พบสารหนูเต็มเลสาบสงขลา-หวั่นขุดลอกทำโลหะหนักฟุ้งกระจาย






ภาพจาก www.thaingo.org


นักวิจัยจุฬาลงกรณ์ตรวจพบโลหะหนัก 5 ชนิดในทะลเลสาบสงขลาเกินค่ามาตรฐาน แนะให้ขุดลอกตะกอนใต้ดินกันโลหะหนักฟุ้งกระจาย ด้านอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนกำหนดออกแบบการมีส่วนร่วมระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาทะเลสาบสงขลา


 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที 7 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาระดมความเห็นโคงการสำรวจเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรณีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สำรวจธรรณีเคมีและการพังททลายของหน้าดินลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนกลาง) มีตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดสงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 200 คน

 

นายปัญญา จารุศิริ นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้ศึกษาโครงการฯ ได้บรรยายสรุปผลการศึกษา เรื่องการแพร่กระจายของโลหะหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ว่า จากการเก็บตัวอย่างดินและตะกอนในแหล่งน้ำธรรมชาติและในท้องทะเลสาบสงขลาตอนกลาง 422 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน 154 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำในทะเลสาบสงขลา 46 ตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548

 

ผลการศึกษาแยกเป็นพื้นที่ทั้ง 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ตะกอนท้องน้ำจากบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่า มีโลหะหนักที่มีค่าความเข้มข้นสูงเกินมาตรฐานที่อาจเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต โดยมี 1 ตัวอย่างที่พบอาร์ซินิก(สารหนู) และ ตะกั่ว ส่วนที่ 2 ดินจากพื้นที่การเกษตร พบว่า มีตัวอย่างดินที่พบ อาร์ซินิก เกินมาตรฐานสูงถึง 52.5 %

 

ส่วนที่ 3 แหล่งน้ำผิวดิน พบว่า แมงกานีส และ อาร์ซินิก มีค่าเกินมาตรฐาน ส่วนตัวอย่างน้ำเค็มในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง พบโลหะหนักเกินมาตรฐานได้แก่ แมงกานีส เหล็ก ปรอท คลอไรด์ และฟลูออไรด์ ส่วนที่ 4 ตะกอนดินจากทะเลสาบสงขลาตอนกลาง พบ อาร์ซีนิก เกินค่ามาตรฐาน

 

นายปัญญา กล่าวว่า โลหะหนักที่มีความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานทั้งหมดมีจำนวนน้อยมาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ส่วนการศึกษาการกระจายโลหะหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลาสาบสงขลาตอนบนจะดำเนินการในปี 2549 และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่างจะดำเนินการในปี 2550 ต่อไป

 

นายปัญญา ยังกล่าวถึงผลการศึกษาการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดิน ว่า ในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนกลางมีค่าเฉลี่ย 2.8 ตันต่อปีต่อไร่ ซึ่งรุนแรงมาก ซึ่งจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณชายฝั่งทะเลสาบสงขลาตอนกลางพบว่ามีพื้นที่สะสมตะกอนชายฝั่งสูงถึง 1.45 ตารางกิโลเมตร ขณะที่มีการกัเซาะชายฝั่งเพียง 0.19 ตารางกิโลเมตร

 

นอกจากนี้ นายปัญญา ยังกล่าวด้วยว่า การป้องกันและแก้ปัญหาความตื้นเขินของทะเลสาบสงขลาว่า ต้องปลูกพืชที่เหมาะสมที่สามารถป้องกันการชะล้างหน้าดินได้ดี ลดการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างตัวดักตะกอน และการขุดลอกทะเลสาบ โดยการขุดลอกต้องไม่ทำอย่างเร่งด่วน โดยเลือกเจาะสูบตะกอนชั้นล่างออก เพื่อไม่ให้สภาพแวดล้อมใต้ทะเลสาบเปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และลดการฟุ้งกระจายของตะกอนและโลหะหนักในทะเลสาบด้วย

 

นายอรัญ จินตะเสโน ตัวแทนจากจังหวัดสงขลา กล่าวในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการนี้ว่า สมมุติว่าการขุดลอกทะเลาสาบสงขลาในระยะเวลา 3 ปี ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในทะเลสาบสงขลาได้ เพราะสารพิษฟุ้งกระจายออกไป แล้วจะให้ชาวบ้านหากินได้อย่างไร

 

ด้านนายณัฐชัย พลกล้า หัวหน้าศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 (สงขลา) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สามารถใช้วิทยาการสมัยใหม่ในการป้องกันการฟุ้งกระจายของสารพิษในระหว่างการขุดลอกทะเลสาบสงขลาได้ เช่น การติดตั้งม่านกันการฟุ้งกระจายของตะกอนน้ำ เป็นต้น

 

เกี่ยวกับเรื่องนางพิกุล บุรีภักดี กรรมพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ให้สัมภาษณ์หลังการสัมมนาว่า การศึกษาเรื่องขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบสงขลาขณะนี้หน่วยงานต่างๆทำแบบต่างคนต่างทำ ซึ่งใครจะเสนอว่าควรขุดลอกแนวใดก็ได้ แต่ทุกหย่วนงานที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่าจะขุดลอกอย่างไร แต่ควรขุดลอกตามแนวร่องน้ำเดิม เพราะจะมีแรงลมช่วยพัดพากระแสน้ำทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำดีขึ้น แต่หากขุดแนวใหม่ไม่นานตะกอนก็จะมาทับถมเช่นเดิม

 

ต่อมาเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กระปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสัมพันธ์ มีนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯเป็นประธาน มีอนุกรรมการเข้าร่วม 29 คน โดยที่ประชุมมีมติให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 16 ติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ในปีงบประมาณ 2549 ตามแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีทั้งหมด 35 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 615 ล้านบาท เพื่อนำมาออกแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในระหว่างการดำเนินโครงการ ในการประชุมครั้งต่อ ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการประชุมทุก 2 เดือน


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท