Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางการให้ข่าวจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐว่าสถานการณ์ไฟใต้กำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะจากการมี "แนวร่วม" หรือ "กลุ่มเสี่ยง" ออกมารายงานตัวกับทางราชการเป็นจำนวนมากนั้น ทว่าในความเห็นของ อับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด ประธานศูนย์ประสานงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับมองว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยังผิดทิศผิดทางอยู่มาก


 


อับดุลเราะห์มาน อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ประสานงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้  และกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า หากจะถามถึงแนวโน้มของสถานการณ์ภาคใต้ในปีหน้า จะต้องพิจารณาในหลายๆ มิติ หลายๆ ประเด็น


 


ประเด็นแรกคือ ในปี 2548 มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก แต่ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า ผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม เป็นคนที่กระทำความผิดจริงหรือไม่


 


"ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการออกมารายงานตัว ต้องดูให้ดีว่าคนที่ออกมารายงานตัวเป็นแนวร่วมที่หลงผิดจริง หรือเป็นการบังคับให้ชาวบ้านออกมารายงานตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกันแน่"


 


"ที่สำคัญพอมาถึงศาลากลางจังหวัด กลับมีการแถลงข่าวว่าพวกเขาเป็นแนวร่วมผู้หลงผิดมาเข้ามอบตัว ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่ครอบครัวคนเหล่านี้เป็นอย่างมาก" อับดุลเราะห์มาน ระบุ


 


เขากล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ที่ต้องพิจารณาก็คือการทำความเข้าใจของรัฐต่อประชาชน เพราะเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น ประชาชนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนลงมือทั้งสิ้น มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่คิดว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบ


 


"ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เหตุการณ์ตันหยงลิมอ เหตุการณ์ฆ่ายกครัวที่บ้านกะทอง (ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส) ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ประชาชนยังคงรอคำตอบจากรัฐว่าใครเป็นคนทำ แต่จนถึงทุกวันนี้รัฐก็ไม่สามารถให้คำตอบกับประชาชนได้"


 


อับดุลเราะห์มาน ย้ำด้วยว่า จริงๆ นอกจากจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว รัฐยังต้องทำความเข้าใจกับนานาประเทศด้วย โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศมุสลิม อย่างโอไอซี (องค์การการประชุมชาติอิสลาม) เพราะประเทศไทยไม่สามารถปิดบังข้อมูลข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน


 


"รัฐบาลไทยต้องยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมา และรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา มิฉะนั้นองค์กรเหล่านี้ก็จะไปสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลอื่น  ฉะนั้นการยอมรับความผิดพลาดด้วยความจริงใจ ย่อมดีกว่าการรายงานข้อมูลเท็จ แล้วสุดท้ายผลร้ายก็ย้อนกลับมายังรัฐบาลไทยเอง"


 


เขายังกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ 3 ที่ต้องนำมาพิจารณา คือการพัฒนา ต้องดูว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาอะไรบ้างที่ตรงกับความต้องการของประชาชน


 


"ยกตัวอย่างเช่นโครงการสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ ที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีอาชีพเสริม แต่สุดท้ายทุกอย่างไปตกอยู่กับผู้ที่เป็นประธานโครงการเกือบทั้งหมด ซึ่งก็คือกำนัน , ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) แต่ชาวบ้านจริงๆ กลับไม่ได้รับ"


 


"ขณะเดียวกัน โครงการของรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่ต่อเนื่อง ประชาชนจึงมองว่ารัฐไม่มีความจริงใจและจริงจังในการพัฒนา หรือถ้าพัฒนาก็ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนอีก ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ ต้องอพยพไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เมื่ออยู่มาเลเซียนานๆ ก็ถูกรัฐมองด้วยความหวาดระแวงจนไม่กล้ากลับเมืองไทยอีก" อับดุลเราะห์มาน ระบุ


 


เขาอธิบายอีกว่า แนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาไม่ได้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม แต่เน้นหนักไปที่การพัฒนาด้านวัตถุเป็นหลัก เมื่อรัฐไม่ได้เริ่มการพัฒนาด้านความคิด ทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีนำหลักศาสนาอิสลามไปใช้เป็นเครื่องมือในทางที่ผิด มีการตีความที่ไม่ถูกต้อง เพื่อดึงประชาชนไปเป็นแนวร่วม 


 


ต่อข้อถามถึงนโยบาย "แยกปลาออกจากน้ำ" ของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อับดุลเราะห์มาน กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งในนโยบาย แต่ในเรื่องการปฎิบัติต้องดูอีกว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติตามนโยบายมากน้อยแค่ไหน


 


"รัฐต้องสร้างองค์กรประชาชนที่เข้มแข็ง และร่วมมือกับองค์กรที่สร้างขึ้นนี้อย่างจริงจัง  และการแก้ปัญหาต้องเดินไปพร้อมๆ กัน ระหว่างการปราบปรามกับการพัฒนา แต่ภาพที่ชัดเจนในขณะนี้คือ รัฐเน้นการปราบปรามเพียงอย่างเดียว" อับดุลเราะห์มาน วิพากษ์ทิ้งท้าย


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net