อังคณา นีละไพจิตร : "เหนือกฎหมาย ยังมีกฎแห่งกรรม"

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2005 17:15น.


ปกรณ์ พึ่งเนตร, ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร

 

"เหนือกฎหมาย ยังมีกฎแห่งกรรม ใครทำอะไรไว้ต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้น..." เป็นวลีอันบาดลึกที่กลั่นจากความรู้สึกของ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ขณะเล่าถึงการต่อสู้คดีที่แทบจะสิ้นหวังภายหลังการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเกือบ 2 ปีของสามี

 

ขณะเดียวกันก็เสมือนเป็นการปลอบใจทั้งตัวเธอเอง และกลุ่มสตรีมุสลิมผู้ร่วมชะตากรรมแห่งความสูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวงเสวนาที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ วงเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มอ.ปัตตานี ร่วมกับกลุ่มเพื่อนหญิงไทยมุสลิม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้กำลังใจกลุ่มสตรีที่ต้องสูญเสียบิดา สามี และลูกชาย ในเหตุการณ์รุนแรงอย่างกรือเซะ และตากใบ รวมทั้งภรรยาที่ต้องพรากจากหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากถูกคุมขังอย่างไร้ความหวังอยู่ในเรือนจำประเทศกัมพูชา

 

อังคณา เล่าประสบการณ์การต่อสู้ของเธอให้ฟังว่า หลังจากสามีหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เธอใช้เวลานานนับเดือนในการทำความเข้าใจกับลูกๆ ก่อนจะตัดสินใจต่อสู้ แม้คู่ต่อสู้ที่เธอต้องเผชิญคือ "อำนาจรัฐ" ก็ตาม

 

"แน่นอนว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ สิ่งหนึ่งที่ต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การถูกคุกคาม ซึ่งญาติๆ ก็ถามกันทุกคนว่า แน่ใจแล้วหรือที่จะมีเรื่องกับตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ดิฉันก็ตอบไปว่า เราไม่ได้ไปหาเรื่องใคร เป็นแค่ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยากต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม"

 

เธอบอกว่า เมื่อสามีหายตัวไป ก็มีขบวนการใส่ร้ายป้ายสีว่าทนายสมชายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งการถูกกระทำดังกล่าว เป็นแรงผลักดันให้เธอและครอบครัวต้องต่อสู้

 

"คงไม่มีใครรู้จักคุณสมชายดีเท่ากับครอบครัวของเขาเอง ดิฉันและลูกๆ จึงต้องต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อถึงวันที่สังคมยอมรับ ก็จะรู้ว่าคุณสมชายเป็นคนอย่างไร มีอุดมการณ์อย่างไร และเขาต่อสู้เพื่ออะไร"

 

อังคณา ยอมรับว่า ตลอดเส้นทางการต่อสู้ เธอมีความกลัวอยู่ไม่น้อย เพราะคู่ต่อสู้คือรัฐ แต่เธอก็ต้องพยายามสลัดความกลัวออกไป เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือความเป็นธรรม

 

"ดิฉันเคยพบกับท่านนายกฯเป็นการส่วนตัว ดิฉันบอกกับท่านว่า ไม่รู้ว่าทำไมทุกวันนี้สังคมไทยจึงอยู่กับความกลัว ไม่รู้ใครเป็นคนสร้างให้ความกลัวเกิดขึ้น แต่ความกลัวนี่เองที่ทำให้เราเห็นแก่ตัว ไม่สนใจเพื่อนบ้าน ไม่สนใจสังคมว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง"

 

"ดิฉันบอกกับนายกฯว่า จะไม่มีวันยอมให้สังคมเป็นอย่างนี้ และจะไม่มีวันยอมให้คุณสมชายหายตัวไปเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย" ภรรยาของอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม กล่าว

 

เธอยังเล่าถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญที่ต้องประสบในบางช่วงบางตอนว่า "ชีวิตที่ผ่านมาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัว บางคืนก็มีคนมาหาที่บ้าน บอกว่าคุณอังคณาอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร ต้องหาอาวุธไว้ป้องกันตัวเอง ผมยังมีเลย แล้วก็เปิดเสื้อให้ดูปืนพกหลายกระบอกรอบเอว...ดิฉันก็เลยไม่รู้ว่าเขามาขู่หรือมาเตือนให้ระวังตัวจริงๆ"

 

อย่างไรก็ดี อังคณา บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเคลื่อนไหวต่อสู้มา ไม่ได้ทำไปเพราะความโกรธหรือเคียดแค้น เพราะความโกรธคือไฟที่ไม่ได้เผาคนที่ทำให้เราเจ็บ แต่เป็นไฟที่เผาตัวเราเอง

 

"ทุกวันนี้ดิฉันจึงใช้ชีวิตสบายๆ และทำในแนวทางที่จะเรียกความยุติธรรมกลับคืนมาให้ได้ นั่นก็คือการฟ้องร้องคดีตามกระบวนการยุติธรรม อันเป็นแนวทางสันติวิธีแนวทางหนึ่ง" เธอย้ำ

 

กระนั้นก็ตาม อังคณา ยอมรับว่า ความเป็นสตรีมุสลิมที่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และข้อบังคับของอิสลาม ทำให้การต่อสู้ของเธอมีข้อจำกัดพอสมควร

 

"อย่างตอนนี้ดิฉันอยู่ในสถานภาพสามีไม่อยู่ ซึ่งตามข้อบังคับของอิสลามจะไม่มีสิทธิจัดการกับมรดก ความเป็นอยู่ของดิฉันจึงลำบากมาก การต่อสู้คดีต้องใช้เงิน หากดิฉันมีที่ดินแปลงเล็กๆ สักแปลง จะขายเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูลูกก็ไม่ได้ เพราะต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน"

 

"การที่ต้องอยู่ในสถานภาพสามีไม่อยู่ ต้องทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจยิ่งกว่าสามีตายเสียอีก" อังคณา เล่าถึงความรู้สึกของตัวเอง

 

เธอยังยกตัวอย่างอีกว่า ตามกฎเกณฑ์ในเรื่องมรดกของอิสลาม เมื่อสามีเสียชีวิต จะจัดสรรทรัพย์สินส่วนใหญ่ให้กับพ่อแม่หรือญาติของสามี เพื่อให้ครอบครัวของสามีดูแลลูกสะใภ้ซึ่งกลายเป็นหญิงหม้าย รวมทั้งลูกๆ แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อแบ่งมรดกกันเรียบร้อยแล้ว ต่างคนก็ต่างอยู่ ไม่ได้มีการช่วยเหลือกันอย่างสมัยก่อน

 

"ปัญหาก็คือเงินเยียวยาจากภาครัฐที่มอบให้ภรรยาและลูกของผู้สูญเสีย หลายๆ ครั้งได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากต้องแบ่งให้พ่อกับแม่ของสามี สุดท้ายภรรยากับลูกก็ได้เงินไปเพียงเล็กน้อย และไม่เพียงพอที่จะประคับประคองครอบครัวที่เหลืออยู่ให้ดำเนินต่อไป"

 

อย่างไรก็ดี อังคณา บอกว่า ในกรณีของเธอนั้นไม่มีปัญหาเรื่องมรดก เพราะทนายสมชายมีเงินสดติดบัญชีธนาคารอยู่เพียงร้อยกว่าบาทเท่านั้น!

 

เมื่อพูดถึงคดีการหายตัวไปของสามี ซึ่งมีตำรวจกองปราบปราม 5 นายตกเป็นจำเลย และศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 มกราคม 2549 นี้ อังคณา บอกว่า เธอไปศาลทุกนัด และรับฟังการสืบพยานทุกปาก ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เธอพบความผิดปกติมากมาย

 

"พยานหลักฐานที่นำขึ้นเบิกความ หลายๆ จุดเท่าที่ฟังดู น่าจะไปต่อได้ แต่กลับไม่มีการขยายผล ดิฉันก็พยายามไปคุยกับทางดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) แต่ปรากฏว่ารับคดีมาเกือบ 5 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว"

 

หรืออย่างช่วงที่สืบพยานโจทก์ใกล้จะเสร็จ ตุลาการเจ้าของคดีกลับถูกโยกย้ายไปทำงานในส่วนอื่นพอดี ทำให้ข้องใจว่าถ้าตุลาการที่ฟังคำเบิกความของฝ่ายโจทก์กับจำเลยเป็นคนละคนกัน จะมีปัญหาเวลาเขียนคำพิพากษาหรือไม่ การอ่านแต่เอกสารคำเบิกความอย่างเดียว โดยไม่ได้ดูอากัปกิริยาของผู้ที่เบิกความประกอบ จะมีปัญหาหรือไม่

 

"ดิฉันจึงทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งที่ระบุว่า ตุลาการองค์คณะใดที่ไม่ได้ฟังการพิจารณาคดีตั้งแต่ต้น จะไม่มีสิทธิเขียนคำพิพากษา โชคดีที่ในที่สุดท่านประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้ตุลาการท่านนั้นอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคดีนี้จะเสร็จสิ้น"

 

อังคณา บอกว่า การแก้ไขทุกปัญหา จะต้องแก้ด้วยการเปิดเผยความจริง และต้องให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งการเข้าถึง ไม่ได้หมายความแค่มีทนาย และรัฐจ่ายค่ารถไปศาล แต่มันคือสิทธิที่จะตั้งคำถาม และต้องมีคำตอบ

 

"เช่นถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ตกเป็นจำเลยทั้งหมด ทำไมผลการสอบสวนทางวินัยจึงออกมาว่าไม่ผิด ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินคดี ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถูกสั่งพักงานแล้วยังไปทำงานได้ ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดถึงได้ประกันตัว ไม่ใส่โซ่ตรวน แต่ชาวบ้านไม่ได้ประกัน มิหนำซ้ำเยาวชนมุสลิมที่ถูกขังในเรือนจำบางแห่ง ยังต้องใส่โซ่ตรวนเล่นฟุตบอล เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ทำไมถึงไม่มีคำตอบ"

 

แม้จะต้องกล้ำกลืนกับความไม่ชอบมาพากลที่ส่อไปในทางไม่ได้รับความเป็นธรรมมากมาย แต่ภรรยาของอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ยังคงยืนยันว่า จะไม่ถอย ไม่ละเลย และจะสู้ต่อไป

 

"ยังไงดิฉันก็จะไม่ยอมปล่อยให้คุณสมชายหายไปเฉยๆ โดยไม่มีคนรับผิดชอบ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีใครต่อสู้ ไม่มีใครต้องถูกลงโทษ มันจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก"

 

เธอย้ำด้วยว่า การต่อสู้ทางศาลคือกระบวนการสันติวิธี แม้จะใช้เวลานาน และสุดท้ายอาจจะไม่ได้อะไร แต่สังคมจะเป็นฝ่ายได้ สังคมจะต้องรู้จักปกป้องคนดี รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับใคร และจะไม่ยอมให้ใช้ความรุนแรงในลักษณะนี้อีกในอนาคต ดังนั้นวันนี้แม้ไม่มีหวัง แต่วันหน้าคงดีกว่านี้แน่

 

และกับการต่อสู้อย่างหนักเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเธอได้รับกำลังใจจากเพื่อนร่วมชาติมากมาย จุดนี้เองที่ทำให้อังคณาคิดว่า ภาคประชาสังคมจะเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้เรื่องเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวอื่นๆ อีก

 

"ดิฉันไม่เชื่อว่า กอส. (คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) 50 กว่าคนจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่เชื่อว่าประชาชนนับล้านคนแก้ได้ ดิฉันเชื่อมั่นในประชาชน เชื่อมั่นในพลังของภาคประชาสังคม"

 

อังคณา บอกด้วยว่า การทำให้คนๆ หนึ่งหายไป มันเป็นการกระทำที่เหิมเกริมมากเกินไป และส่วนใหญ่จะไม่มีหลักฐานมัดตัวได้ จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ฉะนั้นเธอจะสู้คดีนี้ให้ถึงที่สุด เพื่อให้สังคมได้รับรู้ และช่วยกันหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

 

อย่างน้อยก็ให้คนที่กระทำการรุนแรงได้ฉุกคิดว่าจะทำต่อไปอีกหรือไม่ และบางครั้งการต่อสู้ของคนเล็กๆ คนหนึ่ง อาจจะให้บทเรียนกับผู้มีอำนาจก็ได้

 

"เหนือกฎหมาย ยังมีกฎแห่งกรรม ใครทำอะไรไว้ต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้น" เธอกล่าวทิ้งท้าย

 


 

 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท