Skip to main content
sharethis


สัญญาณตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมของมาเลเซีย ต่อนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ของไทยในช่วง 2-3 วัน หลังการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาแห่งรัฐกลันตัน มีส่วนสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากการเมืองระดับรัฐของมาเลเซีย โดยเฉพาะเมื่อเป็นโอกาสทองของ "อัมโน" ที่จะเดินเกมล้มรัฐบาลท้องถิ่น "ปาส"

 


เนื้อเรื่อง


วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2005 20:29น. 


สมเกียรติ จันทรสีมา : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


สัญญาณตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมของมาเลเซีย ต่อนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในช่วง 2-3 วัน หลังการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาแห่งรัฐกลันตัน มีส่วนสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากการเมืองระดับรัฐของมาเลเซีย


 


โดยเฉพาะเมื่อเป็นโอกาสทองของ "อัมโน" พรรครัฐบาลกลางที่จะเดินเกมล้มรัฐบาลท้องถิ่นกลันตันของ "ปาส" แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนแทน


 


2 -3 วันหลังเลือกตั้งซ่อมในปาเซมัส รัฐบาลมาเลเซียได้ส่งกลับผู้ต้องหาในคดีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีค่าหัวตั้งแต่ 500,000 - 1,000,000 บาท ถึง 2 คน โดยคนหนึ่งเป็นผู้อพยพลี้ภัยใน 131 คนไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548   ส่วนอีกคนทางการไทยอ้างว่า ถูกจับหลังจากข้ามแดนจากฝั่งมาเลเซียมายังฝั่งไทย ด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา 


 


สื่อมวลชนมาเลเซียคาดการณ์มาก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลของ นายอับดุลเลาะห์ อาหมึด บาดาวี แห่งพรรคอัมโน จะจัดการกับปัญหาดังกล่าว อาทิ กรณี 131 คนไทย หลังการเลือกตั้งซ่อมในรัฐกลันตัน


 


ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคปาสคู่แข่งขัน นำประเด็นดังกล่าวไปใช้หาเสียงโจมตีอัมโน  เนื่องจากคนกลันตันส่วนใหญ่เป็นคนมลายู และมีสายสัมพันธ์ฉันท์ญาติกับคนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ประเด็นที่น่าสนใจคือ สัญญาณที่รัฐบาลของอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ส่งออกมานั้น จะถือเป็นความร่วมมือที่ยั่งยืนแค่ไหน โดยเฉพาะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองภายในรัฐกลันตัน ซึ่งเดิมเป็นที่มั่นของพรรคฝ่ายค้านสำคัญอย่าง "ปาส"


 


"ปาส" ก้างที่ยากกลืน


 


ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลกลางของมาเลเซียจะยืนยันว่า  รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์เท่านั้นที่มีสิทธิกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายด้านความมั่นคงไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ


 


แต่รัฐบาลนายบาดาวี ก็ไม่สามารถห้ามรัฐบาลของรัฐกลันตันให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยได้ จนบานปลายกลายเป็นกรณีพิพาทผ่านสื่อมวลชนระหว่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง


 


สื่อมวลชนไทยเคยเผยแพร่บทวิเคราะห์ของ "อิริก เตียว ฉู่ ชิว" เลขาธิการสถาบันศึกษากิจการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (SIIA) เรื่อง "ปัญหาภาคใต้ไม่ได้กระทบแค่ไทย" ซึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตโดยสรุปว่า


 


"ปัญหาที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทยเป็นปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งมีรัฐกลันตันที่ยังอยู่ในการควบคุมของพรรคปาส เพราะชาวมุสลิมในไทยได้อพยพจากพื้นที่ภาคใต้เข้าสู่มาเลเซีย"


 


สิ่งที่ "ชิว" ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ต้นปี 2548 ใกล้เคียงความจริง เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้ง ถูกขยายให้กลายเป็น "วิวาทะระหว่างไทย-มาเลเซีย" แม้ว่าบางครั้งจะเป็นภาวะ "ยากที่จะกลืน" ของรัฐบาลพรรคอัมโนก็ตาม


 


"ดาโต๊ะเอชเจ.นิค อับดุล อาซิซ บินนิค มัด" มุขมนตรีแห่งรัฐกลันตัน และผู้นำทางจิตวิญญาณของปาส เคยออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองตำหนินโยบายของรัฐบาลไทยว่า ทำให้คนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะกรณีการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ 131 คนไทยต้องอพยพหลบภัยไปยังรัฐกลันตัน


 


"เหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่คุ้มครองผู้นำทางศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุใดต้องจับกุม และทำไมต้องฆ่าพวกเขา ผู้นำศาสนาเป็นที่เคารพของมุสลิมทุกคน" มุขมนตรีแห่งพรรคปาสระบุ


 


รัฐบาลไทยตอบโต้โดยให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชน  อ้างว่า รัฐกลันตันเป็นพื้นที่ซ่องสุมและฝึกอาวุธของผู้ก่อการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสองสัญชาติที่ข้ามไปมาระหว่างไทยกับมาเลเซีย


 


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงสถานที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นที่ซ่อนตัวและฝึกอาวุธของกลุ่มหัวรุนแรงที่ก่อความไม่สงบในประเทศไทย ว่าอยู่ในป่ากลันตัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า "รัฐบาลมาเลเซียไม่มีส่วนรู้เห็นพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้"


 


ขณะที่อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งของรัฐบาลไทยรักไทย นำรูปซึ่งอ้างว่าเป็นรูป "ผู้ก่อการ" ฝึกอาวุธอยู่ในรัฐกลันตัน เพื่อวัตถุประสงค์ร้ายมาเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน


 


กระทรวงการต่างประเทศของไทย เคยออกมาตอบโต้คำวิจารณ์ของผู้นำปาสว่า  นอกจากจะส่งผลกระทบกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียที่ดำเนินการมาอย่างใกล้ชิด ในการเสริมสร้างความมั่นคงบริเวณแนวชายแดนระหว่างกัน และการร่วมกันพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนแล้ว  ยังจะบั่นทอนต่อความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาในภาคใต้บนพื้นฐานแนวทางสมานฉันท์อีกด้วย


 


แต่ชัยชนะของ "อัมโน" เหนือ "ปาส" ในการเลือกตั้งซ่อมที่ปาเซมัส อาจส่งผลต่อสถานะความมั่นคงของรัฐบาลพรรคปาส ถึงขั้นล้มรัฐบาลเดิม และสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่คิดสอดคล้องกับรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ได้


 


จับตา "อัมโน" ล้ม "ปาส"


การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนรัฐกลันตันในปาเซมัส เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้สมัครจาก "บาริซัน เนชั่นแนล" สามารถเฉือนเอาชนะตัวแทนจาก "พรรคปาส" ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมไปได้อย่างเฉียดฉิว ทำให้ฝ่ายค้านรัฐบาลของรัฐกลันตันห่างจาก "ปาส" เพียงเสียงเดียว 


 


สถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลพรรคปาสถึงขั้นเปลี่ยนขั้วอำนาจได้เลยทีเดียว!


 


 


ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งซ่อม ทำให้ "บาริซัน เนชั่นแนล" ตัวแทนของพรรคอัมโน มีเสียงในสภาแห่งรัฐตามหลังพรรคปาสเพียงเสียงเดียวคือ 22 ต่อ 23 เสียง


 


"แม้การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ไม่ใช่ข้อสรุปเพื่อชี้ขาดว่า อัมโนจะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป แต่ก็อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วในรัฐบาลกลันตันได้" ดร.อิสมาแอล อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีตั้งข้อสังเกต


 


ดร.อิสมาแอล อธิบายว่า หากอัมโนเดินเกมโน้มน้าวให้สมาชิกสภาแห่งรัฐของปาสเพียง 1 คน แปรพักตร์มาสนับสนุนฝ่ายค้าน จะทำให้เสียงของฝ่ายค้านพลิกมาเหนือรัฐบาล สามารถเปลี่ยนขั้ว ตั้งมุขมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลแทนชุดเดิมได้ทันที


 


ถือเป็นโอกาสทองที่ไม่น่าพลาดของ พรรคอัมโนที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในรัฐกลันตัน ขณะที่พรรคปาสซึ่งถือเป็นพรรคฝ่ายค้านอันทรงพลัง ต้องเสียพื้นที่ซึ่งเคยตั้งใจแต่เดิมที่จะทำให้เป็น "รัฐอิสลาม" (Islamic City) ตามเจตนารมณ์ของพรรค


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net