอยู่ทางใต้ แต่ต้องซื้อน้ำกิน


 


ลักษณะของทุนนิยมยังมีผลกระทบต่อสังคมทั้งด้านบวกด้านลบ เพราะว่าการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น จะต้องเป็นการผลิตแบบแมสโพรดักชั่น (Mass Production) คือ การผลิตขนาดใหญ่ทีละมากๆ เมื่อเราผลิตมาก ขายไม่หมดก็เจ๊ง ทุนนิยมจึงต้องการให้มีการบริโภคมาก


 


 ทำยังไงให้บริโภคมาก ระบบการตลาด ระบบการโฆษณาจึงเข้ามาเพื่อรองรับแมสโพรดักชั่น มาเก็ตติ้ง (Marketing) เอดเวอร์ไทซิ่ง (Advertising) เพื่อสร้างอุปสงค์ สร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้คนซื้อ


 


สรุปว่าแมสโพรดักชั่นจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีแรงกระตุ้นจากระบบตลาด ระบบโฆษณา กระบวนการเลียนแบบ เราจะพบว่าทั้งหมดนี้นำไปสู่แมสคอนซัมชั่น (Mass Consumption)  หรือเรียกว่า ลัทธิบริโภคนิยม


 


ลัทธิบริโภคนิยมเกิดได้ขนาดใหญ่ สมบูรณ์และยั่งยืนถาวร จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 อย่าง


 


หนึ่ง ทำให้ทั่วโลกมีวัฒนธรรมเดียว หรืออย่างน้อยก็ให้ทั่วโลกยอมรับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งมาปรับมาใช้ เราเรียกว่าความพยายามที่จะสร้างโมโนคัลเชอร์ (Monoculture) ทำ วัฒนธรรมใดวัฒนธรรมนั้นคือวัฒนธรรมของการเห็น ถามว่าวัฒนธรรมการเห็นขนาดใหญ่อยู่ที่ไหนก็อยู่ที่ประเทศมหาอำนาจ นี่คือที่มาของแฟชั่น นี่คือที่มาของวิถีชีวิต นี่คือที่มาของแบบบ้านต่างๆ ความหลากหลายของบ้านเราหายไปไหน เพราะเราถูกครอบงำโดยอิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่าโมโนคัลเชอร์ ผ่านกระแสโลกาภิวัตน์


 


ถ้าโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะพบว่าระบบวัฒนธรรมเดี่ยวที่พยายามสร้างขึ้นมา บางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม กระทั่งเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานตะวันตกกับสภาพแวดล้อมตะวันออก เราเรียกว่า ความไม่ลงตัวของวัฒนธรรม


 


ความไม่ลงตัวทางวัฒนธรรมนำไปสู่มลพิษทางวัฒนธรรม นำไปสู่มลพิษทางสังคม


 


ลองดูซิครับว่ากรุงเทพฯ เรามันเป็นที่ลุ่ม น้ำจึงแห่ลงมา โบราณเขาแก้ยังไง เขาก็ขุดให้ลึกลงไปอีกเพื่อให้น้ำไหลไปทางที่ลึก แต่เรารับแนวคิดต่างประเทศมา เพื่อให้ดูเป็นต่างชาติ ก็เลยทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองถนนเสีย น้ำจะหนีไปไหนครับ น้ำก็หนีเข้าบ้านชาวบ้านเขา ชาวบ้านเขาก็ต้องถมที่ น้ำจะหนีไปไหนอีกครับ ก็จะจากบ้านคนจนและสู่บ้านคนจน ไปดูซิครับสลัมน้ำเต็ม เน่า ทุกที่


แล้วสนามบินหนองงูเห่าที่กำลังสร้างก็ไปขวางทางน้ำอีกแล้ว


 


ประการต่อมา ลัทธิบริโภคนิยมมันนำไปสู่การเลียนแบบ ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียก ดีมอนด์คัลเชอร์แอฟเฟ็ค (Demonstration Affect) บ้านเราก็หนีไม่พ้น ลัทธิเอาอย่างมันซึมแทรกเข้าไปทางวิถีโฆษณา วิถีการเลียนแบบบางทีก็เลียนแบบเกินเลย


 


นอกจากนั้นเวลามันลงไปในชุมชน บ้านนี้มีมอเตอร์ไซค์ฉันก็จะมีบ้าง ผมไปทำวิจัยทางภาคเหนือมา พบตัวเลขน่ากลัวมากว่า เมื่อปี 2545 ครัวเรือนไทยเรามีหนี้ครัวเรือนละ 8.4 หมื่น มาถึงวันนี้ปี 2548 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.87 แสนบาท ภายใน 45-48 เพิ่มเกือบ 100%


 


แล้วตอนนี้หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นจาก 8.4 หมื่น เป็น 1.87 แสนแล้ว ไปดูรายจ่ายของชุมชนในหมู่บ้าน เราพบว่า 1 ใน 3 หมดไปกับค่าซ่อมมอเตอร์ไซค์ อีก 1 ใน 3 หมดไปกับบัตรเติมเงิน 2 ใน 3 หมดไปแล้ว เหลือ 1 ใน 3 ก็ไว้กินไว้ใช้ ไว้ทำนา


 


เงินกองทุนหมู่บ้านที่กู้ยืมไปก็มีลักษณะอย่างนี้แหละครับ ผมเชื่อครับว่าประสบความสำเร็จในการปล่อยกู้ แต่ประสบความสำเร็จในการยกคุณภาพชีวิตหรือไม่ ไม่รู้


 


ดังนั้นลักษณะการเลียนแบบการใช้สิ่งต่างๆ บางครั้งไม่จำเป็นก็มีกันหมดตอนนี้  เราจะมีเครื่องเล่นซีดีทุกบ้าน ดูหนังเอ็กซ์ ดูหนังโป๊ แล้วถ่านมือถือ แผ่นซีดีที่ไม่ได้ใช้สารพัดอย่าง ก็กลายเป็นขยะของการบริโภค ยิ่งการบริโภคสินค้า ขยะยิ่งมากขึ้น สินค้าไฮเทคมากขึ้น ปริมาณขยะเคมีจากการบริโภคก็จะมากขึ้น ผมก็เป็นห่วงว่าต่อไปชนบทจะเป็นยังไง บรรยากาศตอนนี้เต็มไปด้วยฝุ่น เคมี ยาปราบศัตรูพืช เต็มไปด้วยถ่านหิน เต็มไปด้วยซีดีที่ไม่ได้ใช้ อย่าว่าแต่ในเมืองเลย ในชนบทเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไปไกลแล้ว


 


ข้อสาม การจะทำให้ลัทธิบริโภคนิยมขยายเต็มที่ได้ ก็ด้วยการครอบงำทางอุดมการณ์ (Ideological Hegemony) ผมอยากแนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ "เพชฌฆาตเศรษฐกิจ" เขียนโดยเพอร์กิน เป็นอัจฉริยะทางเศรษฐศาสตร์ เป็นฮีโร่ของรัฐบาลสหรัฐ ทำให้สินค้าเมดอินยูเอสเอขายได้ทั่วโลก เพราะทำการตลาดเชิงวัฒนธรรม ทำให้โลกทั้งโลกต้องเดินตาม


 


ตอนนี้เขาเพิ่งมาเขียนหนังสือสารภาพทีหลังว่า รู้สึกเศร้าใจมากที่เขาทำไปนั้น ประเทศด้อยพัฒนาไม่มีความพร้อมใดๆ ทางความคิดทฤษฎี และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน จึงมีแต่ตกเป็นทางความคิด ตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจของคนต่างชาติ นี่เห็นว่าแกจะไปเป็นบาทหลวงด้วย


 


เราถูกครอบงำโดยการเข้ามามันเปลี่ยนสมองของเรา ทำให้เรามองฝรั่ง มองอเมริกันเป็นฮีโร่ไปหมด ความเป็นฮีโร่ของอเมริกันมันมีผลอะไรต่อเศรษฐกิจ มันทำให้อะไรก็ขายได้หมด การตลาดเชิงวัฒนธรรมมันลึกกว่าการตลาดเชิงธุรกิจมากนัก


 


เมื่อไรก็ตามเราตกเป็นทาสทางวัฒนธรรม ตกเป็นทาสความคิด เราจะมองผู้ให้เหล่านั้นผู้ให้วัฒนธรรมแก่เราว่าเป็นฮีโร เมื่อใดก็ตามที่เขาเป็นฮีโร่ก็จะมีความต่อเนื่องกัน ความต่อเนื่องนี้แหละทำให้เกิดความนิยม ความนิยมนี้ทำให้เราบริโภคตลอด ลัทธิบริโภคลึซึ่มมันแผ่ขยายอย่างนี้ 


 


ผมยกตัวอย่างสั้นๆ ถามว่าหนังคาวบอย คุณเคยเห็นอินเดียนแดงเป็นพระเอกไหมครับ คุณเคยเห็นคาวบอยแพ้อินเดียนแดงไหมครับ คุณจะเห็นพวกคาวบอยทำโหดร้ายทารุณต่ออินเดียนแดงไหม ไม่มี คุณเห็นคนขาวดีหมดไหม แต่ในประวัติศาสตร์จริงๆ คนขาวไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขา อินเดียนแดงเขาอยู่มาก่อน พวกอินคา พวกมายา ซึ่งสร้างอารยธรรมโลกเก่าแก่โบราณ ก็ถูกทำลายเกลี้ยงโดยคนขาว แต่ที่ฝังหัวเรามาคือ คนขาววิเศษ


 


นอกจากนั้นคนขาวยังสร้างทฤษฎีทางสังคมขึ้นมาอิงหลักวิทยาศาสตร์ คือหลักโซเชียลดาวินนิสซึ่ม (Social Dawinisim) ดาวิน บอกว่าสัตว์ที่เข้มแข็ง เก่ง ฉลาดเท่านั้นที่อยู่ได้ มันเป็นการคัดสรรตามธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อพระเจ้าสร้างคนขาวมาให้เป็นคนฉลาด เก่ง จึงเหมาะที่จะปกครองโลก


 


เด็กรุ่นใหม่ๆ ตอนนี้ ถึงขนาดว่าขอนอนฝรั่งซักคืนเถอะ อยากให้ลูกหน้าตาดีๆหรือฉลาดกับเขามั่ง ขนาดนั้นนะครับ ที่ผมพูดเป็นเรื่องจริงเพราะผมไปสัมภาษณ์มาแฃ้ว ไม่ได้บอกว่าโดยส่วนใหญ่แต่ความคิดขนาดนี้มันมีครับ


 


เมื่อความเป็นฮีโร่อยู่ในความคิดแล้วทุกอย่างที่มาจากเขาขายได้หมด หนังขายได้ เพลงขายได้ สินค้าขายได้ มันเป็นการตลาดเชิงวัฒนธรรม ผมอยากจะเรียนไปทางคนเรียนเศรษฐศาสตร์ว่า ณ วันนี้การตลาดเชิงอุดมการณ์ การตลาดมันกินลึก กินกว้าง กินไกล กินรุนแรงมากกว่าการตลาดเชิงเศรษฐกิจ


 


การต่อสู้สิ่งเหล่านี้เราต้องทำมันอย่างเป็นระบบ


 


กระทรวงวัฒนธรรมต้องทบทวนแล้ว ตอนนี้แดจังกึม ตลาดเชิงวัฒนธรรมมันรุนแรงขนาดไหน เกาหลีเอาบ้าง เพราะตอนนี้อะไรขายดีครับ กิมจิขายดีใช่ไหม คนอยากไปเที่ยวเกาหลีใช่ไหม แล้วผู้ชายไทยอยากมีเมียเกาหลีด้วย ไปเที่ยวเกาหลีมีแต่โรงถ่าย  ของจริงไม่มีหรอก แล้วเมืองไทยมีอะไรดีๆ ตั้งเยอะ ทำไมเราไม่ทำ


 


สุดท้ายแล้วครับ เมื่อเราตกอยู่ภายใต้การผลิตขนาดใหญ่ การบริโภคขนาดใหญ่ของโลกทุนนิยม มีข้อพึงระวังอยากจะฝาก 3 ประการ


 


ข้อที่ 1 ระบบทุนนิยมนั้นเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นขอให้จงระวังไว้อย่าให้คนบางกลุ่มใช้ผลประโยชน์ส่วนตนไปเบียดบังผลประโยชน์ส่วนตนของผู้อื่น กฎกติกาของสังคม ของโลกต้องเข้มแข็ง มิฉะนั้นแล้วผลประโยชน์ส่วนตนของบางคนจะไปเบียดบังผลประโยชน์ส่วนตนของคนทั้งหมด ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในรัฐนี้แล้ว


 


ข้อที่ 2 ทางเศรษฐศาสตร์บอกว่า เมื่อเราอยากได้สิ่งหนึ่งมา  เราก็ยอมเสียสิ่งหนึ่งไป คำถามมีอยู่ว่าเราเห็นไหมว่าเราเสียอะไรไป อย่าคิดแต่ด้านได้ครับทุกอย่างไม่มีฟรี โลกนี้ไม่มีของฟรี เมื่อเราอยากสร้างตึกตรงนี้ต้องทำลายภูเขา อยากสร้างทางถนนต้องตัดไม้ สร้างใหม่ต้องทำลายทำลายของเก่าเสมอ


 


เพราะฉะนั้น เราอยากจะสร้างอยากจะผลิตมาก ต้องระวังอย่าให้การสร้างใหม่ไปทำลายสิ่งต่างๆ มากเกินไป มิฉะนั้นจะเกิดภาวะล้มละลายทางสิ่งแวดล้อม


 


ข้อที่ 3 เราจะต้องเข้าใจว่าความหลากหลายเป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับมนุษย์และธรรมชาติทั้งมวล ความหลากหลายต่างหากที่ทำให้มนุษย์ยืนอยู่ได้ ความหลากหลายต่างหากที่ทำให้โลกเราอยู่ได้ ถ้าโลกนี้ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวที่เรียกว่าโกลเบอร์ไลเซชั่น (Globalization) ถามว่ามันจะขัดกับหลักธรรมชาติแท้จริงไหม มันจะขัดกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสร้างมาไหม


 


ถ้าเราหันกลับไปสู่ปรัชญาธรรมชาตินิยม ความหลากหลายของโลกใช่ไหมที่ทำให้โลกมีดุลยภาพ มันมีของอ่อนก็ต้องมีของแข็ง มีความว่างเปล่าก็มีตัวตน ถ้าความหลากหลายมันหมดไปโลกจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ ผมขอฝากแค่นี้ครับ


 


..........................................


บทความนี้เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของการอภิปรายในหัวข้อ "เมืองไทยในยุคโลกาภิวัตน์" จัดขึ้นในงานสัมมนาสิ่งแวดล้อมประจำปี 2548 วันที่ 2-3 ธันวาคมที่ผ่านมา


กลับหน้าแรกประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net