Skip to main content
sharethis

ประชาไท—24 ธ.ค. 2548 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาเรื่อง "การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาพิจารณาความอาญา : ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน" วานนี้ ระบุส่อเค้าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างน้อย 3 ประเด็น


 


โดยนายสัก กอแสงเรือง ส.ว.กรุงเทพมหานคร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวุฒิสภา โดยก่อนหน้านี้ร่างฯ ดังกล่าวถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นสภาผู้แทนราษฎร และมีข้อความที่น่ากังวลว่าจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


"ประเด็นแรกคือ เรื่องการวางระเบียบหรือการวางข้อบังคับในการพิจารณาและสืบพยานในศาลโดยประธานศาลฎีกา ซึ่งตนมีความเห็นว่ากระทบต่ออำนาจนิติบัญญัติ และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากเป็นการถ่ายโอนอำนาจนิติบัญญัติให้กับประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ผิดหลักการถ่วงดุลอำนาจ


 


อีกประเด็นที่ ส.ว.กทม.ระบุ คือ มาตรา 131/1 ที่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และในกรณีความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หากจำเป็นต้องมีการตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผม หรือ ขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลัง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์ดำเนินการบังคับตรวจได้ และหากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็ให้สันนิษฐานข้อเท็จจริงในทางที่เป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น


 


"ผมคิดว่าเรื่องนี้มีปัญหาว่าขัดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ ขัดรัฐธรรมนูญไหม และอาจจะมีประเด็นที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย รวมถึงอาจละเมิดต่อหลักสากลในการพิจารณาความอาญาที่ว่าโจทก์มีหน้าที่พิสูจน์"


 


นายสักกล่าวว่า การบัญญัติข้อความในลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดระบบสันนิษฐานเข้ามาแทนที่ และพนักงานสอบสวนทำงานง่ายขึ้น แต่อาจจะทำให้เกิดผลร้ายต่อคนที่ไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงว่าบทบัญญัติลักษณะเช่นนี้ ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนจะถูกการตรวจสอบและถ่วงดุลจากองค์กรใดหรือไม่


 


และประเด็นที่ 3 คือ การบัญญัติให้ศาลรับฟังพยานที่ได้มาโดยไม่ชอบ ซึ่งผิดหลักการที่ว่า หากได้หลักฐานมาโดยไม่ชอบ ศาลจะต้องไม่รับฟังซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทั่วโลก และแม้แต่หลักเดิมที่มีอยู่ แต่ก็ยังมีปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ถูกไม่ชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ แต่มาตรา 226/1 ของร่างฯ เป็นการคลายหลักการดังกล่าวออกไป ซึ่งหากแก้กฎหมายให้ศาลใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบได้มากขึ้น ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐก็จะขยายอำนาจส่วนนี้มากขึ้น การกระทำที่ไม่ถูกต้องก็จะมากขึ้น เป็นการยอมให้คนหนึ่งทำผิดกฎหมายเพื่อไปไล่จับอีกคนหนึ่งซึ่งทำผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน


 


"ผมคิดว่าในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับน่าจะเป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและปรับเปลี่ยนหลักการสำคัญของกฎหมายมากมายครั้งที่สำคัญที่สุด" นายสักกล่าวในที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net