Skip to main content
sharethis

 


 


 


 


บนเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศที่ผันแปรอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้การแปลแนวคิดสู่การปฏิบัติของการนำครัวไทยไปสู่ครัวโลก ไม่ได้ง่ายเพียงแค่ผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมาก หรือส่งไปแปรรูปเพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศเท่านั้น แต่เรายังต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสุขภาพและอนามัยภายใต้คำจัดความว่า "อาหารปลอดภัย" หรือฟู้ดเซฟตี้


 


 


การที่เรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยด้านอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ บนเวทีโลก ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสังคมของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นรายได้เฉลี่ยของประชากร การปฏิวัติเทคโนโลยีการผลิต หรือความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม รวมถึงการเกิดขึ้นของโรคติดต่อใหม่ ๆ


 


ด้วยเหตุนี้ ทิศทางการพัฒนาของรัฐต่อการเพิ่มศักยภาพทางการค้า-ความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงการทำความเข้าใจกลไกของตลาดโลก และการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ เพื่อรองรับการเป็นครัวโลกนั้น จึงกลายเป็นคำถามที่ต้องการมากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หมายรวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศจากการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับสินค้าที่ส่งออกไปด้วย


 


รศ.ดร.ตีรณ พงศมฆพัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการนโยบายสาธารณะเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อธิบายว่า สมัยก่อนไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารได้ดีมาก เนื่องจากความพยายามเพิ่มการผลิต โดยการเน้นการผลิตแบบเข้มข้น มีการทุ่มงบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก


 


โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่การทำให้สินค้ามีราคาต่ำ และมีปริมาณมากที่สุด แต่ทิศทางการผลิตเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มหันมาสู่ความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นทิศทางการผลิตของเราในวันนี้ จึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของการค้าขายในตลาดโลก


 


"หากเราจะเป็นศูนย์กลางทางการผลิตอาหารในอนาคต ไม่เพียงแต่เราต้องใช้น้ำน้อย แรงงานน้อย เรายังต้องทำสินค้าดูดี ถูกใจผู้ซื้อ และปลอดภัย ซึ่งความปลอดภัยในที่นี้ทำได้ยากที่สุด เนื่องจากมาตรฐานความปลอดภัยไม่ได้มีเพียงอย่างเดียวในโลก" รศ.ดร.ตีรณ ตั้งประเด็นชวนขบคิด


 


ยกเครื่องหน่วยงานรัฐ-เอกชน


การปฏิบัติงานและการจัดการด้านอาหารปลอดภัยของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมา มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่าเป็นการทำงานที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือมักมุ่งเน้นการจัดทำมาตรฐานมากกว่าการสนับสนุนและพัฒนาการผลิต จึงทำให้แนวคิดเรื่องอาหารปลอดภัยห่างไกลการปฏิบัติ และห่างไกลการบริโภคภายในประเทศ เพราะผลิตได้จำนวนเท่าใดก็ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งหมด


 


ผศ.สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล หนึ่งในคณะวิจัยของโครงการฯ กล่าวว่า นโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารในการค้าระหว่างประเทศจะมีความเข้มข้นและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนความเสี่ยงจากโรคใหม่ ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้าภายใต้เงื่อนไขของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละประเทศ


 


จากการศึกษาข้อพิพาททางการค้า แสดงให้เห็นว่า การเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก ไม่ได้เป็นแนวทางที่ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงและใช้ได้อย่างเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ข้อพิพาททางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐเรื่องเต่าทะเล สหรัฐอ้างว่าการจับปลาของไทยไปกระทบกับเต่าทะเลจนนำไปสู่การกีดกันสินค้าไทยนั้นได้ ซึ่งท้ายสุดแม้จะมีคำชี้ขาดจากองค์การการค้าโลกก็ให้ไทยชนะ แต่ผลการตัดสินนี้ก็ไม่สามารถนำไปบังคับให้สหรัฐฯปฏิบัติตามได้


 


ผศ.สถิตพงศ์ กล่าวถึงผลการศึกษาเปรียบเทียบการจัดการด้านอาหารปลอดภัยของต่างประเทศว่า ในขณะที่ไทยกำลังแยกหน่วยงานจัดการควบคุมดูแลออกเป็นหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลจาก 5 กระทรวง แต่โครงสร้างการจัดการด้านความปลอดภัยทางอาหารของนานาชาติมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนมาอยู่ในลักษณะ Single Agency หรือมีหน่วยงานกำกับดูแลหลักเพียงหน่วยงานเดียว ทำให้การปฏิบัติงานคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่า


 


นอกจากนี้แรงผลักดันและความตระหนักในการพัฒนาด้านอาหารปลอดภัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่ศักยภาพด้านอาหารปลอดภัยของเรายังไม่สูงเท่ากับระดับนานาชาติ จึงควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพโดยมุ่งจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการผลิตและการดำเนินชีวิตโดยลดรูปแบบการพัฒนาทางวัตถุที่ให้ความสะดวกสบายและความรวดเร็วในชีวิต มายอมรับความเจริญอย่างช้าในอัตราที่ไม่ก้าวกระโดดอย่างที่เป็นมา ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถพลิกฟื้นความสูญเสียต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจได้ และยังสอดคล้องกับพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


 


อีกทั้งการจัดการด้านอาหารปลอดภัยต้องให้ความสำคัญกับการลงทุน ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร การศึกษาวิจัย ระบบตรวจสอบและกำกับดูแล รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูล และสร้างพฤติกรรมใหม่ในการบริโภคอาหารปลอดภัยในประเทศควบคู่ไปด้วย


 


อาหารปลอดภัยทำไมต้องเกษตรอินทรีย์


แม้จะมีข้อโต้แย้งที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าคำตอบของอาหารปลอดภัยจำเป็นต้องเป็นเกษตรอินทรีย์หรือไม่ แต่คณะวิจัยชุดนี้ก็ยังตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบต่อไปว่าการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศอาจเป็นทางออก และทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าการระบบการผลิตแบบเก่าที่ต้องใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมาก ท้ายสุดแม้จะมีมาตรการควบคุมให้ผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง แต่คนที่ต้องแบกรับต้นทุนความเสี่ยง และผลกระทบจากการใช้สารเคมีก็ยังเป็นตัวเกษตรกร คนในประเทศและทรัพยากรธรรมชาติของเราเองทั้งสิ้น


 


ผศ.สถิตพงศ์ กล่าวเสริมว่า ความเคลื่อนไหวด้านเกษตรปลอดภัยในประเทศไทยแม้จะมีความตื่นตัวกันมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังกระจัดกระจายตามกลุ่มต่าง เช่น เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เกษตรกรรมทางเลือก กสิกรรมไร้สารพิษ กลุ่มสันติอโศก หรือกลุ่มเอกชนในพื้นที่ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็แนวคิดนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดเท่านั้น


 


ส่วนการขับเคลื่อนจากภาครัฐก็ยังช้า และขาดความเป็นเอกภาพในการสนับสนุน แม้ว่าจะมีการกำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม ดังตัวอย่างเช่น การลด ละเลิก ใช้สารเคมีทางการเกษตร ได้กลายเป็นประเด็นที่กล่าวกันมาก แต่ก็ยังมีการขับเคลื่อนทางนโยบายค่อนข้างน้อย


 


"ปัจจัยแห่งความสำเร็จของเกษตรกรรมยั่งยืนของอินทรีย์ รัฐควรให้การอุดหนุนโดยตรง


แก่เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศ เช่น การลดอัตราการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากสารพิษทางนิเวศการเกษตร ลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศ ด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ ให้สิทธิการพักชำระหนี้ในระยะยาว ให้เงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ ลงทุนปรับที่ดินให้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต หรือจ่ายเงินอุดหนุนแบบให้เปล่าโดยคำนวณจากพื้นที่ เป็นต้น"


 


ยิ่งไปกว่านั้นรัฐควรสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ และแปรรูปเพื่อการค้า ทั้งการค้าในระดับท้องถิ่น ในประเทศ และการส่งออก เช่น สนับสนุนโกดัง ฉางเก็บข้าว ห้องเย็น และโรงงานแปรรูป รวมทั้งเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตทางและธุรกิจแปรรูปอาหาร เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการควบคู่กันไปด้วย


 


ก้าวต่อไปงานวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี


รศ.ดร.ตีรณ เผยว่า การวิจัยภายใต้โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษา และทบทวนอีกหลายประการ อาทิ การปรับโครงสร้างและกระบวนการคิดของรัฐในการบริหารจัดการด้านอาหารปลอดภัย การสร้างความเข้มแข็งของกฎระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแล การจัดการด้านอาหารปลอดภัย นโยบายต่อ GMOs การสิ่งเสริมและสนับสนุนเกษตรปลอดภัย/อินทรีย์ รวมถึงมาตรการด้านภาษีต่อสารเคมีอันตราย อีกทั้งต้องมีการจัดเวทีชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อศึกษาบทบาทขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นด้านอาหารปลอดภัย ตลอดจนกระบวนการจัดการอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งปลายทางของการศึกษาวิจัยนี้ก็หวังว่าจะได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอีกหนึ่งชุดที่จะเป็นทางเลือก ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง


 


แม้ว่าการวิจัยของโครงการนี้จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ประเด็นคำถาม และแผนงานศึกษาในอนาคตนั้น คงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันหาคำตอบ แม้จะยังไม่ใช่คำตอบที่ดีสุด แต่การคิดค้นร่วมกันของคนทั้งสังคม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทางเลือกที่ถูกปิดตายของหน่วยงานรัฐ หรือปล่อยให้ชะตาของประเทศขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น.


 


...........................................


 


*เรียบเรียงจากเวทีรายงานความก้าวหน้าโครงการนโยบายสาธารณะเพื่อความปลอดภัยทางอาหารและเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 ณ ห้องประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net