สัมภาษณ์พิเศษ : คาใจม็อบสนธิ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" ไขข้อข้องใจ

ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

 

พลพรรคไทยรักไทยดาหน้าออกมาชี้ว่า "ม็อบสนธิ" กระแสตกลงไปแล้ว แต่ใครก็ตามที่ได้ไปพบเห็นด้วยตาของตนในวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ย่อมจะรู้ว่า จำนวนผู้คนที่มาร่วมม็อบในวันนั้น มิได้ลดน้อยลงไปตามกระแสที่ตกเท่าใดนัก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ และอาจไม่มีนัยสำคัญเพราะจุดเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญได้เกิดขึ้นแล้ว

 

ท่ามกลางข้อสงสัยและข้อเคลือบแคลงต่างๆ ที่มีกับม็อบสนธิ "ประชาไท" ได้รับความกรุณาจาก ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไขข้อข้องใจ ครอบคลุมประเด็น ประโยชน์ที่สังคมไทยได้จากม็อบสนธิ การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ และแน่นอนรวมถึงประเด็น "พระราชอำนาจ"

 

0 0 0   

 

ม็อบสนธิมีคุณูปการกับสังคมไทยอย่างไร

ผมคิดว่าม็อบสนธิได้สร้างบรรยากาศ ซึ่งที่จริงมันมีอยู่แต่อาจจะไม่รุนแรงพอ แต่ม็อบสนธิทำให้บรรยากาศความกลัวที่เราสร้างให้ตัวเองหายไปแยะเลย

 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยสร้างความกลัวให้ตัวเอง ไม่ใช่กลัวรัฐบาลอย่างเดียวนะ ผมว่ากลัวทุกอย่าง เช่นกรณีเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ผ่านมานี่ หลายคนพูดว่ามันมีการทุจริตอย่างโจ่งครึ่มมากๆ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านเอง แต่พรรคฝ่ายค้านไม่กล้าขยับทำอะไรเลย เพราะคะแนนเสียงที่ท่วมท้น และเราทุกคนสร้างความกลัว กลัวนั่นกลัวนี่ไปหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ จากม็อบสนธิก็คือ ช่วยลดความกลัวที่เราสร้างให้ตัวเองลงไปได้มากๆ

 

สะท้อนว่า คะแนนนิยมของคุณทักษิณลดลงด้วย

จะมีม็อบสนธิหรือไม่มีก็แล้วแต่ คะแนนนิยมของคุณทักษิณมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมันตั้งอยู่บนความโป้ปดมดเท็จ แต่ถ้าคุณยังกลัวอยู่คุณก็ไม่กล้าที่จะลุกมาบอกว่า ไอ้นี่มันโกหกกู นี่คือคุณูปการที่สำคัญของม็อบสนธิ เพราะมันโจ่งแจ้ง มันท้าทายชนิดที่พวกมึงก็แหยง ทำอะไรเขาไม่ได้ เอาอึไปขว้างเขาหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ทำเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ ลดบรรยากาศความกลัว

 

ผมยอมนับว่า กลุ่ม ส.ว.ก็ทำ แต่มันไม่ได้ผลเท่าครั้งนี้ เพราะคุณเป็น ส.ว.นี่หว่า คุณก็พูดได้ แต่พวกนี้มันไม่ใช่

 

ถ้าเช่นนั้นประเด็นอย่างการคุกคามสื่อนี่คืบหรือก้าวหน้าในสังคมไทยไหม คนจะตระหนักมากขึ้นไหม

แน่นอน คือถ้าทุกคนกลัว ผมเอาขี้ไปขว้าง เอาระเบิดไปวางในสำนักพิมพ์คุณ ก็ได้แต่เป็นข่าวเฉยๆ ทุกคนก็รู้สึกอึดๆ อัด แต่บัดนี้ทุกคนรู้สึกไม่แฟร์แล้ว พอสำนักพิมพ์โดนปาขี้ คนที่เดือดร้อนไม่ใช่คุณสนธินะ ใครขว้างก็แล้วแต่เถอะ แต่คนที่เดือดร้อนที่สุดคือรัฐบาล คือคู่อริ นี่ก็เหมือนกัน พอบรรยากาศความกลัวมันเริ่มลดลง ผมว่าทุกอย่างมันจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น เพราะเราจะเริ่มวินิจฉัยสิ่งต่างๆ โดยปราศจากความกลัวมาครอบงำ "ความไม่กลัวมึง" นี่จึงสำคัญ และผมว่าความกลัวนี่เป็นแรงกดที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา เพราะสื่อเองหรือเราเองก็ยังหน้าซีด และจะหวังให้องค์กรอิสระทั้งหลายหน้าไม่ซีดตามได้อย่างไร ทุกคนก็หน้าซีดหมด แต่ต่อจากนี้ประชาชนหน้ามีสีเลือดขึ้น และน่าจะทำให้องค์กรอิสระทั้งหลาย รวมถึงศาลด้วย น่าจะมีหน้าที่มีสีสันขึ้นมาได้บ้าง แน่นอนคนของเขาที่อยู่ในองค์กรอิสระก็มี แต่คนที่เป็นกลางจริงๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ครั้งหนึ่งคนเหล่านี้หน้าซีด เพราะคนอื่นซีดหมด แล้วจะไม่ให้เขาซีดได้อย่างไร

 

อะไรที่ทำให้คนพ้นจากความกลัวกันแน่ เพราะประเด็นอย่างพระราชอำนาจใช่ไหม หรือเพราะคนกลัวว่าสื่อจะถูกคุกคาม

ผมว่า ศัตรูของคุณทักษิณ ไปเชื่อมโยงเรื่องราวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่ผ่านมาคุณทักษิณแก้ตรงนี้ไม่ได้ ด้วยเหตุใดผมก็ไม่ทราบ จะเชื่อมจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่คุณทักษิณแก้ตรงนี้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ คนก็รู้สึกว่ายังมีอีกอำนาจหนึ่งที่ตัวเองพึ่งพาได้ ทำให้ตัวไม่ต้องกลัวได้ แล้วออกมาก็สบายใจ เพราะอย่างนั้นการที่คุณสนธิเลือกที่จะเอาการเคลื่อนไหวไปพาดพิง ไปเชื่อมโยงกับอำนาจอีกอำนาจหนึ่งนี่มีส่วนไหม จึงต้องตอบว่ามี

 

แล้วจะอธิบายอย่างไรที่เราเห็นฝ่ายซ้ายในอดีต ที่ปฏิเสธการนำสถาบันมาพาดพิง ก็ไปร่วมม็อบด้วย

อ้าว ผมว่าแนวร่วมครั้งนี้เป็นแนวร่วมหลากหลายมากนะ คนที่อยากจะให้เชิดชูพระราชอำนาจให้เต็มที่นี่ก็กลุ่มหนึ่ง แนวร่วมที่เห็นเป็นโอกาสก็อีกกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมไม่เชื่อหรอกว่า คนเป็นแสนที่ไปร่วมในม็อบสนธิมีความคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกันหมด มีความหลากหลายมาก

 

เราเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆ หันมาตื่นตัวเรื่องการเมือง มาถามว่าพฤษภาทมิฬคืออะไร 14 ตุลาคืออะไร จากกรณีคุณสนธิอันนี้มันบอกอะไรที่ส่อว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ยังครับยัง ถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่เรียกว่า "คนรุ่นใหม่" จะถึง 20 เปอร์เซ็นต์ไหม เอาละเดิมอาจจะมีสัก 2% พอมาเพิ่มเป็น 10% คุณอาจจะเห็นมันแปลกแล้ว แต่เราต้องเข้าใจประการหนึ่งนะว่า ในวิถีชีวิตของสังคมสมัยใหม่แบบนี้ การบริโภคมันดึงให้เราหลุดออกไปจากความสนใจคนอื่นๆ นี่คือของปกติที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป

 

แต่ในวิถีชีวิตตรงนี้จะมีคนจำนวนหนึ่ง จะ 10 หรือ 20% ที่รู้สึกว่า มันเป็นชีวิตที่อ้างว้างเกินไป และให้ความหมายกับชีวิตตนเองไม่ได้ ในทุกสังคมจะพบว่าคนรุ่นใหม่จะหันมาอีกด้านตรงข้ามกับวิถีชีวิตเดิมคือการบริโภคทั้งหลาย บางพวกอาจจะกลับไปเป็นฮิบปี้ใหม่ บางพวกอาจจะไปสร้างคอมมูน บางพวกอาจจะไปร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง บางพวกอาจจะไปเป็นเอ็นจีโอ อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ผมไม่คิดว่า จะเกิดปรากฏการณ์ที่เป็นการพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ผมว่าไม่ใช่

 

เป็นแต่เพียงว่า นี่เป็นครั้งหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดการละทิ้งวิถีชีวิตแบบบริโภค มันได้ความหมายใหม่ทันที โดยไม่ต้องแสวงหา คุณเข้าร่วมกับสนธินี่คุณไม่ต้องแสวงหานะ ในขณะที่วัยรุ่นในสมัยหนึ่งหากเกิดคำถามว่า ชีวิตแบบบริโภคไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตต้องการนี่ คุณต้องออกไปแสวงหานะ มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปทำงานเอ็นจีโอ 3-4 ปีแล้วพบว่าไม่ใช่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตต้องการ แต่นั่นแปลว่าคุณต้องเสียชีวิตไป 3-4 ปีถูกไหม แต่อันนี้ไม่ต้องเลย เพียงคุณเดินเข้าไปสวนลุม คุณได้ความหมายใหม่ในชีวิตใหม่ทันที

 

เป็นเรื่องสื่อดิจิตอลด้วย

ก่อนหน้าม็อบคุณสนธิก็มีการให้ความหมายใหม่กับชีวิต แม้แต่ในราชดำเนิน ในพันทิป ก็มีการให้ความหมายใหม่อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จำนวนมันน้อย คือการแสวงหาความหมายใหม่ในชีวิตนี่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องเจ็บปวดนะ แต่ถ้าเราเข้าไปร่วมในขบวนการที่มันมีอยู่แล้วนี่มันไม่ต้องเจ็บปวดเลย คุณรับมาเลย ความหมายใหม่

 

ในแง่หนึ่งในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็ทำนองเดียวกัน เพราะจะบอกว่าคนที่เข้าร่วมใน 14 ตุลา ไปจนถึง 6 ตุลา ทุกคนเข้าป่าหมดหรือ ไม่ใช่ (ลากเสียง) ในที่สุดทุกคนก็กลับไปหาพ่อแม่ กลับไปมีครอบครัว ไปเรียนต่อ กลับไปมีชีวิตใหม่ ไปเรียนเมืองนอก และก็กลับมามีชีวิตใหม่อีกชีวิตหนึ่ง แต่ในช่วงนั้นอย่าลืมว่าคุณได้เข้าไปหาความหมายใหม่ในชีวิตแบบง่ายๆ เลย แทนที่คุณจะกลับบ้าน คุณก็ไปนั่งที่ลานโพธิ์ แม่งได้ความหมายใหม่เลย ไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องเจ็บปวดกับอะไรเลย ผมว่าม็อบสนธินี่ก็ทำนองเดียวกัน

 

มันก็เป็นการแสวงหาแบบสำเร็จรูป

เออ! ใช่ สำเร็จรูป แล้วนี่ก็เป็นของปกติ ไม่ใช่ว่ามนุษย์เลวร้ายอะไรนะ มนุษย์ก็เป็นแค่นี้แหละ บางทีเราไม่พอใจกับความหมายเดิม พอมีความหมายใหม่ที่ได้มาง่ายๆ ก็อาจจะรับไป ก็ไม่แปลกอะไร และจะพูดว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแสวงหาก็ได้ เพราะวันหนึ่งคนที่เคยไปร่วมอยู่ในม็อบ อาจจะได้หันหลังไปดู แล้วพบว่า เฮ้ย ไปร่วมกับสนธิได้ไงวะ อย่างนี้ก็เป็นได้ ไม่แปลกอะไร

 

ทำไมต้องเป็นสนธิ ไม่เป็นภาคประชาชน หรือไม่เป็นสุริยใส กตะศิลา

สุริยใส จะใช้ประเด็นพระราชอำนาจไหม เอ้า สำหรับผมนะ ไม่ต้องรวมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือถ้าให้เดาจะรวมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วยก็ได้ เอาเป็นว่าสำหรับผมคนเดียว ผมรับหนังสือคุณประมวล รุจนเสรี ไม่ได้ ผมว่าเลอะเทอะ  มันผิด (เน้นเสียง) พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีพระราชอำนาจ นอกจากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่ แน่นอนถ้าคุณพูดในเชิงรัฐศาสตร์ มีอำนาจทางวัฒนธรรมไหม ชัวร์ มี แต่อำนาจทางวัฒนธรรมเป็นอำนาจที่น่ากลัวนะคุณ คุณใช้ได้โดยที่ยากมากที่จะกำหนดหรือจำกัดอำนาจนั้น หลวงตาบัวอย่างนี้ อีกหน่อยจะตั้งพระสังฆราช จะต้องไปถามหลวงตาบัวก่อนหรือ จะเอาไหมอย่างนั้นน่ะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลวงตาบัวมีอำนาจ มีสิ อำนาจทางวัฒนธรรม เหมือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยย่อมมีอำนาจทางวัฒนธรรมแน่ๆ

 

การเคลื่อนไหวของม็อบสนธิครั้งนี้ จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ขยายอำนาจของสถาบันหรือไม่

ฉิบหายเลย (หัวเราะ) ผมบอกได้แต่เพียงว่า ผมจะชวนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาสู้ตายเรื่องนี้ (หัวเราะ)

 

และพระราชอำนาจแบบนี้มันไม่ได้ถ่ายทอดถึงคนรุ่นหลังๆ ได้ตลอดกาล

อันนี้นี่แหละที่สำคัญที่สุด เพราะสิ่งที่คุณประมวลพูดทั้งหมดว่า เป็นคุณสมบัติอันประเสริฐของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นคุณสมบัติของบุคคลต่างหาก

 

มันจะนำไปสู่ความรุนแรงไหม

ผมได้แต่หวังว่า ไม่ ที่หวังอย่างนั้น เพราะความรุนแรงในประเทศไทยนี่ไม่ใช่ใช้กันได้พร่ำเพรื่อนะ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ถ้าที่ปัตตานีนี่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจใช้ความรุนแรง และอยู่พ้นออกไปจากอำนาจรัฐ ในกรุงเทพฯนี่ยังไม่เกิดเลยนะ 14 ตุลานี่ เดินขบวนได้เป็นแสนๆคน แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ตัดสินใจใช้ความรุนแรง มันก็ไม่เกิดความรุนแรงขึ้น ถูกไหม เพราะอย่างนั้นความรุนแรงในกรุงเทพฯไม่เคยเกิดขึ้นโดยเสรี แต่มันเกิดขึ้นโดยมีใครใช้มันทุกที

 

ถ้ามองในรูปนี้ ในกรุงเทพฯเวลานี้ ถามว่ากลุ่มต่างๆ มีกำลังจะใช้ความรุนแรงได้ไหม มี มีอีกหลายกลุ่มที่มีกำลังและสามารถตัดสินใจใช้ความรุนแรงได้ แต่ปัญหาคือว่า เมื่อใช้ความรุนแรงแล้วจะยุติความรุนแรงตรงนั้นได้อย่างไร ผมหวังว่าเขาจะฉลาดพอที่จะเห็นว่า "ฉิบหายกูหยุดไม่ได้เหมือนกันวะ"

 

เพราะฉะนั้น ความรุนแรงเป็นแค่เครื่องมือ คนเราพอใช้เครื่องมือปั๊บ และวางมันลงเมื่อได้สิ่งที่ตนต้องการมา แต่เครื่องมือกลายมาครอบอยู่บนกบาลเราตลอดชีวิต นี่ไม่มีใครเอาทั้งนั้นแหละ ก็หวังว่าเขาจะฉลาดพอที่จะรู้ว่า มันใช้ไม่ได้ เช่นจะยึดอำนาจ แล้วไง เขาก็ต้องคิดต่อไปด้วยว่า ยึดแล้วยังไง หรือบีบให้คุณทักษิณลง แล้วยังไงต่อไปหากไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าบอกว่า เอ้า ฉีกเป็นฉีก ฉีกเลย แล้วยังไงต่ออีก นี่ยุ่งฉิบหาย เพราะอย่างนั้นจึงคิดว่าทุกคนน่าจะฉลาดพอ กลุ่มคนที่มีปัญญาจะใช้ความรุนแรงได้คงจะคิดออกว่า ยังตอบโจทย์ต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจนถึงนาทีนี้จึงคิดว่า ความรุนแรงไม่น่าจะเกิด

 

แล้วภาคประชาชนจะอาศัยจังหวะนี้อย่างไรในการคืบไปข้างหน้า

การที่คุณมีฝ่ายบริหารที่อ่อนแอลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใด ก็เป็นโอกาสอันดีหากคุณคิดว่าอะไรดี อะไรถูก อะไรที่จะต้องเปิดพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น ก็เปิดขึ้นมาเลย โดยเฉพาะประชาชนในระดับล่าง คือในเวลานี้ ถ้าสมัชชาคนจนสามารถมาได้เท่ากับสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผมไม่เชื่อว่าคราวนี้รัฐบาลจะอุ้มได้ หรืออุ้มแล้วคนชั้นกลางในกรุงเทพจะยอมให้อุ้ม


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท