Skip to main content
sharethis

  


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ....


 


เนื่องจากในขณะนี้ รัฐสภากำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลจัดการป่าเขตร้อนของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าและทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน อันเป็นเจตนารมณ์ตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญ และยังสอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอีกประการหนึ่ง


 


ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับประชาชนได้ถูกยกร่างจัดทำขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจากงานศึกษาวิจัย ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาคของประเทศในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า และพิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผูกพันพึ่งพาอาศัยป่า ได้มีบทบาทมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการป่าและทรัพยากรชีวภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันปัญหาการฉกฉวยเอาทรัพยากรชีวภาพในป่าไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม ดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีเรื่องเปล้าน้อย เรื่องกวาวเครือ เป็นต้น


           


นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่าร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนเป็นกฎหมายฉบับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวางมากที่สุดฉบับหนึ่ง มีการยกร่างจัดทำกันมากว่า 12 ปี เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 52,968 รายชื่อ ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับประชาชนต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 1 มีนาคม 2543 และได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ด้วยคะแนนเสียงถึง 341 เสียง (งดลงคะแนน 2 เสียง)


           


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาความไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักการ วัตถุประสงค์และเนื้อหาสาระของกฎหมายอย่างถ่องแท้ ประกอบกับทัศนคติและความไม่ไว้วางใจต่อชุมชนท้องถิ่นในการจัดการดูแลป่า ทำให้วุฒิสภาได้ปรับแก้ไขหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมาย จนต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฯ


           


ยิ่งไปกว่านั้น ในชั้นคณะกรรมาธิการร่วมกันฯ กรรมาธิการร่วมกันในฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอให้เพิ่มเรื่อง "เขตอนุรักษ์พิเศษ" โดยเป็นเขตที่จะมีการประกาศซ้อนขึ้นในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่แต่เดิม เป็นเขตพื้นที่ที่ห้ามมิให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนอย่างเด็ดขาด และในที่สุดกรรมาธิการฝ่ายวุฒิสภา และกรรมาธิการฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่มาจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โหวตสนับสนุนให้มีการบัญญัติเพิ่มเรื่องเขตอนุรักษ์พิเศษไว้ในร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน


           


การบัญญัติเพิ่ม "เขตอนุรักษ์พิเศษ" ซ้อนทับไปในเขตป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่แต่เดิม เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเกี่ยวกับรากฐานและสภาพปัญหาการดูแลจัดการป่าเขตร้อน เป็นแนวคิดการป้องกันรักษาป่าโดยอาศัยคำสั่งทางกฎหมายเป็นหลัก โดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายรัฐและข้าราชการ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเกิดความล้มเหลวในทางปฏิบัติและกลายเป็นช่องทางเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนี้ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจถึงเนื้อหาสาระของกฎหมายป่าชุมชนอย่างแท้จริง เนื่องจากในร่างกฎหมายป่าชุมชนได้กำหนดเงื่อนไขและกระบวนการคัดกรองในการให้สิทธิชุมชนที่จะยื่นขอจัดตั้งป่าชุมชนไว้อย่างเข้มงวดและรัดกุมแล้ว กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่ชุมชนที่จะไปขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ยังไม่เคยมีการจัดการดูแลในรูปแบบป่าชุมชนมาก่อน


           


การเพิ่มเรื่องเขตอนุรักษ์พิเศษไว้ในร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน นอกจากจะไม่ได้เป็นมาตรการป้องกันจัดการปัญหาที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการลิดรอนสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 46 เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แทนที่กฎหมายจะส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนที่มีศักยภาพ มีพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ป่า ได้เข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมในการป้องกันดูแลรักษาป่าร่วมกับภาครัฐในรูปแบบการจัดการป่าชุมชน ผลจากการประกาศ "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซ้อนทับพื้นที่ที่ชาวบ้านดูแลจัดการเป็นป่าชุมชนอยู่แล้ว จะเป็นการลิดรอนสิทธิชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นผลให้กฎหมายป่าชุมชนไม่สามารถใช้บังคับได้ในที่สุด


           


ในทางกลับกัน ภาครัฐควรที่จะสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งได้พัฒนาสั่งสมภูมิปัญญาด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนเป็นต้นทุนทางสังคมอยู่เดิม ได้มีศักยภาพและความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น นำไปสู่การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมใหม่ที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสร้างความเข้มแข็งของ "ระบบเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ" (Biodiversity-Based Economy) ซึ่งจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานจุดแข็งที่แท้จริงของประเทศไทย


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอเสนอให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาฯ อนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการอนุรักษ์และดูแลจัดการป่าเขตร้อน คือ ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544


 


นอกจากนี้ ควรจะได้มีการบรรจุเรื่องร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาโดยเร่งด่วนเพื่อให้ทันกับการประชุมรัฐสภาในสมัยประชุมนี้


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


14 ธันวาคม 2548


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net