Skip to main content
sharethis



"อภิรักษ์" ลงนามในปฏิญญาร่วมกับตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬและอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเปิดตัวโครงการ "ชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ" กลางลานเอนกประสงค์ของชุมชนเมื่อวันที่ 7 .. เพื่อหาแนวทางพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ส่วนการไล่รื้อจะเป็นไปตามข้อตกลงที่จะหารือร่วมกันต่อไป โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรทำหน้าที่คนกลาง

 


นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวให้เหตุผลในการลงนามในปฏิญญาครั้งนี้ว่า กรุงเทพมหานครเคยมีแนวคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อให้คนเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีการใช้กฎหมายในการจัดการพื้นที่ ทำให้มีปัญหากับชุมชนในเรื่องการไล่รื้อเพื่อเวนคืนที่มาทำสวนสาธารณะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ซึ่งหากยังยึดหลักการเดินตามกรอบกฎหมายเพียงอย่างเดียวจะทำให้ไม่มีทางออกในการแก้ปัญหา ไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริง ทางกทม.จึงหันมามองการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นแกน


 


ผู้ว่ากทม.ได้กล่าวอีกว่า ชุมชนป้อมมหากาฬต่อสู้ยืนยันในสิทธิที่อยู่อาศัยมากว่า 13 ปี ในระหว่างนั้นทำให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งมีความผูกพันกับพื้นที่และรู้จักประวัติศาสตร์ของชุมชนโดยมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้ รวมทั้งมีนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาหลายครั้งจนกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้


 


เหตุผลดังกล่าวทำให้ กทม.สนใจที่จะหาทางออกในการพัฒนาในมุมที่ต่างจากการตีความด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงหารือร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลับศิลปากรซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และมีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งได้มอบหมายให้นายชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีมศึกษาวิจัยร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬในการหาทางออก ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 เดือน พบว่าชุมชนมีจุดเด่นในเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างบ้านด้วยไม้ติดต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นที่เดียวที่เหลือในกรุงเทพฯ สามารถเห็นพัฒนาการที่น่าสนใจ


 


นอกจากนี้ชุมชนแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น เป็นพื้นที่กำเนิดของลิเกที่เรียกว่า "ลิเกพระยาเพชร" ทางคณะศึกษาจากศิลปากรจึงเสนออกมาเป็น "โครงการชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ" ทางกทม. ชุมชนป้อมมหากาฬ และมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงมาลงนามเพื่อร่วมมือกันในครั้งนี้


 


 


ศิลปากรชม "อภิรักษ์" เปิดโอกาสนักวิชาการแก้ปัญหา


ส่วน รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นพันธกิจเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกัน มหาวิทยาลัยเองก็ต้องสัมผัสกับพื้นที่ไม่อยู่บนหอคอยงาช้าง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมามีการจัดเสวนาเกี่ยวกับพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ไปหลายครั้ง ไม่เฉพาะชมุชนป้อมมหากาฬเท่านั้น


 


"แนวคิดเรื่องพื้นที่สีเขียวเพื่อการพัฒนา มันมองได้หลายแง่มุม ทางกฎหมายก็แบบหนึ่ง ทางชุมชนก็แบบหนึ่ง คำถามที่ตามมาจะมีหลากหลาย เช่น การพัฒนาแบบพื้นที่สีเขียวอย่างเดียวจะให้ยั่งยืนจริงหรือ การอนุรักษ์โบราณสถานโดยไม่ให้คนอยู่เป็นวิธีการเดียวในการอนุรักษ์จริงหรือ ในวิถีประชาธิปไตยมันก็ต้องมองได้หลายมุมเช่นนี้ และในการมองต่างมุมถ้าหันมาคุยกันก็จะหาทางออกให้ทุกฝ่ายพอใจได้" อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าว


 


รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย ยังตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาแบบที่ กทม.กำลังใช้กับชุมชนป้อมมหากาฬนี้เป็นการพัฒนาแนวใหม่ที่เอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง มหาวิทยาลัยเองก็ศึกษาวิจัยโดยเอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะกลายเป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างมีคุณค่า จนอาจเป็นแนวทางที่เป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นได้


 


นอกจากนี้ยังแสดงความชื่นชมวิสัยทัศน์ใหม่ของ กทม. เพราะการเอาชุมชนเป็นตัวตั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการโหยหาเช่นกัน คือทำให้นักวิชาการได้มามีส่วนร่วมกับชุมชนมากกว่าอยู่กับทฤษฎีตรงนี้จะทำหน้าที่คล้ายกับชุมชนเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตจริงๆ


 


ชาวบ้านเรียนรู้อยู่กับ "เมือง" ไม่ง่าย  แต่ทำได้


นายธวัชชัย วรมหาคุณ ตัวแทนจากทางชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า กว่าความร่วมมือนี้จะเกิดขึ้น ชุมชนก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง การที่ชาวบ้านจะอยู่กับเมืองได้นั้นไม่ใช่สิ่งง่าย คือต้องทำให้คำว่า "ชาวบ้าน" กลายเป็น "พี่น้อง"เพื่อให้เกิดการคิดร่วมกัน แล้วค่อยกลายเป็น "พลเมือง" ที่ทุกคนมีค่าเท่ากัน ตรงนั้นต้องแสดงออกมาเพื่อทำให้เห็นว่าชุมชนพร้อมจะทำงานร่วมกับ กทม.


 


"ทุกฝ่ายมาหาแนวทางร่วมกัน เรามีทุนอยู่แล้ว ท่านผู้ว่าฯก็มาจุดประกายแนวทางนี้ มีนักวิชาการแทบทุกสถาบันเข้ามา เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการทางด้านกฎหมาย น้องๆนิสิตนักศึกษาเข้ามา จนมีวันนี้ที่ทำให้เห็นว่าเรามี พ่อเมือง ที่ไม่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง มานั่งคุยกับชุมชน ขอบคุณทุกๆฝ่าย ต่อไปนี้ชุมชนจะพูดถึงปัญหาให้น้อยลงแต่จะพูดถึงการพัฒนาให้มากขึ้น" นายธวัชชัย กล่าว


 


ผสานแนวคิด เตรียมยกระดับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต


นายชาตรี ประกิตนนทการ หัวน้าทีมวิจัยและนำเสนอแนวทางโครงการชุมชนบ้านไม้โบราณฯ อธิบายถึงที่มาของโครงการว่า แนวคิดที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬจากการศึกษาเบื้องต้นจะเห็น 4 แนวคิดหลักๆ


 


แนวคิดแรก เรียกว่าแนวคิดของกทม. คือพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์โบราณสถาน แต่ข้อด้อยของแนวคิดนี้คือเป็นแนวคิดเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ขาดองค์ความรู้ตรงนี้จะทำให้กลายเป็นเมืองที่ขาดวิถีชีวิตในอนาคต ต่อมาเป็นแนวคิดของชุมชนที่ต้องการอยู่อาศัยพื้นที่เพื่อยู่รอด จะเน้นสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน มีการขอปันพื้นที่แต่จะขาดหรือละเลยเรื่องการดูแลรักษาพื้นที่


 


อีกแนวคิดเป็นของกลุ่มนักประวัติศาสตร์หรือนักอนุรักษ์ที่เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม มักเป็นการเสนอภาพเชิงอุดมคติ เพราะขาดการมีส่วนร่วม ข้อด้อยคือขาดการปฏิบัติจริง แนวคิดสุดท้ายเป็นการคิดแบบสถาปนิกหรือนักออกแบบชุมชนเมือง มักจะวางแนวทางตามตำราและเน้นไปทางกายภาพเป็นหลัก ตรงนี้มีข้อจำกัดคือขาดมิติทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม


 


ดังนั้นสิ่งที่เสนอในโครงการคือการประมวลทั้งหมดออกมา โดยยกวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นแกนหลักแล้วนำส่วนอื่นๆมาเชื่อมร้อย เชื่อว่าน่าจะตอบเป้าหมายของทั้ง 4 กลุ่มได้


 


นายชาตรี ยังทิ้งท้ายอีกว่า "ข้อด้อยของชุมชนนี้คือการเป็นบ้านไม้ที่ไฟไหม้ง่าย แต่จากการเข้ามาศึกษาทำให้เห็นศักยภาพในการป้องกันและดูแลชุมชนบ้านไม้ได้ 13 ปีมานี้ ทำให้เกิดการวางเวรยาม การฟื้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชุน เช่น การจัดงานลิเกพระยาเพชร  ความเข้มแข็งของชุมชนจะทำให้ดูแลบ้านไม้ได้ แต่เทคโนโลยีดับเพลิงดูแลไม่ได้"


 


"ต่อไปจะนำไปสู่การตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนกลางแจ้งที่มีวิถีชีวิต คือเป็นพิพิธภัณฑ์ในตัวเองไม่ใช่การเอาของมาวางอย่างที่เห็นทั่วๆไป ดังนั้นการที่หลายๆ คนตั้งคำถามว่า ไม่มีประวัติศาสตร์ชุมชน หรือวัฒนธรรมที่นี่ไม่เก่าจริง แต่ขอบอกว่าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเราต้องสร้างเอง ผ่านวันนี้ไปพรุ่งนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์ อย่าให้ใครมานิยามให้เราว่าอะไรคือประวัติศาสตร์ อะไรคือวัฒนธรรม"


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net