Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.thaingo.org


 


ประชาไท-23 ธ.ค. 48        บทกลอนของศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เป็นสิ่งที่นายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน ระบุในการแถลงข่าวว่า เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้รับผิดชอบโครงการไนท์ซาฟารีควบคุมอารมณ์ไว้ไม่ไหว หลังจากที่ได้อ่านก่อนปิดรายการ "ถึงลูกถึงคน" ที่ดำเนินรายการโดยสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อคืนวันที่ 22 ธันวาคม ในประเด็นเรื่องไนท์ซาฟารี ที่มีข่าวว่าศาลเคนยาสั่งชะลอการส่งสัตว์ป่า 175 ตัว มายังประเทศไทย


 


นายชัยพันธ์ กล่าวว่า บทกลอนดังกล่าว ถ้าจับประเด็นไม่ดีจะเหมือนคำด่า แต่แท้ที่จริงแล้วหมายถึงสัตว์ เป็นการพูดแทนสัตว์ที่มีเนื้อหากินใจ เมื่อประกอบกับประเด็นก่อนหน้านั้น ได้พูดถึงประเด็นของเสือ 10 ตัวที่ส่งไปประเทศจีน รวมถึงกรณีลิงอุรังอุตังที่ยังเป็นปัญหากันอยู่ จึงเป็นสาเหตุให้นายปลอดประสพคุมอารมณ์ไม่ได้และตรงเข้ามาต่อว่าตน ขณะเดียวกันก็มีลูกน้องที่มากับเขา 7-8 คน กรูเข้ามารอบๆ หนึ่งในนั้นได้ชกตน และอีก 2 คนได้ดึงนายนิคม พุทธา ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช ซึ่งร่วมรายการด้วยตกจากเวทีไป


 


"นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นที่สาธารณะ ต่อหน้ายังทำขนาดนี้แล้วชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลอย่างตาสีตาสาจะถูกคุกคามขนาดไหน เรื่องนี้เราคงยอมให้เป็นเรื่องเล็กไม่ได้ จะมีการแจ้งความและทำหนังสือร้องถึงนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลของท่าน" นายชัยพันธ์ กล่าว


 


นายชัยพันธ์กล่าวเพิ่มเติมนอกจากนี้อีกว่า อาจมีการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อให้ระงับการเปิดไนท์ซาฟารีอย่างเป็นทางการเนื่องจากความไม่พร้อมและยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะนี้กำลังรอข้อมูลที่ทางกลุ่มยื่นขอจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


 


นายสุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลที่ทางเคนยาจะไม่ส่งสัตว์มาให้ประเทศไทยหรือมีปัญหาเพราะจะทำให้เกิดการลักลอบค้าสัตว์ป่าขนานใหญ่เกิดขึ้นได้ จึงอยากให้สังคมติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด


 


ส่วน นายนิคม พุทธา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ยังได้คำตอบไม่ชัดเจนจากนายปลอดประสพ ก็คือ การที่สัตว์บางชนิดที่จะส่งมาจากเคนยาเป็นสัตว์ใกล้จะสูญพันธุ์และมีความเป็นไปได้ที่จะมีชื่ออยู่ในบัญชีหนึ่งหรือบัญชีสองในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ไกลจะสูญพันธุ์  (The Covention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือไซเตส


 


ประเด็นต่อมาคือการส่งสัตว์อาจจะไม่มีมาตรฐานเพียงพอ โดยเฉพาะการตรวจโรคซึ่งต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ บันทึกของสัตวแพทย์ระบุชัดว่า มีโรคร้ายแรงหลายชนิดยังไม่ได้มีการศึกษาแฝงอยู่ในสัตว์ป่าในประเทศเคนยา


 


ประเด็นสุดท้ายคือภาพพจน์ของประเทศไทยยังไม่ดีขึ้นในเรื่องของการเป็นแหล่งค้าสัตว์ป่าหายาก และถูกประณามว่าแสวงหากำไรจากสัตว์ป่า รวมทั้งกรณีที่มีการพบข้อมูลว่า โครงการไนท์ซาฟารีมีการซ่อนโครงการต่างๆ ไว้มากมายไม่ว่าจะเป็นสวนสนุก อุทยานช้างที่ต้องมีช้างจำนวนมหาศาลแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำช้างมาจากที่ใด  นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้พื้นที่จำนวนมากที่อยู่ในอุทยานดอยสุเทพ-ปุย


 


ในภาคประชาชนเองยังมีคำถามอีกมากต่อโครงการนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแย่งชิงน้ำ เพราะโครงการนี้มีการขุดน้ำใต้ดินถึง 20 บ่อ ลึก 200 เมตร และใช้ท่อขนาดใหญ่สูบน้ำจากคลองชลประทานไปหมด ทำให้เชียงใหม่ซึ่งมีปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่แล้วจะยิ่งมีวิกฤติอย่างรุนแรงในฤดูร้อนอย่างแน่นอน รวมถึงการที่ชาวบ้านถูกยึดที่เอาไปทำปางช้าง และปัญหาการสร้างถนนเกือบ 20 เมตรตัดทางอุทยาน ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net