Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 ธ.ค. 48     น้ำท่วมใต้ยังน่าห่วง ล่าสุดนครศรีธรรมราชประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว ส่วน ผู้ว่าฯตรัง ระบุ น้ำท่วมครั้งนี้หนักสุดในรอบ 5 ปี


 


นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าได้ประกาศให้นครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทั้งจังหวัด เนื่องจากเกิดอุทกภัยจากพายุฝนที่กระหน่ำในพื้นที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่คืนวันที่ 14 ธ.ค.ยอดรวมความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 105 ล้านบาท


 


ส่วน นายวิชิต มณีโลก หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่า ขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 5 ราย แต่พบศพเพียง 4 ราย ซึ่งเป็นชาวบ้านจาก อ.ปากพนัง, อ.เมือง, อ.วิเชียรใหญ่ และ อ.ทุ่งสง


 


ด้าน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าในเขตตลาด อ.ชะอวด เนื่องจากมีระดับน้ำท่วมสูง และที่เขารามโรม อ.ร่อนพิบูลย์ กระแสไฟฟ้าดับ ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้เพราะมีระดับน้ำสูงไหลผ่าน ทั้งนี้ได้มีการเตือนประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณที่น้ำท่วมบ้านเรือนให้ปลดคัตเอาท์เพื่อตัดกระแสไฟฟ้า และแจ้งให้สำนักงานการไฟฟ้าฯ ในพื้นที่เข้าไปตัดกระแสไฟ เพื่อความปลอดภัยจากการถูกไฟฟ้าดูด


 


นอกจากนี้ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ประสานขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพภาคที่ 4 และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังจากมีรายงานฝนตกหนักในทุกพื้นที่


         


ส่วนการเฝ้าระวังและป้องกันน้ำทะลักเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช นั้น ทางสำนักงานชลประทานจังหวัดร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งรอบเขตตัวเมืองเพื่อเร่งระบายและลดระดับน้ำ พร้อมจัดสายด่วน 199 และขอความร่วมมือสื่อวิทยุกระจายเสียงในพื้นที่เป็นจุดรับแจ้งเหตุจากผู้ประสบภัยและประชาชนทั่วไปสอบถามข้อมูล


 


ที่จังหวัดตรัง นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า สภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากในรอบ 5 ปี พื้นที่ที่ประสบภัยมากที่สุดก็คือ อ.เมือง, ห้วยยอด และนาโยง นอกจากนั้นในอำเภออื่นๆ ก็เริ่มประสบภาวะน้ำท่วมเช่นกัน ระดับน้ำในหลายจุดกำลังมีระดับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เนื่องจากฝนยังตกลงมาอย่างต่อเนื่อง


 


ทั้งนี้ทางจังหวัดได้จัดส่งถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง ลงไปทำการช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ประสบภัยทุกแห่ง เร่งออกไปประชาสัมพันธ์เรื่องของภาวะน้ำท่วม และทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน


         


นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง ระบุว่าขณะนี้เรือท้องแบนมีจำนวนไม่เพียงพอ ส่วนผู้ที่ต้องการกระสอบทรายนั้น สามารถโทรศัพท์มาติดต่อขอได้โดยตรงกับตนเอง ที่หมายเลข (075) 211270 หรือ (01) 4763443


 


นอกจากนี้ ในช่วงสายของวันที่ 16 ธ.ค. เกิดเหตุดินถล่มบริเวณริมถนนสายตรัง-พัทลุง ในเขตเทือกเขาบรรทัด หลังจากฝนตกหนักติดต่อกันมาหลายวัน ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าอาจจะมีดินถล่มในจุดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก


 


มีรายงานเพิ่มมาอีกว่า บนถนนสายห้วยยอด -ในเตา ก็ยังเกิดภาวะดินถล่มอีก 1 จุด ปิดเส้นทางการจราจร ส่วนความเสียหายเบื้องต้นของจังหวัดตรัง สรุปได้ว่ามีผู้ประสบภัยแล้วประมาณ 4 พันครัวเรือน และอาจจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  น้ำในแม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน และคลองนางน้อย กำลังเพิ่มมากขึ้น


 


นางยินดี  แก้วประกอบ  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน  2548  มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้  ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง  ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่  ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน  น้ำล้นตลิ่งในที่ลุ่มและพื้นที่เสี่ยงภัยข พื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นพื้นที่นา  380,593  ประมงพื้นที่  7,691  ไร่ และ  3,079  กระชัง  ปศุสัตว์ โค-กระบือประสบภัย  59,621  ตัว  สัตว์ปีก  264,774 ตัว  ส่วนการช่วยเหลือด้านปศุสัตว์เบื้องต้นได้แจกจ่ายหญ้าแห้งไปแล้วประมาณ  100,000  กิโลกรัม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net