"ฮาวาย" ไม่ฮาเฮ หวั่นลักลอบทดลองพืชจีเอ็มโอใส่ยีนมนุษย์

 

ช่วง 1-2 เดือนมานี้ มีเสียงเรียกร้องจากเครือข่ายสถาบันเกษตร (คสก.) ให้รัฐบาลเดินหน้าการทดลองพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ที่ชะงักงันมาพักใหญ่ หลังจาก กรีนพีซ บุกไปทำลายมะละกอจีเอ็มโอในแปลงทดลองในไร่นาของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (งานพืชสวน) ที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 เพราะพบการแพร่กระจายในจังหวัดขอนแก่น และหลังจากนั้นมาก็มีข่าวการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

 

จนล่าสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร "ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์" ฐานละเลยหน้าที่ หลังจากพยายามออกแถลงการณ์หลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ และนายกรัฐมนตรีเร่งจัดการปัญหานี้

 

ท่ามกลางความปั่นป่วนนี้ สถานะของ "จีเอ็มโอ" จึงยังคงไม่ชัดเจนในสังคมไทยต่อไป ไม่รู้ว่ามันคือ "ผู้ร้าย" ที่มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์เพื่อการครอบฐานอาหารของโลก สร้างปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม (Genetic Pollution) ทำร้ายสุขภาพมวลมนุษย์ในระยะยาว หรือเป็น "พระเอก" ที่จะช่วยแก้ปัญหาโรคระบาดรักษาไม่หายต่างๆ ในพืช เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับประชากรโลก กระทั่งเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยารักษามนุษย์

 

เช่นเดียวกับ Dr.Lorrin Wayie Pang เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข บนเกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา ที่เขาก็ไม่แน่ใจในเทคโนโลยีนี้ และเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยในคนโดยด่วน!! ข้อเรียกร้องนี้ไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับประเทศไทยนัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

Lorrin เล่าว่า สถานการณ์พืชจีเอ็มโอในสหรัฐน่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะขณะนี้เกาะฮาวาย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่ใช้ทดลอง-ปลูก-ขายพืชจีเอ็มโอ ไม่ว่ามะละกอ ฝ้าย คาโนลา ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯ กำลังมีการทดลองพืชจีเอ็มโอที่ตัดต่อโดยใช้ยีนมนุษย์อย่างลับๆ

 

"ที่นั่นมีทั้ง อ้อย เผือก มะละกอ สับปะรด ในแปลงทดลอง รวมทั้งสาหร่ายด้วย อะไรก็จะกลายเป็นจีเอ็มโอไปหมดแล้ว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามีอะไรอีกบ้าง เพราะทางการไม่บอกอะไรทั้งสิ้น พวกเราต้องร้องต่อศาลขอให้ทางบริษัทเปิดเผยข้อมูล เพราะทราบว่ามีการใช้ยีนของมนุษย์ในพืชจีเอ็มโอ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์" Lorrin กล่าวและว่า น่าจะมีการทดลองลักษณะนี้มาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว

 

องค์กรภาคประชาชนในฮาวายยื่นคำร้องต่อศาลไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และต่อมาศาลก็มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลตามคำร้อง Lorrin บอกว่า นี่ทำให้หลายโครงการของหลายบริษัทที่ทำการทดลองอยู่หยุดไป แต่มีบริษัทหนึ่งที่ยอมเปิดเผยข้อมูลของสาหร่ายจีเอ็มโอ ซึ่งมีการใช้ยีนในมนุษย์ไปตัดต่อทำให้มีคุณสมบัติเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยลดการเกิดมะเร็ง และลดปัจจัยการเกิดโรคอีกหลายอย่าง

 

"แล้วพวกเราก็ไปบล็อคที่ศาลอีกครั้ง เพราะมันยังไม่มีกาประเมินความปลอดภัย" Lorrin กล่าวพร้อมระบุว่า ขณะนี้พวกเขากำลังเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลในพืชทดลองทุกชนิด ไม่เฉพาะยา โดยจะขอดูทีละตัวๆ ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อสู้กันในชั้นศาล

 

"ตอนนี้เรื่องผลกำไรเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทยาในสหรัฐกำลังเร่งกระบวนการจดสิทธิบัตรอย่างรวดเร็ว เพราะจีนกับอินเดียเติบโตเร็วมาก ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงใช้เงินจ้างห้องแลบภาครัฐ มหาวิทยาลัย ทำวิจัยต่างๆ มีหน่วยงานเดียวที่เงินยังเข้าไม่ถึงก็คือ ศาล" Lorrin กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ต่อต้านการวิจัย แต่ต้องการให้มีการวิจัยเฉพาะในห้องปฏิบัติการซึ่งมีการควบคุมอย่างดีเท่านั้น เพราะการทดลองในไร่นามีความเสี่ยงมากที่จะแพร่กระจาย และส่งผลต่อสุขภาพของคน ตราบใดที่ยังไม่มีการทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ที่แน่นอน

 

"ผมขอแค่นี้เอง แต่เขาก็ไม่มีคำตอบ เพราะที่ผ่านมามันไม่เคยมีการทดสอบในมนุษย์" เขากล่าวหลังจากเคยยื่นหนังสือสอบถามไปยังผู้อำนวยการ FDA ไปสองครั้งสองคราแต่ไม่ได้รับคำตอบ

 

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บทบาทขององค์การอาหารและยา (FDA/ Food and Drug Administration) ของสหรัฐ ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลให้กับประชาชนผู้ตื่นตัวในเรื่องนี้ เพราะ FDA มีความเห็นอย่างเป็นทางการออกมาว่า พืชจีเอ็มโอก็เหมือนกับอาหารปกตินั่นแหละ

 

"มันเป็นไปได้ยังไงที่จีเอ็มโอจะเหมือนอาหารปกติ แม้แต่ National Research Council and Institute of Medicine ก็ยังรายงานว่า ในทางทฤษฏีจีเอ็มโอนั้นมีอันตรายมากกว่า และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์"

 

Lorrin เห็นว่า เหตุผลที่แท้จริงของข้อความนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในหน่วยงานมากกว่า โดยเขาอ้างว่า คนใน FDA นั้นไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์อีกต่อไปแล้ว แต่มาจากการเมือง รวมทั้งมีคนจากบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับจีเอ็มโอไปนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ ใน FDA ด้วย ซึ่งในรัฐสภาของสหรัฐ เคยเปิดเผยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานนี้ในกรณีของยามาแล้ว

 

เขากล่าวอีกว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้หน่วยงานนี้หมดความน่าเชื่อถือ แม้แต่ในวงการแพทย์เองก็ไม่ให้เครดิตกับ FDA หลังจากที่ในอดีตมันเคยมีพลังและความน่าเชื่อถือสูง

 

และนั่นเป็นปัญหามากสำหรับฮาวาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ FDA ในท้องถิ่นนั้นมักหลับหูหลับตา เชื่อหน่วยงานส่วนกลาง เหมือนกันกับที่ประเทศไทยมีความเชื่อมั่นใน FDA ของสหรัฐอย่างยิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขผู้นี้ยืนยันว่า การทดลองในมนุษย์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยยกตัวอย่างในกรณีของยาว่า กว่าที่ยาตัวหนึ่งจะนำออกมาใช้ในท้องตลาดได้ ต้องผ่านการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งใช้เวลาอย่างต่ำ 10 ปี และใช้งบประมาณเป็นพันล้านบาท กระนั้นก็ตาม ยังพบว่ายาที่ผ่านการทดสอบเป็นอย่างดีแล้วบางตัวก็ยังเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจนมีเก็บคืนหลังจากวางตลาดแล้ว

 

แต่ในกรณีที่เป็นของกิน ซึ่งคนเรากินอยู่เป็นประจำบ่อยครั้งกว่าการกินยา น่าจะต้องมีการทดลองในมนุษย์นานกว่านั้น อาจจะถึง 20 ปี เพื่อให้มั่นใจจริงๆว่าจะไม่มีปัญหากับสุขภาพคนในระยะยาว

 

Lorrin ย้ำในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพด้วยว่า การตรวจหาความเป็นพิษในพืชจีเอ็มโอ อย่างที่กรมวิชาการเกษตรเพิ่งแถลงข่าวความปลอดภัยของมะละกอจีเอ็มโอไปเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ยังไม่เพียงพอ

 

"มันบอกได้เพียงว่า ไม่พบสารพิษที่เรารู้จักแล้ว แต่ที่เราไม่รู้ ก็คือ เราไม่รู้ ยาหลายตัวที่บอกว่าไม่เป็นพิษ ก็ยังคร่าชีวิตคนมาตั้งมาก" Lorrin กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท