ปัญหาประมงสารพัดร้อง กมธ.สภาผู้แทนฯช่วย

 

                   

                                 เรวัต สิรินุกูล                                     โสภณ ชุมยวง  

 

ประชาไท - ชาวประมงขนาดเล็กสงขลาร้องกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถูกประมงใหญ่ดึงแรงงานไปใช้ เผยต้นสูงจอดแล้ว 300 ลำ ด้านประมงใหญ่ขอให้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่ม จำกัดเขตไม่จับแรงงานต่างด้าว เหตุคนไทยไม่อยากทำ


 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ธันวาคม 2548 ที่สมาคมประมงจังหวัดสงขลา นายเรวัต สิรินุกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเกษตร ในกรรมาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะเดินทางมารับฟังปัญหาจากชาวประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา โดยมีนายจิต ผสมพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและนายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลาในการต้อนรับ โดยมีกรรมการสมาคมประมงจังหวัดสงขลา สมาคมประมงจังหวัดสตูล และผู้ประกอบการเรือประมงขนาดใหญ่และขนาดเล็กเข้าร่วม 40 คน

 

นายโสภณ ชุมยวง ประธานกลุ่มชายฝั่งขนาดเล็กจังหวัดสงขลา ได้ร้องเรียนว่า ต้องการให้แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง เนื่องจากนโยบายการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ส่งผลกระทบมาถึงเรือประมงชายฝั่งด้วย เนื่องจากเรือประมงขนาดใหญ่มาดึงแรงงานประมงชายฝั่งที่เป็นคนไทยไปทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าว จึงขอให้จัดทำบัตรเฉพาะแรงงานประมงเพื่อให้แรงงานที่มีบัตรสามารถลงเรือลำไหนก็ได้ เพราะจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

 

นายโสภณ  ได้เสนออีกว่า ขอให้กำหนดพื้นที่ทำประมงให้ชัดเจนจะได้ไม่เกิดการแย่งชิงทรัพยากร และขอให้แก้ปัญหาต้นทุนด้านการประมงด้วยเพราะนับวันจะยิ่งสูงขึ้น จนขณะนี้ได้ทำให้เรือประมงชายฝั่งกว่า 300 ลำเลิกกิจการแล้วเนื่องจากประสบภาวะขาดทุน และขอให้เร่งรัดโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนด้วยเพราะชาวบ้านไม่สามารถไปกู้ยืมเงินได้จากที่อื่นแล้ว เพราะไม่มีสถานบันการเงินใดจะปล่อยเงินกู้ให้

 

ได้มีชาวประมงตัวแทนกลุ่มฟื้นฟูทะเลไทย กองทุนอวนลากแหลมทรายได้ยื่นหนังสื่อ เรื่องวิธีและแนวทางการแก้ปัญหาของชาวประมงขนาดกลาง-เล็ก ลงนามโดยนายสมหมาย เลี่ยงโชค ประธานกลุ่มฯ ต่อนายเรวัต โดยมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า จังหวัดสงขลามีกลุ่มฟื้นฟูทะเลไทย(ประเภทเรือขนาดกลาง - เล็ก) อยู่ 3 กลุ่มและกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านอีก 1 กลุ่ม ขณะนี้เหลือเพียงกลุ่มฟื้นฟูทะเลไทย กองทุนอวนลากแหลมทรายเท่านั้น เพราะกลุ่มอื่นได้ล้มเลิกไปแล้วเนื่องจากสมาชิกสู้สภาวะขาดทุนไม่ไหว ทั้งราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ราคาสัตว์น้ำตกต่ำและปัญหาแรงงานที่ไม่เป็นระบบ

 

หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า ชาวประมงขนาดกลาง -  เล็กของให้รัฐบาลช่วยเหลือดังนี้ 1.ขยายเวลาขายน้ำมันม่วงสำหรับเรือประมงออกไปอีก จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 7 มกราคม 2548 2.ประกันราคาสัตว์น้ำแบบเร่งด่วน 3.เรื่องนิรโทษกรรมใบอาชญาบัตรที่ผิดประเภททุกชนิดให้ต่อใหม่ได้ถูกต้อง 4.วางปะการังเทียมในทะเลให้มากเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและอายุควรรับซื้อเรือประมงที่เจ้าของไม่มีเงินทุนที่จะประกอบการได้อีกต่อไปแล้ว

 

5.แต่งตั้งสมาคมประมงสงขลาเป็นผู้ประสานงานกับกรมแรงงาน ขจัดนายหน้าที่ลอกลวงคนมาทำงานโดยไม่เต็มใจและได้รับค่าตอบแทนไม่เต็มจำนวน เพราะยังมีคนที่ต้องการมาทำงานเป็นแรงงานประมงแต่ยังไม่กล้า หากมีหน่วยงานกลางดูแลและให้ความช่วยเหลือได้ก็จะมีแรงงานคนไทยเข้ามาทำงานมากเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ และ 6. ขอให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องแปลงสินทรัพย์เป็นทุนให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะชาวประมงไม่สามารถไปกู้เงินใครได้อีกแล้ว

 

ด้านนายประพร กล่าวว่า เนื่องมาจากเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2548 เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับจังหวัดสงขลาเข้าทำการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะองค์การที่สะพานปลาสงขลา ได้จับกุมแรงงานต่างด้าวที่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือนร้อน จนทำให้ปลาที่อยู่ในเรือเน่าเสีย เพราะไม่มีสามารถหาแรงงานอื่นนำปลาขึ้นมาจากเรือได้ เพราะต้องเป็นแรงงานที่มีความชำนาญเฉพาะเท่านั้น แต่เป็นงานที่คนไทยไม่อยากทำ จึงได้มีการร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขออนุโลมการจับกุมแรงงานต่างด้าวออกไปก่อน โดยเฉพาะในเขตรั้วขององค์การสะพานปลา

 

ด้านนายเรวัต กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดตนจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกในเรืองนี้และนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป นอกจากนี้จะขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้อะลุมอะล่วยในการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวด้วย

 

จากนั้นนายเรวัต ได้ยื่นหนังสื่อขอความอนุเคราะห์จำกัดขอบเขตที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าว ต่อนายจิต เพื่อส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาต่อไปและนำเรียนต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการะประชุมร่วมกันของคณะอนุกรรมาธิการฯ และสมาคมประมงจังหวัดสงขลา และสมาคมประมงจังหวัดสตูล ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเปิดโอกาสให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งผู้ประกอบการประมงและธุรกิจต่อเนื่องดำเนินการโดยพร้อมเพรียงกัน แต่ขณะเดียวกันยังมีปัญหาติดตามมา คือ แรงงานที่จดทะเบียน ทำงานไม่ครบกำหนด อยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไปหรือหนีไป ซึ่งกระทรวงแรงงานฯ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์รองรับปัญหา ภาระจึงตกอยู่ที่ผู้ประกอบการ

 

หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า ทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจับกุมแรงงานต่างด้าว ทำให้ผู้ประกอบการเสียหายและเดือดร้อนในด้านแรงงาน และเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นผู้ประกอบการฯจึงประสงค์ให้กระทรวงแรงงานเปิดโอกาสจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวขึ้นใหม่ อย่างต่อเนื่อง และในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควรให้ทุกจังหวัดที่มีการประกอบการประมงจำกัดขอบเขตที่อยู่ของแรงงานต่างด้าว ได้แก่ บริเวณองค์การสะพานปลาในแนวรั้ว บริเวณแพปลา บริเวณเรือจอดตลอดแนวฝั่งคลองและแนวเรือวิ่งเข้า-ออก ระยะห่างจากแนวจอดเรือ 30 เมตร ทั้งนี้ผู้ประกอบการจักต้องดูแลควบคุมลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในความสงบ

กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท