Skip to main content
sharethis


 


 


                                          


 


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า ต่อไปนี้ จะให้โรงงานน้ำตาลภายในประเทศรับซื้ออ้อยในราคาตันละ ๘๐๐ บาท และให้ปรับรื้อระบบการค้าอ้อยน้ำตาลภายในประเทศเสียใหม่ โดยจะให้ราคาภายในประเทศเปลี่ยนแปลงได้ตามราคาตลาดโลก


แน่นอน ในยามที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ช่วงขาขึ้น มีราคาแพงอยู่นี้  การออกมาประกาศอย่างนี้ ย่อมทำให้บรรดาโรงงานน้ำตาลภายในประเทศที่มีอยู่ราวๆ ๔๐ กว่าโรง และเกษตรกรชาวไร่อ้อยดีใจ  เพราะต่างได้รับผลประโยชน์เฉพาะหน้า


แต่ทั้งหมดนี้  ต้องแลกกับการไปตายเอาดาบหน้า ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดต่ำลง เพราะระบบอ้อยน้ำตาลที่เคยใช้กันอยู่เดิม ได้ถูกปรับรื้อโดย พ.ตท.ทักษิณ ชินวัตร เรียบร้อยแล้ว


 


ระบบอ้อย-น้ำตาลก่อนสมัยรัฐบาลเปรมฯ


ในแต่ละปี ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ (หัวหน้าโควต้า) ซึ่งได้รวมตัวกันเป็นสมาคมชาวไร่อ้อยและสมาพันธ์ชาวไร่อ้อย จะต้องออกมาต่อรอง ล็อบบี้ กดดันโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่จำนวน ๔๐ กว่าโรง ซึ่งมีการรวมตัวกันเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ  เพื่อกำหนดราคาอ้อยและน้ำตาล


ทั้ง ๒ ฝ่าย มีพลังการเมืองหนุนหลัง  แสดงอิทธิฤทธิ์ต่อสู้กัน ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งโดยตรงและผ่านทางนักการเมือง


ในที่สุด รัฐบาลในสมัยนั้นก็ประกาศให้โรงงานน้ำตาลต้องรับซื้ออ้อยในราคาตันละ ๕๐๐ บาท และหากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกมีราคาต่ำ ก็ให้เอาเงินกองทุนเกษตรกรเข้าไปอุดหนุน เกิดการเมืองเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างดุเดือด โปร่งใสบ้าง ไม่โปร่งใสบ้าง ตามยุคสมัยว่าใครคุม


 


ระบบอ้อย-น้ำตาล ภายใต้รัฐมนตรีชื่อ "จิรายุ" ในสมัยรัฐบาลเปรมฯ 


ประมาณปี ๒๕๒๔-๒๕๒๖ รัฐบาลในยุคนั้นมีนโยบายให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลรวมตัวกันขายน้ำตาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ


เรียกว่า เอาโรงงานน้ำตาล ๔๖ โรงทั่วประเทศ มา "ฮั๊ว" กันกับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้มีราคาสูง ก.ก.ละ ๑๓ บาท  ในขณะที่น้ำตาลทรายส่วนที่ส่งออกไปขายตลาดโลก ก็ให้ขายตามราคาตลาดโลก ซึ่งบ่อยครั้งเป็นราคาตลาดโลกจะมีราคาถูกกว่าในประเทศ


 เมื่อมีรายได้จากการขายน้ำตาลในประเทศและต่างประเทศเท่าไหร่  ก็เอามารวมกัน แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กัน โดยชาวไร่อ้อยจะได้ ๗๐% ส่วนโรงงานน้ำตาลจะได้ ๓๐%


 ปริมาณน้ำตาลส่วนที่ขายในประเทศ ก็ใช้วิธีคำนวณให้โรงงานน้ำตาลปล่อยน้ำตาลทรายในแต่ละเดือนไม่มากนัก เพื่อให้น้ำตาลในประเทศมีราคาสูงขึ้นไปได้ถึง ก.ก.ละ ๑๓ บาท ในขณะที่น้ำตาลส่งออกไปขายในตลาดโลก บางครั้งราคา ก.ก.ละ ๓-๕ บาทเท่านั้น


 พูดง่ายๆ คือ ให้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย รวมตัวกันผูกขาดน้ำตาลในประเทศ เพื่อหาผลประโยชน์มาแบ่งกันกิน  ถึงขนาดว่า เอานโยบายนี้ ไปออกเป็นพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล กำหนดวิธีดำเนินการ ทำให้ชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานน้ำตาลต่างหวานชื่นกันทั้งสองฝ่าย  มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย  ลักลอบขยายกำลังผลิตของโรงงานน้ำตาลอย่างเงียบๆ เรื่อยมา  


 


กรรมของระบบผูกขาด แบ่งผลประโยชน์ ๗๐ : ๓๐


แม้ระบบรวมหัวผูกขาดระหว่างโรงงานน้ำตาลกับชาวไร่อ้อย จะได้กระทำการขูดรีดราคาและผลประโยชน์จากประชาชนผู้บริโภคน้ำตาลในประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน เคยมีปัญหาบ้างก็เฉพาะยามที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำมากๆ  ทำให้ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอยากจะลักลอบเอาน้ำตาลทรายมาขายภายในประเทศซึ่งได้ราคาดีกว่า  จึงเกิดปัญหา "น้ำตาลเกาะสีชัง" คือ น้ำตาลทรายที่ลงเรือเพื่อเตรียมส่งออกที่เกาะสีชัง แต่ถูกนำกลับมาขายในประเทศที่มีราคาสูงกว่า 


อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกไม่หยุดนิ่ง มีขึ้นมีลง ผันผวนอย่างมาก บางช่วงเวลาราคาเปลี่ยนแปลงถึง ๓-๔ เท่าตัวก็มี


ขณะนี้ ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกสูงกว่าราคาในประเทศอย่างมาก และทุกครั้งที่ราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาในประเทศเช่นนี้ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยก็พยายามจะล็อบบี้ ปลุกปั่น เคลื่อนไหวว่าอยากจะยกเลิกระบบรวมตัวผูกขาด  เพราะหากสามารถนำน้ำตาลส่วนที่ขายอยู่ในประเทศไปส่งออกได้มากขึ้น ก็จะรวยกันมากขึ้น มีผลประโยชน์มาแบ่งกันกินมากขึ้น


และเมื่อปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศมีน้อยลง ราคาน้ำตาลในประเทศก็ต้องสูงขึ้น เท่าราคาต่างประเทศ ไม่อย่างนั้นโรงงานน้ำตาลก็ส่งน้ำตาลออกไปขายหมด  ประชาชนผู้บริโภคน้ำตาลในประเทศก็ต้องได้รับผลกระทบในยามที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกยังแพงอยู่เช่นนี้  


พูดง่ายๆ ในยามที่จะขายต่างประเทศได้ราคาดี ก็อยากยกเลิกระบบรวมหัวผูกขาด เพื่อหวังจะได้ผลประโยชน์จากการส่งออกมากขึ้น


 


วิถีของนักผูกขาด


การแสวงหาผลประโยชน์ในระบบอ้อย-น้ำตาล ที่มีการรวมหัวผูกขาด และแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้มาจากการผูกขาดนั้น ดูจะสอดคล้องกับประสบการณ์และนิสัยของนายกรัฐมนตรีที่เคยทำมาหากินกับธุรกิจสัมปทานผูกขาด เคยขายโทรศัพท์มือถือในประเทศด้วยราคาที่สูง ในระดับที่มี "กำไรพิเศษ"  จึงย่อมเข้าใจหัวอกของคนที่หากินกับการรวมหัวผูกขาดเป็นอย่างดี


ไม่น่าแปลกใจ ในช่วง ๕ ปีแรกของรัฐบาลทักษิณ ขณะนั้น ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศ  พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเข้าใจระบบดี  และปล่อยให้โรงงานน้ำตาลรวมหัวผูกขาด ขายน้ำตาลทรายในประเทศราคาสูง เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ


แต่มาบัดนี้ เมื่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเปลี่ยนไป มีราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็รู้วิธีที่จะทำให้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยผู้รวมหัวกันผูกขาดอยู่ ได้ผลประโยชน์มากขึ้นก็โดยการเลิกระบบรวมตัวเสีย แล้วกลับมาประกาศราคารับซื้ออ้อยเหมือนสมัยก่อนรัฐบาลเปรมฯ เพื่อให้โรงงานน้ำตาลในยามนี้สามารถขายน้ำตาลในประเทศได้ราคาสูงขึ้น โดยการประกาศว่าให้รับซื้ออ้อยในราคาตันละ ๘๐๐ บาท ซึ่งยังได้หน้า ได้คะแนนนิยมอีกด้วย


ถ้าประชาชนผู้บริโภคน้ำตาลรู้ไม่ทัน เมื่อน้ำตาลในประเทศขึ้นราคาก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ไม่รู้ว่าต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ เพิ่มผลกำไรให้ใคร  เพราะจะมีคนหาลูกเล่นมากลบเกลื่อน เช่น บอกว่าคนไทยกินน้ำตาลไม่มากในแต่ละปี หรือราคาแพงขึ้นนิดหน่อยไม่น่าเดือดร้อน ฯลฯ


นี่คือวิถีของนักผูกขาด ที่ย่อมจะเข้าอกเข้าใจ และล่วงรู้วิธีที่จะขายของราคาแพงๆ โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการขูดรีดกำไรส่วนเกินไปจากประชาชนผู้บริโภคหรือไม่


แล้วคอยดูว่า  ในอนาคต  หากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำลง  ก็คงจะหาทางสร้างระบบรวมหัวผูกขาด เพื่อไม่ให้ราคาน้ำตาลในประเทศลดต่ำลงอีกจนได้


น่าอิจฉา  สมาคมนักผูกขาด ที่ได้ผู้นำที่มีประสบการณ์ความเข้าใจในวิถีแห่งการหากินกับระบบผูกขาด น่าสนับสนุนให้เป็นนายกสมาคมฯ มากกว่านายกรัฐมนตรีเสียอีก


น่าเป็นห่วง  การบริหารประเทศด้วยวิถีของนักผูกขาด  ใครรับภาระต้นทุน  และผลประโยชน์เข้ากระเป๋าใคร


 


ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง


 กลับหน้าแรกประชาไท 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net