Skip to main content
sharethis

 


ข้อเสนอต่อตัวแทนรัฐบาล


(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณยงยุทธ  ติยะไพรัช)


ในการสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนกรณีเร่งด่วนและต่อเนื่องในปี 2549


 


ผลการทำงานของเครือข่าย


เครือข่ายชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิและองค์กรสนับสนุนได้ทำงานฟื้นฟูชุมชนผู้ประสบภัย โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักประมาณ 135 ชุมชนที่ประสบความเสียหายรุนแรง(จากจำนวนทั้งหมดที่ประสบภัยกว่า 400ชุมชน)ในจังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ตและระนองในช่วง1 ปีที่ผ่านมา มีผลการทำงานโดยสรุปดังนี้


 


- สร้างบ้านถาวรสำหรับผู้ประสบภัย ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังดำเนินการรวม 1,030 หลังใน 19 ชุมชน


 


- สร้างและซ่อมเรือประมงกว่า 1,700 ลำ สร้างอู่ซ่อมสร้างเรือแบบถาวรและชั่วคราวรวม 37 แห่ง


 


- จัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆเช่นกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง จักสาน บาติก ทอผ้า ซักรีด ร้านค้า ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 49 กลุ่ม มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 1,500 คน


 


- จัดตั้งกองทุนชาวเรือ กองทุน อาชีพและพัฒนาชุมชนจำนวน 72 กลุ่ม


 


- จัดตั้งกลุ่มกิจกรรมอื่นๆเช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ฯลฯ ไม่น้อยกว่า 12 กลุ่ม


 


-รวบรวมข้อมูลกรณีปัญหาที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยจำนวน 56 กรณีเสนอคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินกรณีซึนามิ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ข้อยุติแล้ว 13 กรณี ผู้ประสบภัยมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยจำนวน 1,156 ครัวเรือน


 


ปัญหาของผู้ประสบภัยที่ยังไมได้รับการแก้ไข


อย่างไรก็ตาม จากการสัมมนาสมาชิกชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิกว่า 3,500 คน ที่ชุมชนทุ่งหว้า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา ผู้ประสบภัยสึนามิในพื้นที่ของเครือข่ายยังมีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขดังนี้


 


1. ที่ดินและอยู่อาศัย


- มีชุมชนผู้ประสบภัยไม่น้อยกว่า 40 ชุมชนที่ยังไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะอยู่ในที่กรณีพิพาทกับเอกชน อยู่ในที่ดินรัฐที่ยังไม่มีการกันพื้นที่และอนุญาตอย่างเป็นทางการ


 


- ชุมชนผู้ประสบภัยที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน มีความเป็นอยู่อย่างลำบาก ต้องซื้อหาไฟฟ้าและน้ำประปาในราคาที่แพงกว่าปกติกว่าสามสี่เท่าตัว เพราะรัฐไม่จัดสาธารณูปโภคให้


 


- คนไร้สัญชาติไม่มีสิทธิมีที่ดินและที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย


 


- ระเบียบและกฎหมายของท้องถิ่นไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างที่อยู่อาศัยของคนจน


 


2. ชาวเลและคนไทยพลัดถิ่น


- คนไทยพลัดถิ่นซึ่งมีอยู่กว่า 20,000 คนและบางส่วนประสบภัยสึนามิ ไมได้รับการช่วยเหลือและไม่ได้รับบริการพื้นฐานจากรัฐเช่น ที่อยู่อาศัย การเดินทาง การศึกษา การบริหารสุขภาพ การถือครองที่ดิน เพราคนกลุ่มนี้รัฐยังไม่ยอมรับเป็นคนไทย


 


- ชาวเลซึ่งประสบภัยจำนวนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้รับความสะดวกในการรับความช่วยเหลือและถูกรุกรานจากการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาการท่องเที่ยว


 


3. เด็กและเยาวชน


- เด็กไร้สัญชาติ เด็กไทยพลัดถิ่น เด็กชาวเลที่ไม่มีการรับรองสัญชาติ ไม่สามารถใช้บริการของรัฐทางด้านการศึกษาและสาธารณสุขได้


 


- เด็กกำพร้าจากสึนามิไม่มีการอุปการะอย่างต่อเนื่อง ขาดทุนทรัพย์เพื่อการศึกษา


 


4. การพัฒนาอาชีพ


- ขาดกองทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพในชุมชน


 


5. นโยบายของรัฐที่มีผลกระทบกับชุมชนชายฝั่ง


- นโยบายแปลงทะเลเป็นทุน โดยการออกโฉนดทะเลหรือโฉนดน้ำให้กับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่เดิม หรือผู้ที่ประสงค์จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือคนที่ลงทะเบียนไว้กับรัฐบาล จะเป็นการระดมความเป็นเจ้าของทะเล  การเปลี่ยนทะเลซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ของเอกชนและการเร่งเพิ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะมีผลต่อการทำลายระบบนิเวศน์ทะเล และทำให้ทะเลเป็นบุคคล ท้ายที่สุดจะก่อความขัดแย้งให้ชาวประมง และอาจตกเป็นของเอกชนรายใหญ่ เช่นที่เกิดขึ้นกับอ่าวบ้านดอนและอ่าวปัตตานี


 


- องค์กรบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว(อพท.) จัดตั้งโดยรัฐบาลให้มีอำนาจเหนือองค์กรปกครองท้องถิ่น ชุมชน และระบบราชการปกติ เป็นการจัดตั้งองค์กรพิเศษให้มีอำนาจเหนือองค์กรที่ตั้งโดยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจรัฐละเมิดกฎหมาย


 


-  เรื่องจริงจากเกาะช้างหลัง อพท. บริหาร พื้นที่ที่ดินส่วนใหญ่อาจเป็นของเอกชนไม่กี่ราย


 


-  เรื่องจริงจากเกาะพีพี พบว่า อพท. วางแผนพัฒนาพื้นที่สำหรับเอกชนรายใหญ่ โดยผลักดัน


 


ชุมชนท้องถิ่นและธุรกิจการท่องเที่ยวออกจากเกาะ โดยมาตรการทางอ้อมและทางตรง จนถึงปัจจุบันผู้ประสบภัยยังไม่ได้สร้างบ้านเนื่องจากมีคำสั่งห้ามจากนโยบาย อพท.


 


6. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการเตือนภัย      


- ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและดูแลระบบเตือนภัย


 


- ไม่มีป่าชายเลนป้องกันคลื่นตามแนวชายฝั่ง


 


- เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับคลื่นซึนามิและไม่เข้าใจสัญญาณเตือนจากธรรมชาติในทะเล


 


- รัฐควรสนับสนุนองค์กรชุมชนที่มีการจัดการทรัพยากรอยู่แล้ว


 


7. ข้อเสนอ/แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ชุมชนผู้ประสบภัยทำการฟื้นฟูชุมชนด้วยตนเองอย่างยั่งยืน


1.) ออกระเบียบ หรือกฎหมายรับรองการอยู่อาศัยของชุมชนผู้ประสบภัยในที่ดินรัฐทุกประเภทโดยขอให้เป็นสิทธิชุมชน เช่น โฉนดชุมชนหรือประกาศอื่นใด ที่เป็นการรับรองทั้งชุมชน ไม่ใช่รายบุคคล ซึ่งรวมทั้งชุมชนพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ประเภทที่เป็นป่าสงวนที่เป็นป่าชายเลนซึ่งมีอยู่จำนวนมาก


 


2.) สอบสวนและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์เอกชนที่ออกโดยมิชอบและให้การรับรองสิทธิในชุมชนผู้ประสบภัย สึนามิได้อยู่อาศัยในที่ดินเดิม  และรับรองสิทธิของชุมชนชายฝั่งในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน


 


3.) จัดหาไฟฟ้าและน้ำประปาชั่วคราวให้ชุมชนผู้ประสบภัยซี่งอยู่อาศัยในที่ดินทุกประเภทเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคซึ่งสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว


 


4.) แก้ไข ผ่อนผัน ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้ประสบภัย


 


5.) เร่งสำรวจ ทำทะเบียน สืบค้นประวัติคนไทยพลัดถิ่นทั้งหมด โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายการแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติไทย เพื่อนำไปสู่การให้สัญชาติและออกบัตรประชาชนต่อไป ในระหว่างนี้ขอให้รับรองบัตรประจำตัวผู้ขอใช้สัญชาติไทยเพื่อให้คนไทยกลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิพื้นฐานทางด้านต่างๆเช่นการเดินทาง การมีที่อยู่อาศัย การศึกษา กรรับบริการสุขภาพ เป็นต้น


 


6.) จัดสรรงบประมาณเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนผู้ประสบภัย โดยให้องค์กรชุมชนบริหารจัดการ      


7.) ให้เด็กที่ประสบภัยทุกคน ทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารเกี่ยวกับสัญชาติได้รับบริการทางด้านการศึกษา สุขภาพและบริการอื่นๆอย่างครบถ้วน เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ


 


8.) บรรจุหลักสูตรการรับมือกับคลื่นซึนามิและส่งเสริมให้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติในทุกโรงเรียน โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งทะเล


 


9.) สนับสนุนให้ชุมชนจัดวางระบบเตือนภัยของตนเองเพื่อเสริมระบบเตือนภัยส่วนกลาง เช่นการมีวิทยุชุมชน เครือข่ายวิทยุสื่อสาร เป็นต้น


 


10.) ให้ทบทวนนโยบายการแปลงทะเลเป็นทุน การออกโฉนดทะเลหรือโฉนดน้ำ  ขอให้ทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมการวางแผนการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรชายฝั่ง


 


11.) ให้มีการจัดตั้งกลไกการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยให้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมใน คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับปัญหาที่ดิน และคณะที่เกี่ยวกับปัญหาอื่นๆ โดยมีผู้แทนจากชุมชนร่วมในระดับจังหวัด 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net