Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม 2548 ที่บ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา วันสุดท้ายของการจัดงานครบรอบ 1 ปี สึนามิภาคประชาชน ตัวแทนชาวบ้านผู้ประสบภัยได้ร่วมกันเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ประกอบด้วย 8 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาที่ดิน, ปัญหาจากนโยบายรัฐ, ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเตือนภัย, ปัญหาการฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพและองค์กรชุมชน, ปัญหาชาติพันธุ์, ปัญหาเรื่องบ้าน, ปัญหาเด็ก เยาวชนและสตรีและปัญหาด้านวัฒนธรรม หลังจากได้มีการสรุปกลุ่มย่อยตามประเด็นปัญหาดังกล่าวมาแล้ว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2548


 


จากนั้นคณะมโนราจากมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา นำโดยนายธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชานาฏศิลป์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ประกาศเจตนารมณ์ผ่านการขับร้องซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้ง 8 ประเด็น โดยย้ำว่า ภาคประชาชนควรรวมตัวกันให้เกิดพลัง และเป็นเครือข่ายหนึ่งเดียว จะได้มีกำลังต่อรองกับรัฐบาล


 


จากนั้นผู้ประสบภัยที่เข้าร่วมงานได้ร่วมลงชื่อและประทับลายนิ้วมือลงบนป้ายผ้าขนาดใหญ่ แล้วผูกติดกับเชือกทำเป็นธงก่อนชักขึ้นสู่ยอดเสา


 


ด้านนายจรูญ น้อยปาน ศิลปินอิสระจากจังหวัดสงขลา ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ด้วย โดยร่ายบทกลอนให้กับผู้ประสบภัยว่า


 


"โหมฺเลต้องอยู่เลชั่วลูกชั่วหลาน


ลงหลักปักฐานปลูกเริ่นสร้างร้านไปนานเนิ่น


อนาคตเรากำหนดไว้ใช่ส่วนเกิน


รัฐอย่าเมินทำไหรเรารู้ก่อน


คืนสัญชาติไทยให้คนพลัดถิ่น


หาอยู่หากินมีน้ำมีไฟไม่เดือดร้อน


ทั้งเลนาป่าควนล้วนอาทร


ยามเดือดร้อนได้ความรู้จากตายายไว้เตือนภัย


 


ต่อมาเวลา 17.30 น.วันเดียวกัน นายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ได้เข้ามารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากตัวแทนภาคประชาชนที่ประสบภัยทั้ง 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยนายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน เป็นผู้นำเสนอ


 


นายไมตรี รายงานว่า ยังมีปัญหาของผู้ประสบภัยที่ยังไมได้รับการแก้ไข ได้แก่ เรื่อง ที่ดินและอยู่อาศัย โดยมีชุมชนผู้ประสบภัยไม่น้อยกว่า 40 แห่งยังไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะอยู่ในที่ดินที่มีกรณีพิพาทกับเอกชน ส่วนผู้ที่อยู่ในที่ดินรัฐก็ยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ จึงอยู่อย่างลำบาก ต้องซื้อหาไฟฟ้าและน้ำประปาในราคาที่แพงกว่าปกติกว่าสามสี่เท่าตัวเพราะรัฐไม่จัดให้


 


นายไมตรีรายงานอีกว่า ขณะที่คนไร้สัญชาติไม่มีสิทธิมีที่ดินและที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย ส่วนคนไทยพลัดถิ่นกว่า 2 หมื่นคน ไม่ได้รับบริการพื้นฐานจากรัฐ เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา บริการสุขภาพ ที่ดิน เพราะรัฐยังไม่ยอมรับว่าเป็นคนไทย ชาวเลที่ประสบภัยจำนวนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้รับความสะดวกในการรับความช่วยเหลือและถูกรุกรานจากการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เด็กกำพร้าจากสึนามิไม่มีการอุปการะอย่างต่อเนื่อง ในด้านอาชีพยังขาดเงินทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพในชุมชน


 


นายไมตรีรายงานต่อว่า นอกจากนี้นโยบายของรัฐมีผลกระทบกับชุมชนชายฝั่งด้วย ได้แก่นโยบายแปลงทะเลเป็นทุน โดยการออกโฉนดทะเลหรือโฉนดน้ำ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทะเลซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่ของเอกชน และการเร่งเพิ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะมีผลทำลายระบบนิเวศน์ทางทะเล สุดท้ายจะก่อความขัดแย้งให้ชาวประมง พื้นที่ทางทะเลตกเป็นของเอกชนรายใหญ่ เช่นที่เกิดขึ้นที่อ่าวปัตตานีและอ่าวบ้านดอน


 


"ขณะที่องค์กรบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ที่รัฐบาลให้มีอำนาจเหนือองค์กรปกครองท้องถิ่น ชุมชนและระบบราชการปกติ เป็นการจัดตั้งองค์กรพิเศษให้มีอำนาจเหนือองค์กรที่ตั้งโดยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจรัฐละเมิดกฎหมาย" นายไมตรีกล่าว


 


 


นายไมตรีรายงานต่อไปว่า อย่างเกาะช้างหลังจาก อพท. เข้าบริหาร ที่ดินส่วนใหญ่อาจเป็นของเอกชนไม่กี่ราย ที่เกาะพีพี พบว่า อพท. วางแผนพัฒนาพื้นที่สำหรับเอกชนรายใหญ่ โดยผลักดันชุมชนท้องถิ่นและธุรกิจการท่องเที่ยวออกจากเกาะ โดยมาตรการทางอ้อมและทางตรง จนถึงปัจจุบันผู้ประสบภัยยังไม่ได้สร้างบ้านเนื่องจากมีคำสั่งห้ามจาก อพท.


 


จากนั้นนายไมตรีได้เสนอว่า แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ชุมชนผู้ประสบภัยทำการฟื้นฟูชุมชนด้วยตนเองอย่างยั่งยืนนั้นขอให้ออกระเบียบ หรือกฎหมายรับรองการอยู่อาศัยของชุมชนผู้ประสบภัยในที่ดินรัฐทุกประเภท ขอให้สอบสวนและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์เอกชนที่ออกโดยมิชอบและให้การรับรองสิทธิในชุมชนผู้ประสบภัย สึนามิได้อยู่อาศัยในที่ดินเดิม จัดหาไฟฟ้าและน้ำประปาชั่วคราวให้ชุมชนผู้ประสบภัยที่อาศัยในที่ดินทุกประเภทเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย


 


นายไมตรีเสนออีกว่า ขอให้เร่งสำรวจ ทำทะเบียน สืบค้นประวัติคนไทยพลัดถิ่นทั้งหมด โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายการแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติไทย เพื่อนำไปสู่การให้สัญชาติและออกบัตรประชาชนต่อไป ระหว่างนี้ขอให้รับรองบัตรประจำตัวผู้ขอใช้สัญชาติไทยเพื่อให้สามารถใช้สิทธิพื้นฐานทางด้านต่างๆ ด้วย


 


นายไมตรีเสนอต่อว่า ขอให้ตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนผู้ประสบภัย ให้เด็กที่ประสบภัยทุกคนได้การศึกษา บริการสุขภาพและอื่นๆ อย่างครบถ้วน ขอให้ทบทวนนโยบายการแปลงทะเลเป็นทุนและให้จัดตั้งกลไกการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยให้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วม เช่น คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ดิน เป็นต้น


 


จากนั้นนายไมตรี ได้ยื่นหนังสือผลการทำงานฟื้นฟูชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิ 1ปีของเครือข่ายชุมชนผู้ประสบภัยและพันธมิตร รวมทั้งข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ชุมชนผู้ประสบภัยทำการฟื้นฟูชุมชนด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่ง มีทั้งหมด 11 ข้อ มอบให้นายยงยุทธ


 


นายยงยุทธ กล่าวหลังจากรับหนังสือว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือว่าละเลยปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาบางอย่าง เช่น ที่ดิน หลายแห่งยังอยู่ในชั้นศาล รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็อยู่ข้างประชาชนและจะพยายามหาทางช่วยเหลือ


 


นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเรื่องที่ดินนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกสำรวจที่ดินทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนกัน เช่น ที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งเกิดจากแต่ละหน่วยงานมีมาตราส่วนในการวัดที่ดินไม่เท่ากัน จึงเร่งจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1: 4,000 ให้เสร็จก่อนเดือนมีนาคม 2549


 


นายยงยทุธกว่าวอีกว่า สำหรับปัญหาที่ดินของบ้านทุ่งหว้านั้น ในวันเดียวกันนี้ ตนจะปรึกษากับ นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ถึงแนวทางแก้ปัญหา รวมปัญหาด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว โดยจะรีบดำเนินการให้ทุกเรื่อง ส่วนปัญหาที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงฯ ก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


 


ส่วนปัญหาคนไร้สัญชาติ จะให้มีการพิสูจน์ DNA โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยการได้รับสัญชาติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่าหน่วยงานไหนไม่ยอมทำให้ ก็ให้ฟ้องศาลปกครองได้ทันที


 


นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ เครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน เปิดเผยว่า หลังจากนี้ทางกลุ่มเครือข่ายผู้ประสบภัยและพันธมิตร จะแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอดังกล่าวอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า เพื่อติดตามรัฐบาลจะทำตามที่รับปากไว้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่รับปากไว้ ทางเครือข่ายก็ต้องหาวิธีอื่นต่อไป


 


"ผมคาดว่าข้อเสนอเกินครึ่งจะได้รับการตอบสนอง เนื่องจากเป็นช่วงขาขึ้นของรัฐบาล เพราะทุกเรื่องที่ตัวแทนภาคประชาชนเข้าเจราจา ทางตัวแทนของรัฐบาลรับปากทั้งหมด มีเพียงเรื่องที่เราไม่ได้เจรจา คือ ขอให้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัดและคณะอื่นๆ ในระดับจังหวัด" นายจำนงค์ กล่าว


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net