ต่ออายุพิธีสารเกียวโตสู้โลกร้อน

ประชาไทคัดสรร / ผู้จัดการออนไลน์ 11 ธันวาคม 2548 16:25 น. / เอเจนซี - บรรดารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของนานาชาติ ตกลงกันได้เมื่อวันเสาร์ (10) ธันวาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับแผนการกว้างๆ ที่จะยืดอายุพิธีสารเกียวโตซึ่งมุ่งสกัดภาวะโลกร้อน ให้ยังคงมีผลต่อไปหลังปี 2012 นับเป็นการผ่าทางตันซึ่งยืดเยื้อมาตลอด 2 สัปดาห์ของการประชุมภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาอุณหภูมิของพื้นพิภพ


      

บรรดารัฐมนตรีที่หารือกันในเมืองมอนทรีล ประเทศแคนาดาคราวนี้ ยังเห็นพ้องกันให้เปิดการหารือระดับโลกครั้งใหม่ ชนิดไม่กำหนดกรอบตายตัว ในเรื่องวิธีการต่างๆ ที่จะใช้สู้กับภาวะบรรยากาศของโลกซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยการหารือดังกล่าวนี้จะรวมเอาชาติซึ่งไม่ได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารเกียวโต อาทิ สหรัฐฯ และพวกชาติกำลังพัฒนาทั้งหลาย เข้าร่วมด้วย

      

วอชิงตันนั้นไม่เพียงคัดค้านพิธีสารเกียวโต แต่ยังมีจุดยืนมานานที่จะต่อต้านไม่เข้าร่วมการหารือในกรอบกว้างๆ ครั้งใหม่อีกด้วย ดังนั้น ผลการประชุมมอนทรีลซึ่งมีผู้เข้าร่วมหารือรวมแล้วราว 10,000 คนคราวนี้ จึงเป็นที่พอใจของประเทศอื่นๆ ตลอดจนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

      

"นี่คือการขีดเส้นแบ่งเขตครั้งสำคัญในเรื่องการต่อสู้ต้านทานการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ" สตาฟรอส ดิมาส กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป(อียู) บอกกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมในวันสุดท้าย ซึ่งยืดเยื้อกว่า 20 ชั่วโมงโดยลากยาวตลอดวันศุกร์มาจนถึงช่วงใกล้รุ่งสางของวันเสาร์

      

แต่ดิมาสก็เตือนด้วยว่า "ทางเดินต่อไปข้างหน้ายังคงขรุขระ" ในการมุ่งไปสู่จุดหมายระยะยาวที่จะให้ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนก๊าซอื่นๆ ซึ่งได้ออกมาจากการใช้เชื้อเพลิงซากฟอสซิลอย่างเช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ที่ถูกระบุว่าเป็นตัวการทำให้บรรยากาศและมหาสมุทรของโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น

      

ทางด้านบรรดานักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่างพากันโห่ร้องและสวมกอดกันด้วยความยินดี บางคนกระทั่งร้องไห้ ภายหลังคณะผู้แทนที่เข้าประชุม ผ่านมติที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวยกย่องว่าเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อยับยั้งไม่ให้โลกเข้าสู่ความหายนะ

 

"ระหว่างการประชุมคราวนี้มีหลายๆ จุดเหลือเกินซึ่งมีศักยภาพที่จะปรากฏออกมาว่า โลกยอมแพ้แล้ว สืบเนื่องจากยุทธวิธีของคณะรัฐบาลบุชและฝ่ายอื่นๆ แต่แล้วมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น" เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้เชี่ยวชาญการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ ของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ WWF กล่าว

       

สหรัฐฯซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนก๊าวเรือนกระจกอื่นๆ มากที่สุดของโลก ได้ถอนตัวไม่เข้าเป็นภาคีพิธีสารเกียวโตเมื่อปี 2001 ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยอ้างว่าการตั้งเป้าหมายตัดลดการปล่อยก๊าซอย่างตายตัวตามข้อกำหนดของพิธีสารฉบับนี้ จะสร้างความเสียหายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ข้ออ้างนี้ได้ถูกอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ท้าทายโจมตีหนักหน่วง ตอนที่เขามาพูดที่มอนทรีลเมื่อวันศุกร์(9)

      

วอชิงตันยินยอมโอเคจะเข้าร่วมการเจรจาแบบไม่กำหนดกรอบแน่นอน ภายหลังจากแคนาดาและอียูลดน้ำหนักถ้อยคำในร่างมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่าการหารือจะไม่นำไปสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการ หรือการให้คำมั่นสัญญาอย่างเป็นทางการ หรือรูปแบบการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นหลักการสำคัญของพิธีสารเกียวโต

      

ฮาร์ลัน วัตสัน หัวหน้าคณะผู้เจรจาเรื่องบรรยากาศของสหรัฐฯ แถลงว่า การปรับแก้ร่างมติเช่นนี้ เป็นการยอมรับวิธีการอันหลายหลากมากขึ้นในการแก้ปัญหาโลกร้อน

      

ทั้งนี้วอชิงตันป่าวร้องให้ชาติต่างๆ ดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความสมัครใจเอง รวมทั้งเรียกร้องให้เน้นการลงทุนเยอะๆ ในด้านเทคโนโลยี อาทิ การใช้ก๊าซไฮโดรเจน หรือการหาวิธีนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาเก็บไว้ใต้ดิน

      

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มุ่งดึงให้วอชิงตันเข้ามาร่วมวงด้วยกันก่อน โดยหวังว่าประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อๆ จากบุช จะปรับนโยบายเรื่องนี้ในที่สุด

 

กลับหน้าแรกประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท