Skip to main content
sharethis

   


วันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2005 20:29น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางสังคม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาไปถึงระดับนโยบายที่เป็นเอกภาพ


 


ในฐานะที่สื่อเป็นผู้สะท้อนความเป็นจริง และเป็นสื่อกลางในการสร้างสรรค์สันติภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างคู่ขัดแย้ง และขยายเป็นความเข้าใจร่วมกันของทั้งระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับสากล ฉะนั้นสื่อมวลชนไทยจะต้องเป็นผู้ชี้นำสำคัญในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้


 


ขณะเดียวกันก็ต้องประสานความร่วมกับสื่อมวลชนของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นจินตนาการใหม่สำหรับคำว่า "สันติภาพในสังคมไทย"


 


ที่สำคัญยังเพื่อเป็นการยกระดับการวิเคราะห์ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการศึกษาและเรียนรู้การทำงานระหว่างสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อุษาคเนย์" โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสื่อมวลชน และความรุนแรงกับสันติภาพในระดับท้องถิ่นของแต่ละประเทศ


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) จึงร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มูลนิธิสื่อสารสาธารณะ (มสส.) และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งองค์กรภาคี จัดเวทีนโยบายสาธารณะสื่อมวลชนกับยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ครั้งที่ 1 เรื่อง "สื่อสันติภาพ : บทสนทนาอุษาคเนย์" ในวันที่ 15 ธันวาคม ที่จะถึงนี้


 


วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดสัมมนาดังกล่าว ก็เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารความขัดแย้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา รวมทั้งมาเลเซีย เพื่อสร้างหลักคิดในการทำงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน


 


การสัมมนาจะช่วยเปิดพื้นที่การสนทนาและถอดประสบการณ์จากการทำงานของสื่อมวลชนในอุษาคเนย์ที่ทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อสังเคราะห์ประสบการณ์การรายงานข่าวความไม่สงบของแต่ละประเทศ  อันจะนำไปสู่บทสรุปถึงแนวทางของการทำงานสื่อเพื่อสร้างสันติภาพให้กับสังคมร่วมกัน


 


อีกด้านหนึ่งคือเวทีความรู้เรื่องการรายงานข่าวความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนไทยกับสื่อต่างประเทศ


 


สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนสื่อมวลชนทุกแขนง และนักวิชาการจากประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชุมชน ฝ่ายการเมือง และอื่นๆ 


 


โดยงานในภาคเช้าจะจัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตรงข้ามวชิรพยาบาล ส่วนภาคบ่ายจัดที่คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


  กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net