Skip to main content
sharethis

คลื่นความคิด


โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ และทีมงาน


ออกอากาศ  เสาร์  9.00 -10.00 น. / อาทิตย์ 8.30-10.00 น.


ออกอากาศซ้ำ (re-run) คืนวันเสาร์/อาทิตย์ ประมาณ 03.00 น.


ทางสถานีวิทยุ FM 101 เมกะเฮิร์ตซ์


(คลื่นความคิดเป็นรายการสนทนาเชิงวิเคราะห์ในหลากหลายเรื่องราว ในมิติของประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน และอนาคต)


 


วิกฤติการณ์หนี้สิน


คำตอบของอนาคต…อยู่ที่อดีต


(ออกอากาศ  26-27 พฤศจิกายน 2548)                                                    


 


"ความมัธยัสถ์กับความขี้เหนียวไม่เหมือนกัน        ถ้าเราขี้เหนียว      เราก็แย่พอๆ กับผู้มีอิทธิพลทั้งหลายที่บูชาเงิน เงินจะกลายเป็นพระเจ้าของเรา   ถ้าเรามัธยัสถ์  เราจะใช้เงินไปกับสิ่งที่ควรใช้  แต่เราไม่ใช้เรี่ยราดไปทั่ว"


 


"ลิตเติ้ลทรี"-วรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี


 


เรื่องบ้านเรื่องเมืองนับวันจะตีบตัน หาช่องหาทางหยิบมาพูดถึงยากขึ้นทุกที ในขณะที่เรื่องโลก เรื่องต่างประเทศก็ดูจะจืดๆ ไม่มีสถานการณ์อะไรเด่นๆ  สัปดาห์นี้มาแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เกี่ยวกับราษฎรธรรมดาสามัญอย่างเราๆ - ท่านๆ กันดีกว่า คือจะว่ากันถึงเรื่องการใช้เงินใช้ทองของผู้คนกันอีกสักครั้ง เพราะช่วงหลังๆ นี้ข่าวคราวการเป็นหนี้เป็นสินดูจะมากขึ้น หนักขึ้น สัปดาห์ที่แล้วที่เป็นเรื่องก็คือ สิ่งที่เรียกกันว่า "อีซี่ บาย" ที่ทำท่าจะ"ไม่อีซี่" ถูกกล่าวหาว่าโหดร้าย น่าสยองขวัญ   ถ้าเป็นจริงตามที่บรรดาลูกหนี้ที่ออกมาฟ้อง ก็ไม่รู้ว่าต้องผ่อนกันเป็นชาติๆ หรือเปล่าจึงจะหมดหนี้   ทางอีซี่ บายเถียงว่าบริษัทปล่อยเงินกู้ เงินด่วน "เจ้าอื่นๆ" ก็ทำแบบเดียวกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะลุกลามไปถึง "บริษัทใหญ่" ที่อาจจะไม่อีซี่ที่คิดจะไปเล่นงานกันเลยหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป


 


ที่จริงเรื่องนี้เราหยิบมาพูดหลายครั้งแล้ว อาจพูดได้ว่าเราเตือนคุณแล้ว หยิบกรณีของเกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น ฯลฯ มาเปรียบเทียบให้เห็นว่าการเป็นหนี้เป็นสินนั้นมันลำบาก มันวุ่นวาย มันทุกข์ร้อนอย่างไรบ้าง  แต่ก็อย่างว่า ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร พูดกันแล้วพูดกันอีก ก็ดูว่าจะไปหยุดไปทุเลาอาการเหล่านี้ไม่ได้สักเท่าไหร่นัก  นั่นก็คืออาการกินแหลก ใช้แหลก บริโภคแหลกที่ในระยะหลังๆ ดูจะกลายเป็นนิสัย     เป็นพฤติกรรมไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะโดยอุปนิสัย โดยทัศนคติของแต่ละคนเอง หรือเป็นเพราะระบบต่างๆ มันเอื้ออำนวยให้เป็นไป หรือเพราะ "แรงกระตุ้น" ที่ใครต่อใครไม่ว่าตั้งแต่ระดับยอด ลงมาถึงฐาน ต่างก็พยายามหาทางกระตุ้นกัน   ไม่ว่าจะโดยอะไรก็แล้วแต่ คงต้องยอมรับกันว่าพฤติกรรมการใช้เงินใช้ทองของผู้คนในทุกวันนี้ออกไปทางที่อันตรายอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อประเทศชาติที่กำลังฝันๆ กันว่าจะเป็นประเทศรวย เป็น ประเทศเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าหากพฤติกรรมผู้คนในสังคมยังเป็นเช่นนี้ ก็คงแย่   คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าปลื้ม น่าฝันอะไรเท่าไหร่นัก


 


อดทน -อดกลั้น -อดออม


 


ถ้าหากจะว่ากันถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินทองของผู้คน สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ "การออม" หรือบางทีก็ถือว่าเป็น"วัฒนธรรม" หรือเรียกๆ กันว่า"วัฒนธรรมการออม" ซึ่งต้องถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะไม่ใช่แค่เรื่อง "ตัวเงิน" เพียงอย่างเดียว คือไม่ใช่แค่การนำเงินไปหยอดกระปุกออมสินกันทีละเหรียญสองเหรียญแล้วมานั่งฝันว่าในอนาคตจะรวยกันเป็นพันล้านหมื่นล้าน หรือไม่ใช่การยุให้เป็นคนขี้เหนียว เป็นคนเค็ม ไม่ยอมใช้เงินของตัวเอง  แต่ชอบเอาเงินของคนอื่นมาใช้  แบบนั้นไม่ใช่วัฒนธรรม  แต่จะเป็นอะไรก็แล้วแต่จะคิด


 


การออมที่ถือเป็นวัฒนธรรมชนิดหนึ่งนั้น อาจเพราะว่าเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลต่ออุปนิสัยใจคอของผู้คน หรือต่อสังคมในทางที่ดี ในทางที่เป็นธรรม ในทางที่เกิดความเจริญทางด้านจิตใจ ไม่ใช่แต่เฉพาะทางวัตถุหรือทางเงินๆ ทองๆ เท่านั้น ซึ่งถ้าดูๆ ไปแล้วก็น่าจะเป็นเช่นนั้น คือคนที่รู้จักออม หรือให้ค่า ให้ความสำคัญกับการออม ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนที่รู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักข่มใจ รู้จักอดทน อดกลั้น สามารถเอาชนะจิตใจของตัวเองได้ จึงเกิดความระงับยับยั้ง ไม่นำเงินทองไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ หรือในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งถ้าหากดูจากประเทศที่ว่ากันว่า มีวัฒนธรรมการออมค่อนข้างแข็ง ส่วนใหญ่แล้วมักต้องมีเรื่องของความอดทน อดกลั้น ความข่มใจที่อาจสืบเนื่องจากประสบการณ์ความยากลำบากที่เคยประสบมา เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างอุปนิสัยของผู้คน เช่น ชาวญี่ปุ่นที่เคยผ่านความทุกข์ยาก เคยเจอเข้ากับพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหนักหนาสาหัส   แม้นคนญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ไม่เคยผ่านความทุกข์ยากมาก่อนจะกลายเป็นคนที่กินแหลก ใช้แหลกอยู่ไม่น้อย แต่โดยภาพรวมแล้ว อัตราการออมที่สูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ต้องถือว่าวัฒนธรรมการออมแข็งแกร่งพอสมควรทีเดียว หรือเกาหลีที่บ้านเมืองเคยทุกข์ยากขนาดหนักในยุคสงครามเกาหลีเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว ถึงแม้นว่าในขณะนี้ผู้คนจะเป็นหนี้กันไม่น้อย แต่อัตราการออมโดยรวมก็ยังอยู่ที่ประมาณ16 เปอร์เซ็นต์ อิตาลีที่เคยตกเป็นประเทศแพ้สงครามมาก่อน ถึงจะหรูหรากันตามสไตล์อิตาเลียน แต่อัตราการออมก็ยังอยู่ที่ 15.4 เปอร์เซ็นต์   ในขณะที่ อัตราการออมของเยอรมนี อยู่ที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์


 


สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น ถือได้ว่าเป็น "หนังคนละม้วน" คอลัมน์"มันนี่ โปร" โดยคุณวิวรรณ ธารา-หิรัญโชติ ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เล่าว่า…คนอเมริกันส่วนใหญ่นั้น ไม่รู้ว่าจะออมไปเพื่ออะไร   หรืออาจจะไม่ได้ถูกฝึก ไม่ได้พบเจอกับประสบการณ์ความเจ็บปวดอะไรมากนักเพราะชนะใครต่อใครมาโดยตลอด คุณวิวรรณได้บอกอีกว่า จากการศึกษาวิจัยสังคมอเมริกันในช่วงปี ค.ศ. 1996 พบว่าคนอเมริกันไม่มีแรงจูงใจให้ออม อาจเป็นเพราะในระยะหลังๆ มีสิ่งที่เรียกว่า "สินเชื่อส่วนบุคคล" อยู่มากมาย (ซึ่งน่าจะเหมือนบ้านเราในทุกวันนี้) นอกจากนั้น คุณวิวรรณยังคิดว่า น่าจะเป็นเพราะลักษณะสังคมอเมริกันนั้นหนักไปทางวัตถุนิยมและเน้นการแสดงออก การโชว์ ถึงสถานะทางสังคมด้วยวัตถุอีกด้วย จึงทำให้อัตราการออมเมื่อเทียบกับรายได้แล้วมีอยู่แค่ 2.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  ยิ่งออสเตรเลียยิ่งน้อยลงไปใหญ่ คือมีอัตราการออมอยู่ที่ 1.7 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แคนาดา 4.1 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าบรรดาประเทศที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์กับความทุกข์ยากลำบาก ไม่ต้องมีความอดทนอดกลั้นกันสักเท่าไหร่ ทำให้อุปนิสัยการออมหรือวัฒนธรรมการออมไม่เข้มข้นเท่ากับประเทศที่เคยผ่านเหตุการณ์ความเลวร้าย ความยากลำบากต่างๆ มาก่อน


 


จาก "ออมไว้ไม่ขัดสน" ถึง "หนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด"


 


เมื่อไม่เคยผ่านประสบการณ์ความยากลำบาก ประสบการณ์เลวร้ายต่างๆมามากนัก ความข่มกลั้น ข่มใจ การเรียนรู้ที่จะอดทน เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองก็มักจะลดๆ ลงไป สิ่งเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้แนวโน้มการออมของโลกทั้งโลกลดลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ยิ่งเห็นชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่ทั้งโลกออมน้อยกว่าคนรุ่นเก่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้พอจะสะท้อนให้เห็นในสังคมบ้านเราอยู่เหมือนกัน คือแม้ว่าเราจะไม่ถึงกับเคยผ่านเหตุการณ์หนักหนาสาหัสในระดับประเทศมากมายสักเท่าไหร่ เคยเจอเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้างก็แค่เดี๋ยวเดียว และไม่ได้ยับเยินอะไรนัก แต่จะเห็นได้ว่าอุปนิสัย พฤติกรรม หรือค่านิยมของคนไทยรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับการออมมาก  อาจเป็นเพราะเราอยู่ในวัฒนธรรมตะวันออกที่ให้ค่ากับเรื่องของความอดทน อดกลั้น ข่มใจ หรือการเอาชนะใจตนเองมาโดยตลอด หรือเรามักจะให้ค่ากับความเข้มแข็ง ความมั่นคงทางด้านจิตใจมากกว่าความมั่งคั่งทางวัตถุตามอย่างวัฒนธรรมตะวันตกทั้งหลาย ภาพสะท้อนง่ายๆ เช่นถ้าหากเราย้อนกลับไปดูแบบเรียนเก่าๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่รู้ว่าตอนนี้ยกเลิกไปหมดแล้วหรือไม่ แต่จะเห็นได้ว่าบทเรียนเบื้องต้นของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม มักมีเรื่องราวประเภทนี้สอดแทรกไว้ทั้งนั้น อย่างเรื่องของ "นายเสนอ เสียงเสนาะ" ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมทะเล เป็นคนขยันขันแข็ง    เมื่อทำมาหากินได้เงินได้ทองมาโดยสุจริต โดยชอบแล้ว ก็นำเงินนั้นมาแบ่งเป็นส่วนๆ ส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น   อีกส่วนเก็บออมไว้ รู้จักเก็บ รู้จักใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น เรื่องนี้เรียนกันตั้งแต่ ประถมฯ 2 หรือเรื่องราวของเด็กชายประหยัดและเด็กชายประยูร   จากแบบเรียนชั้นประถมฯ 5 เรื่อง  "ออมไว้ไม่ขัดสน"  ที่ไม่ได้สอนให้ประหยัดกันแบบตรงๆ ทื่อๆ  แต่พยายามเน้นให้เห็นถึงคุณค่าของ "การเอาชนะจิตใจตนเอง"


 


แต่ในระยะหลังๆ เราอาจเห็นว่าของเก่ามันเชย อาจจะล้าสมัย อย่างไรก็ไม่ทราบได้  หรือเพราะเราอาจะหันไปให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งทางวัตถุมากกว่าจิตใจ หรือเป็นเพราะเราอยากจะวิ่งไล่กวดทุนนิยมกันมากขึ้นๆ อยากจะมีเงินมีทอง  อยากจะให้ตัวเลข GDP มันระเบิดเถิดเทิงยิ่งขึ้นไป หรืออะไรก็แล้วแต่   สิ่งที่เรียกว่า   "อัตราการออม" หรือ "วัฒนธรรมการออม" ของบ้านเรามีตัวเลขที่ต้องเรียกว่า…น่าตกใจไม่น้อยเลย ตัวเลขที่คุณวิวรรณนำมาบอกเล่าใน กรุงเทพธุรกิจ   บอกว่า ในปี พ.ศ. 2532 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้วนี่เอง ตัวเลขอัตราการออมของประเทศไทยเคยสูงถึงระดับเฉลี่ย 14.4 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ เรียกว่าไม่น้อยอยู่เหมือนกัน แต่พอมาดูตัวเลขนี้อีกครั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หรือเมื่อ พ.ศ. 2546 ตัวเลขที่ว่านี้มันร่วงลงไปแบบน่าใจหาย    น่าสยองขวัญไม่น้อย คือลดลงไปเหลืออยู่แค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือลดลงไปถึงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่ว่านี้น่าตกใจแค่ไหนและกำลังบ่งบอกถึงอะไรต่อไป เป็นเรื่องที่น่าคิด


 


ประเทศแห่งตัณหา  พ่อค้า  และอำนาจ


 


ถ้าถามว่าอะไรคือตัวการสำคัญที่ทำให้บรรดาความรู้สึกข่มใจ ความอดทนอดกลั้น การรู้จักควบคุมตัวเองที่เคยมีอยู่ในวัฒนธรรมการออมนั้นหายไป หายไปจากโลกทั้งโลก หรือหายไปจากสังคมไทยยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าจะตอบกันแบบสรุปๆ ก็อาจจะต้องตอบว่าน่าจะเป็นเพราะสังคมต่างๆ รวมทั้งสังคมไทยของเราด้วย มักจะถูกทำให้หันไปหาวัฒนธรรมอีกชนิดหนึ่ง หรือหันไปเปิดรับวัฒนธรรมอีกชนิดหนึ่งเข้ามาแทนที่กันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคือ "วัฒนธรรมทุนนิยม" หรือ "วัฒนธรรมบริโภคนิยม" นั่นเอง ซึ่งอาจจะเข้าสู่สังคมต่างๆ โดยการบังคับ หรือโดยการยอมรับอย่างเต็มอกเต็มใจก็แล้วแต่ แต่มันสามารถเข้ามาได้หลายๆทาง ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาทางระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ หรือเข้ามาในลักษณะของค่านิยมต่างๆ   ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งเปิดรับ เปิดกว้าง เปิดทางสะดวกมากเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะทะลุทะลวง แทรกซึม แล้วทำลายความรู้สึก ค่านิยมในการประหยัด อดออม รู้จักควบคุมตัวเองก็จะเกิดได้รวดเร็ว รุนแรงยิ่งขึ้นเท่านั้น


 


วัฒนธรรมทุนนิยมที่ว่านี้ ถ้าหากไปอ่านหนังสือชื่อ เมื่อบรรษัทครองโลก หรือ When the Corporation Rule the World  ของ "เดวิด ซี. คอร์เตน" ที่ทำการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ไว้แบบละเอียด ย้อนยุคกลับไปถึงอดีตเป็นร้อยๆ ปี ของสังคมอเมริกัน อันเป็นศูนย์กลางของทุนนิยมหรือวัฒนธรรมทุนนิยม ซึ่งเขาฟันธงไว้อย่างชัดเจนว่า วัฒนธรรมทุนนิยม-บริโภคนิยมที่ว่านี้   ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ   หรือเกิดขึ้นมาจากพื้นฐาน วัฒนธรรมเดิมๆ ของแต่ละสังคม เขามองว่าผู้คนในยุคอดีตไม่ว่าในสังคมไหนก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะวัฒนธรรมพื้นฐาน หรือวัฒนธรรมเดิมๆ คล้ายกัน คือมักให้ความสำคัญทางด้านจิตใจหรือ "จิตวิญญาณ"  มักจะเน้นหนักในการหล่อหลอมผู้คนให้ยึดมั่นกับการรู้จักควบคุมตนเอง การประหยัด การอดออม ด้วยกันทั้งนั้น อย่างเช่นในสังคมอเมริกันยุคแรกๆ ก็เป็นสังคมของผู้ที่ค่อนข้างยึดมั่นในศาสนาที่อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกาเป็นรุ่นๆ  ที่เรียกกันว่าพวก "พิวริแตนท์" บ้าง พวก "เควกเกอร์" บ้าง เป็นต้น


 


คอร์เตนบอกว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมอเมริกันที่ว่านี้เพิ่งจะมาถูกทำลายด้วยวัฒนธรรมทุนนิยมและบริโภคนิยม เมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 1800 หรือเมื่อประมาณ เกือบ 200 ปี ที่ผ่านมานี้เอง   คือหลังจากที่บรรดาบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ ของอเมริกาได้พัฒนาตัวเองให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นกลายเป็นบรรษัทขนาดยักษ์ เกิดมีฤทธิ์มีเดชในการควบคุมระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ  คือในยุคที่อเมริกากำลังอยู่ในช่วงบอบช้ำจาก "สงครามกลางเมือง" นั่นแหละ ที่ทำให้อำนาจต่างๆ ในสังคมตกไปอยู่ในกำมือบรรดานักธุรกิจใหญ่ๆ แทบทั้งหมด และหลังจากนั้น คนเหล่านี้ก็ได้สร้างวัฒนธรรมทุนนิยม-บริโภคนิยมมาแทนที่วัฒนธรรมเดิมๆ


 


ในข้อเขียนตอนนี้ คอร์เตนได้อธิบายว่า "อันที่จริงแล้ว วัฒนธรรมของผู้บริโภคในลัทธิทุนนิยมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยที่สาธารณชน อาจจะไม่เคยมีความเห็นด้วยมาก่อนเลย  แต่เกิดจากความพยายามในทุกๆ  ด้านของบริษัทยักษ์ใหญ่ขายปลีกของอเมริกันในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20  เพื่อสร้างความต้องการบริโภคสินค้า    เพื่อให้การจำหน่ายสินค้าขยายตัวไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นักประวัติศาสตร์อเมริกันรายหนึ่งชื่อว่า "วิลเลียม ลีช" จึงได้บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง ประเทศแห่งตัณหา-พ่อค้า-อำนาจและการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมอเมริกันใหม่  ด้วยการอธิบายว่า เหตุใดบรรดาบรรษัทเหล่านี้จึงประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เน้นจิตวิญญาณและค่านิยมการอดออม ให้เปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมที่เน้นวัตถุเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งลีชพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันให้วัฒนธรรมชนิดนี้แผ่ขยายได้อย่างรวดเร็วไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การอาศัยทักษะและความสามารถของบรรดาพวกที่ดำรงชีพอยู่ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อโน้มน้าวผู้บริโภคให้ต้องหาซื้อในสิ่งที่บรรษัทต้องการจะขาย หรือสิ่งที่เรียกว่า การตลาดนั่นเอง…"


 


คนป่าหาซื้อเครื่องสำอาง เมื่อการตลาดครองโลก


 


สิ่งนี้จะผิดหรือถูกคงต้องเก็บไปคิดกัน แต่สิ่งที่คอร์เตนหยิบมาเป็นตัวอย่างหรือเป็นเหตุผลสนับสนุนในเรื่องนี้ ต้องเรียกว่ามีน้ำหนักไม่น้อย ไม่ว่าการแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าการตลาดหรือการโฆษณากันอย่างเป็นระบบในสังคมอเมริกันในระยะต่อมา จนกลายเป็นศาสตร์หรือกลายเป็นวิชาที่มีการเปิดการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย พัฒนาจนกลายเป็นกระบวนการความรู้ เป็นกลยุทธ์ต่างๆ อย่างสลับซับซ้อน ต่อเนื่องยาวนาน มีการทุ่มทุนในการใช้ระบบสื่อสารต่างๆ เพื่อเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ หรือเพื่อการโฆษณาเป็นเงินปีละร้อยๆ พันๆ ล้านเหรียญสหรัฐฯ มานับหลายๆ สิบปี ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ เคยเล่าสู่ท่านผู้ฟังกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทเอวอน ที่สามารถทำให้คนพื้นเมืองจนๆ ในบราซิลที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวแค่วันละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ   เคยอดทนอดกลั้น ตากแดดตากฝน ทำนาทำไร่กันมาแต่ดั้งเดิม เมื่อเจอกลยุทธ์ทางการตลาดของเอวอนได้สักพักก็เกิดอาการโหยหา เกิดการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ความรู้สึก หันไปซื้อเครื่องสำอางเอวอน คือ ครีมถนอมผิวชื่อว่า "ครีมรีนิว" ทั้งๆ ที่ราคาถึงกระปุกละ 40 ดอลลาร์  มาใช้กันอุตลุด   หรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่ถูกใช้ ถูกสอดแทรกในรายการประเภทมิวสิควิดิโอ หรือใน "เอ็มทีวี" ที่สามารถทำให้ "ศิลปะดนตรี" กับ "การขายสินค้า" กลายเป็นเรื่องเดียวกันไปจนได้ หรือบริษัทมันฝรั่งทอด บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลมไปจนถึงบริษัทน้ำมันระดับยักษ์ ที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแทรกซึมลึกลงไปสู่เด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับโรงเรียนประถม  มัธยม วิทยาลัย มหาวิทยาลัย แทรกเข้าไปในเรื่องการใช้ชีวิต การกิน การอยู่ ไปจนถึงระดับหลักสูตรการศึกษาไปเลยก็มี


 


ตรงนี้นี่แหละ ที่ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์อเมริกันอย่าง วิลเลียม ลีช และอาจจะรวมถึงคอร์เตนด้วยเห็นว่าเป็นตัวการสำคัญอย่างมาก คือนอกจากจะอาศัยอิทธิพลในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจโดยตรงแล้ว ยังอาศัยการตลาดควบคู่ไปด้วย จนสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของผู้คน หรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมๆ ของแต่ละสังคมให้กลายเป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยม หรือศิโรราบต่อทุนนิยมได้ทั้งหมดทั้งปวง


 


"พออยู่พอกิน" พระราชดำรัสเมื่อ 31 ปีที่แล้ว


 


เมื่อกลับมามองสังคมไทย การเปิดรับทุนนิยมทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ค่อยๆ เป็นค่อยๆไป ทีละนิดละหน่อย หนักบ้าง เบาบ้างไปตามยุคสมัย แต่ต่อเนื่องมาโดยตลอด  และมักเป็นไปในลักษณะไม่ค่อยรู้ตัวว่าเป็นสิ่งอันตราย เป็นสิ่งที่อาจทำลายสังคมในระดับที่ลึกลงไปถึงจิตใจ ถึงวัฒนธรรมได้อย่างหนักหนาสากรรจ์ แต่หากย้อนกลับไปมองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ถึงกับหนักมาก หรือไม่หนักเท่ากับปัจจุบันนี้ หรือยังพอมีความหวังว่าอาจจะพอรักษาค่านิยม ความรู้สึกในแบบอดออม ประหยัด การรู้จักควบคุมตนเองไว้ได้บ้าง ในช่วงนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่น่าสนใจ น่าจะย้อนรำลึกกันอีกสักครั้ง นั่นก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา จะทรงมองเห็นสิ่งเหล่านี้ล่วงหน้า อย่างไร ขนาดไหน ก็ไม่ทราบได้ พระองค์ท่านจึงทรงมีพระราชดำรัสต่อพสกนิกรในช่วงนั้นถึงเรื่องราวทำนองนี้   อาทิ พระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานต่อคณะผู้แทนสมาคม องค์กรเกี่ยวกับศาสนา ครู นักเรียนโรงเรียนต่างๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2517 หรือเมื่อ31ปีที่แล้ว ที่มีความตอนหนึ่งว่า


 


"คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย   ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่ทันสมัย แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงาน ตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้  เราก็จะยอดยิ่งยวดได้  ประเทศต่างๆในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่  กำลังยุ่งเพราะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในทางอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้น ถ้าหากทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดี พอสมควร ขอย้ำ…พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล…"   


 


เรียกว่าฟังแล้วขนลุกพอสมควร คือถ้าหากไม่ไปอ่านทวนพระราชดำรัสเก่าๆ ดู อาจจะนึกไม่ถึงว่าในหลวงท่านจะมีพระราชดำรัสในเรื่องเหล่านี้ไว้ตั้งแต่ 30 กว่าปีมาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้แค่ช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 4-5 ปีก่อนอย่างที่เคยคิดกัน


 


แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ ส่วนใหญ่แล้วเราอาจจะฟังพระราชดำรัสไม่ค่อยชัดเท่าไหร่  หรือ "ฟังแต่ไม่ค่อยได้ยิน" กันเป็นหลัก อะไรต่อมิอะไรมันถึงได้เตลิดเปิดเปิงกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งครั้งหนึ่ง พระอย่างท่านพุทธทาสเคยถึงกับตกใจ ตกตะลึง ซึ่งท่านได้เคยนำมาเล่าไว้ในการเทศนาครั้งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า ป้าแก่ๆ คนหนึ่งที่อยู่ข้างวัดท่าน ที่ไม่ใช่แค่ประหยัด แต่ถึงขั้นขี้เหนียวก็ว่าได้   ไม่ทราบว่าไปเจอกับอิทธิพลของทุนนิยมที่ผ่านมาทางการเมือง เศรษฐกิจ กลยุทธ์ทางการตลาดเข้าอย่างไร อาจเป็นการโฆษณากรอกหูซ้ำแล้วซ้ำเล่าของบริษัทขายตู้เย็น หรือบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่โดยวิถีชีวิตแล้วเคยอยู่เคยกินแบบชาวบ้านธรรมดา ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องใช้ประเภทที่ต้องมีเทคโนโลยีทันสมัยใดๆ มาก่อนเลย แต่มาวันหนึ่งก็ตัดสินใจซื้อตู้เย็นมาตั้งทิ้งไว้ในบ้าน เอาไว้แช่ขวดน้ำให้เย็น และมีส้มเกลี้ยงกลิ้งไปกลิ้งมาไม่กี่ลูกเท่านั้น  จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมทุนนิยมหรือวัฒนธรรมบริโภคนิยมนี้มันร้ายกาจเอามากๆ สามารถทำลายกำแพงวัฒนธรรมเดิมๆ โจมตีอารมณ์ความรู้สึกเดิมๆของผู้คนจนพังเป็นแถบๆ กระทั่งป้าแก่ๆ สุดแสนจะขี้เหนียว อยู่ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญแท้ๆ…ยังเสร็จมัน


 


ชอนไชทำลายรากหญ้า


 


ในขณะที่เราไม่มีการป้องกัน ไม่มีการทำนุบำรุงรักษาวัฒนธรรมเดิมๆ ที่เป็นตัวช่วยประคับประคองรักษาความรู้สึกอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมตนเอง มีความพออยู่พอกินแบบจริงๆ จังๆ มิหนำซ้ำยังกลับเปิดกว้างให้วัฒนธรรมทุนนิยม-บริโภคนิยมมันเจาะช่อง ซอกซอนเข้ามาในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ค่านิยมทางสังคม มิหนำซ้ำยังส่งเสริมอะไรต่อมิอะไรที่จะทำให้เราดูทันสมัย ดูรุ่งเรืองก้าวหน้าในทางวัตถุ ทางอุตสาหกรรม ทางเศรษฐกิจกันหนักขึ้นเรื่อยๆ  ยิ่งในช่วงหลังๆ มีการให้ความสำคัญกันถึงขั้นต้องหาทางอัดฉีด หาทางกระตุ้นกันให้มากๆ ในระดับที่ลึกลงไปถึงรากหญ้า ลงไปถึงชนบท ลงไปถึงตาสีตาสา  ไปถึงกะเหรี่ยงในหมู่บ้านชายแดนกันเลยก็มี เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เพราะเหตุใดวัฒนธรรมต่างๆ ที่เป็นตัวช่วยประคับประคองอารมณ์ความรู้สึกที่จะทำให้ผู้คนเกิดความอดกลั้น อดทน รู้จักข่มใจ สามารถควบคุมจิตใจตนเองได้เหมือนในอดีต จึงค่อยๆ แตกสลาย หดหายไปหมดเกลี้ยง วัฒนธรรมการออมที่แสดงผลด้วยตัวเลขระดับสูงถึง 14.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มันจึงหดลงเหลือแค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสองปีที่ผ่านมา


 


เมื่อวัฒนธรรมการออมลดลง วัฒนธรรม "การเป็นหนี้" ก็พุ่งพรวดพราด   ยิ่งอัดฉีดเงินเข้าไปก็ยิ่งส่งเสริมวัฒนธรรมการเป็นหนี้มากขึ้น  ตัวเลข "หนี้เพื่อการบริโภค" ไม่ใช่ "หนี้ที่เกิดจากการลงทุน" สูงขึ้นพรวดๆ พราดๆ  เห็นได้จากตัวเลขจากการแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ว่าแต่เฉพาะสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเท่านั้น ยังไม่รวมพวกนอน-แบงก์ พวกอีซี่ บายทั้งหลาย ตัวเลขสินเชื่อเพื่อการบริโภคแค่ไตรมาศเดียวคือ ไตรมาศที่ 3 ของปีนี้มันพุ่งขึ้นไปถึง 955,070 ล้านบาท        หรือเกือบ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มกว่าไตรมาศที่แล้วถึง 11.91 เปอร์เซ็นต์ แยกเป็นหนี้สินเพื่อการซื้อที่ดิน 41,386 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 3.04 เปอร์เซ็นต์  เป็นหนี้สินเพื่อซื้อบ้านซื้อที่อยู่อาศัย 564,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.26 เปอร์เซ็นต์  ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่น 3,329 ล้านบาท หรือเพิ่ม 20.61 เปอร์เซ็นต์ และที่หนักเอามากๆ ก็คือ หนี้เพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นเป็น 64,327 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 444.31 เปอร์เซ็นต์  บริโภคกันระเบิดเถิดเทิงไปเลย


 


วัฒนธรรมล่มสลาย -ล้มละลายทางจิตใจ


 


ยังไม่รวมถึงสินค้ายอดฮิตอย่างโทรศัพท์มือถือ ที่ต้องเรียกว่าหนัก…หนักมากๆ  ในการสำรวจของบริษัทวิจัยแทบทุกสำนักนั้น ถ้าเอ่ยถึงการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสินค้ามือถือ จะออกมาตรงกันหมด เรียกว่าซื้อกันแหลก เปลี่ยนเครื่องเป็นว่าเล่น วิ่งหาบัตรเติมเงินกันอุตลุด  ดังรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ชี้ให้เห็นว่ามันลุกลามลงไปถึงระดับรากหญ้าอย่างสาหัสสากรรจ์ เช่นในหมู่บ้านเล็กๆ อย่างหมู่บ้านแม่พุงหลวง ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่  ประธานกองทุนหมู่บ้านที่ชื่อ "นายเกียรติ  คำน้อย" ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "เดิมทีการใช้โทรศัพท์มือถือของชาวบ้านนั้นอาจจะมีอยู่บ้างในลักษณะที่มีไว้ให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นโทรมาหา แต่ในปัจจุบันกระทั่งชาวบ้านที่มีอาชีพเข้าป่าล่าสัตว์ หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "ไล่เหล่า" หมายถึงวิธีการล่าที่ใช้คนหลายคนต้อนสัตว์ให้จนมุม กลับต้องหาซื้อโทรศัพท์มือถือมาโทรฯ ประสานงานกันระหว่างการไล่เหล่าแทนการใช้เสียงอย่างแต่ก่อน บางช่วงจะเห็นชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่าและเห็ดถอบ  นำมือถือติดเอวเข้าป่าไปด้วย โดยบอกว่าเพื่อไม่ให้หลงทาง  ถือได้ว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ต้องมีอีกแล้ว เปลี่ยนไปใช้มือถือแทน"


 


ยิ่งนำเงินไปอัดฉีดชาวบ้านกันเยอะๆ ให้ลึกไปถึงรากหญ้า บรรดาบริษัทการตลาด บริษัทขายสินค้าก็ต้องหาทางวิ่งไล่ล่าชาวบ้าน หาทางยัดเยียดวัฒนธรรมทุนนิยม-บริโภคนิยมให้ซึมลึกหนักขึ้น มากขึ้น อย่างที่ ผู้จัดการ ได้รายงานถึงบรรยากาศการประชุมองค์กรที่เรียกว่า "เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน" ( กทบ.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ว่า นอกจากผู้เข้าประชุมแต่ละรายจะได้รับเอกสารการประชุมว่าด้วยเนื้อหาและกำหนดวาระการประชุมต่างๆแล้ว  ฝ่ายการตลาดของบริษัทต่างๆ ยังแถมโบรชัวร์ เอกสารโปรโมชั่นสินค้าต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย  ไม่ว่าโบรชัวร์โฆษณารถยนต์  แพ็คเกจประกันชีวิต โฆษณาบริษัทไฟแนนซ์ บริษัทเงินด่วน  ฯลฯ เรียกว่าตามประกบชนิดหายใจรดต้นคอกันเลย การทำการตลาดในระดับลึกไปถึงรากหญ้าโดยตรง ไม่ว่าสินค้ามอเตอร์ไซค์ ที่ลดวงเงินลง แค่วางเงินดาวน์ 5,999 บาท ก็ถอยรถออกมาขับได้แล้ว บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนวิธีการขายเป็นวิธีการเช่าชื้อ ผ่อนระยะยาว ไม่ว่าโทรทัศน์ ตู้เย็น วีซีดี ดีวีดี ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า ฯลฯ เรียกว่าตะลุยรากหญ้าในแบบเดียวกับที่บริษัทเอวอนตะลุยป่าอะเมซอนขายครีมถนอมผิวให้คนป่าในบราซิลเลยทีเดียว     เพราะฉะนั้น อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ    ไม่ว่าจะเป็นความอดทน


อดกลั้น ความพอใจกับวิถีชีวิตแบบพออยู่พอกิน ความสงบในวิถีชีวิตเดิมๆ จึงหายเกลี้ยง พังทลายกันไปทั้งวัฒนธรรมการออมหรือวัฒนธรรมต่างๆ ในขณะที่วัฒนธรรมการเป็นหนี้ ฟูเฟื่องยิ่งขึ้นๆ ก็เลยส่งผลให้เกิดการหากินทางการปล่อยกู้เงินด่วน ที่โขกดอกเบี้ยกันแบบเหี้ยมอำมหิต แพร่กระจายจนกลายเป็นโฆษณากันทางทีวีกันครึกโครมอยู่ในขณะนี้  ซึ่งสภาพแบบนี้ ต้องเรียกว่ามันกลายเป็นภาพสะท้อนของการ "ล่มสลาย" ทางวัฒนธรรมเดิมๆ ของสังคมกันอย่างเห็นได้ชัด   เป็นการล้มละลายที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือเรื่องของหนี้สินเท่านั้น แต่มันเป็นความล้มละลายในระดับที่ลึกลงไปถึงจิตใจ ลึกลงไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเลยทีเดียว


 


รวย…แต่ไร้สุข


 


แต่ก็มีบางคนที่พยายามมองในแง่ดีว่าการเป็นหนี้ อาจเป็น "แรงกระตุ้น" ในอีกแบบหนึ่งที่ทำให้คนที่ถูกหนี้จี้ติดหลังกลายเป็นคนที่เกิดความขวนขวาย อาจต้องพยายามวิ่งหาเงินเพื่อมาใช้หนี้หรือใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือนำมาทำการ "ผลิต"ให้มากขึ้น มันก็อาจจะทำให้สภาพเศรษฐกิจดี หรือทำให้คนเกิดความมุมานะที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ก็อาจจะจริงอยู่เหมือนกัน แต่อันที่จริงแล้ว การที่คนอาจมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากความรู้สึกของความหิวกระหาย ความต้องการ ความอยากได้ ความไม่รู้จักพอที่มันแพร่เข้ามากับวัฒนธรรมทุนนิยม-บริโภคนิยมที่ว่า และยังเป็นค่านิยมเป็นวัฒนธรรมหลักของสังคมต่อไป โอกาสที่ผู้คนในสังคมจะเกิดความสุข ความสงบ ความมั่นคงในชีวิต ในสังคม ก็คงยากที่จะเป็นไปได้


 


ยกตัวอย่างผู้คนในภาคใต้ ที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องวิ่งเต้นขวนขวายอะไรให้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะราคาผลผลิตหลักๆ อย่างยางพาราที่ในระยะหลังๆ นี้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศ  ซึ่งสิ่งนี้น่าจะทำให้คนภาคใต้ร่ำรวย น่าจะมีความมั่นคง น่าจะมีความสุข แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น คือส่วนใหญ่กลายเป็นคนที่  "รวยหนี้"  ด้วยกันแทบทั้งหมด คือเมื่อความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ความพออยู่ พอกิน วัฒนธรรมการออม ถูกทำลายไปหมดพร้อมๆ กับการกระตุ้นในแต่ละระดับ ไม่ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ มันก็ไม่พอด้วยกันทั้งนั้น  เพราะมันถูกเอาไปใช้ในการบริโภค ซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เกลื่อนกันไปทุกบ้าน เกิดสภาพอารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกับผู้คนในสังคมอเมริกัน คือเกิดการวัดสถานะทางสังคมกันด้วยวัตถุแพร่สะพัดในระดับลึกลงไปทุกๆ หมู่บ้าน บ้านไหนถอยรถยนต์มา อีกไม่กี่วัน แทบทุกบ้านต้องวิ่งหารถยนต์มาให้ได้เหมือนๆ กัน บ้านไหนมีอะไรเพิ่มขึ้นมาใหม่ แทบทุกบ้านต้องวิ่งไล่ตามกันให้ทัน สุดท้ายมันก็กลายเป็นหนี้สิน มิหนำซ้ำพอหมุนเงินไม่ทัน บางรายถึงกับโค่นสวนยางพาราเอาไปขายเป็นไม่ทำเฟอร์นิเจอร์ เพื่อเอาเงินมาหมุน อาการพอๆ กับขายเลือดขายไตกันเลยก็ว่าได้


 


ยิ่งบางกลุ่มบางรายที่อาจหารายได้เพิ่มไม่ได้ หรือรายได้อาจลดลงไป เช่น ผู้คนในภาคเหนือบางส่วนที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือเพิ่งยกตัวอย่างมาสรุปให้เห็นกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือบรรดาเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ปลูกหอมแดง ที่ไปเจอกับพิษการทำเอฟทีเอกับจีน ทำให้รายได้จากผลผลิตลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง 70เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมี จากตัวเลขที่มูลนิธิฯไปสำรวจพบว่าเกษตรกรแต่ละรายมีหนี้สินเกินกว่า 200,000 บาท ด้วยกันทั้งสิ้น คือมีหนี้เกินกว่าที่จะเข้าข่ายที่จะสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่รัฐบาลท่านกำลังคิดจะทำ อย่างนี้ก็ยิ่งตายเข้าไปใหญ่ เหลือวิธีดิ้นรนหารายได้เพิ่มทางเดียวเท่านั้นคือ เลิกอาชีพเกษตรกร เข้ามาหางานในเมืองใหญ่   เป็นลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรมบ้าง   รับจ้างในตลาดบ้าง กลายเป็นปัญหาของเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกไม่ว่าในเรื่องความแออัดที่มากขึ้น การว่างงานสูงขึ้น ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ และมีสภาพเช่นนี้ในทั่วประเทศ


 


และแน่นอนว่าในประเทศอื่นๆ ก็เผชิญสภาพปัญหาคล้ายๆ กัน ไม่ว่าอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ ที่วัฒนธรรมดั้งเดิมถูกทำลาย หรือพ่ายแพ้ต่อวัฒนธรรมทุนนิยม-บริโภคนิยมราบคาบไปแล้ว ต่างก็กำลังวุ่นวาย ปวดหัวกับสภาพปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ทั้งสิ้น  และการแก้ปัญหาก็ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ  อย่างในอเมริกา ถึงจะมีกฎหมายล้มละลาย ที่ว่ากันว่าเคยช่วยบรรเทาเบาบางชะตากรรมของลูกหนี้ได้ไม่น้อย แบบเดียวกันกับที่รัฐบาลไทยกำลังคิดจะนำมาปรับใช้กันในช่วงเวลานี้ แต่ไปๆ มาๆ แล้ว ก็แก้ปัญหาไม่ได้ กลับทำให้สถิติการยื่นของล้มละลายของผู้คนเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ในช่วงเวลา 30 ปี   ขณะที่การสร้างหนี้ของบุคคลในแต่ละครัวเรือนก็ยิ่งพุ่งสูงไม่หยุดมากกว่ายุคเดิมๆ ถึง 3 เท่า เป็นหนี้โดยเฉลี่ยถึง 10,000 ดอลลาร์ หรือ 4 ล้านบาท ต่อครัวเรือน  ที่อังกฤษก็ไม่ต่างกัน ว่ากันว่าวัฒนธรรมการก่อหนี้ได้ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ประเภทค้างค่าผ่อนบ้าน ค่าสินค้าเครื่องใช้ต่างๆ มีปริมาณหนี้มากกว่า 1 ล้านล้านปอนด์  หรือประมาณ 50-60 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่เป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของค่านิยม ความรู้สึก หรือเป็นการล้มละลายทางวัฒนธรรมก็ว่าได้ และสังคมใดที่วัฒนธรรมดั้งเดิมพังพินาศไปแล้ว โอกาสที่จะเกิดความสงบสุข ความมั่นคงภายในสังคมนั้นๆ มันคงแทบเป็นไปไม่ได้


 


 คำตอบของอนาคต…อยู่ที่อดีต


 


ซึ่งการที่สภาพสังคมเป็นไปในลักษณะนี้ คงต้องยอมรับว่า น่าอันตราย น่าห่วงใยไม่น้อย ดังที่เมื่อเร็วๆ นี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งออกมาตั้งข้อสังเกตและแสดงอาการตกใจอยู่เหมือนกัน หนังสือพิมพ์ มติชน  นำไปพาดหัวเป็นข่าวลีดส์หน้าหนึ่ง ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้เอง เนื้อหาหลักๆ บอกไว้ว่า "นายอำพล  กิตติอำพน เลขาธิการ สศช.  เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนการประเมินความพร้อมและศักยภาพของชาวบ้านและชุมชนกว่า 2,000 ราย ใน108 หมู่บ้านทั่วประเทศ  พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกๆ เรื่อง เพราะแม้นว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้นมาก แต่ความสุขในชีวิตของผู้คนเหล่านั้นกลับลดลง จากปัญหาการทำมาหากิน ปัญหาหนี้สิน รวมทั้งความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและในครอบครัว ก็ลดลงไปด้วย นอกจากนั้น ค่านิยมในการทำนุบำรุงศาสนาและการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมประเพณีก็ไม่เคร่งครัดเหมือนในอดีต ขณะที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ทางการแพทย์แผนไทย หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมของสังคมมีแนวโน้มที่จะสูญหายไป ในขณะที่ชาวบ้านไม่มีความรู้อื่นๆในเรื่องเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ประชาชนในทุกชุมชนกลับมีการใช้โทรศัพท์มือถือกันเป็นจำนวนมาก…" เรียกว่าบริโภคล้วนๆ เรื่องอื่นไม่สนใจเลย


 


ดร.อำพนยังกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภค หันมาเป็นการซื้อทุกอย่าง มีการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยมากขึ้น เกิดเป็นค่านิยมและพฤติกรรมการเลียนแบบการบริโภคที่ปรากฏในสังคมเมือง ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ สศช. เห็นว่าต้องเร่งทำก็คือ จะต้องปรับแนวคิดและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหาทางทำให้ชาวบ้านหันกลับมายึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การใช้เศรษฐกิจพอเพียง และคำสอนในศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตให้มากขึ้น…"


 


สรุปง่ายๆ ว่า ภาพที่ สศช. ได้สะท้อนให้เห็นจากการสำรวจที่ว่านี้ ว่าไปแล้วมันคงไม่ใช่การสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจ เรื่องของเงินๆ ทองๆ เท่านั้น แต่เรียกว่ามันเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของอาการในแบบที่กำลังเกิดความล้มละลายทางสังคมกันแล้วนั่นแหละ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าความพยายามที่จะหาทางปรับแนวคิด หรือหาทางรื้อฟื้นวัฒนธรรมเดิมๆ รื้อฟื้นจิตใจให้เกิดความพอเพียง ให้เกิดยึดหลักธรรมะในศาสนา มันจะทันการณ์หรือเปล่า เพราะขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงให้สติ เคยพยายามชี้แนวทางเอาไว้ตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่มันยังไม่หนักถึงขั้นนี้ ก็ดูๆ จะไม่ค่อยมีใครได้ยินกันสักเท่าไหร่


 


แต่ก็เอาเถอะ ถึงแม้นว่ามันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็เอาเป็นว่าคงต้องมีความหวังกันเอาไว้ดีกว่าที่จะไม่มีอะไรหวัง แต่เมื่อหวังกันแล้ว จะทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงได้อย่างไร จะปรับแนวคิดของผู้คนกันด้วยวิธีไหน จะสามารถนำเอาค่านิยม ความรู้สึกเดิมๆ กลับคืนมาได้อย่างไร จะต้องขจัดอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้กันบ้าง ก็คงต้องฝากให้ท่านช่วยกันคิดก็แล้วกัน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net