Skip to main content
sharethis

               
บอเฮง ปายอดือราแม                                 บาบอแอ ปาแน


 


เป็นครั้งแรกที่โต๊ะครูเจ้าของปอเนาะและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รวมกลุ่มกันพลิกบทบาทของตัวเองมาเป็นผู้ร่วมเยียวยาเหยื่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อย่างเป็นทางการ


 


แม้ที่ผ่านมาคนทั่วไปมักจะมองว่าปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ในขณะที่ยังมีคนบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ ทำไมโต๊ะครูจึงไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น


 


แต่สำหรับประชาชนมุสลิมในพื้นที่แล้ว ปอเนาะเป็นที่พึ่งสำคัญทางศาสนาของชุมชม ในการประสิทธิ์ประสาทความรู้ทางศาสนาให้กับลูกหลานได้ปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้อง หากสถาบันนี้ต้องมัวหมองไปย่อมสร้างความไม่สบายใจให้กับชาวบ้านด้วย


 


ด้วยเหตุนี้มีคนกลุ่มหนึ่งเห็นความสำคัญตรงนี้ จึงเลือกปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นศูนย์กลางในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ด้วยเหตุสำคัญคือเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน โดยเฉพาะท่ามกลางความไม่ไว้วางใจที่แผ่ปกคลุมไปทั่วขณะนี้


 


อันเป็นกิจกรรมหลักของโครงการส่งสริมบทบาทปอเนาะและอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ "คณะทำงานประสานงานชุมชนเพื่อสนับสนุนภารกิจประธาน (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.)"


 


โดยมีอีก 3 องค์กรหลักที่ร่วมกันสนับสนุนได้แก่ กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ ของคณะกรรมอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.), สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และเครือข่ายองค์กรสันติภาพเพื่อชายแดนใต้ (OPNEP)


 


การขับเคลื่อนที่สำคัญเกิดขึ้น เมื่อโต๊ะครูเจ้าของสถาบันปอเนาะและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 80 คน จากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง บทบาทผู้บริหารและสถาบันปอเนาะกับการบริการชุมชน เมื่อวันที่ 3 -4 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมอิมพีเรียลนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส


 


แม้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากปอเนาะ 310 แห่ง และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอีก 206 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ได้เน้นความสมัครใจของโต๊ะครูและผู้บริหารโรงเรียนในการเข้าร่วมโครงการ


 


การสัมมนาในวันแรกมีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานฯ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเป็นผู้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยให้เหตุผลที่เลือกปอเนาะเป็นศูนย์กลางว่า เป็นสถานที่ให้ความรู้ทางด้านศาสนา ซึ่งสอนให้ทำความดีและยังเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนและไม่มีฝ่ายค้านหรือฝ่ายบริหาร แต่มีความเป็นกลาง


 


"ในการเยียวยาจะเป็นแบบชาวบ้านต่อชาวบ้าน อาจให้เงินช่วยเหลือไม่มากนัก แต่เป็นการช่วยเหลือที่มากด้วยน้ำใจที่ผ่านมาการเยียวยาของภาครัฐ เป็นไปในลักษณะจากข้างบนลงสู่ล่าง แต่โครงการนี้ได้ให้ประชาชนดำเนินการเอง เป็นการคิดและทำโดยประชาชนเอง ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีศักดิ์ศรีมากกว่า คณะทำงานฯทำหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น"


 


สำหรับอาสมัครในโครงการนี้จะเข้าพบปะเยี่ยมเยือนผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจัดเวทีให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยกันได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเยียวยาด้วยตัวเอง ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบรายใหม่ จะเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นทันที ทั้งฝ่ายชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ


 


จากนั้นบาบอแม กูวา โต๊ะครูจากอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ได้บรรยายหัวข้อบทบาทนักการศาสนากับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้ชุมชน โดยได้เน้นว่า โครงการนี้นอกจากเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้เข้าร่วมควรมีส่วนสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ขึ้นในชุมชนด้วย โดยเฉพาะต่อเยาวชน เพราะยังมีเยาวชนอีกมากที่ไม่มีความรู้ทางศาสนาที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เน้นทางด้านวัตถุ เพราะแม้แต่ศาสดามูฮำหมัดเองที่พระเจ้าจะเสกภูเขาทั้งลูกให้เป็นทอง ท่านก็ไม่ต้องการ แต่ต้องการธำรงศาสนาที่พระเจ้าประทานลงมาให้ เพราะฉะนั้นหากยาวชนได้เรียนรู้ศาสนาอย่างเต็มที่ ย่อมไม่ถูกชักชวนไปทางที่ผิดได้


 


ส่วนบาบอแอ ปาแน โต๊ะครูจากอำเภอมายอเช่นกัน บรรยายหัวข้อบทบาทสถาบันปอเนาะกับการบริหารชุมชนว่า ศาสนาอิสลามสอนให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หากยังมีความแตกแยกกันย่อมสร้างความแตกแยกเกิดขึ้นในชุมชนได้ง่าย ซึ่งหากมัสยิดต่างๆ ในชุมชนมีความเข้มแข็ง สถาบันก็ไม่จำเป็นต้องมี


 


ในเอกสารประกอบการสัมมนาระบุวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อพัฒนาบทบาทและศักยภาพของปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้เป็นศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบในชุมชน โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครในการใช้กระบวนการกลุ่มให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถช่วยเหลือและพึ่งตนเองได้


 


สำหรับวิธีการดำเนินการโดยให้ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามรวม 70 แห่งใน 3 จังหวัดเป็นศูนย์กลางการเยียวยาในชุมชน แบ่งออกเป็น 10 เครือข่าย ซึ่งจะมีศูนย์ประสานงานเครือข่ายระดับพื้นที่ด้วย และมีอาสาสมัครกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ รวม 140 คน จะทำหน้าที่เข้าไปพบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เรียกว่า อาสาสมัครฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงด้วยกระบวนการชุมชุน


 


นอกจากนี้จะมีศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด 3 แห่ง และศูนย์ประสานงานส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร โดยมีโครงสร้างดังนี้


 


หัวหน้าโครงการได้แก่ นายวรรณชัย ไตรแก้ว ศูนย์ประสานงานที่กรุงเทพมหานครมีนายไพฑูรณ์ สมแก้ว เป็นหัวหน้าศูนย์ ศูนย์ประสานงานจังหวัดปัตตานี มีนายอิบรอฮิม หะ โต๊ะครูเจ้าของโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีเป็นหัวหน้าศูนย์


 


ศูนย์ประสานงานจังหวัดยะลา มีนายอาหามะรูยานี ยูนุ โต๊ะครูโรงเรียนมะอะฮัดอิสลามี ตำบลบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาเป็นหัวหน้าศูนย์ และศูนย์ประสานงานประจำจังหวัดนราธิวาสมีนายบอเฮง ปายอดือราแม เจ้าของโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นหัวหน้าศูนย์


 


สำหรับงบประมาณโครงการมีจำนวน 8,260,000 บาท โดยจะนำไปตั้งไว้ตามปอเนาะต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางการเยียวยาในชุมชน


 


ส่วนอาสาสมัครฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงด้วยกระบวนการชุมชุนทั้ง 140 คนนั้นได้ดำเนินการจัดอบรมไปแล้วเมื่อวันที่ 4 - 5 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมอิมพีเรียลนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส


  


"ยากมากที่จะรวมกลุ่มของโต๊ะครูหรือผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามได้ขนาดนี้ จากจุดนี้เอง เราคิดว่าจะนำไปสู่การสร้างความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เพราะโต๊ะครูมีความเป็นเอกภาพมากขึ้นโดยเริ่มจากชุมชนรอบๆ ปอเนาะ และที่เราได้ทำไปแล้วคือกรณีชาวบ้านกะทองถูกยิงตาย 9 ศพ เมื่อไม่นานมานี้" นั่นคือคำทิ้งท้ายของบาบอเฮง หรือ นายบรอเฮง ปายอดือราแม เจ้าของโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน


 


การขับเคลื่อนของโต๊ะครูทั้ง 70 คน นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการรวมกลุ่มกันสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการขับเคลื่อนด้วยคำสอนทางศาสนาที่ให้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือนร้อน มิฉะนั้นคงปล่อยให้ถูกตั้งคำถามต่อไปเริ่อยๆ


กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net