Skip to main content
sharethis

ตั้งแต่เช้าวันที่ 23 ธันวาคม 2548 บรรดาผู้ประสบภัยสึนามิจาก 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล กว่า 3,000 คน ได้ทยอยเดินทางมายังหมู่บ้านชาวมอแกน ที่บ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพื่อร่วมงานรำลึก 1 ปีสึนามิ ภาคประชาชน ระหว่างวันที่ 23 - 25 ธันวาคม 2548


 


ต่อมา เวลา13.00 น. นายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน ได้กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงาน จากนั้น เวลา 13.30 น. มีการประชุมเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย แต่งตั้งกองเลขาประสานงานเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน โดยมีตัวแทนผู้ประสบภัย 6 จังหวัดเข้าร่วมกว่า 100 คน


 


ที่ประชุม กำหนดให้คณะกรรมการเครือข่าย ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ประสบภัยจาก 6 จังหวัด โดยให้จังหวัดที่มีเครือข่ายผู้ประสบภัยระดับจังหวัดอยู่แล้ว ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการจังหวัดละ 5 คน สำหรับจังหวัดพังงา ซึ่งยังไม่มีเครือข่ายผู้ประสบภัยระดับจังหวัด ให้ส่งตัวแทนชุมชนละ 2 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการ รวมแล้วจำนวนคณะกรรมการจะมีไม่ต่ำกว่า 30 คน


 


นางปรีดา คงแป้น เลขาธิการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประสบภัยทั้งหมด นำปัญหามาแลกเปลี่ยนพูดคุย ปรึกษาหารือ เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไข และจากการประชุมครั้งนี้ ผู้ประสบภัยทั้งหมดเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการ เพราะเวลามีปัญหา จะได้มีจุดประสานงาน ถ้าหากไม่มีคณะกรรมการฯ เวลามีปัญหาจะไม่มีที่ประสานงาน ไม่รู้จะปรึกษาใคร โดยวันที่ 24 ธันวาคม 2548 จะได้รายชื่อคณะกรรมการฯ ทั้งหมด


 


นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่ประสานงานกับผู้ประสบภัย นำปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหาที่แก้ไขแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้ง 7 ประเด็น  ประกอบด้วย ปัญหาที่ดินและสาธารณูปโภค, ปัญหาจากนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการ sea food bank เป็นต้น, ปัญหาการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และระบบการเตือนภัย, ปัญหาการฟื้นฟูอาชีพ และสวัสดิการ, ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์, ปัญหาการสร้างบ้านพักถาวร และปัญหาเด็ก - เยาวชน มาจัดทำแผนพัฒนาชุมชน เพื่อนำเสนอให้ภาครัฐสนับสนุน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่รณรงค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไข หรือสนับสนุนแนวทางการพัฒนาโดยชาวบ้าน ในเบื้องต้น จะใช้บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ


 


"หลังจากนี้คณะกรรมการเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน จะคัดเลือกตัวแทนชาวบ้าน 3 คน เสนอชื่อเข้าไปทำงานในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด ที่มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน เพื่อจะได้มีโอกาสนำเสนอปัญหาต่างๆ ต่อรัฐบาลได้ง่ายขึ้น"นายจำนงค์ กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net