Skip to main content
sharethis

โดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กับโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีอีกเกือบ 100 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างน้ำพุและชิงช้าสวรรค์ภายในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งเป็นแผนเดิมที่เคยวางไว้อยู่แล้วว่าภายในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จะต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเข้ามาชมสัตว์เพียงอย่างเดียว ซึ่งการสร้างน้ำพุและนำชิงช้าสวรรค์เข้ามาไว้ในโครงการ เท่ากับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในโครงการได้อีกจุดหนึ่ง และมั่นใจว่าจะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว


 


ทั้งนี้ การก่อสร้างน้ำพุจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.น้ำพุแบบ Jumping Jet 2.Fun Plaza หรือลานสวนสนุกทางน้ำ ขนาดพื้นที่ 60 ตารางเมตร จะมีน้ำพุทั้งหมด 40 จุด 3.น้ำพุดนตรี ที่จะทำในลักษณะ Water Screen หรือม่านน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้เซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วกับบริษัทแห่งหนึ่งที่มีประสบการณ์ด้านนี้จากประเทศเยอรมนี ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 48 ล้านบาท


 


ในส่วนของชิงช้าสวรรค์ ขณะนี้ได้ทำการเจรจากับประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอซื้อชิงช้าสวรรค์จากงาน Expo ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้จัดขึ้นเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาและได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยคาดว่าจะซื้อได้ในราคาประมาณ 50 ล้านบาท


 


นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เริ่มเปิดให้บริการให้เข้าชมฟรีมาตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 และได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศเข้าชมเฉลี่ยวันละ 20,000 คน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2548 มีจำนวนคนเข้าชมกว่า 90,000 คน ซึ่งจากการหารือกับ พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้อย่างทั่วถึง จึงได้ขยายเวลาในการให้บริการเข้าชมฟรีไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2549 หลังจากนั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 จึงจะเริ่มเก็บค่าบริการเข้าชม


 


โดยในวันที่ 1 มกราคม 2549 จะไม่มีพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการตามที่เคยบอกไว้ เพราะขณะนี้ถือว่าโครงการเปิดให้บริการแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดเคาท์ดาวน์เฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ โดยจะมีกิจกรรมที่เน้นเรื่องสุขภาพ เช่น การขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ วิ่ง เดินมาราธอน การจุดพลุและปล่อยโคมลอย เป็นต้น


 


ขณะที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 มีมติอนุมัติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการอวยพร การจัดงานรื่นเริง และการให้ของขวัญเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ จำนวน 9 ฉบับ และเห็นชอบแนวทางปฏิบัติการอวยพรวันขึ้นปีใหม่ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ


 


โดยเน้นสาระสำคัญ อาทิ 1.การไปลงนามถวายพระพรให้คงถือปฏิบัติตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมา


2. ให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งขอความร่วมมือให้ประชาชนงดใช้สินค้าฟุ่มเฟือยและให้ใช้สินค้าไทย เช่น สินค้าจากโครงการ


หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อเป็นการเสริมสร้างค่านิยม การอวยพรอย่างประหยัด


 


3. ส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของ รัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดไม่ควรต้องเดินทางไปอวยพรนายกรัฐมนตรี ถ้าประสงค์จะอวยพรในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ก็ขอให้ส่งเป็นบัตรอวยพร หรือบัตร ส... ไปแทนโดยอาจลงนามเป็นหมู่คณะก็ได้


 


4. การส่งบัตรอวยพร หรือบัตร ส... ให้คำนึงถึงการประหยัดและควรสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เช่น การใช้บัตรอวยพรที่ทำขึ้นเองหรือใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือซื้อจากองค์การกุศลต่าง ๆ เป็นต้น


 


5. เพื่อให้สอดรับมาตรการประหยัด จึงควรงดการจัดงานรื่นเริงเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ หากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน เห็นควรจะจัดงานรื่นเริงก็ให้ใช้ดุลยพินิจจัดได้เพียงเท่าที่เหมาะสมกับปกติประเพณี โดยคำนึงถึงความประหยัดและการบังเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net