Skip to main content
sharethis

 


ภาพจากศูนย์ข่าวอิศรา(www.tjanews.org)


 


 


วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2005 16:07น. 


รอซิดะห์ ปูซู : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


"ควบคุมด้วยใจ  แก้ไขด้วยเมตตา มุ่งพัฒนาสู่สังคม" เป็นสโลแกนสั้นๆ  ที่เขียนติดไว้ตรงมุมหนึ่งของเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี  อันเป็นการแสดงถึงวิสัยทัศน์และนโยบายของเรือนจำแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องหาและจำเลยในคดีต่างๆ ถึง 707 ชีวิต


 


แม้ส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังทั้ง 707 ราย จะเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ไม่ต่างจากเรือนจำอื่นๆ เกือบทั่วประเทศ และรองลงมาคือคดีประทุษร้ายต่อชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรือนจำแห่งนี้แตกต่างออกไป ก็คือการมีผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมากถึงกว่า 50 คน


 


อุดม  คุ่ยณรา   ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานี  กล่าวว่า   ในจำนวนผู้ต้องขัง 50   กว่ารายนี้ มี 16 รายที่ถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฆ่าพระภิกษุวัดพรหมประสิทธิ์ อ.ปะนาเระ  จ.ปัตตานี  อันเป็นคดีครึกโครมระดับประเทศ โดยผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดเป็นวัยรุ่น ทางเจ้าหน้าที่จึงต้องดูแลเป็นพิเศษ


 


"จริงๆแล้วผู้ต้องหากลุ่มนี้ไม่ใช่อาชญากรโดยอาชีพ หรือเป็นอาชญากรโดยสันดาน แต่เป็นเพราะหลงผิดและถูกชักนำในทางที่ไม่ดี จึงไปก่อเหตุร้ายแรงเช่นนี้ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมก็มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้อบรมกับผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าวด้วย" อุดม ระบุ


 


เขาขยายความว่า หลักสูตรที่พูดถึงนี้ เป็นโปรแกรมที่เน้นการให้ความรู้ทางการเมือง  ศาสนา และสังคม เพื่อให้เยาวชนที่กระทำความผิดได้ซึมซับแนวคิดในเชิงบวก ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ดีขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม


 


ขณะเดียวกันก็พยายามขยายฐานความคิดเช่นนี้ เพื่อลดการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นเป้าหมายสุดท้าย


 


อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภารกิจการคุมขังผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ย่อมมีความอ่อนไหวกว่าผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานี ยอมรับว่า รู้สึกหนักใจพอสมควร


 


"ผมยอมรับว่าหนักใจ และคงเป็นเหมือนกันทุกเรือนจำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นปัตตานี ยะลา หรือนราธิวาส ซึ่งเราก็แก้ไขด้วยการพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของการอยู่ในเรือนจำว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ช่วงที่พนักงานสอบสวนนำตัวมาฝากขังครั้งแรกเพื่อรอการพิจารณาสำนวนคดีเลยทีเดียว" อุดม ระบุ


 


กระนั้นก็ตาม หากมองในมุมของผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน การต้องเดินเข้าประตูเรือนจำคงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกไม่น้อยเหมือนกัน


 


"ตอนแรกที่พวกเขาเข้ามาก็แสดงท่าทีหวาดกลัว" อุดมเล่า "แต่หลังจากที่เราได้ชี้แจงทำความเข้าใจกันแล้ว พวกเขาก็มีท่าทีตอบรับมากขึ้น  แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้ต้องขังที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง เราจะประมาทไม่ได้ ต้องดูแลเป็นพิเศษ"


 


ทว่าการดูแลเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งย่อมหมายถึงการใส่เครื่องพันธนาการ หรือโซ่ตรวน ซึ่งเรือนจำกลางปัตตานีกำลังตกเป็นเป้าจับตามองของบรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กร กรณีการใส่โซ่ตรวนผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งบางส่วนเป็นเยาวชน


 


อุดม ยอมรับว่า รู้สึกหนักใจเรื่องการใช้เครื่องพันธนาการ เพราะจริงๆ แล้วก็พยายามให้ใช้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้


 


"ต้องเข้าใจว่าการควบคุมคนหมู่มาก และบางครั้งยังใหม่กับสถานที่ หรือเคยก่อคดีที่ไม่น่าไว้วางใจ ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องพันธนาการสักระยะ แต่เมื่อทุกอย่างเข้าที่ เราก็จะถอดออก ผมขอทำความเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ ไม่ได้กระทำตามอำเภอใจ"


 


ทั้งนี้ นอกจากมาตรการใส่เครื่องพันธนาการแล้ว มาตรการการควบคุมความเรียบร้อยภายในเรือนจำ ยังมีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในเรือนจำแบบทุกแง่ทุกมุม เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจขึ้นมา ก็จะสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที


 


"ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของอุปกรณ์ หรือเครื่องไม้เครื่องมือ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหากำลังคน" อุดมบอก และว่า 


 


"เจ้าหน้าที่ของเราทำงานหนักมาก ต้องจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงมาอยู่มากๆ ทำให้การควบคุมตัวต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น  ดังนั้นถ้ามีการเพิ่มอัตรากำลังคนให้มากกว่านี้อีกสักนิด ก็จะช่วยลดภาระได้มากทีเดียว และการควบคุมก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย"


 


อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ ทางเรือนจำได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมผู้ต้องขังไปจากเดิมมากพอสมควร จากในอดีตที่ยึดหลักการที่ว่า การคุมขังคือการ "ลงโทษ" จึงเน้นการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนี และอยู่รับโทษจนครบตามคำพิพากษาของศาล


 


ทว่าในปัจจุบันได้หันมาใช้วิธีมุ่งเน้นการพัฒนาคน คือทำอย่างไรที่จะคืนคนดีสู่สังคม โดยเปลี่ยนคนซึ่งประชาชนภายนอกมองว่าเป็นภาระของสังคม ให้กลายเป็นพลังเชิงบวกของสังคมให้ได้  ทั้งยังเป็นพลังที่สามารถขับเคลื่อนตนเองด้วยการประกอบอาชีพได้โดยไม่เป็นภาระให้กับใคร


 


ด้วยเหตุนี้ ในปีงบประมาณ 2549   ทางเรือนจำกลางปัตตานีจึงได้ทำโครงการ "จัดการศึกษาวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้นแก่ผู้ต้องขัง" ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเรือนจำกลางปัตตานีกับวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี  โดยมีผู้เข้ารับการอบรมรุ่นแรก จำนวน 135 คน


 


ทั้งนี้ หลักสูตรที่นำมาใช้ฝึกอบรม แบ่งเป็น 11 สาขาอาชีพ  คือ การประกอบอาหารและทำขนม , การประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์  , ช่างเสริมสวย , งานแกะสลักลายกระจก , งานกรอบรูปวิทยาศาสตร์  , การติดตั้งระบบไฟฟ้าในอาคาร  , งานประกอบอลูมิเนียม , ช่างปูกระเบื้อง , การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ , งานเชื่อมโลหะรูปพรรณ   และการประกอบอาหารเพื่อไปประกอบอาชีพในต่างประเทศ


 


"ถ้าผู้ต้องขังสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้รับการฝึกอบรมไปประกอบอาชีพได้ จะเป็นการลดการกระทำความผิดซ้ำ อย่างน้อยสังคมจะได้รู้สึกปลอดภัย และตัวเขาเองก็จะมีความหวังในชีวิต ไม่ต้องมาย้อนรอยเดิมอีก"  ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานี  กล่าว


 


ด้าน นายสุวพันธ์ สุนทรวงศ์  ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี  กล่าวว่า หลักสูตรของทางวิทยาลัยฯวางไว้ 2 ขั้นตอน  คือ   1.ให้ความรู้เพื่อให้ผู้ต้องขังมีทักษะในการทำงาน อย่างน้อยที่สุดก็เมื่อเขาออกจากเรือนจำก็สามารถยึดเป็นอาชีพเสริมได้  


 


และ 2.สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น เช่น ปวช.  (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) หรือ ปวส.  (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) ทางวิทยาลัยการอาชีพก็จะประสานและจัดสถานศึกษาให้   ส่วนผู้ที่มีอาชีพอยู่แล้วแต่ไม่มีทุน หรือยังไม่มีงานทำ   ก็จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง


 


นางโส  (นามสมมุติ) ผู้ต้องขังหญิงวัย 39 ปี บอกว่า รู้สึกดีใจที่มีโครงการแบบนี้  โดยอาชีพที่สนใจคือการตัดเย็บเสื้อผ้า และทำขนม  เนื่องจากที่บ้านเปิดร้านขายน้ำชา ตั้งใจไว้ว่าหลังพ้นโทษในอีก 2 ปีข้างหน้า จะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ไปเปิดกิจการของตัวเองต่อไป


 


ขณะที่ นายชา  (นามสมมุติ) ผู้ต้องขังวัย 26 ปี  กล่าวว่า อาชีพเดิมเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์   แต่ครั้งนี้เลือกเรียนหลักสูตรแกะสลักกระจก  เพื่อที่ว่าเมื่อพ้นโทษออกไป จะได้นำไปทำเป็นอาชีพเสริม


 


"ผมสัญญากับตัวเองและครอบครัวไว้แล้วว่า จะกลับตัวเป็นคนดี และไม่หวนกลับมาที่นี่อีก" เขากล่าวอย่างมุ่งมั่น


 


ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนแต่ละคน ย่อมมีโอกาสที่จะคิดผิด หลงผิด และทำในสิ่งที่ผิดด้วยกันทั้งนั้น การลงโทษคนเหล่านี้ให้สาสมกับสิ่งที่พวกเขากระทำลงไป อาจเป็นสิ่งจำเป็นในหลายๆ กรณี แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณี


 


การดึงพวกเขาให้กลับมาสู่วิถีแห่งความดี และพึ่งพาตนเองได้ ก่อนส่งกลับคืนสู่สังคม น่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และดับไฟใต้ได้อย่างยั่งยืน


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net