คณะทำงานจี้เอพีพีซีเปิดข้อมูลโรงแต่งแร่โปแตช

 

คณะทำงานฯ บุกรังเอพีพีซี ล้วงข้อมูลที่ตั้งโรงงานแยกแร่เหมืองโปแตช เอพีพีซี อ้อมแอ้มพื้นที่ยังไม่แน่นอนไม่อาจชี้แจงได้ชัดเจน นำเลี่ยงแหล่งน้ำมาจ๊ะเอ๋กลุ่มคัดค้านโครงการตั้งขบวนกว่า 300 คนจี้คณะทำงานต้องลงพื้นที่ทำงานจริง นำเสนอข้อมูลที่เป็นกลาง เรียกร้องให้มาถามชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ ไม่ใช่ให้บริษัทนำดูอย่างเดียว

 

นายดุสิต พรมสิทธิ์ ประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 เวลาประมาณ 09.00 น. คณะทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีแต่งตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2548 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อศึกษาข้อมูลที่เป็นกลางและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณชนต่อไป

 

นายดุสิต กล่าวว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นของบริษัทเอเซียแปซิฟิคโปแตช คอร์ปอร์เรชั่น (เอพีพีซี ) ซึ่งได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินในอุดรฯแล้ว คือแหล่งอุดรใต้มีพื้นที่ 22,437 ไร่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.ห้วย -สามพาด ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และแหล่งอุดรเหนือพื้นที่กว่า 52,000 ไร่ ใน เขตเทศบาลนครอุดร อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวมบริษัทขอทำเหมืองใต้ดินอุดรฯแล้ว 74,437 ไร่ อายุการทำเหมืองไม่น้อยกว่า 50 ปี จึงเป็นโครงการที่จะมีผลต่อประชาชนอุดรธานีในระยะยาว

 

และเพื่อให้คณะทำงานได้เข้าใจสภาพพื้นที่จริงจึงลงพื้นที่ โดยให้บริษัทอธิบายแผนผังที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ทำเหมือง แต่ยังไม่แน่ชัดนัก และจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทหารที่อยู่ในพื้นที่ให้จัดทำแผนที่พื้นที่ตั้งโรงงาน พื้นที่ทำเหมือง ชุมชนและทางน้ำ แหล่งน้ำต่าง ๆ ต่อไป

 

ทั้งนี้เพื่อความเป็นกลางก็จะได้ติดต่อชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อคณะทำงานจะได้ไปรับฟังข้อมูลที่เขาเป็นกังวล ที่ผ่านมาการทำงานของคณะทำงานได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากจังหวัดอุดรธานี และแต่งตั้งขึ้นมาในนามตัวแทนของหน่วยงานราชการ บริษัท ชาวบ้านซึ่งได้รับความยอมรับ และการทำงานที่ผ่านมาก็ได้มีข้อมูลมากพอสมควรซึ่งจะจัดเวทีสาธารณะเพื่อเสนอข้อมูล และทำเอกสารเผยแพร่ต่อประชาชนให้กว้างที่สุดต่อไปนายดุสิตกล่าว

 

ด้านนายภานุสิทธิ์ บุญนาค ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทเอพีพีซี กล่าวว่า พื้นที่ที่บริษัทได้นำคณะทำงานดูในวันนี้ เป็นพื้นที่ซึ่งบริษัทได้ซื้อไว้และมีเอกสารสิทธิแล้ว มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ เป็นรูปร่างคล้ายตัวเอล (L) ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานแยกแร่ ปากปล่องอุโมงค์สู่เหมืองใต้ดิน เส้นทางขนส่งแร่ ที่ตั้งบ่อน้ำดี บ่อน้ำเค็ม กองหางแร่ซึ่งปัจจุบันนี้บริษัทมีเอกสารสิทธิเป็นที่เรียบร้อยในนามของอีกบริษัทหนึ่ง โดยสำรวจพื้นที่เรียบร้อยแล้วเหลือแต่พื้นที่โรงงานที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งเจ้าหน้าที่มารังวัดที่ตั้งโรงงาน ก่อนจะทำแผนผังการทำเหมืองที่ผ่านการรับรองโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงจะนำเข้าสู่ขบวนการพิจารณาอีไอเอ

 

นางนฤมล อัตนโถ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ 8 สำงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าพื้นที่โรงงานแร่โปแตช ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สีเขียวตามประกาศผังเมืองรวม จัดเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งประกาศไปแล้ว และฝ่ายบริษัทเอพีพีซียื่นคัดค้านพื้นที่และขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขผังเมืองรวมให้เป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อจะสามารถประกอบการทำเหมืองแร่และโรงงานอุตสาหกรรมได้

 

ด้านตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านและให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นพื้นที่สีเขียวทะแยง คือให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมซึ่งมีความเข้มข้นในเรื่องขอบังคับในการใช้พื้นที่มากกว่า ทั้งนี้ทางคณะกรรมการผังเมืองรวมจะประชุมพิจารณาคำร้องในวันที่ 5 มกราคม 2548 โดยทางคณะทำงานแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมฟังการประชุมครั้งนี้ด้วย นางนฤมลกล่าว

 

นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่าการลงดูพื้นที่ยังไม่เข้าใจอะไรนักเพราะฝ่ายบริษัทพาดูพื้นที่น้อยมาก ไม่คลอบคลุมพื้นที่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องการซื้อที่ดินซึ่งซื้อในนามบริษัทอื่น บางแห่งเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย แล้วคนทีไม่ขายแต่ยังทำกิน อย่างที่เห็นการเพาะปลูกในฤดูแล้ง มีนาข้าวอยู่ทั่วไปท่ามกลางพื้นที่โรงงาน จึงควรจะได้รู้ด้วยว่า เขามีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นทีอุตสาหกรรม

 

ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือที่ดินของบริษัทไม่ได้เป็นแปลงใหญ่ต่อเนื่องทั้งหมด ยังมีที่ดินชาวบ้านที่ยังไม่ขายแทรกอยู่ มีถนนสาธารณะสองสาย สายหนึ่งเป็นทางลาดยาง อีกเส้นหนึ่งเป็นทางลูกรัง ที่ตั้งอุโมงค์และโรงงานอยู่คนละฝั่งถนนสาธารณะกับกองหางแร่ ซึ่งจะต้องส่งหางแร่ผ่านที่ชาวบ้าน ถนนสาธารณะ แล้วชาวบ้านที่ไม่ขายที่จะอยู่ท่ามกลางโรงงาน กองเกลือเขามีความคิดเห็นอย่างไร

 

นายสันติภาพให้ความเห็นต่อการการดูงานครั้งนี้ว่า ไม่มีตารางกำหนดการที่ชัดเจน ไม่ได้ไปดูหนองนาตาลแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุด ไม่เห็นทางน้ำออกน้ำเข้า ไม่มีข้อมูลการระบายน้ำเข้าน้ำออกเป็นอย่างไร แม้บริษัทจะบอกว่าโครงการเหมืองแร่ขนาดใหญ่มีกำลังการผลิตกว่า 2หมื่นตันต่อวันเป็นระบบปิด ไม่ระบายสู่ภายนอก ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำงานของคณะทำงานน่าจะได้พูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่รอบ ๆ ด้วย จึงไม่ควรด่วนสรุปข้อมูล แต่ควรลงพื้นที่อีกครั้ง หลังข้อมูลพื้นที่ชัดเจนเรื่องที่ตั้งแล้ว ต้องลงไปคุยกับเจ้าของที่ดินรายอื่นๆ ด้วย

 

ด้านนายปัญญา โคตรเพชร รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่ากลุ่มได้เรียกร้องให้มีคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาและมีความหวังว่า การทำงานของคณะทำงานฯ จะเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเรื่องโครงการนี้สู่ประชาชนชาวอุดรฯต่อไป วันนี้จึงได้พาคณะมาดูข้อมูลร่วมกับคณะทำงาน แต่ไม่ได้รับความชัดเจน บริษัทไม่ยอมมาชี้แจงกับกลุ่มชาวบ้าน อย่างไรก็ตามทางประธานคณะทำงาน ข้าราชการส่วนต่าง ๆ ได้เดินมาพูดกับชาวบ้านและกล่าวว่าจะมารับฟังข้อมูลของชาวบ้านอีกในโอกาสต่อไป ทั้งนี้กลุ่มจะได้ติดตามการทำงานของคณะทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

นอกจากนี้เขายังกล่าวด้วยว่า การที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขผังเมืองรวมอุดรธานีให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนั้นนับเป็นการทำลายอาชีพ ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านที่ทำอาชีพเกษตรกรรมรอบๆ หนองนาตาล และในพื้นที่ติดกับโรงงานของบริษัท ซึ่งทางกลุ่มจะยอมให้เกิดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงยื่นขอคำร้องขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขผังเมืองรวมให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมซึ่งจะสอดคล้องกับชาวบ้านในพื้นที่ให้มากที่สุดทางคณะกรรมผังเมืองจะต้องพิจารณาถึงชาวบ้านนี้ให้มากด้วย นายปัญญากล่าว

กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท