Skip to main content
sharethis


 


วันนี้ (23 ธ.ค. 48) เวที "ห้าแยกลาดพร้าว" วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ได้จัดการเสวนา เรื่อง "ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ เมกะโปรเจคต์" โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายชาติชาย สุภัควนิช ประธานกรรมการบริษัท ทูพลัส ซอฟท์ จำกัด และนายธนบูลย์ จิรานุวัฒน์ อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม


ดำเนินรายการโดย ดร.ทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญสุข อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม


 


นายสุริยะใส เห็นว่า เมกะโปรเจคต์ เป็นปรัชญาแบบทุนนิยมเข้มข้น ซึ่งรัฐบาลเลือกใช้และทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้บริโภค กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของภาครัฐ คิดและทำแบบง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องแถลงต่อรัฐสภา อีกทั้งภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม หลายคำถาม ประชาชนคลางแคลงใจ สงสัย แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ต้องการแบ่งสรรปันส่วนให้กับคนในรัฐบาล และกลุ่มธุรกิจ 10 ตระกูลหรือไม่


นอกจากนี้ ยังต้องการให้ เมกะโปรเจคต์ เป็นไปตามกรอบและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันวาระซ่อนเร้น หากรัฐบาลมองข้ามรัฐธรรมนูญ ก็เตรียมใจไว้ได้เลย หากภาคประชาชนคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการเหล่านี้


 


เลขาธิการ ครป. ยังไม่เชื่อว่านายกฯจะสร้างหลักประกันและทำให้โครงการต่างๆโปร่งใสได้ แม้จะใช้ตัวเอง รับประกันกับกลุ่มทุนต่างชาติในวันที่เชิญทูตนานาประเทศมาพบก็ตาม เพราะนายกฯ คือบุคคลแรกที่สังคมนึกถึง และมีข้อมูลว่าเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายๆ กรณี อีกทั้งโครงการต่างๆ ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ทำไมนายกฯ ต้องเชิญทูตทั่วโลก มารับฟังคำชี้แจง เป็นการกอบกู้วิกฤติยุครัฐบาลขาลงหรือไม่


 


"เป็นการขายฝัน สิ่งที่รัฐบาลควรโรดโชว์ไม่ใช่ต่างชาติ หรือกลุ่มทุนต่างๆ แต่ควรเป็นภาคประชาชน ที่ควรต้องให้ข้อมูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ผมกำลังกลัวว่า ต่อไป จะมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาลงทุน อาจต้องออกกฎหมายให้ประชาชนต้องออมเงิน และลงทุนให้กับรัฐบาล อะไรจะเป็นหลักประกันว่าเงินออมนี้จะไม่สูญ"


 


เลขาธิการ ครป. กล่าวว่าแม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงมีกระแสพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ปรากฏว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือใส่ใจในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการในระบบทุนนิยมแบบเข้มข้น


 


"นายกฯ ได้เปลี่ยนวาทกรรมและนิยามคำว่า "พลเมือง" คือผู้บริโภค พลเมืองคือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐจัดสวัสดิการ และการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมให้ แต่ความหมายนี้เปลี่ยนแปลงไป เป็นแนวคิดที่ทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ถูกบิดเบนไป ซึ่งอันตรายมาก"


 


ที่ผ่านมา โครงการของภาครัฐเป็นต้นเหตุให้ภาคประชาชนมีปัญหา และเกิดความขัดแย้ง


กรณีภาคประชาชนฟ้องศาลปกครอง เรื่องการกระจายหุ้นกฟผ. ก็เป็นสิ่งใหม่ ที่ไม่มีใครคิดว่า เราสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ มีช่องทางอยู่ และภาคประชาชนทำได้


 


ปลายปีที่แล้ว มติ ครม. แก้ไขระเบียบสำนักนายกฯ โครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะเปิดช่องให้รัฐบาลทำเมกะโปรเจคต์ โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน


 


"สิ่งที่ควรต้องคิดต่อคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในเมกะโปรเจคต์ ไม่ใช่การยับยั้งหรือค้านทุกเรื่อง กรณีโครงการขนาดใหญ่ นายกฯไม่ถามคนในประเทศ แต่กลับไปเชื้อเชิญทุนต่างชาติเข้ามาโดยทันที ผมคิดว่าเรื่องนี้ ทำง่ายเกินไป เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นทางการเมืองมากกว่า ซึ่งก็ต้องเตรียมรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน "


 


ด้านนายชาติชาย สุภัควนิช ประธานกรรมการบริษัท ทูพลัส ซอฟท์ จำกัด กล่าวว่า ในการจัดทำ


โครงการใดๆ ก็ตาม จะเกี่ยวพันกับเรื่อง เงิน เวลา และคุณภาพของผลงาน มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของแผนงานนั้นๆ การกำหนดโครงการ เริ่มจาก การบริหารความคิด คัดสรรความคิด เลือกเรื่องที่มีความน่าจะเป็นมากที่สุด เกิดประโยชน์ และเหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ จากนั้นก็เรียงลำดับตามความสำคัญ ของเนื้องาน วางแผนและกำหนดการทำงาน


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการบริหารงานภาครัฐในเมืองไทย คือ คนที่เขียนโครงการเกิดจากข้าราชการระดับล่าง ไม่ได้เกิดจากการระดมความคิดเห็นร่วมกัน จึงเป็นโครงการที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดการวางแผนล่วงหน้าที่ดี และไม่ได้ให้ผลลัพท์ที่ดีในท้ายที่สุด หลายโครงการเกิดจาก การคัดลอก ทำซ้ำ ไม่มีสิ่งใหม่ แค่เพียงแก้ไขตัวเลขเท่านั้น ที่สำคัญคือ ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ถึงวิธีการตรวจสอบหรือป้องกันปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น หรือความไม่โปร่งใสของโครงการ หรือรายละเอียดของการใช้งบประมาณในส่วนต่างๆ


 


ทางออกที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ คือ การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยในการวางแผนและทำรายละเอียดของโครงการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการทำงาน


 


ด้านนายธนบูลย์ จิรานุวัฒน์ โจมตีแนวคิดของรัฐบาลทักษิณ ในการทำโครงการเมกะโปรเจคต์ เพราะไม่สามารถต้านหรือหาทางขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ และเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ศึกษาหรือดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ที่เคยทำโครงการเช่นนี้มาก่อน ว่ามีแนวทางป้องกันทุจริต และสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้อย่างไร ดังนั้น เมกะโปรเจคต์หลายๆ กรณี เกิดจากการที่รัฐบาลไม่มีเงิน จึงต้องเชิญต่างชาติมาร่วมทุน พร้อมกันนี้ ได้เตือนให้เฝ้าระวัง การทำโครงการใหญ่ๆ ที่จะเกิดปัญหาติดตามมา


 


 กรณีศึกษาคือ โครงการคลองปานามา เริ่มขุดในปี 1903 และเสร็จในอีก 10 ปีต่อมา สหรัฐจ่ายเพียง 10 ล้านดอลล่าร์ในรูปทองคำ และจ่ายอีกไม่เท่าไหร่ต่อปี ในเวลาต่อมา โครงการนี้ สหรัฐต้องการขยายอำนาจทางทะเลไปเชื่อมต่อกับญี่ปุ่น ก่อนประธานาธิบดีรูสเวท์ของสหรัฐ จะทำเมกะโปรเจคต์ ได้ใช้แนวทางทฤษฎี โปรเกรสซีพ ลิซึ่ม ใช้สแควร์ดีล มีฝ่ายต่างๆ เกี่ยวข้อง มาหารือกัน ใช้วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แรงงาน เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อขจัดความสูญเสีย และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป้าหมายอย่างหนึ่งคือ เขาต้องการลดการคอร์รัปชั่น องค์กรแรงงานและบริษัทที่ต้องการผูกขาดธุรกิจในประเทศ จึงทำไม่ได้


 


อ.ธนบูลย์ แนะนำว่า มีกลไกตามรัฐธรรมนูญหลายหน่วยงานที่ยังเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในการร้องเรียนหรือตรวจสอบหน่วยงานรัฐได้ เช่น อัยการสูงสุด และผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา


และประชาชนยังสามารถใช้สิทธิตามมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ เพื่อกำกับดูแลการทำงานของรัฐ เช่น มาตรา มาตร 214 ใช้ประชามติ หรือหากมีการทุจริตก็ใช้ มาตรา 303 ได้ ให้ถอดถอนได้


 


ผู้เข้าร่วมเสวนา ยังได้มีการแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ และตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบัน ประชาชนจำนวนไม่น้อย เริ่มเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลทักษิณ เนื่องจากนโยบายต่างๆ ถูกกำหนดเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของสังคมและสาธารณะอย่างแท้จริง อีกทั้งเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนมากกว่า นอกจากนี้ยังมีคำถาม ถึงความจำเป็นของ จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องทำเมกะโปรเจคต์ เพราะโครงการใหญ่มากก็ใช้เงินมาก และเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วยน่าจะมีทางเลือกในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่นๆ มากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net