การปะทะกันของมุมมองคนทำงาน-คนต่อต้าน WTO

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือ การไขข้อข้องใจของเจ้าหน้าที่จากองค์การคนหนึ่ง ที่ขอให้สัมภาษณ์ในนามองค์กรซึ่งมีชื่อสั้นๆ ว่า "Focus"* องค์กรเอกชนต้านโลกาภิวัตน์-มี ผอ.ชื่อ วอลเดน เบลโล หลังจากเขาได้อ่านบทความของ พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ เจ้าหน้าที่จาก WTO ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของวอลเดนที่ "ประชาไท" นำลงไว้อย่างถึงพริกถึงขิง (โปรดอ่าน บทความพิเศษ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุม WTO ที่ฮ่องกง http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1805&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai)...

 

การสัมภาษณ์ครั้งนี้มิได้มุ่ง "เอามัน" จากปรากฏการณ์การตอบโต้แบบ "ปิงปอง" หากแต่ต้องการเผยให้เห็นความคิด-มุมมอง ตลอดจนข้อมูลของ 2 โลกทัศน์นี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญ และสนุกสนานกับการติดตามการประชุม WTO ที่กำลังดำเนินอยู่ในฮ่องกง ณ นาทีนี้

 

0 0 0

 

ตามข้อชี้แจงของพีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ที่มีต่อรายงานพิเศษเกี่ยวกับวีดิทัศน์รณรงค์ของวอลเดน เบลโล ทางโฟกัสมีความคิดเห็นอย่างไร ?

โฟกัส - บทความเริ่มต้นว่า "มีความไม่จริงมากในรายงาน" ความไม่จริงที่ว่านั้น คิดว่ามาจากการมองที่ต่างกัน มองจากคนละจุดมากกว่า ไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างความจริงหรือไม่จริง และการแนะนำให้หาความจริงจากเว็บไซต์ขององค์การการค้าโลก (WTO) เราก็ไม่เห็นว่าจะเป็นวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะในเว็บไซต์ของ WTO เองก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงครบถ้วนทั้งหมด ฉะนั้น ความจริงที่ให้แบบไม่ครบ บางครั้งอันตรายกว่าคำโกหกเสียอีก

 

ในตอนท้ายบทความสรุปว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ในมุมของเราสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การมองจากจุดเดียว และคิดว่าสิ่งนั้นคือความจริงแท้ การที่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ ทุกฝ่ายให้มุมมองที่แตกต่างไป ให้ข้อมูลที่รอบด้าน แล้วเราเชื่อในศักยภาพของประชาชนว่าเขาจะเข้าใจ จะติดตาม จะเห็นผลของมัน

 

เรื่องกรอบข้อตกลงเดือนกรกฏาคม (July Framework) ซึ่งเป็นจุดพลิกสำคัญในการผลักดันการเจรจาต่อรองในWTO ให้คืบต่อไปได้  ตรงนี้ชัดเจนว่าเห็นไม่ตรงกันค่อนข้างมาก ?

ในบทความบอกว่า การสรุปของเบลโลที่ว่ากรอบข้อตกลงนี้เดือนกรกฎาคม เป็นจุดเริ่มต้นของการยกเลิกกฎระเบียบของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น "ถือเป็นการสรุปที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง" ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ก่อให้เกิดความสับสน เพราะเบลโลระบุว่า มันเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดสุดท้าย อีกทั้งตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า มีเรื่องการยกเลิกกฎระเบียบและการเปิดเสรี ซึ่งในอดีตเราก็จะเห็นได้ว่า การเริ่มต้นจากจุดเล็กสามารถขยายตัวมาเป็นการยกเลิกกฎระเบียบค่อนข้างมหาศาล และพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มหดน้อยลงไป อาทิ การเจรจาการค้าสินค้าบริการนั้น เห็นได้ชัดเจนยิ่ง

 

นอกจากนี้การบอกว่า "กรอบข้อตกลงเป็นการพยายามปูทางให้ยุติธรรมและทันสมัยยิ่งขึ้น" ตรงนี้เป็นมุมมองที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากความยุติธรรมนั้นมาจากอะไร ถ้าอ้างว่า เป็นเรื่องของการลดการอุดหนุนการส่งออกซึ่งตกลงกันภายใต้กรอบเดือนกรกฎาคม ก็จริงอยู่ แต่อุดหนุนการส่งออกมันถูกย้ายไปอยู่ภายใต้กล่องต่างๆ ของการอุดหนุนภายใน ซึ่งส่งผลต่อการทุ่มตลาดต่อไป ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็ออกมายืนยันแล้วว่า การลดการอุดหนุนที่พูดถึง 60-80% จะไม่เกิดผลจริงในการลดภาพรวมของการอุดหนุน และเราก็ฟันธงเช่นนั้น รวมทั้งภาคบริการ หากมีการเปิดเสรี ถึงที่สุดแล้วประเทศพัฒนาแล้วต่างหากที่จะได้ประโยชน์เป็นสำคัญ

 

ร้ายไปกว่านั้น หากตกลงที่ฮ่องกงในรอบนี้ภายใต้กรอบเดือนกรกฎคมจริง ก็จะเป็นการให้สิทธิสำหรับประเทศพัฒนาแล้วสำหรับอุดหนุนต่อไป ซึ่งจะยิ่งทำร้ายประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น จึงไม่ขอเรียกสิ่งนี้ว่า ทันสมัย แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าโอกาสที่จะทำให้อะไรดีขึ้นนั้นจะไม่มี

 

ถ้าประเทศกำลังพัฒนาไม่พอใจกรอบข้อตกลงเดือนกรกฎาคม ก็สามารถไม่ผ่านร่างนั้นได้ตามที่บทความระบุไม่ใช่หรือ ?

ตรงนี้ขอชี้แจงว่า กรอบข้อตกลงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการตกลงเมื่อเดือนกรกฎาปีที่แล้ว มันเป็นความตกลงที่มีระดับความสำคัญสูงมาก แต่กลับมีการตกลงกันที่เจนีวา ในระดับ General Council ซึ่งไม่ใช่การประชุมระดับรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีแค่ 40 กว่าประเทศที่เข้าร่วม ฉะนั้น ทำให้เห็นอย่างยิ่งว่า เกิดความไม่เป็นกลาง ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ระดับเจรจาจากทุกประเทศเข้าร่วม แต่รัฐมนรัฐมนตรี 40 ประเทศนั้น ย่อมทรงน้ำหนักผิดกันในผลที่ออกมา ความสำคัญขนาดนี้ ไม่ควรจะออกมาจากเวทีเช่นนั้น

 

ที่สำคัญอีกประการก็คือ ที่บทความระบุกรณีภาคประชาชนและสื่อ ที่จริงแล้วก็ติดตามการประชุมหนนั้นเช่นกัน ก็จริงอยู่ว่าทาง WTO ก็ทำงานหนัก และจริงอยู่ว่าสื่อมวลชนหลายฝ่ายก็ติดตามกัน แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นเดียวกันว่า การเจรจานั้นมีระดับความสำคัญน้อยกว่าระดับรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น ความสนใจของสื่ออย่างทั่วถึงย่อมเทียบไม่ได้กับระดับรัฐมนตรี ความพร้อมของภาคประชาสังคม หรือแม้แต่ประเทศเล็ก ๆ กำลังพัฒนาก็ไม่พร้อมเท่ากับประเทศใหญ่ เพราะตนเองไม่สามารถที่จะเดินทางไปที่เจนรีวาได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แน่นอน จึงเกิดความเบี่ยงเบนของความยุติธรรมและความเป็นกลาง ซึ่งจำเป็นจะต้องพูดถึง

 

การบอกว่าการคุยนอกรอบที่บอกว่าจับเข่าคุย เป็นเรื่องธรรมดา การมองว่าเป็นเรื่องธรรมดานี่คือปัญหา เพราะจริงๆ WTO มีไว้เพื่อวางกฎระเบียบ แต่ตนเองกลับไม่มีกฎระเบียบในการพูดคุย เวทีอย่างนี้เป็นเวทีที่ไม่เป็นทางการ 

 

แต่สุดท้ายกรอบข้อตกลงเดือนกรกฎานี้ ก็ต้องมาผ่านฉันทามติที่ประชุมใหญ่ระดับรัฐมนตรีอีกครั้ง ทำไมจึงมีความกังวลใจ ?

แน่นอนว่าสุดท้ายแล้ว เวทีที่ไม่เป็นทางการาจะต้องกลับมาขอรับความเห็นชอบจากเวทีที่เป็นทางการ แต่ในคนที่ไม่ได้ไปร่วมตอนแรก เขาไม่ได้มีสิทธิออกความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้น อย่างมากก็แค่แก้อะไรได้นิดๆ หน่อยๆ หรือบอกว่ารับหรือไม่รับ สิทธิในการบอกว่ารับหรือไม่รับเทียบไม่ได้กับสิทธิในการยกร่างความเป็นไป เพราะประเทศต่างๆ มักจะอยู่ในภาวะกดดัน บางครั้งยอมที่จะมีฉันทามติ เพราะถูกกดดันทางการเมือง กดดันทางการทหาร เงินช่วยเหลือที่ประเทศพัฒนาแล้วเอามาใช้กดดัน

 

ฉะนั้น หลายครั้งเขาบอกว่าเขาไม่พอใจ แต่เขาอยู่ในภาวะกดดัน เคยคุยกับตัวแทนหลายประเทศ เขาบอกว่าขืนเขาลุกขึ้นมาพูด เขาโดนเด้งออกจากตำแหน่งแน่ เพราะอเมริกาก็โทรไปหาประธานาธิบดีประเทศนั้นๆ บอกว่าเงินช่วยเหลือก้อนนี้รออยู่นะถ้ายอมตกลง มันจึงจำเป็นที่เราจะต้องพูดอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ใช่การที่บอกว่ามี consensus แล้วแปลว่าทุกคนเห็นดีและยินยอมพร้อมใจกันหมดโดยมิได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม ในบทความแสดงให้เห็นถึงข้อดีของกรอบข้อตกลงเดือนกรกฎาคม เพราะกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด หรือ LDC (Least Development Country) ไม่ต้องลดกำแพงภาษี หรือการอุดหนุนใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งประเทศรวยจะพยายามเปิดตลาดรับสินค้าส่งออกจากประเทศเหล่านั้น โดยไม่เก็บภาษีศุลกากร และไม่จำกัดโควตาอีกด้วย

การจะหวังให้เปิดตลาดให้ LDC จริงๆ ก็มีเงื่อนไขติดพันมาเยอะ ที่สำคัญวาระนี้ส่วนหนึ่งก็ถูกใช้เป็นการแบ่งแยกประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ให้มีพลังน้อยลงในการจะต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้ว และ LDC เอง ณ ขณะนี้ก็ไม่พอใจเงื่อนไขการพัฒนาที่ถูกเสนอให้ เพราะมองว่าหลายส่วนนั้นไม่เหมาะกับสิ่งที่ประเทศตนเองต้องการ

 

ยกตัวอย่างเช่น การให้โควตาสินค้าจากประเทศพวกนี้เข้ามาเป็นพิเศษ มันก็ยังติดเงื่อนไขอื่นๆ อยู่มาก เช่น non- tariff barriers ทั้งหลายก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งนั่นคือปัญหาที่สำคัญมากกว่า และปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศเหล่านี้ คือ ศักยภาพในการผลิตของตัวเอง ฉะนั้น เปิดตลาดให้ก็ใช่ว่าประเทศเหล่านี้จะได้ประโยชน์จริง นี่คือการให้ข้อมูลไม่หมด

 

แล้วกรณีที่กลุ่มประเทศแอฟริกาทั้งหมดที่เป็นสมาชิก WTO พูดในที่ประชุมว่าถ้าการประชุมรัฐมนตรีที่ฮ่องกงล้มเหลว ประเทศที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ประเทศแอฟริกา ?

กรณีของแอฟริกาจุดที่เป็นห่วงที่สุดเวลานี้คือ การเสียสิทธิประโยชน์ ต้องอธิบายว่า ณ ขณะนี้ประเทศแอฟริกาได้สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดของประเทศพัฒนาแล้วบ้างประเทศ เช่น ยุโรป แต่การเปิดเสรีทำให้เขาสูญเสียสิทธิประโยชน์ตรงนั้นไป ฉะนั้น เขาเรียกร้องมากว่าต้องแก้ไขปัญหานั้น แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาตรงนั้นเท่าไร ถ้าตกลงกันโดยไม่ได้แก้ไขตรงนี้ประเทศแอฟริการมีปัญหาแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม แอฟริกามีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากการเจรจา เพียงแต่ทิศทางที่ออกมาขณะนี้ น่าเป็นห่วงมาก และที่เรียกว่า development package เป็นข้อเสนอของการพัฒนาที่จะให้แก่ประเทศเหล่านี้ในรอบนี้ ถ้าไม่จบรอบก็ไม่ได้ ดูเหมือนเขาจะเสียประโยชน์ แต่การที่เขาจะได้ข้อเสนอนี้ ซึ่งยังไม่ชัดว่าจะดีจริง เขาต้องยอมตกลงอะไรหลายอย่าง ต้องทำความเข้าใจว่าประเทศแอฟริกาทั้งหมดไม่ใช่ LDC ทีนี้ประเทศที่ถึงแม้จะยากจนแต่ก็ต้องลดภาษีกับเขาเหมือนกัน ฉะนั้นการไปยอมรับแบบนั้น ถือว่าเป็นการไปรับโครงสร้างที่ผิดพลาด เพราะจะได้เพียงข้อช่วยเหลือซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้

 

ถึงที่สุด การมีอยู่ของ WTO ไม่มีประโยชน์เลยหรือ ?

เราเคยหวังกันมาตลอดว่า องค์กรอย่างนี้น่าที่จะสร้างประโยชน์ให้มนุษย์ได้ แต่ ณ ขณะนี้ 10 ปีผ่านมาแล้ว ข้อเสียที่เกิดขึ้นมา มันมากกว่าข้อดีอย่างเทียบไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทิศทางการเจรจาและวิธีการเจรจายังดำเนินไปในลักษณะปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม คิดว่ากลไกระดับโลกคงจะต้องมี แต่ ณ ขณะนี้กลไกระดับโลกไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เนื่องจากมันเป็นกฎกติกาที่บังคับใช้จริงกับประเทศยากจนเท่านั้น ประเทศร่ำรวยแทบไม่สน ทำผิดกฎกันตลอด อเมริกาก็ทำผิด แล้วถูกตัดสินแล้วว่าผิด ก็ยังไม่แก้ เพราะอะไร มาตรการลงโทษใน WTO ก็คือ ผู้ที่เสียหายสามารถมีมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับประเทศคู่กรณีได้ ถามว่าประเทศอย่างเบนิน ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกาที่มีปัญหาเรื่องฝ้ายกับอเมริกา จะตอบโต้อะไรอเมริกาได้ อเมริกาเขาไม่สน ตอบโต้มาสิ คนรวยมักจะอยู่เหนือกฎหมาย มันเป็นความจริงใน WTO

 

ถ้าไม่มี WTO จะมีกลไกอะไรมาทดแทนการเจรจาต่อรองทางการค้าของประเทศต่างๆ ในระบบการค้าเสรีนี้ ?

เราไม่เห็นด้วยกับการค้าเสรีอยู่แล้ว เราเห็นด้วยกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่แนวของ WTO และ FTA เป็นการขัดขวางการทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นจริงในระดับชาติ

 

....................................................................................

อ่านบทความย้อนหลัง

วอลเดน เบลโล : ทำไม "WTO ฮ่องกง" มันถึงแย่มากสำหรับคุณ

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=631&SystemModuleKey=SepcialReport&SystemLanguage=Thai

 

บทความพิเศษ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุม WTO ที่ฮ่องกง

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1805&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

*Focus - โครงการศึกษาและปฏิบัติการการพัฒนา (Focus on the Global South)

 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท