Skip to main content
sharethis


เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เป็นนักวิชาการอิสระที่ทำงานเรื่องป่าและสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยกาฝ่ายวิชาการรวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) มีส่วนร่วมกับการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน อย่างแนบแน่น เพราะเป็นหนึ่งในกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ทั้งในชั้นส.ส.,ส.ว.,คณะกรรมาธิการร่วมกันฯ ชุดแรก


 


บทสนทนานี้เกิดขึ้น เมื่อได้เห็นเขานั่งนวดส้นเท้าร่วมกับชาวบ้าน 99 คนที่เดินเท้าธรรมชาติยาตรา ซึ่งปักหลักอยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากเขาได้ร่วมเดินกับชาวบ้านมา 1 วัน และก่อนหน้านั้นเคยร่วมเดินในช่วงจังหวัดพิษณุโลก 40 กม. "แต่ละก้าวๆ ขาเราหนักขึ้นเรื่อย แต่ใจเราก็จะเบาขึ้นเรื่อยๆ"


 


0 0 0


 



 


หลายคนเป็นห่วงเรื่องป่าชุมชน เพราะกลัวชาวเขาที่ทำลายป่า ได้สิทธินี้


ในความจงเกลียดจงชังชาวเขา แล้วก็พูดกันทุกวันนี้ว่าชาวเขาทำลายป่า ในอดีตนั้นใช่ แต่ต้องถามต่อว่าเพราะอะไร ก็เพราะรัฐบาลส่งเสริม ในจอมทองนั้นเมื่อก่อนประมาณ 50-60 ปีก่อนเปิดโรงฝิ่น แล้วก็ส่งเสริมให้รัฐปลูกฝิ่นมีใบอนุญาตปลูกฝิ่นด้วย ชาวเขาก็ต้องปลูกฝิ่น


 


พอวันดีคืนดี ยุคจอมพลสฤษดิ์ปราบฝิ่น ปิดโรงฝิ่น ให้ชาวบ้านหยุดปั๊บ แต่คนสูบมันไม่หยุดสูบนี่ ก็ยังมีการแอบผลิตไม่หมด เป็นการสูบใต้ดินทำให้ราคาฝิ่นสูงขึ้นๆ จนหลังๆ รัฐปราบจริงจัง ก็ส่งเสริมพืชอื่นที่รายได้ดีทดแทนฝิ่น ตอนแรกก็ไม้ดอก ไม้ผลเมืองหนาว แต่ทำไปซักพักโรคก็กิน ต้องใช้สารเคมีมาก ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาก็เริ่มส่งเสริมพืชไร่เมืองหนาว กะหล่ำ แครอท อะไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านจอมทองที่เขาขนมาค้านป่าชุมชนฉบับประชาชน ก็เป็นชาวบ้านที่ขายเม็ดแล้วก็รับซื้อพืชผล


 


ความจงเกลียดจงชัง เกิดขึ้นโดยไม่ดูเลยว่ามันมีกระบวนการส่งเสริมให้ชาวเขาทำ ทั้งภาครัฐเอง แม้แต่โครงการระหว่างประเทศก็มีเข้ามาส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาว แล้วอยู่ๆ ก็ให้เลิกมาปลูกข้าวกินอย่างเดียว มันก็ไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจนี้ มันต้องค่อยๆ ปรับ


 


แล้วสถานการณ์ของชาวเขาตอนนี้เป็นยังไง


ตอนนี้ ถ้าเราไปดูม้งป่ากล้วยที่โดนโจมตีอยู่ว่าทำลายป่า เมื่อก่อนเขาใช้สารเคมี แต่เดี๋ยวนี้เขาปรับตัว ไปตรวจสอบน้ำไม่มีแล้วสารเคมี แต่ปรากฏว่าชาวบ้านข้างล่างเองขยายลำไย ทำลำไยฤดูแล้ง โอ้โห สารเคมีเพียบเลย เขาเริ่มเปลี่ยนมานานแล้ว แต่บางแห่งที่ไม่เปลี่ยนก็มี เพราะมันมีหน่วยงานเข้าไปส่งเสริม เรื่องป่าเมืองภาคเหนือ ป่าต้นน้ำ มันจึงไม่ใช่แค่พูดว่าชาวบ้านทำลายป่า รากเหง้ามันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของรัฐด้วย ที่ไปขีดวงว่าเป็นป่าอนุรักษ์  อย่างไนท์ซาฟารี ถ้าไม่ขีดเป็นป่าอนุรักษ์ก็ทำไม่ได้ เป็นป่าชุมชนชาวบ้านไม่ยอมแน่


 


การจัดตั้งป่าชุมชนจะไม่สุ่มเสี่ยง เพราะเป็นการยกป่าให้คนกลุ่มน้อยดูแลหรือ


ป่าที่พูดถึงนี่ชาวบ้านเขาดูแล ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายเลย จะเรียกว่าไปยกให้เขาได้ยังไง รัฐต่างหากไปเอาของเขามา กฎหมายป่าชุมชนนี้คือคืนสิทธิให้เขาดูแลอย่างเดิม แล้วกฎหมายมาตราไหนกันที่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ ไม่มี มีแต่ให้มีสิทธิดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลยั่งยืน มันก็เหมือนทรัพย์สินส่วนรวมที่อยู่ในตำบลหมู่บ้านไหน ที่นั่นก็ต้องดูแล


 


คนภายนอกเข้าไปได้ไหม


คนภายนอกที่เข้าไปทำลายไม่ได้แน่ แต่ที่ว่าคนภายนอกเข้าไม่ได้มีที่ไหน อย่างวันนี้ไปที่สวนสันติภาพ เจ้าหน้าที่มาเลย คุณเป็นใคร มาจากไหน ทำไมไม่ขออนุญาต มันเป็นส่วนสาธารณะก็กลายเป็นสวนกทม. แต่ป่าชุมชนมีไหมที่จะต้องตรวจบัตร ไม่มีมาไล่บี้ มีแต่ถามไถ่ยกน้ำมาให้กิน


 


จริงๆ ต้องตั้งคำถามกับคนกรุงเทพฯ ให้มากว่า เมื่อไหร่จะหยุดบริโภค ที่กดดันให้คนชนบทต้องเร่งล้างผลาญทรัพยากร ดูซิบ้านใหญ่ๆ ปูนมาจากไหน ระเบิดภูเขาไหม เสาบ้าน 20-30 ต้นใช้ไม้เท่าไหร่ บ้านชาวบ้านก็แค่เล็กๆ ชาวบ้านใช้ไม่หมดหรอก ใช้ครึ่งเผาครึ่งก็ยังเทียบกับที่คนเมืองใช้ไม่ได้ เพราะเขาไม่ใช่ฟุ่มเฟือย ป่าเรามีไว้ให้คนไทยใช้มันไม่หมดหรอก ที่สำคัญคือมีไว้ขายนี่แหละ มีไว้ส่งไปอเมริกา


 


ธรรมชาติยาตรา คิดว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว


ธรรมชาติยาตราครั้งนี้ตั้งเป้าจะสื่อสารกับสังคม โดยทุกคนก็รู้ว่าพอพูดเรื่องป่าชุมชนมันเหมือนวิ่งชนกำแพง คือ มันไม่ใช่เรื่องของใครจะดูแลรักษาป่าเท่านั้น แต่เหตุผลข้างหลังลึกๆ คือ รัฐไม่ยอมกระจาย อำนาจ ผลประโยชน์แลรายได้ เอาง่ายๆ อนุญาตให้เกาะช้าง เกาะพีพี เขาใหญ่ ทำรีสอร์ต ทั้งที่ถ้าเป็นป่าชุมชนนายทุนจะมีที่ในป่าเป็นร้อยเป็นพันไร่ได้ไหม ไม่ได้หรอก แล้วไปดูในแต่ละที่ ตระกูลอะไรเป็นเจ้าของ เป็นนามสกุลใหญ่ๆ ในคณะรัฐมนตรีทั้งนั้น เขาจะคายไหม ภาษีที่ดินแบบก้าวหน้ายอมไหม มีที่เยอะจ่ายภาษีเยอะเอาไหม จำกัดการถือครองที่ดินได้ไหม ภาษีมรดกได้ไหม กฎหมายอะไรที่มันจะยุติธรรมและช่วยคนจน ไม่มีหรอก ไม่เคยได้ ผ่านลวดหนามห้าชั้น แต่กฎหมายเอื้อนายทุน อย่างกฎหมายเช่าที่ดิน 99 ปี อย่างนี้แก้แป๊บเดียว แปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ง่ายนิดเดียว


 


นี่ชาวบ้านเดินมาเกือบ 900 กิโล เพื่อนยังไม่มาแยแส มาดูแลเลย มันน่าจะมาจับเข่าคุยกันว่าเป็นยังไงบ้าง เดินมา 900 กิโล มันน่าจะมาพลิกดูมือดูตีนหน่อยว่าชาวบ้านเป็นยังไง ไม่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน แต่บางคนก็บอกสมน้ำหน้า ไปเลือกเขาเข้ามา


 


สังคมดูเหมือนเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน


สังคมเข้าใจยากเรื่องป่าชุมชนยาก เพราะอะไร เพราะสังคมทั้งสังคมก็เรียนหนังสือมาว่าชาวบ้านทำลายป่า ชาวเขาทำลายป่า ฉะนั้น ชาวบ้านเห็นพวกเราเดินมาก็ว่ามาม็อบ ก่อความวุ่นวาย เป็นพวกต่างด้าวมาขอสัญชาติ ว่าไปเรื่อย มองด้วยความไม่เข้าใจ


 


มาขอพระราชบัญญัติป่าชุมชน ก็กลายเป็นมาขอป่าเป็นของส่วนตัว มันอธิบายยาก บางคนก็เสนอเลยว่าให้ประชุมคุยกับสื่อตรงๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติมันทำได้อย่างนั้นหรือเปล่า บางทีสื่อเห็นว่าอะไรไม่ค่อยเป็นประเด็นก็ไม่สนใจ เดินธรรมยาตรมาแทบตายก็กลายเป็นม็อบไป เป็นชาวบ้านทำอะไรมันก็น่าเกลียดไปหมด


 


ขอคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับธรรมชาติยาตรา


ธรรมชาติก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น โดยกลไกธรรมชาติ ยาตราก็คือการเดิน ฉะนั้น ธรรมชาติยาตราก็คือการเดินเพื่อศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติขัดเกลาจิตใจ ให้เราคิดในทางกุศล เพราะ 900 กิโลมันหนัก มันต้องต่อสู้กับความคิดความเชื่อ ทัศนคติที่เป็นลบกับคนชนบท มันจึงต้องใช้พลังธรรมะในการขัดเกลาจิตใจไม่ให้โกรธ คิดอกุศล ยิ่งเดินมาก ใจก็เป็นกุศลมาก ยิ่งเดิน ใจก็ยิ่งเบา มันก็จะทำให้เกิดสมาธิ เมื่อเรามีศีล แล้วมีสมาธิ ก็จะเกิดปัญญา แล้วเราเชื่อว่าถ้าเรามีปัญญา และพิสูจน์ตัวเองแล้ว เราเชื่อว่าเขาก็น่าจะฟัง เราพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว เราเชื่อว่าความชั่วไม่มีทางชนะความดี


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net