รายงานสัมมนา : พัฒนาคน ในโลกของการ "พัฒนา"

 

ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เกิดการส่งผ่าน เชื่อมต่อ ผนวกผสาน ขัดแย้ง ข้ามรัฐ ลอดรัฐ ประชาคมโลกพบว่า หลังการหลับไหลในความหวาดกลัวของสงครามลัทธิระหว่างขั้วประชาธิปไตยและสังคมนิยม กลับเกิดกระแสเชื่อมโลกด้วยสัมผัสเพียงปลายนิ้ว เกิดการส่งผ่านวัฒนธรรมภาษา วิถีชีวิต คติความเชื่อของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ผ่านอินเตอร์เนตและเคเบิ้ลทีวีในเวลาที่รวดเร็ว

 

ขณะที่คนในพื้นที่ต่างๆ เห็นความแตกต่างหลากหลายจากพื้นที่อื่นๆ ในโลกมากขึ้น คนนั้นกลับเกิดความรู้สึกสั่นคลอนภายในถึงการคุกคามของวัฒนธรรมอื่นที่ไหล่บ่าข้ามโลกเข้ามาสู่ตัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน และไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ โลกปัจจุบันได้เปิดเผยให้เห็นแล้วว่า ทั้งในระดับโลก ประเทศ ภูมิภาค สังคม ทุกระดับต่างมีความแตกต่างหลากหลายของผู้คนจากวัฒนธรรม ภาษา คติความเชื่อ

 

สิ่งที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ เราจะยอมรับในความหลากหลายและอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย ด้วยความเคารพและให้เกียรติแก่กัน ได้อย่างไร

 

ขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับการท้าทายทางวัฒนธรรม คติความเชื่อ และฐานคิด ในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากกรณีความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ การไหล่บ่าของแรงงานข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับบุคคลไร้สัญชาติตามแนวตะเข็บชายแดน

 

UNDP (สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง 'เสรีภาพทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาคน : ประสบการณ์ของประเทศไทย' ในโอกาสเปิดตัวรายงานการพัฒนาคน ปี 2547 ฉบับแปลภาษาไทย เรื่อง 'เสรีภาพทางวัฒนธรรมในโลกที่หลากหลายวันนี้' ขึ้น เพื่อเผยแพร่สถานการณ์และข้อเสนอแนะจากรายงาน ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

แม้ UNDP จะได้ตีพิมพ์รายงานการพัฒนาคน ปี 2548 เรื่อง ความร่วมมือระหว่างประเทศกับทางเลือกสำคัญ : ความช่วยเหลือ การค้า และความมั่นคงในโลกที่ไม่เท่าเทียม ฉบับภาษาอังกฤษ ออกมาแล้ว เมื่อเดือนกันยายนในช่วงเดียวกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 60 ณ นครนิวยอร์ก

 

แต่ด้วยความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ความขัดแย้งจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงเลือกแปลและจัดพิมพ์รายงานฉบับปี 2547 ออกมาก่อน เพื่อให้เกิดการขยายความคิด ผ่านการเสนอข้อเท็จจริงจากการศึกษาวิจัยที่ปรากฎในรายงาน

 

ในการสัมมนา ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกกอส. กล่าวว่า หลังสิ้นสุดสงครามเย็นปี 2533 ความขัดแย้งในระหว่างรัฐน้อยลง แต่ความขัดแย้งภายในรัฐกลับเพิ่มมากขึ้น เป็นความขัดแย้งภายในกรอบของรัฐที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการมีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายต่างกันภายในรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแตกสลายของยูโกสลาเวีย ความแตกต่างของรัฐหลายรัฐในแอฟริกา ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนาในหลายมุมของโลก สิ่งเหล่านี้คือต้นต่อของความขัดแย้ง ความสูญเสีย และการล้มตายของประชากรโลกมากมาย

 

ปัจจุบันเกิดการเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์" (Politics of Identities) เนื่องจากในอดีตระบบการเมืองมักจะวางกรอบ กำหนด และบังคับให้การแสดงตนแสดงตัวที่เป็นอัตลักษณ์ออกมาไม่ได้ หรืออย่างน้อยไม่ได้อย่างที่เจ้าของ เจ้าตัวอยากจะแสดง จนกระทั่งมาถึงยุคโลกาภิวัฒน์ ยุคที่ไม่มีความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองของสังคมนิยมกับประชาธิปไตย เป็นยุคของความพยายามที่จะเปิดกว้าง สิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้น

 

เพราะสังคมที่เปิดกว้างขึ้นได้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ของสังคมที่เคยถูกปกปิดกดทับมาก่อนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการศึกษา อาชีพ โอกาสในการพัฒนาตนเองและกลุ่มของตนเอง ชาวเซิร์บ ชาวเคิร์ก ชาวมุสลิม ในยูโกสลาเวียเดิม ในโคโซโว กลุ่มเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในหลายประเทศต้องการแสดงตัวตนของตนออกมา ให้เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเองได้รับการยอมรับมากขึ้น

 

ดร.สุรินทร์ อ้างถึงข้อมูลทางสถิติที่ยืนยันการอยู่ร่วมกันของคนต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ในโลกว่า ปัจจุบัน 175 ล้านคน จาก 6,000 ล้านคนในโลกนี้ ทำงานอยู่นอกประเทศของตนเอง เฉพาะเมืองไมอามี่ 59 % เป็นคนที่เกิดนอกประเทศ แวนคูเวอร์ 37% จนกระทั่งบางคนเรียกเมือง 'แวนคอง' แล้ว เพราะหลายคนอพยพมาจากฮ่องกง นิวยอร์ก 36% สิงคโปร์ 33% ลอนดอน 28% ปารีส 23%

 

ด้วยเหตุนี้ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Politics of Identities) จึงเกิดขึ้นในกรอบของรัฐเดิม และเมื่อมีการเมืองเรื่องอัตลักษณ์จึงต้องมีนโยบายเพื่อความสมานฉันท์ (Poilcies of Accomodation) ดร.สุรินทร์ กล่าว

 

ด้าน นายศักดา แสนมี่ ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยความไม่เข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางความคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชนชาติพันธุ์อื่น จึงทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในภาคเหนือคือการไร้สัญชาติ ซึ่งทำให้คนหลายคนเข้าไม่โอกาสในการศึกษา โอกาสในการรับการรักษาพยาบาล และการจ้างงาน

 

ขณะที่ นายสมชาย เสียงหลาย ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระบวนการของความหลากหลายจะเป็นเพียงรายงานอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องสร้างทักษะเข้าไปตระหนักกับความหลากหลายนั้นอย่างแท้จริง เรามักจะเห็นองค์ความรู้ที่ถอดจากบทเรียนดีๆ หลายแห่ง แต่ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา คือคนที่จะได้เข้าถึงองค์ความรู้นั้นกลับมีน้อยและการนำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัตินั้น มักมีข้อจำกัดในด้านโอกาส เวลา ปัจจัยต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงขอฝากให้ UNDP คิดต่อด้วยว่า จะนำองค์ความรู้นี้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร

 

ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม มีข้อเท็จจริงในมิติของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พบว่า  สังคมไทยคงจะไม่มีทางเห็นอัตลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวได้ เพราะแต่ละภาคในประเทศ เรามีวิถีชีวิต ภาษาที่มากกว่าหนึ่งอัตลักษณ์อยู่แล้ว        

 

ผมเคยไปตรวจงานในโรงเรียนเขตภาคใต้แห่งหนึ่ง พบว่า ในโรงเรียนให้เด็กนักเรียนเรียนเรื่องพระยาพิชัยดาบหัก ผมจึงถามนักเรียนว่าเรียนเรื่องพระยาพิชัยดาบหักแล้วนักเรียนได้อะไร เด็กๆ บอกว่าเขารู้จักชื่อเล่น ชื่อพ่อแม่ คุณความดีของพระยาพิชัยดาบหัก แต่เมื่อผมถามกลับไปว่า หนูรู้จักใครที่เป็นผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดของหนูบ้าง เด็กๆ ก็ตอบว่าไม่รู้จัก พอถามครูว่าทำไมครูจึงสอนเฉพาะเรื่องพระยาพิชัยดาบหัก ครูก็ตอบว่าเพราะข้อสอบเข้าม. 1 ต้องสอบเรื่องนี้

 

จากตรงนี้ เห็นชัดเลยว่าความหลากหลายไม่ได้ถูกนำมาใช้ในมิติของการศึกษาเปรียบเทียบเลย แต่เป็นการนำเสนอความหลากหลายเพื่อให้เลียนแบบความหลากหลายเฉพาะที่กำหนดโดยส่วนกลาง ฉะนั้นประเด็นการเพิ่มความตระหนักของความหลากหลายจำเป็นต้องเพิ่มการสร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสีย ให้เขาได้ตะหนักในคุณค่าของความหลากหลายก่อน ไม่ใช่เฉพาะรัฐเท่านั้นแต่หลายส่วนต้องสร้างกลไกที่จะเปิดโอกาสให้เรื่องความหลากหลายได้มีพื้นที่ แยกพื้นที่ในสมองในการคิดถึงเรื่องความแตกต่างหลากหลาย

 

ยกตัวอย่างในแคนาดา ที่มีชาวยูเครนอพยพเข้าไปอยู่ในช่วงสงครามเย็นเป็นจำนวนมาก รัฐบาลแคนาดาก็ใจกว้าง จัดให้มีระบบการศึกษาแบบผสมผสาน โดยจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนช่วงเช้าตามหลักสูตรของแคนาดา แต่พอช่วงบ่ายเข้าอนุญาตให้คนต่างชาติพันธุ์ได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของเขา นี่คือการทำให้เกิดสะพานเชื่อมระหว่างการจับตัวของคนที่ไปจากยูเครนสู่สังคมแคนาดา และเปิดโอกาสให้คนแคนาดามีพื้นที่ที่จะได้เห็นความแตกต่างไปจากตัวเอง นายสมชาย กล่าว

 

ด้าน นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาฐานคิดเรื่องความหลากหลายในสังคมไทยว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มองประเทศไทยในแง่ของประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากนัก ทั้งที่ในรายงานของ UNESCO จัดว่าประเทศไทยเป็น 25 ประเทศต้นๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ภาษาและวัฒนธรรมสูง เรามีภาษาพูดมากกว่า 50 ภาษา ดังนั้นการพูดเรื่องความหลากหลายเพียงอย่างเดียว จึงยังไม่เพียงพอ แต่เรายอมรับหรือไม่ว่าความหลากหลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาวิถีชีวิตของคน ชุมชน และประเทศ

 

ดังนั้นเรื่องนี้ถ้าจะทำจริงให้ได้เกิดมรรคผล ก็ต้องทำโดย หนึ่ง จะทำอย่างไรให้มีการตระหนักเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ในสังคมไทย สอง ทำอย่างไรจะให้มีการยอมรับว่า ความหลากหลายทางวัฒธรรมเป็นสิ่งดีงาม ที่ไม่ใช่กับการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ต้องเป็นการยอมรับของการอยู่ร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เท่าเทียมของกันและกัน

 

ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ของง่าย และการให้เรื่องเหล่านี้ไปอยู่แต่เฉพาะในพื้นที่โรงเรียนเท่านั้นก็คงไม่ใช่ แต่ทั้งในโรงเรียนและชุมชนต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาอนาคตของเด็กไปพร้อมกันด้วย เพราะพื้นที่ทางการศึกษาจะลอยขึ้นมาเป็นเอกเทศจากพื้นที่ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ สังคม คงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องอย่างนี้ได้เผยแพร่กว้างขวางออกไป การจัดทำรายงานการพัฒนาคน ฉบับภาษาไทยเป็นเรื่องที่ดีมากอยู่แล้ว แต่ตัวเนื้อหาข้างในอาจทำให้ไม่มีชาวบ้านทั่วไปอ่าน เพราะเนื้อหามันยาก โครงสร้างประโยคก็ไม่ใช่ไทย และศัพท์บางคำก็ไม่ได้สื่อความหมายแบบที่คนไทยทั่วไปจะอ่านรู้เรื่องได้

 

ดังนั้นถ้าจะให้เกิดการพัฒนาจริงๆ ก็ต้องทำให้มีคนเข้าใจ การออกกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้ดีขึ้นได้ เพราะในที่สุดการออกกฎหมายต้องมีการตีความ เนื่องจากในทางสังคมและจิตวิทยาแล้ว พบว่า ลึกๆ แล้วคนไทยยังไม่ยอมรับเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะเอาเนื้อหาแบบนี้ไปใส่ในพื้นที่ของโรงเรียนเพียงแห่งเดียว แต่ต้องใส่ในพื้นที่รอบๆ โรงเรียนด้วย นางสาวิตรี กล่าว

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ คำกล่าวของ นายมาร์ค มัลลอช บราว์น ผู้บริหาร UNDP ในคำนำของรายงาน จึงเป็นการย้ำเตือนและเรียกร้องในระดับฐานคิด เพื่อให้ประชาคมโลกและรัฐบาลในทุกประเทศตระหนักในความหลากหลาย เพื่อก้าวไปสู่การสร้างระเบียบทางสังคม การออกนโยบายของรัฐที่เคารพในความแตกต่างหลากหลาย โดยกล่าวว่า การค้นหาคำตอบให้กับคำถามเดิมๆ ที่ว่าจะจัดการและบรรเทาความขัดแย้งทางด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติอย่างไรให้ดีที่สุด ได้กลับมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับนักพัฒนา ดังที่ในรายงานกล่าวถึงหลักฐานการศึกษาที่ระบุว่า เยาวชนจะประสบความสำเร็จมากขึ้น มีพัฒนาการที่ดี ถ้าได้เรียนรู้ด้วยภาษาท้องถิ่นของตนเองในช่วง 2-3 ปีของการศึกษา

 

"เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหานามธรรม ถ้าต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและกำจัดความยากจนให้หมดสิ้น" นายบราว์น กล่าว

 

ข้อเสนอในระดับฐานคิดจากผู้บริหาร UNDP ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาคน คือการทำให้คนสามารถเลือกวิถีชีวิตได้ตามที่ตนเองต้องการ และการให้เครื่องมือกับโอกาสแก่พวกเขาในการเลือกวิถีชีวิตนั้นๆ และเน้นว่าการพัฒนาคนนั้นมีนัยสำคัญทางด้านการเมือง ไม่น้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปกป้องสิทธิมนุษยชน และการทำให้ประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท