Skip to main content
sharethis

ประชาไท - ภาคประชาชนกว่า 5 พัน ร่วมงานรำลึกสึนามิ แยกกลุ่มถก 7 ประเด็นปัญหา พบหลายประเด็นยังแก้ไม่เสร็จ แถมนโยบายรัฐ ยังสร้างปัญหาใหม่ให้ชาวบ้าน ทั้งเรื่องจัดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ซีฟู๊ดแบงค์ ขณะที่ปัญหาที่ดินยังโผล่ไม่หยุด คนไทยไร้สัญชาติโผล่เพียบ เตรียมยื่น 10 ข้อเสนอให้รัฐแก้วันนี้


 


ผู้สื่อข่าวรายงานจากบ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาว่า การจัดงานรำลึก 1 ปีสึนามิ ภาคประชาชน วันที่ 2 เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม 2548 ด้วยพิธีสะเดาะเคราะห์ลอยเรือของชาวมอแกน ที่บ้านทุ่งหว้า จากนั้นแห่ไปชายทะเล ตามด้วย พิธีคารวะดวงวิญญานผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน แล้วเดินอนุสติจากชายหาดกลับมายังบ้านทุ่งหว้า ต่อด้วยพิธีกรรมของศาสนาพุทธ และอิสลาม มีผู้เข้าพิธีกว่า 5 พันคน


 


ในช่วงบ่าย มีการประชุมเรื่อง "1 ปีสีนามิภาคประชาชน ภารกิจที่ยังค้างคาและต้องทำต่อ" โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยออกเป็น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ประเด็นที่ดิน กลุ่มที่ 2 ประเด็นนโยบายรัฐ กลุ่มที่ 3 ประเด็นทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการเตือนภัย กลุ่มที่ 4 ประเด็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตและองค์กรชุมชน กลุ่มที่ 5 ประเด็นชาติพันธุ์ กลุ่มที่ 6 ประเด็นบ้าน กลุ่มที่ 7 ประเด็นเด็ก เยาวชน และสตรี


 


ผลจากการประชุมกลุ่มย่อย ได้ข้อสรุปการทำงานฟื้นฟูชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิ 1 ปีของเครือข่ายชุมชนผู้ประสบภัยและพันธมิตร และข้อเสนอต่อรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนต่อเนื่องในปี 2549 ดังต่อไปนี้


 


1. ผลการทำงานของเครือข่าย พบว่าเครือข่ายชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิและองค์กรสนับสนุนได้ทำงานฟื้นฟูชุมชนผู้ประสบภัย โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการประมาณ 135 ชุมชน ที่ประสบความเสียหายรุนแรง จากจำนวนทั้งหมดที่ประสบภัยกว่า 400 ชุมชน ในจังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนองในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผลการทำงานดังนี้


 


สร้างบ้านถาวรสำหรับผู้ประสบภัย ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังดำเนินการรวม 1,030 หลังใน 19 ชุมชน, สร้างและซ่อมเรือประมงกว่า 1,700 ลำ สร้างอู่ซ่อมสร้างเรือแบบถาวรและชั่วคราวรวม 37 แห่ง ดำเนินการต่อเนื่อง 27 แห่ง, จัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง จักสาน บาติก ทอผ้า ซักรีด ร้านค้า ฯลฯรวมทั้งสิ้น 49 กลุ่ม มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 1,500 คน


 


จัดตั้งกองทุนชาวเรือ กองทุน อาชีพและพัฒนาชุมชนจำนวน 72 กลุ่ม, จัดตั้งกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ฯลฯ ไม่น้อยกว่า 12 กลุ่ม, รวบรวมข้อมูลกรณีปัญหาที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยจำนวน 56 กรณีเสนอคณะอนุกรรมการฯ ของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว 13 กรณี ผู้ประสบภัยมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยจำนวน 1,156 ครัวเรือน


 


2. ปัญหาของผู้ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประกอบด้วย ปัญหาที่ดินและอยู่อาศัย มีชุมชนผู้ประสบภัยไม่น้อยกว่า 40 ชุมชน ที่ยังไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะอยู่ในที่กรณีพิพาทกับเอกชน หรืออยู่ในที่ดินรัฐที่ยังไม่มีการกันพื้นที่และอนุญาตอย่างเป็นทางการ, ชุมชนผู้ประสบภัยที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ต้องซื้อหาไฟฟ้าและน้ำประปาในราคาที่แพงกว่าปกติกว่าสามสี่เท่าตัว เพราะรัฐไม่จัดสาธารณูปโภคให้, คนไร้สัญชาติไม่มีสิทธิมีที่ดินและที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย และระเบียบและกฎหมายของท้องถิ่นไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างที่อยู่อาศัยของคนจน


 


ปัญหาชาติพันธุ์ หรือชาวเลและคนไทยพลัดถิ่น ขณะนี้มีคนไทยพลัดถิ่นกว่า 20,000 คน และบางส่วนประสบภัยสึนามิ ไมได้รับการช่วยเหลือ และไม่ได้รับบริการพื้นฐานจากรัฐ เช่น ที่อยู่อาศัย การเดินทาง การศึกษา การบริหารสุขภาพ การถือครองที่ดิน เพราะไม่มีการรับรองสัญชาติไทย เช่นเดียวกับชาวเลที่ประสบภัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่ได้รับความสะดวกในการรับความช่วยเหลือ และถูกรุกรานจากการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาการท่องเที่ยว


 


ปัญหาเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย เด็กไร้สัญชาติ เด็กไทยพลัดถิ่น เด็กชาวเลที่ไม่มีการรับรองสัญชาติ ไม่สามารถใช้บริการของรัฐทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข ขณะที่เด็กกำพร้าจากสึนามิไม่ได้รับการอุปการะอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ขาดทุนทรัพย์เพื่อการศึกษา


 


ปัญหาการฟื้นฟูวิถีชีวิตและองค์กรชุมชน พบว่าขาดกองทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพในชุมชน


 


ปัญหานโยบายของรัฐ นโยบายการให้สัมปทานพื้นที่ทะเลเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (sea food bank) มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนผู้ประสบภัยชายฝั่ง เพราะปิดทางเข้าออกทะเลของชาวประมง และรุกรานพื้นที่ทำกินของชาวประมงซึ่งเป็นที่สาธารณะตามกฎหมาย และการดำเนินงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ที่ลงมาวางผังเมืองในพื้นที่ประสบภัย เพื่อสนองธุรกิจการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ มากกว่าแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น และชาวบ้านที่ประสบภัย


 


ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการเตือนภัย ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและดูแลระบบเตือนภัย ไม่มีป่าชายเลนป้องกันคลื่นตามแนวชายฝั่ง เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับคลื่นสึนามิ และไม่เข้าใจสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติในทะเล


 


3. ข้อเสนอให้รัฐแก้ไขปัญหาเพื่อที่ชุมชนผู้ประสบภัยจะทำงานฟื้นฟูชุมชนอย่างยั่งยืน จากที่ประชุมกลุ่มย่อย ประกอบด้วย


 


1. ให้ออกระเบียบ หรือกฎหมายรับรองการอยู่อาศัยของชุมชนผู้ประสบภัยในที่ดินรัฐทุกประเภทโดยออกเป็น "โฉนดชุมชน"หรือรับรองเป็นรายชุมชน ไม่ใช่รายบุคคล ซึ่งรวมทั้งชุมชนซึ่งอยู่ในป่าชายเลนซึ่งมีอยู่จำนวนมาก


 


2. สอบสวนและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์เอกชนที่ออกในที่ดินสาธารณะและจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้ผู้ประสบภัยสึนามิอยู่อาศัย


 


3. จัดหาไฟฟ้าและน้ำประปาชั่วคราวให้ชุมชนผู้ประสบภัยซี่งอยู่อาศัยในที่ดินทุกประเภทเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคซึ่งสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว


 


4. แก้ไข ผ่อนผัน ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้ประสบภัย


 


5. เร่งสำรวจ ทำทะเบียน สืบค้นประวัติคนไทยพลัดถิ่นทั้งหมด โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น เพื่อนำไปสู่การรับรองสัญชาติและออกบัตรประชาชนต่อไป ในระหว่างนี้ขอให้ออกเอกสารรับรองสิทธิ์เบื้องต้นให้คนไทยกลุ่มนี้เพื่อให้สามารถใช้สิทธิพื้นฐานทางด้านต่างๆเช่นการเดินทาง การมีที่อยู่อาศัย การศึกษา กรรับบริการสุขภาพ เป็นต้น


 


6. จัดสรรงบประมาณเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนผู้ประสบภัย โดยให้องค์กรชุมชนบริหารจัดการเอง


 


7. ให้เด็กที่ประสบภัยทุกคน ทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารเกี่ยวกับสัญชาติได้รับบริการทางด้านการศึกษา สุขภาพและบริการอื่นๆอย่างครบถ้วน เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ


 


8. บรรจุหลักสูตรการรับมือกับคลื่นซึนามิและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติในโรงเรียนริมทะเล


 


9. สนับสนุนให้ชุมชนจัดวางระบบเตือนภัยของตนเองเสริมระบบเตือนภัยส่วนกลาง เช่นการมีวิทยุชุมชน เครือข่ายวิทยุสื่อสาร เป็นต้น


 


10. ให้ชุมชนผู้ประสบภัยมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนในพื้นที่ที่รัฐบาลต้องการจัดผังที่ดินใหม่


 


ทั้งนี้ ข้อสรุปและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมกลุ่มย่อยทั้งหมด ตัวแทนชาวบ้านจะนำเสนอต่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาล ในเวลา 17.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม 2548 ที่ชุมชนบ้านทุ่งหว้า


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net