Skip to main content
sharethis

                                


 


ในการประชุมระดับชาติเรื่องชีวจริยธรรม : ประเทศไทยบนขบวนเทคโนโลยีในอนาคตเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา นพ.วีรยุทธ ประพันธ์พจน์ จากโรงพยาบาลราชานุกูล ได้นำเสนอโครงการวิจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) ในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปีที่แล้ว


 


ทั้งนี้ อาการของโรค PTSD มีหลายประการ อาทิ นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท หงุดหงิดง่าย ฝันร้ายหรือระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำๆ รู้สึกเฉยเมยต่อญาติๆ และเพื่อนๆ รู้สึกผิดที่ตนเองรอดขณะที่คนอื่นตาย
ตกใจง่ายเมื่อเกิดอะไรผิดปกติรอบตัว เช่น ผวาอย่างรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงดัง รู้สึกบ่อยๆ ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดซ้ำอีก ไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่หรือสถานการณ์ที่ชวนให้นึกถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำอีกเลย เป็นต้น โดย


โรคนี้เกิดได้กับเหยื่อของภัยพิบัติทุกชนิด รวมทั้งเหตุร้ายเฉพาะตัว เช่น ถูกจับเป็นตัวประกัน ถูกข่มขืน


(PTSD คืออะไร http://bantakhospital.com/modules.php?name=News&file=article&sid=138)


 


"มันเป็นโอกาสดีที่หาได้ยาก ที่นักวิจัยจะได้ศึกษาความเกี่ยวพันธ์ระหว่างยีนกับโรคนี้ เพราะมีผู้ประสบภัยที่เป็นโรคนี้จำนวนมาก จากการเจอเหตุการณ์เดียวกัน ถือว่าสามารถคุมปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมได้เลยทีเดียว" นพ.วีรยุทธหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าว


 


ทั้งนี้ โครงการวิจัยฯ ดังกล่าว เริ่มต้นสำรวจผู้ป่วยใน 6 จังหวัดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์  2548 พบว่าผู้ประสบภัยพิบัติมีปัญหาสุขภาพจิตกว่า 30% และขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวและตัวอย่างเลือดจากกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คนที่ป่วยเป็น PTSD คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะมีการขอทุนเพิ่มเติมราว 100 ล้านบาทเพื่อตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดว่ามียีนอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ หากไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2551


 


"น่าสนใจว่า หลังจากผ่านมา 1 ปี สถิติผู้ประสบภัยที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเภทลดน้อยลงเป็นที่น่าพอใจ รวมทั้งโรค PTSD ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า ตัวเลขในผู้ป่วยเด็กกลับไม่ลดลงเลย ซึ่งน่าเป็นห่วง และยังไม่มีการศึกษากันในรายละเอียดว่าเป็นเพราะเหตุใด" นพ.ธีรยุทธกล่าว


 


นพ.วีรยุทธกล่าวว่า การวิจัยชิ้นนี้จะมีประโยชน์ในการรักษาโรคดังกล่าว และจะมีการทดลองใช้ยา 2 ชนิดที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศแล้ว เพื่อดูการตอบสนองต่อยาของคนไทย ที่สำคัญ โครงการนี้จะมีการสกัดดีเอ็นเอจากเลือดแล้วแช่แข็ง ทำให้สามารถนำมาใช้วิจัยต่อได้อีกไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากสามารถนำมาเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอใหม่ได้ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญให้นักวิจัยสามารถต่อยอดโครงการวิจัยอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเจาะเลือดกลุ่มตัวอย่างใหม่


 


อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้หลายคนจะเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคนี้ โดยเฉพาะด้านการทดสอบการแพ้ยาก็ตาม แต่ก็มีหลายคนตั้งคำถามในประเด็นเชิงจริยธรรม ทั้งในเรื่อง ความเข้าใจและความสมัครใจของอาสาสมัคร สิทธิความเป็นเจ้าของงานวิจัย ระบบรักษาความเป็นส่วนตัวในข้อมูล เป็นต้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหลักในการควบคุมการศึกษาวิจัยในมนุษย์


 


นพ.วีรยุทธ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากอาสาสมัครทั้ง 3,000 ราย โดยหากรายใดเกิดเปลี่ยนใจสามารถถอนตัวและลบข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในโครงการวิจัยได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ให้อาสาสมัครนอกจากค่ารถ ส่วนประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ร่วมโครงการนั้นจะทำตามหลักการสากล และอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการจริยธรรมฯ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด


 


เจ้าของโครงการวิจัยกล่าวต่อว่า ในเรื่องความเป็นเจ้าของ DNA นั้น จะเป็นของหน่วยงานที่ให้ทุน คือ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) สังกัดสำนักนายกฯ และหน่วยงานผู้วิจัย ได้แก่ ภาควิชาจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานนี้จะเป็นผู้ดูแลดีเอ็นเอทั้งหมดและเป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการวิจัยอื่นๆ ที่จะมาขอใช้ข้อมูลนี้


 


"ส่วนเรื่องที่ว่าในอนาคตอาจมีบริษัทเอกชนมาขอร่วมวิจัยด้วยก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกที ซึ่งในต่างประเทศก็มีการวิจัยดีเอ็นเอของกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดการรักษาโรคต่างๆ" นพ.ธีรยุทธ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net