Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.manager.co.th


 


ประชาไท—21 ธ.ค. 2548 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานผลงานวิจัยดีเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยปี 2548 เรื่องไข้หวัดนก โดยรองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร. ทวีศักดิ์ ส่งเสริม นักวิจัยจากภาคพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของงานวิจัยเรื่อง "ความคงอยู่ของเชื้อไวรัส H5N1 ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก" ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยถึงความคงอยู่ของเชื้อไข้หวัดนกในสภาพแวดล้อมทั่วไป โดยนำมูลไก่มาผสมกับเชื้อไข้หวัดนกแล้วทาลงบนเปลือกไข่ หลังการทดลองผ่านไป 1 วันไม่พบเชื้อไข้หวัดนก


         


ส่วนกรณีไข่ดิบที่เกรงว่าจะมีเชื้อไวรัสไข้หวัดนกติดเข้าไปนั้น ผลการสำรวจไม่พบเชื้อในไข่ ซึ่งในความเป็นจริงการพบเชื้อไข้หวัดนกในไข่สามารถเกิดขึ้นได้น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เนื่องจากช่วงที่แม่ไก่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกตั้งแต่ระยะฟักตัวของเชื้อ จนถึงระยะแสดงอาการป่วย แม่ไก่จะเบื่ออาหารและเมื่อกินไม่ได้ตามปกติก็จะไม่วางไข่ แม้แต่ตัวที่ยังให้ไข่ได้อยู่ ดังนั้นแม้จะมีเชื้อติดมากับมูลไก่บนเปลือกไข่ แต่เชื้อก็จะสลายไปเองภายใน 1 วัน


         


นอกจากนี้ยังได้นำเชื้อไข้หวัดนกในอุจจาระสดหนาขนาด 0.5 เซนติเมตรไปวางไว้กลางแดดในอุณหภูมิ 33-35 องศาเซลเซียสเพียง 30 นาที เชื้อไข้หวัดนกก็จะตายหมด ส่วนเชื้อไข้หวัดนกในอุจจาระสดที่นำไปวางในที่ร่มอุณหภูมิ 25-33 องศาเซลเซียส หากไม่มีการ สะสมของเชื้อเพิ่มขึ้นในบริเวณเดิม ไวรัสจะถูกทำลายในเวลา 4-7 วัน


         


สำหรับผลการวิจัยเกี่ยวกับภาวะของเชื้อไข้หวัดนกในอาหารที่ทำจากผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก รศ.น.สพ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากการทดลองนำเชื้อไข้หวัดนกในปริมาณสูงที่ทำให้แม่ไก่ตายใน 3 วัน ฉีดเข้าไปในไข่ดิบ เนื้อไก่ หรือเนื้อเป็ด ที่หั่นเป็นชิ้นพอคำ จากนั้นนำไปทำไข่ต้ม (ต้มสองนาทีในน้ำเดือด) ไข่ดาว (ยางมะตูม) ไข่ลวก (ลวกในน้ำที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส) ไก่ต้ม ไก่ทอด และผัดกะเพราไก่ ปรากฏว่าไม่พบเชื้อไข้หวัดนกหลงเหลืออยู่ในอาหาร


         


"การทดลองนี้ยืนยันว่าการปรุงอาหารให้สุกตามปกติในเมนูอาหารแบบไทย ๆ สามารถทำลายเชื้อไข้หวัดนกได้ทั้งหมด ส่วนกรณีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดนกสาเหตุหลักมาจากการไปสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อฯ หรืออุจจาระสัตว์ปีกที่มีเชื้ออยู่ หรือติดเชื้อระหว่างการชำแหละ แต่ไม่ได้ติดเชื้อจากการรับประทานสัตว์ปีกที่ปรุงสุกแล้ว" รศ.น.สพ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว


        


นอกจากนี้ยังได้ศึกษาถึงกรณีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสในบริเวณหลุมฝังซากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไข้หวัดนก พบว่า หลังนำซากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ ไปฝังในหลุมอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ เมื่อขุดขึ้นมาตรวจสอบไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกติดค้างอยู่ในหลุมฝัง หรือปนเปื้อนอยู่ในพื้นดิน หรือแหล่งน้ำบริเวณที่มีการฝังสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ


                    


ทั้งนี้ ในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ จะร่วมประชุมร่วมกันระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก โดยในการประชุมจะมีสาธารณสุขจังหวัด และปศุสัตว์จังหวัดจากทั่วประเทศ ร่วมระดมความคิดในการแก้ปัญหา โดยจะนำระบบจีไอเอส หรือภูมิศาสตร์มาใช้  นอกจากนี้จะมีการหารือร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อเน้นย้ำเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยต้องสงสัยไข้หวัดนกให้กับโรงพยาบาลรัฐ โดยหากพบว่าป่วยเป็นไข้หวัดนก ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net