Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาทางกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้ร่วมกันจัดงาน "รำลึก 1 ปีสึนามิ" ขึ้น เพื่อทบทวนและประเมินผลการดำเนินการช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับคนงานผู้ได้รับผลกระทบ


 


ในวงเสวนาเรื่อง "สรุปบทเรียน 1 ปีกับการแก้ปัญหา" ซึ่งจัดขึ้นในช่วงบ่าย ได้มีผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้แทนจากสื่อมวลชน เข้าร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการลงพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ โดยเนื้อหาหลักคือบทเรียนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาให้กับแรงงานข้ามชาติ


 


นางปรีดา คงแป้น ผู้อำนวยการมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวถึงบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิว่า ปัญหาสำคัญที่สุดหลังเหตุการณ์สึนามิ คือปัญหาที่ดิน ที่แม้แต่ในปัจจุบันการแก้ปัญหาก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร  สาระสำคัญในการแก้ไขปัญหา คือกระบวนการสร้างชุมชนใหม่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบที่อยู่อาศัยของตัวเอง


 


นางปรีดาเน้นว่า "ที่ผ่านมาหากมองเพียงผิวเผิน อาจจะดูว่าสามารถแก้ปัญหาไปได้หลายเรื่อง แต่จะทำอย่างไรให้คนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นชาวเล คนไทยพลัดถิ่น สามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ยั่งยืน"


 


ด้าน นายอดิศร เกิดมงคล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า กล่าวว่า "โดยส่วนตัวเห็นว่า นอกจากความสูญเสียแล้ว สึนามิยังได้พัดพาผ้าคลุมปัญหาไป เพราะไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดิน ปัญหาแรงงานต่างด้าว หรือปัญหาอื่นๆ ที่กล่าวมา ล้วนเป็นปัญหาที่มีมาก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์สึนามิ เพียงแต่สึนามิเป็นตัวเร่งให้สังคมได้เห็นปัญหาชัดขึ้น


 


"หลังเหตุการณ์สึนามิ มีการพูดถึงเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติน้อยมาก จนกระทั่งมีหนังสือพิมพ์ลงว่า แรงงานข้ามชาติขโมยของ ทำให้คนเหล่านี้ไม่กล้าแสดงตัว เพราะกลัวว่าจะถูกตำรวจจับกุมตัวแล้วส่งกลับประเทศ กรณีดังกล่าวเกิดจากอคติของสังคม จนสุดท้ายก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้


 


"บทเรียนที่ได้จากสึนามิ คือ เราต้องตระหนักว่าสังคมไทยไม่สามารถอยู่ได้ด้วยความเหมือนอีกแล้ว แต่เราต้องอยู่ด้วยความต่าง เพราะฉะนั้นเราต้องหากลไกมาช่วยเสริมให้ความต่างอยู่ร่วมกันได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำในเวลานี้ คือ การสร้างพื้นที่ให้กับกลุ่มคนชายขอบ ต้องทำให้เขาบอกความต้องการ บอกปัญหาของเขาต่อสังคมให้ได้ สังคมไทยต้องมีจินตนาการใหม่เรื่องการอยู่ร่วมกัน" นายอดิศร กล่าว


 


เพ็ญจันทร์ สุทธิเจริญพันธุ์ ผู้แทนสื่อมวลชนซึ่งทำงานในพื้นที่ กล่าวถึงกรณีการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ว่า "สัญญาณดังกล่าวมีภาษามากมายที่จะเตือนนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย แต่ไม่มีภาษาพม่า ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก


 


เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวเห็นว่า การติดตั้งสัญญาณดังกล่าวถือว่าเป็นการลงทุนที่ล้มเหลวตั้งแต่แรก เพราะแรงงานต่างด้าวทุกคนถือเป็นส่วนสำคัญของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net