Skip to main content
sharethis


ประชาไท - ชาวประมงพื้นบ้านตรัง บุกร้องผู้ว่าฯ แก้ปัญหาที่ดินเกาะมุก สร้างบ้านถาวรช่วยเหยื่อสึนามิ เผยรัฐยอมให้ใช้ป่าชายเลนได้แล้ว แต่มีคนอ้างสิทธิ สค. 1 ครอบครองป่าเลน ครบรอบ 1 ปี ยังไม่มีแววได้บ้าน แถมรุกต่อ ให้จังหวัดหนุนชุดปฏิบัติการปราบเครื่องมือประมงทำลายล้าง ผู้ว่าฯ ขานรับให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังทะเล  


 


เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 14 ธันวาคม 2548 ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาข้อเสนอของชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวประมงพื้นบ้านเข้าร่วมประมาณ 40 คน


 


นายแสวง ขุนอาจ กรรมการบริหารชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กล่าวถึงการแก้ปัญหาการสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัยสึนามิที่เกาะมุก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังว่า มีผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์พิบัติภัยครั้งนี้ 153 ราย ทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด ที่พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน มีมติให้จัดสรรที่ดินบริเวณป่าชายเลนเสื่อมโทรม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติบนเกาะมุกประมาณ 20 ไร่ ให้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง ยื่นขอใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่นายแกน คงสมุทร กับนางฑิฆัมพร หวันมูสา อ้างสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ครอบครองตามเอกสาร สค. 1 ของคนทั้ง 2 ทับซ้อนที่ดินแปลงนี้บางส่วน จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบ


 


นายเชิดพันธ์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้สั่งให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกาะมุกแล้ว ในเบื้องต้นให้องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบงทำเรื่องขอใช้พื้นที่มาก่อน และให้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมใช้ภาพถ่ายดาวเทียมตรวจสอบว่า เป็นที่ดินใน สค. 1 จริงหรือไม่ เช่นเดียวกับผู้ประสบภัยที่อยู่ในที่ดินบ้านฉางหลาง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ผู้ประสบภัยที่ต้องการอพยพมาอยู่ในที่ดินบ้านควนตุ้งกู  ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง ผู้ประสบภัยบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง ซึ่งอยู่ในที่ดินของรัฐ ให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ได้เลย


 


นายเชิดพันธ์ ชี้แจงต่อไปว่า สำหรับผู้ประสบที่อยู่ในที่ดินบ้านหาดทรายทอง  ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นที่ดินสาธารณะอยู่ในความดูแลของสำนักงานที่ดินจังหวัด ให้นำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้กลไกของศูนย์ปฎิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนจังหวัดตรัง ให้รอผลการดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อน บ้านแหลมไทร ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา บ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม


 


"ส่วนผู้ประสบภัยที่อยู่ในที่ดินของกรมเจ้าท่า ประกอบด้วย บ้านตะเสะ ตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง บ้านพระม่วง อำเภอกันตัง บ้านแหลมไทร ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา ให้รอผลการหารือเพื่อหาทางออกด้านกฎหมาย ระหว่างกรมเจ้าท่ากับคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด" นายเชิดพันธ์ กล่าว


 


นายแสวง กล่าวถึงการปราบปรามเครื่องมือประมงชนิดทำลายพันธุ์สัตว์น้ำว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ละเลยไม่เข้มงวดในการปราบปรามเหมือนในอดีต ทำให้เรือและเครื่องมือประมงชนิดทำลายสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทางชมรมประมงพื้นบ้านต้องการให้ทางจังหวัด สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางทะเล กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ให้มีความคล่องตัวและมีความต่อเนื่อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เรือประมงที่ทำผิดแล้วไม่ควรให้คืนให้เจ้าของนำกลับไปใช้กระทำผิดอีก  คาดว่าคงต้องใช้เวลา 2 - 3 ปี เครื่องมือประมงชนิดทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ จึงจะลดจำนวนหรือหมดไป


 


นายสุริยะ วิฑูรพันธ์ ประมงจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยึดเรือที่กระทำผิด เพราะบางลำอาจเป็นเรือเช่า คนทำความผิดไม่ใช่เจ้าของเรือ การลงโทษต้องเป็นไปตามกฎหมาย


 


นายเชิดพันธ์  ว่า ตนขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังและจัดการทะเล ตามนโยบายของจังหวัดอย่างเคร่งครัด และต้องการให้ทุกฝ่ายทำข้อตกลงร่วมให้ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  


            


 กลับหน้าแรกประชาไท           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net