Skip to main content
sharethis

               
                                            ภาพจาก www.manager.co.th


 


คลื่นกลืนชายฝั่งสุราษฎร์ฯ บ้านพังยับ 35 หลัง ชาวบ้านอพยพหนีภัยจ้าละหวั่น กรมทรัพย์ฯ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ด่วน เผยเป็นพื้นที่ชายฝั่งวิกฤติเสี่ยงภัย คนใต้ยังไม่พ้นภัย อุตุฯ เตือน 9 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน


 


เนื้อเรื่อง


ประชาไท—21 ธ.ค. 2548 คลื่นกลืนชายฝั่งสุราษฎร์ฯ บ้านพังยับ 35 หลัง ชาวบ้านอพยพหนีภัยจ้าละหวั่น กรมทรัพย์ฯ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ด่วน เผยเป็นพื้นที่ชายฝั่งวิกฤติเสี่ยงภัย คนใต้ยังไม่พ้นภัย อุตุฯ เตือน 9 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน


 


คลื่นซัดบ้านพัง 35 หลัง


เมื่อเช้าวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ได้เกิดเหตุคลื่นสูง 2 ถึง 4 เมตร ซัดเข้าหาฝั่งชายหาดบ้านพอด หมู่ที่ 1 ตำบลชลคราม อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้บ้านพัง 35 หลัง ในจำนวนนี้พังทั้งหลังรวม 6 หลัง และได้รับความเสียหายบางส่วนอีก 29 หลัง โดยชาวบ้านที่บ้านพังทั้งหลังต้องอพยพออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ แรงคลื่นยังทำให้ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาดทางองค์กรบริหารส่วนตำบลชลคราม ได้นำหินไปถมถนนเพื่อให้สามารถสัญจรไปมาได้


 


ขณะเดียวกัน ชายหาดแหลมโฉลกหลำ บนเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นลมแรง และน้ำทะเลหนุน ทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะด้วย


 


สำหรับชายฝั่งหาดบ้านพอด เป็นพื้นที่ที่โครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และเป็นบริเวณที่มีการกัดเซาะมาก 1 ใน 5 แห่งของชายฝั่งภาคใต้ด่านอ่าวไทย ถูกคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ชายฝั่งวิกฤติเสี่ยงภัย ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหา ซึ่งสมควรได้รับการพิจารณาแก้ไขมากที่สุด เพราะประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อน


 


จากการศึกษายังพบว่า คลื่นในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเคลื่อนที่ผ่านอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เกาะพงัน เกาะสมุย เข้าปะทะชายฝั่งบ้านพอดโดยตรง ทำให้มีการกัดเซาะอย่างรุนแรง อัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 5 เมตรต่อปี อัตราการกัดเซาะสูงสุดประมาณ 24 เมตรต่อปี ความยาว 5 กิโลเมตร


 


การกัดเซาะอย่างรุนแรงเกิดขึ้นทางด้านตะวันออกของชุมชนบ้านพอด ตามแนวตะพักทราย ตะพักทะเล ที่มีความสูง 2 เมตร มีสวนมะพร้าว ถนนและบ้านเรือน บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ในฤดูมรสุมตะวันออกเยงเหนือ ทิศทางคลื่นส่วนใหญ่มาจากทิศตะวันออก - ตะวันออกเฉียงใต้ ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทิศทางคลื่นส่วนใหญ่มาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ทิศทางคลื่นส่วนใหญ่มาจากทิศตะวันออก และทิศตะวันออก - ทิศตะวันออกเฉียงใต้


 


การกัดเซาะทำให้ถนนพังลงเป็นช่วง และกัดเซาะถึงชานบ้านบางหลัง พบเห็นโคลนนอกหาดเมื่อน้ำลง การเคลื่อนที่ของตะกอนมีน้อย การกัดเซาะเกิดขึ้นในลักษณะการพัดตะกอนออกจากฝั่ง พื้นที่กัดเซาะส่วนใหญ่ เป็นชุมชนชาวประมง และประกอบอาชีพส่วนตัว มีรายได้ไม่มากนัก เฉลี่ยต่ำกว่า 5, 000 บาท / เดือน รายจ่ายสูงกว่ารายได้เล็กน้อย


 


ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลชลคราม ได้สร้างเสาเข็มคอนกรีตเรียงเป็นแนวยาว 1.2 กิโลเมตร จำนวน 160 ต้น และใส่ยางรถยนต์ แต่ยังไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะได้ ทางโครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เสนอให้ก่อสร้าง กองหินป้องกันคลื่นและถมหาดกว้างประมาณ 20 เมตร ป้องกันการกัดเซาะ ค่าใช้จ่ายประมาณ 65 ล้านบาท


 


กรมทรัพย์ฯ ส่งคนลงพื้นที่


นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบการกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านพอดแล้ว หลังจากสิ้นสุดมรสุมจะลงไปศึกษาสภาพพื้นที่อีกครั้ง


 


ก่อนหน้านี้ นายวรวุฒิ ให้สัมภาษณ์ว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นลมมรสุม ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น ภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลให้มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะเกิดความสมดุลใหม่ขึ้นมา


 


"สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ก็เป็นตัวเร่งกระบวนการกัดเซาะชายฝั่งให้เร็วขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะแตกต่างออกไปในแต่ละแห่ง อย่างในประเทศไทย บางแห่งเป็นเขื่อนกันคลื่น บางแห่งก็เป็นตัวรอดักทราย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจะต้องดูแต่ละจุดว่าเป็นอย่างไร จะไม่ตีรวมว่าทุกแห่งต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวกันทั้งหมด" นายวรวุฒิกล่าว


 


อุตุฯ เตือนระวังน้ำท่วมฉับพลัน


ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนว่า ระหว่างวันที่ 20 - 21 ธันวาคม 2548 พายุดีเปรสชัน ที่ปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนล่าง จะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทย และในวันที่ 22 - 23 ธันวาคม 2548 พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีกำลังแรงตลอดสัปดาห์


 


ข้อควรระวัง ช่วงวันที่ 21 - 24 ธันวาคม 2548 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ระมัดระวังภัยจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ส่วนชาวเรือที่เดินเรือในอ่าวไทยและทะเลอันดามันขอให้ระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง


           


 


ปิดโรงพยาบาล-ย้ายคนไข้หนีน้ำ


สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดปัตตานี น้ำยังคงท่วมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในอำเภอเมืองและอำเภอหนองจิก เนื่องจากน้ำจากจังหวัดยะลาไหลเข้ามาสมทบ ประกอบกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูง จึงได้มีการสั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัด เป็นวันที่ 2


 


นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้แจ้งให้ประชาชนระมัดระวังสถานการณ์น้ำท่วม เพราะน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการรายงานของเขื่อนปัตตานีคาดการณ์ว่า ระดับน้ำท่วมทั่วไปจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตรา 2 นิ้วต่อชั่วโมง และจะมีน้ำทะเลหนุ่นในช่วงเวลาประมาณ 23.00-24.00 น. จึงคาดว่าช่วงดังกล่าวระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด คาดการณ์ว่าระดับน้ำใน จังหวัดปัตตานี อาจจะเพิ่มสูงอีกในระดับ 50 เซนติเมตร


 


สำหรับโรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้สั่งปิดให้บริการการชั่วคราวตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 19 ธันวาคม 2548 เนื่องจากน้ำท่วมในตัวอาคารของโรงพยาบาลสูงถึง 1.50 เมตร ส่วนอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์บางส่วนได้ย้ายไปไว้ที่ปลอดภัยแล้ว และได้ย้ายผู้ป่วยที่มีอยู่ 11 ราย ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลปัตตานี


 


สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี สรุปความเสียหายเบื้องต้นจากสถานการณ์น้ำท่วมว่า มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 31,784 ครอบครัว บ้านเรือนเสียหายมาก 459 หลัง เสียหายเล็กน้อย 282 หลัง ถนนเสียหาย 300 สาย สะพาน 18 แห่ง โรงเรียนเสียหาย 61 แห่ง วัด 8 แห่ง มัสยิด 14 แห่ง สถานที่ราชการ 23 แห่ง นาข้าว 23,976 ไร่ พืชสวนไม้ผลกว่า 10,000 ไร่ สัตว์เลี้ยง 18,915 ตัว บ่อปลาเสียหาย 1,226 บ่อ สรุปความเสียหายเป็นเงินประมาณ 91,000,000 บาท


 


โคลนถล่มยะลาบ้านพังกว่า50หลัง


นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ยังมีบางพื้นที่ที่ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ โดยเฉพาะบริเวณกิโลเมตรที่ 26 หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา ถนนและคอสะพานขาด รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าไปเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร จากจากการสำรวจพบว่า บ้านเรือนราษฎรถูกดินและหินถล่มทับเสียหายกว่า 50 หลัง ประชาชนขาดแคลนอาหารมาเกือบ 3 วัน จึงได้ประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ป่าเขาให้ระมัดระวังเหตุดินถล่ม และเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นวันในวันที่ 21 - 23 ธันวาคม 2548 ด้วย


 


ตรังบ่อน้ำตื้นยุบหลังน้ำลด


ที่จังหวัดตรังได้เกิดเหตุบ่อน้ำตื้นภายในบ้านเลขที่ 62 ถนนเวียนกะพัง ตำบลทับเที่ยง เขตเทศบาลนครตรัง ของนางใจดี วัดโคก อายุ 52 ปี ซึ่งลึกประมาณ 20 เมตร ได้เกิดการยุบตัวลงประมาณ 3 เมตร ทำให้ท่อซีเมนต์ที่กั้นดินไว้หายไปประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณรอบข้างเกิดเป็นโพรงดินกว้างและมีรอยแตกร้าวบนผิวดิน


นายสมบุญ โกสิตานนท์ นักธรณีวิทยา 8 กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 500 เมตร เคยเกิดเหตุแผ่นดินยุบตัวจนทำให้บ้านเรือนทรุดตัวลงไปถึง 4 หลัง เชื่อว่าใต้พื้นดินมีลักษณะเป็นโพรงเหตุการณ์น้ำท่วม เป็นตัวเร่งให้แผ่นดินทรุดตัวเร็วขึ้น


 


นายสันติ์ จันทรวงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดตรัง สรุปความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดตรังว่า มีน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ 69 ตำบล 410 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 34,746 ครอบครัว มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 1 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลังรวม 3 หลัง เสียหายบางส่วน 166 หลัง ถนนเสียหาย 441 แห่ง สะพาน 22 แห่ง ทำนบ - เหมือง 16 แห่ง โรงเรียน 38 แห่ง วัด 17 แห่ง สถานที่ราชการ 6 แห่ง และอื่นๆ 2 แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า113,000 ไร่ ปศุสัตว์ 8,550 ตัว และประมง 2,931 บ่อ


 


เมืองคอนสรุปนาข้าวเสียหายแสนไร่


ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ระดับยังคงท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วย อำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชะอวด และอำเภอเมืองบางส่วน เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง


 


โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชสรุปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม2548 ว่า มีพื้นที่นาข้าวเสียหาย 113,728 ไร่ ขัดแย้งกับข้อมูลของนายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ยืนยันว่า เฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีนาข้าวเสียหายอย่างสิ้นเชิงถึง 500,000 ไร่


 


สตูลสรุปเสียหายน้ำท่วม 73 ล้าน


สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูลสรุปความเสียหายจากน้ำท่วมว่า มีมูลค่าประมาณ 73,000,000 บาทเศษ ราษฎรได้รับผลกระทบ 54,402 คน จาก 12,706 ครัวเรือน ในพื้นที่ 5 อำเภอ กับ 1 กิ่งอำเภอ ถนนถูกตัดขาด 83 สาย สะพาน 3 แห่ง พื้นที่ด้านการเกษตร นาข้าว พืชไร่ พืชสวน เสียหายกว่า 22,000 ไร่ บ่อปลาเสียหาย 3 แห่ง ด้านปศุสัตว์วัวสูญหาย 100 ตัว กระบือ 30 ตัว แพะ 4 ตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net