Skip to main content
sharethis




 


เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 8 ธันวาคม 2548 ที่ศาลาแปดเหลี่ยม โรงแรมพีพี ปริ้นเซส เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ มีการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพีให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดินบนเกาะพีพี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และราษฎร เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน


 


นายธันยา หาญพล รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชี้แจงว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะกำหนดให้ระยะจากชายฝั่งตั้งแต่บริเวณน้ำท่วมถึงขึ้นไป 30 เมตร ทั้งฝั่งอ่าวโละดาลัมและฝั่งอ่าวต้นไทร ห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างใดๆ ส่วนบริเวณกลางเกาะจะทำถนนเป็นเส้นทางหนีภัยกว้าง 30 เมตร ตรงไปยังภูขา พร้อมกับจะกันพื้นที่ทำถนนเป็นเส้นทางหนีภัยกว้าง 20 เมตรอีก 4 จุด โดยจะขออนุญาตใช้พื้นที่จากอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี สำหรับเป็นที่หลบภัยและเป็นจุดชมวิว ส่วนโรงพยาบาลไม่ควรอยู่ที่เดิม เพราะไม่มีความปลอดภัย จะต้องหาพื้นที่สร้างใหม่ ในส่วนนี้อาจจะต้องขอใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพีด้วย โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ถ้าหากทุกฝ่ายตกลงและทำตามนี้ได้ จะเขียนแผนแม่บทให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน สำหรับที่ดินจะไม่มีการเวนคืน แต่จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้จ่ายเป็นค่าชดเชยในราคาที่รัฐสามารถให้ได้


 


"ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เกาะพีพีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวมาก สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด คือ เรื่องอุบัติเหตุ ไม่ควรมีการกั้นรั้วหรือสิ่งกีดขวางต่างๆ ระหว่างอาคาร การทำถนนกว้าง 30 เมตร ย่อมปลอดภัยกว่าถนนกว้าง 10 เมตร" นายธันยา กล่าว


 


นายสมหมาย จันทร์ทิน ตัวแทนราษฎร เสนอว่า หลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติ ภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการและราษฎรบนเกาะพีพี มีการประชุมตกลงขั้นตอนและวิธีการพัฒนาเกาะพีพีร่วมกัน แต่การดำเนินการของภาครัฐ นอกจากจะไม่คืบหน้าแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาไปจากที่ตกลงกัน จนทำให้ชาวเกาะพีพีและผู้ประกอบการ ได้รับความเสียหายและสับสนในแนวทางปฏิบัติ


 


นายสมหมาย กล่าวต่อไปว่า ชาวเกาะพีพีและผู้ประกอบการ จึงขอเสนอให้ภาครัฐ ดำเนินการดังนี้ 1. ให้ยึดแนวทางพัฒนาและกำหนดรูปแบบตามแนวทางของกรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 2. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ 3. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการเรื่องไฟฟ้า ประปา บ่อบำบัดน้ำเสีย เขื่อนกั้นน้ำแนวชายหาด และสะพานท่าเทียบเรือ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่พร้อม ควรจัดงบประมาณให้องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 4. รัฐควรหาทางช่วยเหลือและหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ให้เกิดความยืดเยื้อ จนทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนเดือดร้อน ผู้ประกอบการไม่มีสถานที่ประกอบการ ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ ชาวบ้านไม่มีบ้านพักอาศัยถาวร 5. ในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน รัฐควรจัดหางบประมาณมาชดเชยให้เหมาะสม ไม่ให้ภาคเอกชนรับภาระแต่ฝ่ายเดียว


 


นายนที เปรมรัศมี ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 17, 19 เปิดเผยว่า นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาดูพื้นที่ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 เห็นว่าการดำเนินการฟื้นฟูเกาะพีพีล่าช้า จึงได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จัดประชุมหาข้อตกลง ต่อมา วันที่ 2 ธันวาคม 2548 จังหวัดกระบี่ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ 22 คน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน


 


"ในการประชุมครั้งนี้ เราให้ผู้รับผิดชอบจากส่วนกลาง คือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูแลพื้นที่เกาะพีพี ลงมารับฟังความต้องการของชาวบ้าน เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน" นายนที กล่าว


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net