"ดับไฟใต้ด้วยละคร" ฝีมือเยาวชน 3 จังหวัดภาคใต้

 

 

"สันติสุขที่หายไปจากภาคใต้" ฟังดูแล้วเป็นภาพลักษณ์ในเชิงลบที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับเยาวชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเองมาตลอด

 

โครงการ "การใช้สื่อละครเพื่อพัฒนาเยาวชนในเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี" หรือสันติวิธีในวิถีชุมชน จึงเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของเยาวชน 3 จังหวัดภาคใต้ทั้งที่เป็นมุสลิมและที่นับถือศาสนาพุทธ เพื่อสะท้อนความคิดของเยาวชนที่ต้องประสบกับความรุนแรงในภาคใต้โดยตรงว่า มองภาพบ้านตัวเองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และอยากให้สิ่งใดเป็นภาพในอนาคต

 

การนำสื่อละครที่เสนอความขัดแย้งของตัวละครมาเป็นตัวตั้ง แล้วหาจุดคลี่คลายเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากสังคมที่มีชุมชนเป็นฐานราก เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) โดยเน้นที่เยาวชนซึ่งถือเป็นกุญแจแรกของการพัฒนาในวันข้างหน้า

 

ด้วยจิตใจอันอ่อนโยนของเยาวชนกลุ่มนี้ เป็นการรวมความต่างของเชื้อชาติ ศาสนา อายุ เพศ และความนึกคิด มารวบรวมเป็นความเข้าใจ โดยท้ายที่สุด มีปลายทางที่การสร้างความสุขให้กลับมาในปักษ์ใต้อีกครั้ง

 

"ผมมีเพื่อนที่เป็นมุสลิมเยอะ พวกเขาก็เป็นคนดี เป็นเพื่อนที่ดีของผม" น้องไผ่ ศักดา ใจซื่อดี ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ สรุปชัด

 

มีตำนานเล่ากันว่า ในอดีต แคว้นลังกาสุกะ หรือปัตตานีในปัจจุบัน มีหัวเมืองรามันเป็นหัวเมืองบริวารหัวเมืองหนึ่ง มีโต๊ะนิเป็นคนปกครอง โต๊ะนิผู้นี้ชอบช่วยเหลือสังคม ชอบการคล้องช้าง วันหนึ่งโต๊ะนิเดินทางไปที่ เบตง จ.ยะลา รู้สึกประทับใจในความสวยงามของบ้านเมือง จึงสร้างวังชั่วคราว และเปิดรักษาโรคให้ผู้ที่เดือดร้อนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน มุสลิม หรือไทย ความเก่งของโต๊ะนิเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนเบตงกลายเป็นที่รวมของคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

ตำนานพื้นบ้านยังสืบเนื่องเป็นพื้นฐานมาถึงวิถีของคน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยกลุ่มเยาวชนเห็นพ้องร่วมกันว่า อยากสร้างความรักและอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวระหว่างพุทธและมุสลิมในทุกขณะ เพราะต่างก็อยู่บนความไม่แตกต่าง

 

ในละครมีการใช้ความรุนแรงเป็นตัวตัดสินก่อนการจับไม้จับมือคืนดีกัน และมีการนำประเด็นเรื่องการมองเห็นความต่างให้กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดามาเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเยาวชนหลายคนมองว่า บางครั้งก็มีการจัดการปัญหาด้วยการเอาไฟไปดับความร้อน

 

"แก่งแย่งกันเข้าไป ฆ่าฟันกันเข้าไป รู้ไหมข้าชอบไฟ เอามาเยอะๆ ข้าชอบ" เสียงจากปีศาจตัวแดง ตาโต เสียงดุกร้าว ที่แสดงโดย น้องจิ่น สุรศักดิ์ ตั้งหทัยวิสุทธิ์ เป็นแนวประชดประชันที่บอกถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดในเวลาที่ขาดสติ

 

ดังนั้น ปีศาจตนนี้ จึงยืดแขนออกเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่ปัญหาของชุมชนลุกลาม ปัญหาจะยิ่งปะทุมากขึ้นๆ จนกว่าทุกคนจะหันหน้ามาคิดแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างแท้จริง  

 

มุรนี คอลอราแม หรือน้องนี เล่าถึงผลกระทบในเวลาที่มีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ว่า ตอนเกิดเรื่องหนักๆ ในบ้าน สิ่งที่เราทำไม่ได้ คือออกไปกรีดยางตามเวลาปกติ จากที่เคยออกไปตอนตีสองหรือตีสาม ก็ต้องออกไปเก้าโมง เลยไม่ได้น้ำยางดีเท่าที่ควร จากที่เคยมานั่งคุยกันตอนเย็นๆ ค่ำๆ ก็ไม่มีแล้ว   

 

ขณะที่ ซีลาวาตี โตะขุนละใบ ซึ่งเข้ามาเรียนในตัวเมืองยะลา บอกว่า ปกติ หนูจะขับรถไปเรียนที่เทคนิค แต่ช่วงนั้นถ้าจะกลับบ้านก็ต้องกลับเร็วหน่อย มีรถรับส่ง  

 

"ตอนเกิดปัญหา พวกเราต้องระวังตัวตลอดเวลา พอไปโรงเรียนก็มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ในบ้านของตัวเอง ละครครั้งนี้เป็นการให้ภาพสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้น และทำให้ไม่กลัวมากเท่าเดิม"น้องนี กล่าวเสริม

 

การแก้ไขความรุนแรงที่เยาวชนร่วมกันเสนอและสื่อผ่านละคร คือการใช้น้ำดับไฟ จึงถือเป็นการแก้ปัญหาแบบเรียบง่าย แต่แฝงด้วยนัยยะอยู่ข้างในลึกๆ น้ำที่ใช้ดับไฟความไม่เข้าใจของเยาวชนถูกแทนด้วยสีรุ้งเจ็ดสี แสดงถึงความต่าง ความหลากหลาย แต่ก็สามารถมาร่วมมือกันทำอะไรที่งดงาม กลายเป็น "เจ็ดสีที่ดีงาม" โดยไม่ขัดต่อชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างเพื่อนกับเพื่อนที่แตกต่างกันแม้แต่น้อย

 

นอกจากนี้ ในละครยังมีการใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แทนความละเอียดอ่อนในการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดสันติขึ้นในชุมชนอีกด้วย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เยาวชน 3 จังหวัดภาคใต้ต้องการสื่อผ่านสิ่งของรอบข้างให้คนภายนอกรับรู้ว่า บ้านของพวกเขามีความงามอยู่เต็มพื้นที่มาก่อนแล้ว

 

สอดรับกับที่ น้องจิ๊ มาซีต๊อห์ แวหะยี วัย 22 ปี อธิบายให้ฟังว่า "ในละครที่มีการร้องเพลงปักษ์ใต้รูมอกีตอ หรือปักษ์ใต้บ้านเรานั้น เป็นการสะท้อนภาพจริงๆ ในชุมชนบ้านเรา เป็นภาพความสนุกสนาน และคิดว่าจะหัดร้องเพลงนี้ให้คล่องขึ้น"

 

ปาติเมาะ เป๊าะอิแต พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน ให้ความเห็นว่า "ความรุนแรงที่มีอยู่ เหมือนเป็นกระทู้ให้ทุกคนหันมามองว่า แต่เดิมบ้านเราอยู่กันอย่างไร เป็นอย่างไร

 

"บางครั้งปัญหาเริ่มจากจุดเล็กๆ เริ่มจากการใช้อารมณ์ ความรู้สึก เข้าไปประกอบ แต่ถ้าเราไม่จัดการให้ถูกที่ การแบ่งแยกในชุมชนก็จะกลายเป็นปัญหาลุกลาม"

 

ละครที่เกิดขึ้นจากการนำปัญหาร่วมมาสอดแทรกในเรื่อง แล้วขมวดปิดท้ายด้วยการเอาทุกปัญหามาแก้ไขด้วยการใช้น้ำแห่งความดีงามดับไฟ นับเป็นละครแบบสัญลักษณ์โดยฝีมือวัยรุ่น 3 จังหวัดภาคใต้ที่น่าติดตาม และควรเอาความคิดมาวิเคราะห์ต่ออย่างยิ่งว่า ผู้ใหญ่ของบ้านจะจัดการกับปัญหาอย่างไร!

 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท