รายงานสัมมนา : การเมืองไทย ในรัฐธรรมนูญปีที่ 8

 

ในเวทีประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่ รร.โลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7-8 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนทางวิชาการกันในหัวข้อเรื่อง "โลก รัฐ ท้องถิ่นในศตวรรษที่ 21 : การปะทะทางอารยธรรม ธรรมาภิบาล และท้องถิ่นนิยม"

 

โดยในวงประชุมย่อยเรื่อง "รัฐธรรมนูญ 2540 กับผลกระทบต่อการเมืองไทย ภายหลังการเลือกตั้ง 6 ก.พ.2548" นายเอกกมล สายจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐสภาในขณะนี้แทบจะไม่มีความหมาย กลายเป็นที่รองรับความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และวุฒิสภาก็กลายเป็นเพียงเครื่องประดับ เพราะถูกพรรคการเมืองไปวางตัว ส.ว.เอาไว้หมดแล้ว เวลานี้กระแสของประชาธิปไตยอาจดูเหมือนมาแรง โดยรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อหาจริงๆ ไม่ใช่

 

"ฉะนั้น ถ้าจะทำการปฏิรูปการเมือง จะต้องมีการแก้ระบบการเลือกตั้งกันใหม่ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้มีพรรคการเมืองพรรคเดียว ยิ่งทำให้นึกถึงเยอรมันในยุคที่ผู้นำนาซีสร้างอำนาจนิยมไปควบคุมกลไกของรัฐทั้งหมด เห็นได้ชัดที่ จ.เชียงใหม่ จะเห็นว่าจะมีแต่การติดป้ายกิจกรรมโครงการต่างๆ และลงท้ายว่าโดยการบัญชาการของ ฯพณฯ ไปทั่วจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างอำนาจนิยม" นายเอกกมล กล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 6 ก.พ.2548 ที่พรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะอย่างถล่มทลาย มีสิ่งที่น่าสนใจก็คือเพียงช่วงระยะเวลาไม่ถึงปี มันสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก

 

"เราต้องคิดตรงนี้ให้ชัด มิเช่นนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ร่างโดยผู้รู้ แม้จะหวังดีอย่างไร ท้ายสุดก็เหลวเหมือนเดิม ซึ่งจะขอแบ่งระดับความรุนแรงเป็น 2-3 ระดับคือ ระดับแรก มีความตึงเครียดระหว่างรัฐกับสังคม เช่น กรณีของสนธิกับทักษิณ เราอย่าไปมองเพียงแค่สนธิกับทักษิณ สิ่งที่เราต้องมองให้ลึกลงไปว่า ในท่ามกลางเปลวธาตุของอำนาจในสังคมไทย ในแง่ทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ความขัดแย้งหรือความตึงเครียดที่เกิดในดุลยอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ถูกชักนำหรือถูกดึงมาให้สัมพันธ์กับดุลยอำนาจทางวัฒนธรรม"

 

รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวของสนธิ เชื่อว่า คนในสังคมไทยไม่ได้สนใจในตัวของสนธิหรอก เพียงแต่ว่าได้อาศัยทางเดินของอำนาจทางวัฒนธรรมไปเพื่อวิพากษ์วิจารณ์หรือคอมเม้นท์ หรือเป็นป้ายแปะหน้าอีกฝั่งหนึ่งว่า ไอ้คนนี้ชั่ว ซึ่งคิดว่าในเวลานี้ คนไทยได้เลือกเดินผ่านวัฒนธรรมไปกระแทกกับอำนาจทางการเมือง อำนาจเศรษฐกิจ ดังนั้น เราต้องคิดถึงการสร้างมาตรการหรือบทบัญญัติทางอำนาจ ที่จะทำให้การเมืองและเศรษฐกิจมีความสมดุลกัน ต้องมีความโปร่งใสมากกว่านี้

 

"นอกจากนั้น เราจะเห็นว่ามีความตึงเครียด ความขัดแย้งระหว่างผู้ที่รักษาหรือผู้ที่จะคิดรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน กับทุนในระบบเสรีนิยมใหม่ ตัวอย่างที่เห็นก็คือ กรณีบ้านสีดำของคุณรัตนา รวมไปถึงเรื่องกรณีการคัดค้านการขาย กฟผ. อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งสามารถเคลื่อนไหวในนามของพลเมือง เพื่อที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งคิดว่า รัฐธรรมนูญควรจะคิดถึงเรื่องนี้ให้มาก"

 

รศ.ดร.อรรถจักร์ ยังกล่าวอีกว่า ความตึงเครียดต่อไป เป็นความตึงเครียดระหว่างชาวบ้านกับนโยบายของรัฐ ยกตัวอย่าง กรณีเรื่องป่าชุมชน หรือกรณีที่มีการตั้งกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ ที่ออกมาคัดค้านนโยบายของรัฐ เช่น มีโครงการตัดถนนจากห้วยตึงเฒ่า เพื่อทะลุไปยังอำเภอแม่ริม ซึ่งจะไปทะลุโผล่บรรจบกับที่ดินที่มีโฉนด 16 โฉนดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเหตุบังเอิญที่ถนนมันเลี้ยวไปเองหรือไม่ ตนไม่รู้ ซึ่งจะเห็นว่า ชุมชนนิยมที่พยายามจะเน้นพลังของชุมชนเข้าไปบัญญัติอำนาจในรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกเบียดขับออกไป ปัญหาความขัดแย้งอย่างนี้ อาจโผล่ออกมาให้สังคมไทยได้เห็น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การต่อรองกับรัฐได้อย่างเสมอภาค

 

และภายใต้สปีดหรือความเร็วของกลุ่มทุน ที่เชื่อมตัวเองเข้ากับระบบทุนนิยมโลก ระบบเสรีนิยมใหม่ จนสามารถที่จะเข้าแทรกตัวในการแย่งชิงทรัพยากรได้มากขึ้นๆ เห็นได้ชัด กรณีเอฟทีเอที่หลายประเทศเข้ามาบังคับให้ทำ เราจะพบว่า ความเร็วของทุนนิยมเสรีที่เข้ามาแทรกแซงรัฐ ผ่านรัฐเพื่อเข้าไปสู่การใช้ทรัพยากรที่จะก่อให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมที่สูงขึ้น

 

"ทุนนิยมโลก เสรีนิยมใหม่ และรัฐบาลชุดนี้ จะทำให้สังคมไม่เป็นสังคม ทำให้เรากลายเป็นปัจเจกชนที่หลุดลอยอยู่ในทะเลของเศรษฐกิจ ฉีกคุณออกจากพันธะทางสังคม เพื่อคุณหลุดลอย และรัฐแบบนี้ก็จะค่อยหยอดเงินให้ทีละก้อนๆ เพื่อให้คุณอยู่ได้ ไม่อิ่ม แต่ก็ไม่อดตาย ซึ่งต่อไปคุณก็จะไม่มีสังคม เพราะฉะนั้น เราจะจัดการอำนาจอย่างไรในบรรยากาศอย่างนี้"

 

รศ.อรรถจักร์ ยังกล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ทางสังคม มีแนวโน้มที่จะเป็นจริงขึ้นมาในหลายระดับ เช่น กรณีของชุมชนท้องถิ่น จำเป็นจะต้องให้มีกฎหมายลูกตราออกมาชัดเจนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งต้องเปลี่ยนมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดูแลทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเองได้ พร้อมกับนั้น มาตราที่ให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นจริงๆ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนอย่างน้อยอีก 1 มาตรา คือ มาตรา 87 ที่บอกว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

เพราะในวันนี้ เรามีเพียงระบอบทรัพย์ของรัฐกับระบอบทรัพย์สินของเอกชน ดังนั้น เราจำเป็นต้องคิดถึงระบอบทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น คือจำเป็นต้องสร้างระบอบทรัพย์สินของ "ชุมชน" ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนิยาม ในวันนี้เรามีระบอบทรัพย์สิน 2 อย่าง คือทรัพย์สินของรัฐ และทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งไม่พอกับยุคต่อไปนี้ คือยุคโลกาภิวัฒน์ หรือยุคเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามากระแทก ถ้าเราไม่สร้างระบอบทรัพย์สินของชุมชนท้องถิ่นมากำกับ ก็จะต้องถูกทุนนิยมเคลื่อนย้ายเข้ามาและเข้าไปครอบงำ และก็ดูดทรัพย์สินทั้งโลกได้เลย ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น

 

"ดังนั้น การแก้ความสัมพันธ์ทางอำนาจด้วยการเน้นชุมชนท้องถิ่น และปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับระบอบทรัพย์สิน มันน่าจะนำไปสู่การสร้างนิยาม สำนึกความเป็นเจ้าของให้กว้างขางมากยิ่งขึ้น สังคมไทยในวันนี้รัฐธรรมนูญนั้น เราอาจจะพูดถึงสิทธิหน้าที่ของพลเมืองต่างๆ แต่เราไม่ได้สร้างสำนึกความเป็นเจ้าของในการที่จะดูแลทรัพย์สินต่างๆ เลย" รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ จากคณะรัฐประศาสนตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่าเป้าหมายของรัฐธรรมนูญประการแรก คือต้องการให้ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น เป็นมาตราที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ มากกว่ารัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับของประเทศไทย แต่ที่น่าตกใจคือ แม้รัฐธรรรมนูญบัญญัติสิทธิและเสรีภาพมากมายเหลือเกิน เมื่อหันไปทางไหนก็ไม่เห็นประชาชนกล้าวิจารณ์ หันไปทางไหนก็ไม่เห็นมีสื่อมวลชนออกมาวิจารณ์ โดยเฉพาะสื่อที่อยู่ภายใต้การครอบครองของรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทีวี วิทยุก็ไม่กล้าวิจารณ์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร

 

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องการขจัดการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองไทยมานาน แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าระดับชาติหรือท้องถิ่น ก็เห็นมีนักการเมือง ประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนบอกว่า มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันมากเหลือเกิน มี กกต.ก็ไม่รู้มีไว้ทำไม ทั้งๆ ที่มีบทบัญญัติให้ กกต. มีความเป็นอิสระ มีอำนาจทั้งกึ่งนิติบัญญัติและกึ่งตุลาการ สามารถให้ใบเหลืองใบแดง สามารถออกกฎระเบียบได้ แต่กลายเป็นว่าจัดการกับปัญหาไม่ได้

 

"เราต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง เพื่อพี่น้องประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ทุจริต คอรัปชั่น ประพฤติไม่ชอบ แต่การทุจริตคอรัปชั่นมากมายมหาศาลเหลือเกิน มีนักวิชาการบางท่านบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องทางให้ตั้งโต๊ะโกงกินกัน บางท่านบอกว่าแทะเข้าไปจนถึงกระดูก เมื่อฟังดูแล้วมันสวนทางกับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยสิ้นเชิง" รศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าว

 

รศ.ดร.ธีรภัทร์ ยังย้ำอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีเป้าหมาย 3 ประการ แต่ล้วนประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะแท้ที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกลไกลหนึ่ง การเมืองไทยจะประสบผลสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง คือ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ต้องแก้และปรับปรุงใหม่ จะแก้ทั้งฉบับหรือปรับปรุงใหม่เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องมองต่อไป ปัจจัยทางรัฐธรรมนูญต้องมีองค์ประกอบในทางการเมือง

 

"ถ้าเราเปรียบการเมืองเป็นกีฬาฟุตบอล นักการเมืองก็คือผู้เล่น ถ้ากติกาดี กรรมการเก่ง ผู้เล่นไม่กล้าโกงหรอก ถ้าโกงถูกใบแดงไล่ออกนอกสนาม แต่ถ้ากติกาไม่ดี มีช่องว่าง กรรมการไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณธรรม ผู้เล่นก็จะเห็นว่าการโกงเป็นสิ่งที่ได้เปรียบ ก็ยิ่งต้องโกง เพราะว่าโกงจะเป็นฝ่ายชนะ"

 

 "ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักการเมืองต้องซื้อสิทธิขายเสียง และต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เมื่อได้เข้ามาแล้วก็โกงกันเป็นว่าเล่น ตอนนี้ผมไม่ได้พูดเอง ผมได้ทำวิจัยเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง ได้สอบถาม ส.ส. ส.ว. ที่ไม่ใช่นักการเมืองชุดปัจจุบันนี้ ซึ่งทั้ง 3 ได้ตอบตรงกันหมดและมีน้ำหนัก คือยอมรับทุกประการว่า นักการเมือง ส.ส. โกงการเลือกตั้ง ยอมรับในคะแนนที่สูงมากหรือระดับมากที่สุด โดย ส.ส.จะโกงมากกว่า ส.ว. รัฐมนตรีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 เป็นรัฐมนตรีที่โกงกินมากที่สุด ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ ตนจะนำไปเสนอในที่ประชุมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย วันที่ 15 ธ.ค. 48 นี้ ที่โรงแรม มิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ" รศ.ดร.ธีรภัทร กล่าว

 

รศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรหลักเหล่านี้ ยอมรับกันอยู่แล้วว่า ทำงานไม่ได้ ทำงานไม่เข้าตาประชาชน อย่างกรณี ส.ส.ยอมรับว่าใช้เงินเกินกว่าที่ กกต. เมื่อครั้งมีการเมื่อเลือกตั้งเมื่อปี 2544 กำหนดให้ใช้งบหาเสียงจำนวน 1 ล้านบาท เลือกตั้งปี 2548 ใช้งบได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง จะต้องถูกถอดถอนทั้งสภา แล้วลองถาม กกต.ว่าจะเอาหน้าไว้ที่ไหน แค่ใช้เงินเกินกำหนดยังดำเนินการกับใครไม่ได้เลย แล้วจะมี กกต.ไว้ทำไม ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ว่าจะมีมากแค่ไหน ป.ป.ช. ก็มีปัญหาอย่างที่ว่า ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด

 

และเมื่อพูดถึงวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. ที่ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบในการแต่งตั้งและการถอดถอนต่างๆ แต่กลับกลายเป็นว่า มี ส.ว. ไปรับเงินเดือนจากผู้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ มี 2 ประเภท คือ รับเป็นรายเดือนและรับเป็นรายกรณี ซึ่งแท้จริงแล้ว วุฒิสมาชิกเป็นสถาบันที่สำคัญที่จะต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบ เพื่อผดุงความยุติธรรมความเป็นธรรมไว้ในสังคม ทำไม่ได้

 

ข้ามไปที่ข้าราชการประจำปัจจุบัน รศ.ดร.ธีรภัทร์ ชี้ว่า นักการเมืองสั่งให้ทำอะไร ผิดหรือไม่ถูกต้องก็ทำไปหมด ไม่มีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปลัดกระทรวงลงมา เดินตามนักการเมืองต้อยๆ ไปช่วยโกงการเลือกตั้งก็มี คอรัปชั่นก็มี รวมไปถึงเทศบาล อบจ. อบต.

 

"นี่ถ้าคุณหญิงจารุวรรณกลับมาเมื่อไหร่ เชื่อว่าจะถูกกวาด ทุจริตตั้งแต่ท้ายแถวไปยังหัวแถว เพราะฉะนั้นคนที่ชอบโกงอย่าเพิ่งดีใจ

 

 "งบประมาณแผ่นดินเมื่อก่อนมีสุภาษิตที่ว่า ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่ปัจจุบันไม่จริง เงินหลวงในปัจจุบันตกถึงมือประชาชนไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วเราอยู่ได้อย่างไร

 

"ประชาชนและสื่อมวลชน เปรียบเสมือนผู้ดูผู้ชมกีฬา ข้าราชการเหมือนผู้ช่วยกรรมการที่จะตัดสินให้ถูกต้อง แต่ประชาชนไม่ค่อยมีการศึกษาหรือการศึกษาน้อย ไม่ใช่ความผิดของประชาชน แต่ต้องเป็นความผิดของรัฐบาล ที่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณ หรือนโยบายที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง ปล่อยให้ประชาชนขาดการศึกษา"

 

"ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าตอนนี้เป็นระบบทุนนิยม ไม่ใช่ทุนนิยมปกติ แต่เป็นทุนนิยมเครือญาติ ถ้าใครไม่ใช่เครือญาติอย่าแหยมเข้ามา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 3 ตัวหลักคือ เสถียรภาพ ความชอบธรรม ประสิทธิผล ดังนั้น เมื่อโกงมากๆ ความชอบธรรมก็ไม่มี

 

"19 ล้านเสียง ไม่ใช่ความชอบธรรมเสมอไป เพราะความชอบธรรมมันผกผัน จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจปืนทำรัฐประหาร แต่จอมพลสฤษดิ์มีความชอบธรรม รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย แต่มีความโกงกินประเทศ โกงประชาชน ไม่มีความชอบธรรม หากประชาชนไม่ยอมรับก็อยู่ไม่ได้ มันก็ไปกระทบต่อรัฐบาล คนไม่ยอมรับ คนไม่เชื่อถือนโยบายที่มีต่างๆ ก็ผกผันมาที่ตัวเสถียรภาพระบอบการเมืองด้วย"

 

อยากเสนอว่า ประการหนึ่ง เราต้องมีการปฏิรูปการเมืองรอบที่สอง ต้องแก้ตัวรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นตัวที่จะนำไปสู่การวางกลไก ให้มีการตรวจสอบการถ่วงอำนาจจริง ไม่ใช่อย่างที่เป็นแบบปัจจุบัน ไม่ให้อำนาจกระจุกอยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ตอนนี้อำนาจกระจุกที่ตัวคนเดียว คือนายกรัฐมนตรี ถ้ากระจุกตัวแบบนี้ ไปไม่รอด เพราะว่าขาดตัวถ่วงดุล

 

ประการที่สอง เนื้อหาที่ต้องปฏิรูป ต้องจำกัดตัดตอนให้มีการเว้นวรรค โดยเฉพาะกรณีการเข้ามาของ ส.ส. ต้องมีการตัดตอนไม่น่าจะเกินสองสมัย เพราะว่ายังไม่มีความมั่นคง จำเป็นต้องมีการตัดตอน ให้รู้จักพอเพียง และประการที่สาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการยกระดับการศึกษา พัฒนาความรู้ให้แก่ประชาชน

 

"อยากจะทิ้งท้ายว่า ตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่นำไปสู่คุณภาพ ประสิทธิภาพ ตราบนั้นต้องมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ" รศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าว

กลับหน้าแรกประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท