Skip to main content
sharethis


โดย..จักรชัย โฉมทองดี


โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)


 


การจะเห็นภาพรวมของการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลกในขณะนี้ให้ชัดเจนได้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจ "กรอบความตกลงเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗" (July Framework agreement) เสียก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สิ่งที่อ้างกันว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา คือมีการตกลงกันว่าจะขจัดการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วให้เหลือ 0% แต่ขณะเดียวกันข้อน่าเป็นห่วงคือ มีการระบุไปอย่างชัดเจนว่าการเปิดตลาดในรอบหน้าจะต้องไม่น้อยไปกว่ารอบที่แล้ว รวมทั้งแม้ว่าจะมีการลดการอุดหนุนการส่งออกจะต้องหมดไป แต่ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลา ที่สำคัญการอุดหนุนสินค้าเกษตรไม่ใช่มีแต่เรื่องการอุดหนุนการส่งออก การอุดหนุนภายในยังมีผลในการทุ่มตลาดประเทศอื่นด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการลดการอุดหนุนภายในที่เชื่อว่าจะเกิดผลจริง นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกรอบเรื่องของนามา (NAMA- Non agricultural market access) หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสินค้าอุตสาหกรรม แต่จริงๆแล้วรวมถึงภาคเศรษฐกิจที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นประมง ป่าไม้ หรือเรื่องของเหมืองแร่ กรอบที่ว่านี้มีการกำหนดว่าจะต้องลดภาษีสินค้าในกลุ่มนามาอย่างค่อนข้างรุนแรง ส่วนในเรื่องของแกตส์ (GATS- ข้อตกลงทั้วไปว่าด้วยการค้าบริการ) ได้กำหนดให้มีการเร่งยื่นข้อเสนอในการเปิดตลาดให้รวดเร็วยิ่งขึ้น


 


ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเกิดอะไรบ้างที่เจนีวา เห็นชัดว่าแรงโน้มถ่วงมันดึงไปสู่ความพยายามในการจบรอบ ประเทศใหญ่ๆ ไม่ว่าพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาพยายามทำให้จบรอบ เพราะเงื่อนไขปัจจุบันเห็นชัดว่าถ้ารอบนี้ไม่ทะเยอทะยานสูงจนเกินไป ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป บราซิล และ อินเดีย จะได้ประโยชน์ไปคนละอย่างสองอย่าง สหรัฐฯก็จะได้เรื่องการเข้าถึงตลาดทั้งในสินค้าอุตสาหกรรม บริการ และเกษตร ยุโรปเองไม่มีประโยชน์ในการเปิดเสรีเกษตรเท่าไหร่ แต่ถ้าจะให้จบรอบต้องยอมนิดหน่อย แต่จะได้ประโยชน์เรื่องสินค้าอุตสาหกรรมและบริการ บราซิลเอง ด้านเกษตรจะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาด นามาไม่ชัดเจน แต่อาจจะได้รับผลกระทบเพราะมีอุตสาหกรรมภายในที่ต้องปกป้องด้วย ส่วนอินเดียนั้นด้านเกษตรเป็นการตั้งรับ แต่มีผลประโยชน์ในเรื่องบริการโดยเฉพาะใน Mode 4 (หมวด 4 การเคลื่อนย้ายบุคคล) ในการส่งคนไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้ว กลุ่มประเทศทั้งสี่นี้กลายเป็นแกนกลางในการเจรจาหรือที่เรียกว่ากลุ่ม New Quad ซึ่งประชุมกันบ่อยทั้งในและนอกเจนีวา


 


อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศใหญ่ๆต้องการให้จบรอบ แต่ก็ยังมีปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ตั้งแต่แคนคูน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝ้าย สินค้าเกษตร ซึ่งทำให้เป็นประเด็นค้างคา การเจรจานับแต่กลางปีที่แล้วดำเนินไปได้ช้าๆ ซึ่งอาจจะเป็นเทคนิคของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมักแตะถ่วงการเจรจาจนถึงก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีเพียงไม่กี่เดือนจึงวางข้อเสนอบนโต๊ะและเร่งเต็มฝีจักร แล้วใช้แรงกดดันทางการเมือง เมื่อครั้งการประชุมที่โดฮาก็เช่นกัน ก่อนหน้านั้นที่เจนีวา มี text (ร่างข้อตกลง) ที่มีวงเล็บและ options (ทางเลือกของข้อเสนอ) เต็มไปหมด หมายความว่ายังตกลงกันไม่ได้ และที่ประชุมเจนีวาไม่เห็นด้วยว่าควรจะมี text ไปที่โดฮา แต่มีการเอาไปในลักษณะที่ว่า under the chairman"s responsibility คือ ประธานเอาร่างไปภายใต้ความรับผิดชอบของตนเอง จริงๆการเจรจาที่โดฮาเกือบล้ม ร่างความตกลงไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม มีการต่อเวลาการประชุมไปอีกหลายชั่วโมง รัฐมนตรีบางคนเดินทางกลับประเทศไปแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นครั้งนี้ก็เหมือนกัน มันนิ่งมาตลอด เมื่อเดือนกรกฎาคม มีการพยายามผลักดันให้คืบหน้าจากเลขาธิการคนที่แล้วแต่ก็ไม่เป็นผล


 


การที่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาไม่มีอะไรขยับ เนื่องจากสหรัฐฯและยุโรปไม่ยอมวางข้อเสนอของตน ประเทศเล็กวางไปก็ไม่มีใครสนใจ กลุ่มจี 20 เป็นกลุ่มแรกที่วางก่อนด้วยซ้ำ แล้วก็เป็นไปตามคาด ประมาณ วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์บอกว่าตัวเองมีข้อเสนออะไร และหลังจากนั้นประเทศอื่นก็วางข้อเสนอตามมาจำนวนมาก ดับบลิวทีโอเป็น rule-based organization (องค์กรที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกติกา) แต่การเจรจาจริงกลับไม่มีกฎอะไรเลย


 


ในข้อเสนอเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม สหรัฐฯบอกว่าจะตัดการอุดหนุนกล่องอำพันลง 60% ตอนนั้นพอคนเห็นข้อเสนอ ก็บอกกันว่าเป็นความก้าวหน้าของดับบลิวทีโอ หลังจากนั้นยุโรปก็เกทับทันที โดยบอกว่าจะลดส่วนของกล่องอำพัน 70%


 


พอออกมาในวันนั้นหนังสือพิมพ์ก็ขานรับ จำได้ว่าตอนไปคุยที่สำนักเลขาธิการดับบลิวทีโอ เขาดีใจกันมาก การเจรจาดำเนินไปเร็วมากจนประเทศเล็กๆตามไม่ทัน ไม่สามารถแยกร่างไปประชุมได้ ที่น่าสนใจคือ ท่าทีของสำนักงานเลขาธิการ คือ เขาบอกว่าเราไม่อยากให้อะไรมาทำให้เสียจังหวะของการเจรจาแม้แต่เรื่องของความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ไม่คุ้มกันที่จะคุยเรื่องความโปร่งใสขณะนี้ เพราะนี่เป็นจุดเป็นจุดตายของดับบลิวทีโอ เขาบอกว่าเราต้องปรบมือให้สหรัฐอเมริกาที่นำความห้าวหาญมาสู่ดับบลิวทีโอ


 


ผมขออธิบายนิดนึงว่า สิ่งที่เรียกว่ากล่องอำพัน (Amber Box) คือการอุดหนุนการเกษตรภายในประเทศที่เชื่อว่าบิดเบือนตลาดมากที่สุด ต่อไปกล่องสีฟ้า คือการบิดเบือนตลาดแต่อ้างว่ายังไม่บิดเบือนมากเท่าไร เพราะไม่ส่งผลต่อการผลิตในปัจจุบัน เนื่องจากจะไม่ทำให้การผลิตมากขึ้น กล่องสุดท้ายคือกล่องสีเขียว คือการอุดหนุนที่อ้างว่าไม่บิดเบือนตลาด เช่น การวิจัย การศึกษา ตรงนี้ไม่มีข้อจำกัด ดังนั้นยกไว้ คือไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน


 


สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็เหมือนกับภาพเดิม คือประเทศร่ำรวยทำตัวเป็นนักมายากล สิ่งที่ทำเป็นเพียงย้ายการอุดหนุนจากกล่องหนึ่งไปกล่องหนึ่งซึ่งทำให้มูลค่ารวมไม่ได้ลดลง แต่กลับสามารถทำให้การอุดหนุนขยายตัวขึ้นด้วยซ้ำ


 


นอกจากนี้ ยุโรปที่อ้างว่าจะลด 70% คือลดจากยอดที่ผูกพันไว้ คือจาก 67 พันล้าน แต่จริงๆเขาใช้ไม่ถึงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ตัดเข้าเนื้อตัวเอง รัฐมนตรีการค้าอินเดียประชดว่า you cut the spending that you never spent นั่นคือ คุณตัดค่าใช้จ่ายที่คุณไม่เคยใช้ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการเจรจารอบที่แล้วตัวเลขเงินอุดหนุนมันเฟ้อมาก ดังนั้นการลดการอุดหนุนจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่กลับอาจเพิ่มขึ้นได้


 


กล่องที่เป็นมหาสมบัติคือกล่องสีเขียว กล่องนี้คนที่เคยติดตามดับบลิวทีโอคิดว่ากล่องนี้เล็กที่สุด แต่ลองดูตัวเลข ที่จริงแล้วกล่องเขียวมียอดถึงประมาณ 70% ของการอุดหนุนทั้งหมดในประเทศมหาอำนาจ ตรงนี้คือเคล็ดลับของเขา ซึ่งในความเป็นจริงกล่องนี้ก็มีส่วนบิดเบือนตลาดอย่างมากด้วย และผลของการบิดเบือนถูกตัดสินโดย panel ของ ดับบลิวทีโอแล้ว ในเรื่องฝ้าย ที่สหรัฐฯใช้การอุดหนุนในกล่องเขียว ที่สำคัญ ข้อเสนอกลุ่ม จี 20 (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 20 ประเทศนำโดยบราซิลและอินเดีย) เสนอให้มีการคุยเรื่องกล่องเขียว แต่ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปไม่ต้องการคุย สหรัฐอเมริกาในการผ่าน Farm Bill ทำให้เกิดการย้ายกล่องได้ ยุโรปก็พยายามทำตามใน CAP reform (นโยบายการเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป)


 


การเจรจาดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนกระทั้งสหภาพยุโรปมีปัญหา แม้ว่าการอุดหนุนจะไม่ได้ลดลงมาก แต่การเกษตรมีเรื่องการเปิดตลาด (market access)โดยที่ยุโรปเองอยู่ในฝ่ายตั้งรับในประเด็นนี้


 


ทำไมยุโรปถึงชะงัก ประเทศที่มีบทบาทสูงคือ ฝรั่งเศส เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีการลงประชามติที่สำคัญ คือการลงประชามติในการรับรองรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาชัดเจน คือ การกลัวว่าจะมีการจารึกลงในรัฐธรรมนูญว่าจะระบบเศรษฐกิจจะเป็นไปตามแนวทางเสรีนิยมอย่างเต็มตัว และตีกรอบว่ายุโรปต่อไปนี้จะใช้โมเดลแบบสหรัฐฯหรืออังกฤษ ผลการลงประชามติออกมาไม่เอาด้วยอย่างถล่มทลาย บทสรุปคือว่าประชาชนเขาต้องการยุโรปที่แข็งแรงแต่ไม่ใช่ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ดังนั้นฝรั่งเศสจึงมีบทบาทสำคัญในการเจรจาถึงขนาด ฌากค์ ชีรัก ประกาศว่าหากจะให้เปิดเสรีมากกว่านี้ ฝรั่งเศสพร้อมที่ล้มการประชุมที่ฮ่องกง


 


ณ ขณะนี้ การเจรจาตกอยู่ในเงื่อนไขที่ยังแก้ไม่ตกของพลังอำนาจที่สำคัญในองค์การการค้าโลก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่ม จี 20 และกลุ่มจี 90 ซึ่งตอนนี้มีบทบาทเพิ่มขึ้น ระหว่างอียูและสหรัฐฯ นั้นเขาการใช้เวทีนี้ในการงัดข้อกันเรื่องสินค้าเกษตร โดยสหรัฐอเมริกาต้องการเจาะตลาดยุโรป ยุโรปเองก็รุกกลับในการเรียกร้องให้สหรัฐฯลดการอุดหนุนของตนลงลง กลุ่มจี 20 ก็รุกยุโรปเช่นกันโดยร่วมกับสหรัฐฯในการเรียกร้องให้ยุโรปเปิดตลาดเกษตร ตอนนี้สหภาพยุโรปตีกลับอีก โดยบอกว่าเรื่องเกษตรไม่ใช่เรื่องเดียวในดับบลิวทีโอ จึงรุกกลับจี 20 ให้เปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้น


 


ทีนี้ ความสัมพันธ์กับจี 90 เป็นอย่างไร ยุโรปพยายามใช้จี 90 ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง Round for Free (ได้รอบนี้ไปฟรีๆ) หรือ Everything but Arms (เปิดตลาดให้กับทุกอย่างยกเว้นอาวุธ) และรวมถึง Aid for Trade (เงินช่วยเหลือเพื่อการค้า) กลุ่มจี 90 ก็พึ่งพิงยุโรปอยู่ เพราะอย่างเช่นกลุ่ม ACP ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ จี 90ได้รับ preferential treatment (สิทธิพิเศษการเข้าถึงตลาดในยุโดป) อยู่


 


ขณะนี้กลุ่มจี 20 ยังไม่พอใจในข้อเสนอการเปิดตลาดของสหภาพยุโรป ส่วนในเรื่องการอุดหนุนเสียงอ่อนลงค่อนข้างมาก ผมเกรงว่าจะไม่มีการลดการอุดหนุนมากไปกว่านี้เพราะทางบราซิลและอินเดียต่างมีท่าทีที่ยอมมากขึ้น ขณะนี้รอเพียงการเข้าถึงตลาดที่อาจจะได้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มจี 90 โดนสามเด้ง คือนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดของยุโรปแล้วยังต้องถูกแย่งตลาดส่วนนี้ไปอีก รวมทั้งยังต้องรับผลกระทบจากการทุ่มตลาดอันเป็นผลจาการอุดหนุนในประเทศร่ำรวยต่อไป


 


ผมให้ความสำคัญกับเกษตรมากหน่อยเพราะเป็นประเด็นชี้นำที่เจนีวาและฮ่องกง แต่ไม่ใช่ประเด็นเดียว


 


เรื่องการเจรจาด้านบริการ มีบางประเทศเสนอรูปแบบใหม่ในการเจรจา คือ complementary approach คือ มีระดับความผูกพันขั้นต่ำ มีทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ เช่น ประเทศกำลังพัฒนาต้องผูกมัดในการเปิดเสรีไม่น้อยไปกว่า 93 สาขาย่อยจากทั้งหมด 139 และต้องเปิดในเชิงคุณภาพ เช่น ต้องให้ต่างชาติถือหุ้นขั้นต่ำได้ 51% และกฎหมายในประเทศเปิดเท่าไรต้องผูกพันอย่างน้อยเท่านั้น อันนี้คือสิ่งที่ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ฯลฯ เสนอมา ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็นประเทศที่ตั้งรับมากในเชิงเกษตร


 


เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่แหลมคมไม่น้อยไปกว่าเกษตร และหากอียูยังดื้อที่จะเรียกเอา benchmarking และก็ไม่ยอมเรื่องเกษตร ฮ่องกงก็มีสิทธิล้ม แต่ตอนนี้สิ่งที่ยุโรปและบางประเทศเสนอมาคือการเจรจาแบบ plurilateral (การเจรจาแบบหลายฝ่าย) เช่น หากยุโรปต้องการให้ไทยเปิดเสรีการค้าด้านสาธารณสุขแทนที่เจรจากันสองต่อสองกับไทยแบบที่เป็นอยู่ กลับจะให้เป็นเป็นกลุ่มประเทศร่วมกันยื่นข้อเสนอ เช่นนี้แล้วยิ่งจะทำให้ประเทสกำลังพัฒนาสูญเสียอำนาจต่อรองไปอีก


 


ส่วนนามา ประเด็นเรื่อง Swiss Formula คือสูตรการลดภาษีที่ เมื่อยิ่งมีภาษีสูงก็ยิ่งต้องลดมาก ซึ่งประเทสกำลังพัมนาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากต่างมีระดับภาษีสินค้าอุตสหกรรมที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่นหากใช้ค่าสัมประสิทธิ์ของสูตรนี้เท่ากับ 10 ประเทศที่มีระดับภาษีอยู่ที่ 90% ต้องลดลงจนเหลือ 9% ส่วนประเทศที่มีระดับภาษีอยู่ที่ 10% จะลดเหลือ 5% เป็นต้น


 


สามประเด็นนี้จึงสำคัญที่จะชี้ชะตาว่าฮ่องกงจะเดินทางไปทิศทางไหน กระบวนการคือประธานคณะเจรจาต่างๆ จะร่างรายงานความคืบหน้าให้เลขาธิการฯ คือ นายปาสคาล ลามี่ เพื่อในไปร่างคำประกาศฮ่องกง ซึ่งน่าจะออกมาสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน


 


เป้าหมายฮ่องกง คือ การได้กรอบการเจรจามาสักครึ่งหนึ่ง ปีหน้ายังมีความสำคัญมากเนื่องจากหลายฝ่ายตั้งเป้าให้จบรอบได้ภายในสิ้นปี แม้ว่าฮ่องกงจะไม่สามารถจบรอบได้ แต่จะเป็นจุดชี้ความเป็นไป


 


------------------------


ถาม อียูกับ G90 พึ่งพากันอยู่ ไม่เข้าใจว่า อียูพึ่ง G 90 อย่างไร


ตอบ เพราะต้องการเสียงของ G90 ในดับบลิวทีโอ เป็นการพึ่งพาในเชิงอำนาจการต่อรอง


กลุ่ม ACP ได้รับ preferential treatment จากอียู ทำให้พึ่งพาตลาดยุโรปสูง ส่วนนี้เป็นสิ่งที่จี 90 กลัวที่สุด เพราะหากเปิด MFN อียูต้องลดภาษีให้ทุกประเทศเหมือนกัน อย่างน้ำตาลเนี่ยชัดเจน ไทยและบราซิลฟ้องอียู เรื่องน้ำตาล สงครามที่อียูพยายามผลักคือ ไทยและบราซิลต้องสู้กับกลุ่ม ACP


 


ถาม ช่วงโดฮา ภาคประชาชนมีบทบาทในการผลักดันปฏิญญาสาธารณสุข ที่ฮ่องกงบทบาทจะเป็นอย่างไร เพราะลักษณะของการบอกมาคือการค้านไม่เอาทุกเรื่อง แทนที่จะมีบางเรื่องที่เอา


ตอบ จริงๆทุกเรื่องเราเอา แต่เอาคนละแบบ ประเด็นคือสิ่งที่อยู่บนโต๊ะมันรับไม่ได้จริงๆ เรื่องทริปส์ (TRIPs- ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา) มันมีทางออกมาได้ก่อนแคนคูน มีเรื่องการนำเข้าซ้อน มีเงื่อนไขบรรจุภัณฑ์ตรงนั้น แต่ตอนนี้มีความพยายามผลักดันให้มี permanent solution ให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้ได้เต็มที่ มีความพยายามรื้อทริปส์ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้เรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายของการเจรจา


ประเด็นสำคัญที่เราควรพิจารณาคือสิ่งที่อยู่บนโต๊ะเจรจามีอะไรบ้าง และน่าจะนำพามาซึ่งผลดีหรือเปล่า ถ้าดีก็น่าจะสนับสนุน ถ้าไม่นำพาซึ่งผลดีจะให้ยอมรับได้อย่างไร จริงๆภาคประชาชนพูดกันเยอะว่า No deal is better than a bad deal (ไม่ได้ข้อตกลง ยังดีกว่าได้ข้อตกลงเลวๆ) ยุโรป ก็ออกมาในลักษณะเดียวกัน แต่ผมมองว่า bad deal ของเขาคงไม่ bad จริง แต่ของเรามันแย่จริงๆ ต้องบอกว่าองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ได้เห็นเหมือนกันทั้งหมด บางองค์กรเห็นว่าควรจะให้จบรอบ เพราะเห็นดับบลิวทีโอเป็นที่เดียวที่จะลดการอุดหนุนได้ แต่สิ่งที่ผมอยากให้พิจารณาคือ 10 ปีผ่านมาแล้วกับองค์กรนี้ การอุดหนุนไม่ลด แต่กลับเพิ่มขึ้น และถ้ารอบนี้ตกลงกันอย่างที่เสนอมา มันจะสร้างความชอบธรรมในการใช้การอุดหนุนทันที ทีนี้จริงๆ แล้วเวทีทางเลือกมี แต่เราไม่ได้รับรู้ อย่างในการประชุมผู้นำของทวีปอเมริกาที่อาร์เจนติน่า มีเรืองน่าสนใจทีเดียว ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวช ของเวเนซูเอลา ขณะที่ปฎิเสธแนวทางของสหรัฐฯ เขาเสนอทำ Economic Partnership Agreement ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันโดยไม่ใช้วิถีทางการค้าเสรี ทางเลือกมีอยู่ ควรจะศึกษากันต่อไป


 


ถาม เรื่องเกษตรถ้ามองอย่างเป็นธรรมจากแกตส์ 1947 มันมีความก้าวหน้านะ เกษตรเดิมไม่อยู่บนโต๊ะเจรจาเลย แน่นอนว่าประเทศกำลังพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเยอะ คำถามคือว่าถ้าไม่เอาดับบลิวทีโอ มันไม่มีอะไรเหลือแล้ว เท่ากับเตะหมูเข้าปากหมา ถ้าไม่มีดับบลิวทีโอแล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าประเทศยากจนจะยิ่งเสียประโยชน์


ตอบ ในการสังเกตการณ์ของผม เราไม่อาจสรุปได้ว่าการล่าช้าของดับบลิวทีโอจะทำให้เอฟทีเอเพิ่มขึ้น มันเป็นยุทธวิธีการเจรจาสองระดับของประเทศพัฒนาแล้วและเขาก็มีศักยภาพที่จะทำได้ คณะของสหรัฐฯที่จะไปฮ่องกงมีมากกว่า 300 คน


อันที่สอง ไม่ใช่ว่าเอฟทีเอดีกว่า แต่ถ้าไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่ง อีกประเทศก็เจรจาไม่ได้ แต่ที่เจนีวา บางครั้งประเทศไทยไม่ได้เจรจา เราต้องรับวาระเขาแล้วเราตามไม่ทัน บอกให้เขาช้าๆก็ไม่ได้ บางทีเราได้ข้อเสนอมาตอนเช้า แล้วตอนเย็นต้องไปเจรจากับเขา เรื่องบริการ ที่ไทยชูมาตลอด คือมาตรการป้องกันฉุกเฉิน ตอนนี้ก็ตกกระป๋องไป ความจริงคือไทยไม่ได้เข้าร่วมเจรจาในหลายเรื่องในดับบลิวทีโอ เราก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่าเรามีอำนาจต่อรองในระดับพหุภาคีจริงหรือ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วถ้าเราเป็นฝ่ายสมยอมเขาเองไม่ว่าเวทีใดๆ เราก็ว่าใครไม่ได้


            เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ฑูตเวเนซูเอลาบอกว่าเขายอมดับบลิวทีโอไม่ได้เพราะมันไปกีดขวางการสร้างทางเลือกในการพัฒนาในระดับภูมิภาค เขาเชื่อมั่นในรัฐบาลเขาว่าน่าจะสร้างทางเลือกได้ แต่ถ้ามาตกลงอะไรไม่เข้าเรื่องที่ดับบลิวทีโอ มันเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดในการเจรจาระดับภูมิภาค มันไปสร้างบรรทัดฐานในภูมิภาคด้วย


 


ถาม อยากทราบความเห็นว่าการประชุมที่ฮ่องกงตั้งเป้าที่ 50% จะสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่จะเป็นอย่างไรต่อไป


ตอบ ผมเชื่อว่าสหภาพยุโรปยังมีอะไรอยู่ในกระเป๋า แต่การจะเอาออกมาหรือเปล่าขึ้นอยู่กับว่าคุ้มหรือไม่ ถ้าออกมาอย่างน้อยน่าจะได้มากกว่า 50% รวมถึงเรื่อง Swiss Formula ในนามาและสูตรที่ชัดเจนในเกษตร ผมเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วยุโรปมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้


            ขอเสริมสุดท้าย ผมไม่อยากให้เราสรุปว่าท่าทีของบราซิลหรืออินเดียทั้งหมดเป็นท่าทีของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ผมอยากให้ทุกท่านหันมามองประเทศเราเองแล้วตั้งคำถามว่าท่าทีของประเทศไทยมาจากไหน ใครกำหนดท่าที ใครได้ประโยชน์ ตรงนี้ไม่ค่อยตั้งคำถามเท่าไร นักเจรจาเองก็ไม่ค่อยตั้งคำถาม หลายครั้ง เรามองกันแต่ในระดับระหว่างประเทศ ไม่มีการคุยกันในประเทศอย่างจริงจังและรอบด้าน ผมหวังว่าจะมีการหารือกันมากกว่านี้


 


...........................................


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ ถอดคำบรรยายจากงานสัมมนา ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net