Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 ธ.ค.48 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์คัดค้านการอนุญาตให้มีการทดลองพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในแปลงทดลองระดับไร่นา


 


ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เครือข่ายสถาบันเกษตรกร(ค.สก.) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโยบายให้มีการวิจัยมะละกอจีเอ็มโอในระดับไร่นาต่อไป เพราะเดือดร้อนจากโรคไวรัสใบด่างวงแหวน และเมื่อปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ภายในเดือนธ.ค.นี้จะรวบรวมความคืบหน้าในการวิจัย และมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ นำเสนอต่อครม.เพื่อให้พิจารณาอนุญาตให้สามารถทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงทดลองระดับไร่นาได้ เนื่องจากนักวิจัยได้ข้อสรุปแล้วว่ามะละกอจีเอ็มโอไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยทางอาหาร


 


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิฯ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นา แต่ก็มีการแพร่กระจายแล้วโดยที่ หน่วยงานรับผิดชอบไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งในกรณีของฝ้ายบีทีเมื่อ 2542 และมะละกอจีเอ็มโอเมื่อกลางปี 2547 


 


แถลงการณ์ระบุว่า ปัญหาการหลุดรอดของมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านผลกระทบต่อสิทธิเกษตรกร ปัญหาด้านการส่งสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ ปัญหาผลกระทบต่อสิทธิผู้บริโภค ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการผสมข้ามระหว่างมะละกอ ตัดแต่งพันธุกรรมกับมะละกอพันธุ์ทั่วไป และอาจกลายเป็นปัญหาการปนเปื้อนพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม (Genetic Pollution) ที่ยากต่อการเยียวยาแก้ไข หรือมิอาจทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้


 


คณะกรรมการสิทธิฯ จึงเห็นว่า ปัญหาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของระบบและกลไกในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety System) ของประเทศไทย และปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างระบบและกลไกในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ โดยเร่งด่วนก่อนที่จะมีการพิจารณากำหนดหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม


 


...............................................


 


แถลงการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


กรณีปัญหาการแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อมและนโยบายของไทยเรื่อง GMOs


 


จากเหตุการณ์เมื่อกลางปี พ.ศ.2547 ที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมได้สำรวจพบว่ามะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระ ที่ปลูกในแปลงเกษตรกรหลายจังหวัดเป็นมะละกอที่มีการแต่งตัด พันธุกรรม แม้ในตอนแรกหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะมีท่าทีไม่ยอมรับว่าเกิดปัญหาขึ้น แต่เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำการตรวจสอบยืนยัน พบว่ามีการแพร่กระจายมะละกอ ตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจริง หน่วยงานภาครัฐจึงได้ประกาศยอมรับต่อสาธารณะถึงปัญหาที่เกิดขึ้น


 


จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานโครงการทดลองมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมต้านทานโรคจุดวงแหวนระดับแปลงในภาคสนาม ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ส่วนแยกพืช จังหวัดขอนแก่น และเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ได้แต่งตั้งทำงานขึ้นมา 2 คณะ คือ คณะทำงานตรวจสอบการหลุดรอดของมะละกอดัดแปรพันธุกรรม และคณะทำงานศึกษาคำขอสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีผลสรุปจากคณะทำงานตรวจสอบการหลุดรอดของมะละกอดัดแปรพันธุกรรม และกรมวิชาการเกษตรว่าการแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมเกิดขึ้นจากสาเหตุใด มีความเสียหายกว้างขวางเพียงใด และใครเป็นผู้รับผิดชอบ


 


ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังจากเกิดปัญหามะละกอตัดแต่งพันธุกรรมผ่านไปกว่า 1 ปี จากการสุ่มตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า ในปี 2548 ยังคงมีการปลูกมะละกอตัดแต่ง พันธุกรรมในพื้นที่แปลงเกษตรกรในหลายจังหวัด ทั้งที่เกษตรกรเหล่านั้นก็เป็นเกษตรกรที่อยู่ในบัญชี รายชื่อเกษตรกรที่ทางกรมวิชาการเกษตรส่งมอบให้มีอยู่แล้ว


 


ปัญหาการแพร่กระจายของพืชดัดแปลงพันธุกรรมเช่นนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงปี 2542 ได้เคยมีปัญหาในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีเรื่องฝ้ายบีที ซึ่งมีการ ตรวจสอบพบการแพร่กระจายหลุดรอดของฝ้ายบีทีออกไปสู่สภาพแวดล้อมในขณะที่ยังอยู่ในขั้นการศึกษาทดลอง ในระดับไร่นา ครั้งนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่ไม่มีคำอธิบาย สรุปถึงสาเหตุของปัญหา ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา และไม่มีผู้ใดรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น


 


และจากกรณีปัญหาฝ้ายบีทีและปัญหามะละกอตัดแต่งพันธุกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของระบบและกลไกในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety System) ของประเทศไทย และปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างระบบและกลไกในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ โดยเร่งด่วนก่อนที่จะมีการพิจารณากำหนดหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม


 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้มีความพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ กับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านกฎหมาย ที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ ทั้งที่ ยังไม่ได้มีการดำเนินงานจัดการแก้ไขปัญหาการหลุดรอดแพร่กระจายของ GMOs ในสภาพแวดล้อมให้ลุล่วงไป ยังไม่ได้มีการปรับปรุงระบบกลไกในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นที่เชื่อมั่นของสาธารณะ ความพยายามดังกล่าว จึงดูเสมือนว่ามีเจตนาเป็นการกลบเกลื่อนปัญหา โดยทำให้เรื่องผิดกฎหมายกลับกลายเป็นความถูกต้องด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบของรัฐ


 


จากปัญหาเรื่องมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมที่เกิดขึ้น สภาพความเป็นจริงของระบบกำกับ ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพของไทย และการยอมรับในสินค้าตัดแต่งพันธุกรรมของประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของรัฐบาล ที่ยังไม่อนุญาตให้มีการทดลองพืชตัดแต่งพันธุกรรมในแปลงทดลองและระดับไร่นา และให้มีการปลูกพืช GMOs ในเชิงพาณิชย์ และขอคัดค้านการเปลี่ยนแปลงจุดยืน ดังกล่าว เนื่องจากจะนำมาซึ่งปัญหาผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเกษตรกร ผู้บริโภค ระบบนิเวศและ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


15 ธันวาคม 2548


 


  กลับหน้าแรกประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net