Skip to main content
sharethis



ภาพจาก www.manager.co.th


 


แม้ว่าการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 6 ที่เกาะฮ่องกงจะสิ้นสุดลงแล้วโดยที่กลุ่ม G-20 ยอมตามประเทศร่ำรวย แต่ชะตากรรมของกลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกจับเมื่อคืนนี้รวมทั้งคนไทยเกือบ 80 คนยังมืดมน จากจำนวนผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้าน WTO ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนชาวนาจากเกาหลีและสหพันธ์ชาวนาโลก (Via Campasina) กว่า 900 คนที่ถูกตำรวจจับกุมตัวตั้งแต่ 3.30 น.-12.00 ของวันนี้ (18) ในจำนวนนี้มีตัวแทนจากสมัชชาคนจนอยู่ด้วยประมาณ 79 คน โดยผู้ชุมนุมถูกนำขึ้นรถตำรวจไปฝากขังตามโรงพักต่างๆของฮ่องกงอย่างน้อย 5 แห่ง


 


แม้ว่า นายโดนัลด์ ชาง ผู้บริหารเกาะฮ่องกงจะยืนยันว่า ได้ปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกจับกุมอย่างมีมนุษยธรรม


แต่แถลงการณ์ของสหพันธ์ชาวนาโลก, จดหมายเปิดผนึกร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลก


และการเปิดเผยของผู้ถูกจับกุมเองระบุว่า ทางตำรวจฮ่องกงไม่ได้ให้อาหารและน้ำแก่ผู้ชุมนุมตั้งแต่จับกุมมาจนกระทั่งเที่ยง บางส่วนยังถูกห้ามใช้ห้องน้ำ ริบเครื่องมือสื่อสาร และถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจค้น ผู้ถูกจับกุมถูกแยกขังห้องละ 6 คน ซึ่งต้องนอนบนพื้นที่หนาวเย็นและได้รับผ้าห่มคนละผืนเท่านั้น


 


ทางการฮ่องกงไม่ยอมให้ความร่วมมือแก่ทนายของทางพันธมิตรประชาชนฮ่องกง - Hong Kong People Alliance (HKPA) ซึ่งเป็นองค์กรเจ้าภาพเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุม และไม่ยอมให้ตรวจรายชื่อว่ามีผู้ใดถูกจับกุมบ้าง เพียงให้รายละเอียดเพียงแค่เป็นคนชาติใด เพศ และอายุเท่านั้น


 


ผู้ถูกจับกุมและคนไทยที่พยายามประสานงานช่วยเหลือ เปิดเผยว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยไปดูแลหรือติดตามข่าวคราวคนไทยที่โรงพักต่างๆ เพียงได้รับการแจ้งว่า จะไปรอที่ศาล ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดจะถูกนำส่งตัวขึ้นศาลก่อนได้รับการปล่อยตัว เมื่อเวลา 23.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น


 


สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างคำกล่าวของโฆษกกรมตำรวจฮ่องกงระบุว่า กำลังจะปล่อยตัวผู้ชุมนุมชุดแรก 188 คน แต่ไม่มีรายงานว่าในจำนวนนี้มีคนไทยอยู่ด้วยหรือไม่


 


แถลงการณ์ของสหพันธ์ชาวนาโลก และจดหมายเปิดผนึกร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลก


เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทันที และประณามการกระทำของกรมตำรวจฮ่องกงที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทั้งๆ ที่พวกเขาชุมนุมกันอย่างสันติ มีการร้องรำทำเพลง แต่ตำรวจกลับใช้กำลังเข้าล้อมจากทุกด้าน


 


ในแถลงการณ์ของสหพันธ์ชาวนาโลกระบุว่า การชุมนุมประท้วงของเกษตรกรจากทั่วโลกที่พยายามจะเข้าไปใกล้ที่ประชุมให้ได้มากที่สุดก็เพื่อต้องการให้นักเจรจาใน WTO ได้ยินเสียงของพวกเขา ให้รับทราบถึงชะตากรรมของพวกเขาภายใต้ระบบการค้าโลก และขอประนาม นายปาลคาล ลามี่ ผู้อำนวยการ WTO


ซึ่งเป็นผู้ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการปราบปรามประชาชนครั้งนี้


 


สำหรับด้านในศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกง การประชุมระดับรัฐมนตรีสิ้นสุดลงโดยสมาชิก 149


ประเทศสามารถตกลงในร่างคำแถลงร่วมที่มีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยในประเด็นการกำหนดปี 2013


ให้เป็นปีสิ้นสุดของการอุดหนุนการส่งออก สร้างความปลาบปลื้มใจให้แก่ นายปาลคาล ลามี่ ผู้อำนวยการ


WTO อย่างยิ่งโดยกล่าวว่า การเจรจารอบโดฮาสามารถคืบหน้าไปมากถึง 60% "หากที่ซีแอทเทิลทำให้ WTO หดตัวลง ที่แคนคูนทำให้ WTO ล้มคว่ำ ที่ฮ่องกงทำให้ WTO ได้ทบทวน" ซึ่งหมายถึงการฟังเสียงประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น


 


นายจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยจาก Focus on Global South กล่าวถึงผลการประชุม WTO ว่า ถือเป็นความพยายามรักษาหน้ากันเอาไว้ เพราะที่จริงแล้ว แม้จะมีการกำหนดปีที่แน่นอน แต่ประเทศพัฒนาทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปต่างก็กำลังย้ายการอุดหนุนจากการอุดหนุนการส่งออกไปที่การอุดหนุนภายใน


ทำให้มูลค่าการอุดหนุนยังคงปริมาณเท่าเดิม


 


สำหรับชุดข้อเสนอการพัฒนา (Development Package) ยังคงเปิดโอกาสให้ประเทศร่ำรวยสามารถยกเว้นสินค้านำเข้าจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้ แม้จะเพียง 3% ของรายการสินค้า แต่ประเทศเหล่านี้มีสินค้าส่งออกเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น


 


ไอรีน ควา จาก Focus on Global South กล่าวอย่างไม่พอใจว่า กลุ่ม G-20 ที่นำโดยบราซิลและอินเดียทอดทิ้งประเทศกำลังพัฒนา ทั้งๆ ที่รู้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้อะไรเลยจากข้อตกลงเช่นนี้


 


ด้านสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร (NAMA) ที่ประชุมเห็นชอบที่จะใช้สูตรสวิสในการลดภาษี แต่ยังตกลงกันไม่ได้เรื่องค่าสัมประสิทธิ และแม้จะยอมให้มีมาตรการยืดหยุ่นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา แต่ไม่ได้กำหนดว่า สามารถยืดหยุ่นได้มากน้อยเพียงใด เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ต่อไป


 


ส่วนประเด็นการค้าบริการนั้น ภาคผนวก ซี ยังคงอยู่ มีการเปลี่ยนไปจากเดิมเพียงเล็กน้อย โดยไม่มีการกำหนดตัวเลข หรือสัดส่วนที่ชัดเจนในความผูกพันขั้นต่ำ (Benchmarking) ตามความต้องการของสหรัฐและสหภาพยุโรป แต่ยังเปิดโอกาสให้มีการยื่นข้อเสนอให้เปิดภาคบริการแบบ plurilateral นั่นคือให้กลุ่มประเทศยื่นข้อเสนอให้ประเทศนั้นๆ เปิดภาคบริการ ซึ่งเป็นการเร่งการเจรจาบังคับให้แต่ละประเทศเปิดเสรีภาคบริการเร็วขึ้นได้


 


กล่าวโดยสรุป ในการประชุมที่ฮ่องกงครั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วยังสามารถรักษาผลประโยชน์และความได้เปรียบของตัวเองต่อไป โดยที่ปัญหาที่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้รับการแก้ไข ตามความเห็นของจักรชัย โฉมทองดี และวันนี้ ในพิธีปิด ทาง WTO ไม่อนุญาตให้ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมพิธีเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากออกมารวมตัวกันร้องเพลงอยู่ที่ห้องโถงใหญ่ซึ่งเป็นทางขึ้นที่ประชุม


 


all we are saying give people a voice


all we are saying don"t take our livelihood


all we are saying Kong Yee Sai Mau (ไม่เอา WTO -ภาษากวางตุ้ง )


 


  กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net