Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.cnn.com


 


วันที่ 5 ของการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 6 ทำเกาะฮ่องกงร้อนฉ่าที่สุดในรอบ 16 ปี


เมื่อขบวนชาวนาจากเกาหลีและสหพันธ์ชาวนาโลก (Via Campasina) ได้บุกเขตหวงห้ามใกล้ศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกง ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม จนปะทะกับตำรวจอย่างดุเดือด ก่อนจะมีการยอมให้ถูกจับกุม


 


ตั้งแต่ช่วงบ่ายที่ผ่านมา ขบวนชาวนาจากเกาหลีและสหพันธ์ชาวนาโลก (Via Campasina) กว่า 1,000 คนซึ่งในจำนวนนี้มีตัวแทนจากสมัชชาคนจนจากประเทศไทย 100 คน ได้เดินขบวนออกจากสวนวิคตอเรียเพื่อไปยังศูนย์ประชุม เพื่อต้องการให้ตัวแทนประเทศต่างๆ ในการประชุม WTO รับทราบชะตากรรมของพวกเขาจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตร


 


ตามข้อตกลงกับทางตำรวจฮ่องกง กลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องเดินไปตามเส้นทางที่อนุญาตให้ชุมนุมได้ นั่นคือ ถนนฮาร์เบอร์ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและใกล้กับโกดังสินค้าที่ง่ายต่อการควบคุมฝูงชน แต่วันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ฝ่าแนวกั้นของตำรวจฮ่องกงมาตามถนนโกลเคสเตอร์ ย่านหวั่นจ๋าย ย่านธุรกิจที่คึกคักที่สุดและมีตึกสำนักงานสำคัญๆ มากที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนหน้าศูนย์ประชุม ห่างจากสถานที่ประชุมประมาณ 500 เมตร ทำให้ตำรวจต้องใช้สเปรย์พริกไทยและกระบองสกัดผู้ชุมนุม ทางด้านผู้ชุมนุมใช้ไม้ไผ่ยาว และแผงเหล็กกั้นของตำรวจเป็นอาวุธในการตอบโต้ ทำให้ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน เกิดควันคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ มองเห็นได้แต่ไกล รายงานข่าวแจ้งว่า มีผู้บาดเจ็บจากการปะทะกันรอบแรกไม่ต่ำกว่า 50 คน โดยจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย นับเป็นเหตุจลาจลครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ชาวฮ่องกงประท้วงไม่พอใจรัฐบาลจีนที่จัดการกับนักศึกษาในเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 2532


 


เวลา 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ทางการฮ่องกงได้ประกาศให้ชาวฮ่องกงอย่าเดินทางเข้าพื้นที่หวั่นจ๋ายโดดเด็ดขาด ตำรวจฮ่องกงได้เสริมกำลังล้อมผู้ชุมนุมที่ยังเหลืออยู่หลายร้อยคน ในจำนวนนี้นอกจากชาวนาเกาหลี แล้วยังมีคนไทย 87 คน และเกษตรกรจากประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ชาวนาโลก ตำรวจได้ล้อมผู้ชุมนุมเอาไว้ทุกด้าน เพื่อเตรียมเข้าจับกุมทั้งหมดในไม่ช้านี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ผู้นำของชาวนาเกาหลีประกาศว่า "พวกเขาจะยอมถูกจับอย่างมีเกียรติ" โดยผู้ชุมนุมรอคอยการจับกุมด้วยร้องเพลงปลุกใจ และกล่าวคำประนาม WTO อย่างสันติ ท่ามกลางที่อากาศหนาวเย็นต่ำกว่า 15 องศา


 


ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 03.30 น. ตำรวจได้จับกุมผู้ร่วมชุมนุม รวมถึงคนไทยที่ร่วมอยู่ในครั้งนี้แล้ว โดยการจับกุมทั้งหมดเป็นไปโดยไม่มีการขัดขืนหรือปะทะใดๆ ตามคำประกาศ "จะยอมถูกจับอย่างมีเกียรติ" ก่อนหน้านี้


 


ทางด้านเนื้อหาการประชุมวันนี้ (17) ร่างเนื้อหาข้อตกลงในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 6 ได้ถูกแจกจ่ายให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลาย สหรัฐฯชื่นชมว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ อย่างอินเดียและบราซิลระบุว่า อย่างน้อยร่างเนื้อหานี้ก็ยังมีข้อดีที่ระบุระยะเวลาที่จะให้ยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก แม้จะยังติดอยู่ในวงเล็บก็ตาม ขณะที่สหภาพยุโรปยังไม่พอใจกับร่างเนื้อหา ทำให้วันนี้ การประชุม "ห้องเขียว" เริ่มขึ้นตั้งแต่บ่ายเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ก่อนการประชุมจะจบลงในบ่ายวันพรุ่งนี้


 


ในความเห็นของภาคประชาสังคม นายจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยจาก Focus on Global South ว่า ร่างเนื้อหาข้อตกลงฯที่ออกมา น่าผิดหวังมากๆ เพราะเนื้อหาไม่มีอะไรดีขึ้น จริงอยู่อาจจะมีการระบุระยะเวลาที่จะต้องยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก แต่ประเด็นการค้าบริการ ภาคผนวก ซี ยังคงอยู่ด้วยเนื้อหาเดิม ตามความต้องการของสหรัฐและสหภาพยุโรปที่ให้มีความผูกพันขั้นต่ำของทุกประเทศสมาชิกในการเปิดการค้าเสรี (complementary approach) และเปิดโอกาสให้มีการยื่นข้อเสนอให้เปิดภาคบริการแบบ plurilateral  นั่นคือให้กลุ่มประเทศยื่นข้อเสนอให้ประเทศนั้นๆ เปิดภาคบริการ ซึ่งเป็นการบังคับให้ทุกประเทศสมาชิกเปิดเสรีภาคบริการ ไม่ว่าจะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้สะท้อนข้อเสนอทางเลือกของกลุ่มอื่นๆ เช่น G-90 กลุ่มอาเซียน และข้อเสนอของ 5 ประเทศ (เวเนซูเอล่า, คิวบา, แอฟริกาใต้, ฟิลิปิปนส์ และเคนย่า)ที่เสนอให้ตัด ภาคผนวก ซี ทิ้งไป


 


เช่นเดียวกับสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร (NAMA) ที่สูตรการลดภาษียังคงเป็นสูตรสวิส ที่มีหลักการภาษีมากต้องลดมาก ภาษีน้อยต้องลดน้อย ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีภาษีนำเข้าสูงกว่า ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดในสัดส่วนที่มากกว่ามาก เช่นเดียวกับ ชุดข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนา ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่างตั้งเงื่อนไขมากมายในการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDC)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net